xs
xsm
sm
md
lg

JDA โมเดล...แน่ใจหรือว่าประเทศได้ประโยชน์???

เผยแพร่:   โดย: บรรจง นะแส


ขณะนี้รัฐบาลได้พยายามหาหนทางในการนำเอาแหล่งพลังงานในอ่าวไทยซึ่งมีทั้งก๊าซและน้ำมันจำนวนมหาศาลขึ้นมาใช้ โดยเฉพาะแหล่งพลังงานที่อ้างว่าอยู่ในพื้นที่ทับซ้อนระหว่างไทยและกัมพูชา และยกตัวอย่างความสำเร็จของโครงการโรงแยกก๊าซและท่อส่งก๊าซไทย-มาเลย์ที่นำเอาก๊าซจากแหล่ง JDA (Joint Development Area) อันเป็นพื้นที่ทับซ้อนระหว่างประเทศไทยกับมาเลเซีย มาเป็นรูปแบบหรือโมเดล ทำยังกับว่าโมเดลดังกล่าวคือความสำเร็จ คือตัวชี้วัดของความถูกต้องชอบธรรม ทั้งต่อทรัพยากรของชาติโดยรวมและมีการบริหารจัดการที่ดี ที่เอาผลประโยชน์ของชาติและชุมชนเป็นตัวตั้ง

อยากบอกว่า JDA โมเดล อีกด้านหนึ่งคือความอัปลักษณ์ อดสู ที่รวมเอาการทุจริต การละเมิดสิทธิมนุษยชนและชุมชนรวมไปถึงความเสียเปรียบที่ประเทศต้องสูญเสียผลประโยชน์ให้กับต่างชาติ โดยมีนักการเมืองและทุนต่างชาติรวมหัวกันกินโต๊ะประเทศไทย

แต่เดิมไทยและมาเลเซีย มีปัญหาการอ้างสิทธิเหลื่อมล้ำกันของเส้นเขตไหล่ทวีปในอ่าวไทย ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ 7,250 ตร.กม. เหมือนกับการอ้างสิทธิ์พื้นที่ในทะเลกับประเทศกัมพูชาในตอนนี้นี่แหละ หากเราไล่เรียงดูการเกิดขึ้นของ JDA โมเดล เราจะพบว่าในปี 2522 รัฐบาล พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ และรัฐบาลนายดาโต๊ะ ฮุสเซน ออนน์ นายกรัฐมนตรีมาเลเซียในขณะนั้น ได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจการร่วม (MOU) เพื่อพัฒนาพื้นที่เหลื่อมล้ำให้เป็นพื้นที่พัฒนาร่วม (Joint Development Area หรือ JDA) ต่อมารัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ ได้นำเอาบันทึกความเข้าใจร่วมดังกล่าวมาออกเป็นพระราชบัญญัติการจัดตั้งองค์กรร่วมไทย-มาเลเซีย (Malaysia-Thailand Joint Development Authority หรือ MTJA) ในปี 2533 เพื่อดูแลการสำรวจและแสวงหาประโยชน์จากปิโตรเลียม บนหลักการแบ่งปันผลประโยชน์อย่างเท่าเทียม ซึ่งก็ฟังแล้วดูดี ดูจะเข้าท่าแต่ความจริงที่เกิดขึ้นต่อมาหาเป็นเช่นนั้นไม่

โครงการท่อก๊าซและโรงแยกก๊าซธรรมชาติไทย-มาเลเซีย หรือที่ในปัจจุบันพยายามเรียกกันว่า JDA โมเดล เป็นการร่วมทุนระหว่าง ปตท.และบริษัทปิโตรนาส กาลิการี่ ของมาเลเซีย ในอัตราส่วน 50:50 มีมูลค่าการลงทุนประมาณ 40,000 ล้านบาท ซึ่งแต่ละฝ่ายลงทุนฝ่ายละ 20,000 ล้านบาทในการพัฒนาการใช้ประโยชน์ก๊าซธรรมชาติจากแหล่งพัฒนาร่วม (JDA) ตัวโครงการประกอบด้วยการวางท่อในทะเลจากแหล่งผลิตมาขึ้นฝั่งที่ อ.จะนะ ไปเชื่อมต่อกับระบบในประเทศมาเลเซียผ่านทางชายแดน อ.สะเดา จ.สงขลา รวมระยะทาง 353 กิโลเมตร แนวท่อก๊าซบนบกจะพาดผ่านพื้นที่ 4 อำเภอของ จ.สงขลา ได้แก่ จะนะ, นาหม่อม, หาดใหญ่ และสะเดา ใน 15 ตำบล 49 หมู่บ้าน ส่วนโรงแยกก๊าซ เป็นโรงแยกขนาดกำลังผลิต 425 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน

มีการลุกขึ้นมาคัดค้านโครงการดังกล่าวตั้งแต่เริ่มมีการผลักดันในสมัยของอดีตนายกรัฐมนตรีชวน หลีกภัย ที่ไปเซ็นสัญญาซื้อขายก๊าซกัน (ขณะที่โครงการยังไม่ได้เริ่มต้น) มีการเริ่มเลี่ยงบาลีเมื่อถูกตั้งคำถามจากสังคมว่าโครงการดังกล่าวยังไม่มีการทำประชาพิจารณ์ ยังไม่มีการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) แต่รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ก็หาฟังไม่ เดินหน้าสั่งทำประชาพิจารณ์ย้อนหลัง หลังจากที่ได้ทำสัญญาไปแล้วในวันที่ 17 ตุลาคม 2543 นายพนัส ทัศนียานนท์ ประธานกรรมาธิการสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา ในช่วงนั้นได้ทำหนังสือถึงนายชวน หลีกภัย นายกรัฐมนตรี ขอให้ระงับและปรับปรุงกระบวนการทำประชาพิจารณ์ เพราะรัฐบาลยังไม่เปิดเผยข้อมูลโครงการต่างๆ ที่จะตามมาให้ประชาชนทราบ และเสนอหากจะทำประชาพิจารณ์ต้องรวมโครงการทั้งหมดที่ใช้ก๊าซจากแหล่ง JDA เข้ามาด้วย

24 พฤศจิกายน 2545 ในสมัยของอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร ได้มีนักวิชาการจากสถาบันต่างๆ ร่วมกันแสดงจุดยืนคัดค้านโครงการท่อก๊าซและโรงแยกก๊าซไทย-มาเลเซียพร้อมกันที่โคราช ขอนแก่น เชียงใหม่ และกรุงเทพฯ พร้อมรายชื่อนักวิชาการ 1,384 คนทั่วประเทศที่ร่วมกันลงชื่อคัดค้าน แต่รัฐบาลก็หาฟังไม่ สั่งเดินหน้าโครงการต่อไป จนเกิดเหตุความรุนแรงขึ้นระหว่างกลุ่มที่คัดค้านโครงการกับเจ้าหน้าที่ตำรวจในคืนวันที่ 20 ธันวาคม 2545 ที่ถนนทางเข้าโรงแรมเจบีหาดใหญ่ ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่เจ้าหน้าที่มีการทำร้ายร่างกายประชาชน มีการจับกุมคุมขัง ฯลฯ

12 มิถุนายน 2546 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ แถลงผลการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนเนื่องจากการสลายการชุมนุมคัดค้านโครงการท่อก๊าซไทย-มาเลเซียในวันที่ 20 ธันวาคม 2545 ว่า เจ้าหน้าที่รัฐปฏิบัติไม่ถูกต้องต่อการเรียกร้องสิทธิตามรัฐธรรมนูญของประชาชน การที่รัฐบาลไม่เปิดโอกาสให้ประชาชนและชุมชนมีส่วนร่วมตัดสินใจในโครงการที่มีผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นการละเมิดรัฐธรรมนูญ มาตรา 46, 56, 58, 60, 76 และ 79 การที่รัฐบาลใช้กำลังสลายการชุมนุมขณะที่ผู้ชุมนุมใช้สิทธิโดยปราศจากอาวุธ เป็นการขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 31,44 และ 48 และการจับกุมของตำรวจโดยไม่แจ้งข้อหา ไม่ให้ปรึกษาทนายความ ไม่แจ้งญาติและไม่ให้เยี่ยม เป็นการละเมิดรัฐธรรมนูญมาตรา 237, 239 และ 241

นี่คือภาพอีกด้านของ JDA โมเดล ที่กล่าวฝันกันว่าจะเป็นตัวอย่างของการร่วมมือกันระหว่างประเทศในพื้นที่ทับซ้อนที่จะหาประโยชน์ร่วมกัน นอกจากจะมีการดำเนินโครงการแบบรวบรัด รวบหัวรวบหางไม่ไยดีต่อกฎหมายของบ้านเมืองแล้ว ยังไม่เปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะโดยเฉพาะผลประโยชน์ที่ประเทศจะได้รับ ว่ามีอะไรบ้าง มากน้อยแค่ไหน JDA โมเดลที่ทราบกันโดยทั่วไปก็คือ หลังจากนั้นมีการแปรรูป ปตท.ที่ทำให้ผลประโยชน์จากแหล่งพลังงานในแหล่ง JDA จำนวนถึง 49% ของผลกำไรที่ผ่าน ปตท.ตกไปเป็นของบรรดาเหล่านักการเมือง กลุ่มทุนเพียงไม่กี่ครอบครัว ไม่กี่นามสกุลที่ได้รับผลประโยชน์ไปเต็มๆ มิน่าถึงได้ชื่นชมกันนัก.
กำลังโหลดความคิดเห็น