xs
xsm
sm
md
lg

ปฏิรูประบบสารเคมีเกษตรเพื่อพลิกวิกฤตคุณภาพชีวิตคนไทยราคาถูก

เผยแพร่:   โดย: ภาณุเบศร์ มหาเรือนขวัญ

การเป็น ‘ครัวโลก’ (Kitchen of the World) ของประเทศไทยอาจไม่ได้หมายถึงคุณภาพชีวิตคนไทยดีขึ้นจากการได้บริโภคอาหารปลอดภัยก็ได้ ด้วยที่สุดแล้ว ‘ชีวิตคนไทยราคาถูกเสมอ’ เพราะคาร์โบฟูราน (Carbofuran) ไดโครโตฟอส (Dicrotophos) เมโทมิล (Methomyl) และอีพีเอ็น (EPN) ที่หลายประเทศทั่วโลกตระหนักถึงพิษภัยอันตรายจนห้ามใช้ (ban) กำลังจะได้รับการขึ้นทะเบียนในเมืองไทย ซึ่งเหลือเพียงการประเมินผลขั้นสุดท้ายเพื่อรับขึ้นทะเบียนวัตถุอันตรายเท่านั้น โดยขณะนี้มีบริษัทสารเคมียื่นขอขึ้นทะเบียนเมโทมิล คาร์โบฟูราน และไดโครโตฟอสแล้ว 16, 9 และ 5 รายการตามลำดับ ยกเว้นก็แค่อีพีเอ็น

ทั้งๆ ภาคประชาสังคมที่กอปรด้วยเกษตร ผู้บริโภค และนักวิชาการ ยืนยันหนักแน่นถึงความจำเป็นที่ต้องไม่อนุญาตให้ขึ้นทะเบียนสารเคมี 4 ชนิดนี้อีกต่อไปด้วยหลักฐานข้อมูลวิทยาศาสตร์ รูปธรรมความสูญเสียระดับพื้นที่ และการเสนอแนะเชิงนโยบายเพื่อเป็นทางเลือกของเกษตรกรและทางรอดของผู้บริโภค

แต่ทว่าท้ายที่สุดคาร์โบฟูรานที่มีพิษเป็นสารก่อมะเร็งรุนแรง เซลล์ตับแบ่งตัวผิดปกติ อสุจิตาย ทำลายเอนไซม์ที่เยื่อหุ้มสมอง เมโทมิลที่มีพิษต่อหัวใจ ฮอร์โมนเพศชายลดลง ทำลายท่อในลูกอัณฑะ ทำลายดีเอ็นเอ ทำให้โครโมโซมผิดปกติ ไดโครโตฟอสที่มีพิษต่อยีน เกิดเนื้องอก ก่อมะเร็ง พิษต่อไต พิษเรื้อรังต่อระบบประสาท และอีพีเอ็นที่ทำให้แน่นหน้าอก มองไม่ชัด เสียการทรงตัว ไอ ปอดบวม หยุดการหายใจ ทำลายระบบประสาท ไขสันหลังผิดปกติ น้ำหนักสมองลดลง ก็กำลังจะขึ้นทะเบียนเพื่อขายต่อไปได้

ไม่เท่านั้นปริมาณนำเข้าที่ผ่านมายังทะลุจุดวิกฤตเพียง 3 เดือนแรกของปีนี้นำเข้าคาร์โบฟูรานแล้ว 1,981,800 กิโลกรัม เมโทมิล 514,342 กิโลกรัม ไดโครโตฟอส 59,182 กิโลกรัม อีพีเอ็น 96,000 กิโลกรัม และก่อนนี้ปี 2553 กรมวิชาการเกษตรก็อนุญาตให้บริษัทนำเข้าสารเคมีเหล่านี้รวมกันราว 7 ล้านกิโลกรัม

ข้อเสนอของภาคประชาสังคมจึงต้องการ ‘ปฏิรูประบบการควบคุมสารเคมีเกษตร’ ดังเช่นสหภาพยุโรปและอเมริกาที่ห้ามใช้คาร์โบฟูราน สหราชอาณาจักร เยอรมนี และสิงคโปร์ ที่ห้ามใช้เมโทมิล แคนาดา ออสเตรเลีย มาเลเซีย อินเดีย และปากีสถานที่ห้ามใช้ไดโครโตฟอส อเมริกา สหภาพยุโรป เวียดนาม และพม่าที่ห้ามใช้อีพีเอ็น โดยอย่างน้อยที่สุดรัฐก็ต้องยุติการนำเข้าและขึ้นทะเบียนสารเคมี 4 ชนิดนี้ทันที เพราะที่ผ่านมาบริษัทสารเคมีเกษตรไม่เคยรับผิดชอบผลกระทบ (accountability) ต่อเกษตรกร ผู้บริโภค และสิ่งแวดล้อมแต่อย่างใด ในขณะเดียวกันรัฐก็ไม่เคยจัดเก็บภาษีอัตราสูงจากการนำเข้าสารเคมีเกษตรที่มีพิษรุนแรง หรือจ่ายค่าเยียวยาผลกระทบจากสารเคมีแก่เกษตรกรหรือเพื่อการบำบัดมลพิษสิ่งแวดล้อม

อีกทั้งกรมวิชาการเกษตรก็ต้องเปิดเผยเอกสารข้อมูลการยื่นขอทะเบียน ข้อมูลและผลการทดลองเกี่ยวกับประสิทธิภาพ การเกิดพิษทั้งระยะสั้นและยาว ผลตกค้าง เปิดเผยผลการพิจารณา และรายชื่อคณะกรรมการ อนุกรรมการ หรือคณะทำงานที่เกี่ยวข้องกับการพิจารณาต่อสาธารณชน เพื่อกระบวนการขึ้นทะเบียนโปร่งใสอยู่บนการมีส่วนร่วมของประชาชนและปราศจากการขัดกันของผลประโยชน์ (conflict of interest) และต้องควบคุมการโฆษณาชวนเชื่อและการส่งเสริมการขายของบริษัทสารเคมีการเกษตรอย่างเข้มงวด เช่น จำกัดชื่อการค้า กำหนดฉลาก พื้นที่และช่องทางการโฆษณา โดยคณะกรรมการที่มีตัวแทนของเครือข่ายเกษตรกร เครือข่ายวิชาการเฝ้าระวังสารเคมีเกษตร และองค์กรผู้บริโภคมีส่วนร่วม

รวมทั้งรัฐยังต้องสร้างความมั่นคงปลอดภัยด้านอาหารและสิ่งแวดล้อมตามข้อเสนอคณะกรรมการปฏิรูป (คปร.) โดยป้องกันไม่ให้มีการจำหน่ายสารเคมีเกษตรอันตรายที่ถูกห้ามใช้อย่างเข้มงวดเพราะยังมีจำหน่ายอยู่หลังร้านค้า เร่งกำหนดมาตรการตรวจสอบการใช้สารเคมีที่เคร่งครัดทั้งใช้ในไร่นาและที่ตกค้างในอาหาร สร้างระบบเตือนภัยการปนเปื้อนสารเคมีในอาหารและผลิตภัณฑ์เกษตรที่ประชาชนเข้าถึงได้ แก้ไข พ.ร.บ.วัตถุอันตรายและปรับปรุงกลไกการควบคุมสารเคมีกำจัดศัตรูพืช โดยให้องค์การสาธารณประโยชน์ด้านคุ้มครองผู้บริโภค เกษตรกรรมยั่งยืน และสิ่งแวดล้อม เข้ามามีบทบาทในการพิจารณาการขอขึ้นทะเบียนและยกเลิกวัตถุอันตราย รวมทั้งป้องกันมิให้แต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่มีส่วนได้เสียมาเป็นกรรมการ

การกำหนดเป้าหมายลดใช้สารเคมีเกษตรเหลือร้อยละ 50 ภายใน 5 ปี กำหนดนโยบายเกษตรปลอดภัยโดยส่งเสริมให้เกิดระบบเกษตรกรรมยั่งยืนและเกษตรอินทรีย์ที่ครอบคลุมพื้นที่เกษตรไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของพื้นที่เกษตรทั้งประเทศภายใน 10 ปี โดยมีพื้นที่เกษตรอินทรีย์ไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 และส่งเสริมการเกษตรที่ผลิตอาหารปลอดภัยจากสารเคมีในพื้นที่ส่วนที่เหลืออีกร้อยละ 50 ของพื้นที่เกษตรทั้งประเทศให้ได้ใน 5 ปี และรัฐควรสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำอัตราพิเศษแก่เกษตรกรที่ผลิตอาหารปลอดภัยในระบบเกษตรอินทรีย์หรือทำตลาดเขียว รวมทั้งสร้างตลาดอาหารปลอดภัยทั่วทุกตำบลเพื่อเป็นตลาดทางเลือกแก่ผู้บริโภคที่รักษ์สุขภาพ และสร้างแรงจูงใจให้เกษตรกรผลิตอาหารปลอดภัย

ในขณะเดียวกันท้องถิ่นก็กำหนดมาตรฐานอาหารและสินค้าเกษตรปลอดภัยขึ้นเองทุกจังหวัดเพื่อให้เป็นมาตรฐานเดียวกับสินค้าเกษตรส่งออกเพื่อคนไทยจะได้บริโภคอาหารปลอดภัยราคาเป็นธรรมทั่วถึงเท่าเทียมเหมือนคนยุโรป

ทั้งนี้เพื่อปกป้องสุขภาวะเกษตรกรจากสารเคมีกำจัดศัตรูพืชพิษร้ายแรง และผู้บริโภคจากการตกค้างของสารเคมีในผลผลิตทางการเกษตรและอาหาร รวมถึงตลาดสินค้าเกษตรส่งออกไม่ให้ถูกระงับเพราะพบสารเคมีปนเปื้อนเหมือนกรณีสหภาพยุโรป การก้าวเป็นครัวโลกของไทยจึงจำเป็นต้องห้ามไม่ให้ขึ้นทะเบียนสารเคมีที่ทั่วโลกแบนแล้ว อีกทั้งบัตรเครดิตเกษตรกรที่เป็นส่วนหนึ่งในนโยบายการเข้าถึงแหล่งทุนของเกษตรกรก็ต้องไม่ไปเอื้อประโยชน์บริษัทสารเคมีที่ไม่มีความรับผิดชอบต่อสังคมเพราะตีค่าคุณภาพชีวิตคนไทยราคาถูกกว่าแมลงศัตรูพืชเสียอีก!
กำลังโหลดความคิดเห็น