สภาพัฒน์จัดสัมมนา “แผนฯ 11” มุ่งประเด็นการพัฒนาที่สำคัญใน 3 ด้าน ก้าวสู่สังคมมั่นคง สังคมสีเขียว และสังคมวัฒนธรรม “เอกชน” เสนอ 7 แผนยุทธศาสตร์ขับเคลื่อน “จีดีพี” ขยายตัว 16%
สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการร่วมภาครัฐและเอกชน เรื่อง “การขับเคลื่อนแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ” ฉบับที่ 11 โดยมีนายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดการประชุม ซึ่งภายใต้แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 11 มีประเด็นการพัฒนาที่สำคัญใน 3 ด้าน คือ มุ่งสู่สังคมมั่นคง สังคมสีเขียว และสังคมวัฒนธรรม
ในโอกาสนี้ ภาคเอกชน ประกอบด้วย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และสมาคมธนาคารไทยได้เสนอยุทธศาสตร์และแผนปฏิบัติการที่จะดำเนินการในแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 11 รวม 7 ด้าน ประกอบด้วย ด้านการส่งเสริมความเข้มแข็งของภาคการเกษตร มีเป้าหมายเพิ่มสัดส่วนมูลค่าสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมให้มีสัดส่วนไม่ต่ำกว่าร้อยละ 16 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ตลอดจนเพิ่มปริมาณการผลิตพลังงานทดแทนจากพืชพลังงาน ด้านการส่งเสริมความเข้มแข็งของภาคอุตสาหกรรม เน้นรายคลัสเตอร์ที่สำคัญ โดยมีเป้าหมายให้ภาคอุตสาหกรรมไทยสามารถตอบสนองต่อความต้องการของตลาดได้ มีความได้เปรียบในแข่งขันในตลาดโลก มีการเติบโตอย่างยั่งยืน ได้แก่ คลัสเตอร์อาหาร มุ่งสู่ Kitchen of the World คลัสเตอร์อุตสาหกรรมการเกษตร คลัสเตอร์ยางและไม้ยางพารา คลัสเตอร์พลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อม คลัสเตอร์ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ ต่อเรือและขนส่งทางน้ำ คลัสเตอร์ยานยนต์ มุ่งการเป็น Detroit of Asia คลัสเตอร์ไฟฟ้า คลัสเตอร์วัสดุก่อสร้าง มุ่งสู่ Better Living of Asia
ด้านการส่งเสริมและพัฒนาการท่องเที่ยว มีเป้าหมายเพื่อสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวให้ได้ 2 ล้านล้านบาทภายในปี 2558 ด้วยการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยพัฒนาประเทศไทยเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่คุ้มค่าในเชิงคุณภาพและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมควบคู่กับการพัฒนาสมรรถนะของผู้ให้บริการ ด้านการพัฒนาโครงข่ายคมนาคมขนส่งและระบบลอจิสติกส์ โดยปี 2559 จะลดต้นทุนลอจิสติกส์ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ให้เหลือเพียงร้อยละ 11.0-11.5 ผ่านการเพิ่มสัดส่วนการขนส่งทางรางเป็นร้อยละ 10-15 ในปี 2559 พร้อมเพิ่มสัดส่วนการขนส่งทางน้ำเป็นร้อยละ 12.5 เพิ่มการขนส่งทางชายฝั่งเป็นร้อยละ 7.7
ด้านการส่งเสริมการค้า การลงทุนกับประเทศเพื่อนบ้านผ่านกลยุทธ์การส่งเสริมจัดตั้งสภาธุรกิจระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน หรือ กกร.กำลังดำเนินการเพื่อเร่งจัดตั้งสภาธุรกิจไทย-กัมพูชา และสภาธุรกิจไทย-เวียดนาม การอำนวยความสะดวกการค้าชายแดนและการค้าผ่านแดนเพื่อรองรับ AEC ตลอดจนการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน หรือเขตอุตสาหกรรมชายแดน
การส่งเสริมการลงทุนในประเทศเพื่อนบ้าน ส่งเสริมท่องเที่ยวในประเทศเพื่อนบ้าน และเร่งรัดการจัดตั้ง Sister City หรือเมืองแฝดคู่ ระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้านภายใต้กรอบความร่วมมือ ACMECS ให้เป็นรูปธรรม
ด้านการส่งเสริมการลงทุนของผู้ประกอบการไทยในต่างประเทศ เสนอให้จัดตั้งหน่วยงานรับผิดชอบเรื่องการให้คำปรึกษาและข้อมูลเชิงลึกเรื่องการลงทุนในต่างประเทศและแก้ปัญหานักลงทุนไทยในต่างประเทศ การสนับสนุนเรื่องวิจัยและพัฒนา มีมาตรการอุดหนุนด้านการเงิน ประกันความเสี่ยง และสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำสำหรับเอสเอ็มอีในการออกไปลงทุนในต่างประเทศ พร้อมกับมีการจัดทำข้อตกลงเพื่อการส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุนกรณีผู้ประกอบการไทยไปลงทุนในอาเซียน
และด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ไปสู่สังคมแห่งการเรียนรู้ มีข้อเสนอให้ สศช.นำเสนอรัฐบาลยกเรื่องการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เป็นวาระแห่งชาติในการปฏิรูปการศึกษา ตั้งคณะทำงานร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อจัดทำแผนปฏิบัติการในการแก้ไขปัญหาและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์
นายนิวัฒน์ธำรงกล่าวว่า ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมารัฐบาลได้ดำเนินนโยบายต่างๆ เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งของประเทศ ตลอดจนสร้างปัจจัยเอื้อต่อการพัฒนาประเทศ และช่วยลดความผันผวนจากภัยธรรมชาติ ตลอดจนเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ได้แก่ การดำเนินการป้องกันอุทกภัย ซึ่งรัฐบาลกำหนดแผนระยะสั้นด้วยการสร้างแนวป้องกันน้ำท่วมให้ภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม รวมถึงมีการสร้างถนนเพื่อให้ภาคการผลิตสามารถขนถ่ายสินค้าได้แม้เกิดภาวะน้ำท่วม ตั้งคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำ ซึ่งโครงการลงทุนระบบบริหารจัดการน้ำจะจัดให้มีการประกวดราคาแบบนานาชาติ มีบริษัทไทยและต่างชาติให้ความสนใจเข้าร่วมประมูลโครงการเป็นจำนวนมาก
นอกจากนี้ยังมีการลงทุนเพื่ออนาคตประเทศไทย โดยเป็นการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะการสร้างรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ เชื่อมกรุงเทพมหานครสู่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อเชื่อมประเทศไทยสู่ สปป.ลาว กัมพูชา เมียนมาร์ จีน และเชื่อมลงสู่ภาคใต้ไปยังมาเลเซีย และประเทศสิงคโปร์ ซึ่่งจะช่วยทำให้ประชาชนสามารถมุ่งสู่จุดหมายปลายทางได้อย่างรวดเร็ว พัฒนาศักยภาพท่าอากาศยาน และโครงการรถไฟฟ้า 10 สาย และโครงการพัฒนาท่าเรือน้ำลึก มีการศึกษาตั้งนิคมอุตสาหกรรม
พร้อมกันนี้ รัฐบาลยังเตรียมความพร้อมประเทศไทยสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ในปี 2558 ซึ่งในวันที่ 24 ตุลาคมที่ผ่านมารัฐบาลได้กำหนด 8 ยุทธศาสตร์สู่ AEC พร้อมกับจัดให้มีการส่งเสริมความร่วมมือภาครัฐและเอกชนภายใต้กลไกคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน (กรอ.) ซึ่งปีนี้จัดประชุม กรอ.ภูมิภาคไปแล้วรวม 7 ครั้ง ควบคู่ไปกับการจัดประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจร