xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

แจกแท็บเล็ต เก็บแป๊ะเจี๊ยะ ความล่มจมของการศึกษาไทยในมือ“แมว”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล
ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ - หากไม่นับรวมนโยบายแจกแท็บเล็ตให้เด็กประถมศึกษาปีที่ 1(ป.1) ตามโครงการ OneTablet Pc per Child ของรัฐบาลที่เคยหาเสียงไว้ ซึ่งมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึงความไม่เหมาะสมสำหรับนักเรียน ป.1 ดูเหมือนไอเดียกระฉูดล่าสุดของ “นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) ที่เผลอปากพูดกลางวงกินข้าวกับสื่อได้สร้างความปั่นป่วนสะเทือนทั้งวงการแม่พิมพ์

“นายวรวัจน์” หรือ “พ่อเลี้ยงแมว” รัฐมนตรีอันเคยมีชื่อเสียงกระฉ่อนจากการเสนอให้นำ “ปลัดขิก” และ “ของขลัง” มาขึ้นชั้นเป็นของที่ระลึกและสินค้าโอทอปทางวัฒนธรรม สมัยเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม คราวนี้นั่งเก้าอี้เสมาฯ 1 แค่เพียง1 เดือนก็ปล่อยไอเดียเด็ดลอยตัวค่าเล่าเรียนโรงเรียนดัง เปิดโอกาสให้พ่อ แม่ ผู้ปกครองกระเป๋าหนักบริจาคเงินเพื่อการศึกษาให้แก่บุตรหลานด้วยความยินยอมพร้อมใจควักเงินจับจ่ายความสะดวกสบาย การเรียนการสอนคุณภาพให้กับลูกของตน ดังนั้น จะเรียกเก็บเท่าไหร่ขนหน้าแข็งก็ไม่ร่วง แต่คุณภาพการศึกษาไทย จะเป็นอย่างไร หากเด็กเรียนแบบจบออกมาได้ด้วยเงินทองของพ่อแม่

แม้ว่าตัวนายวรวัจน์จะไม่ได้พูดออกมาชัดเจนว่าให้โรงเรียนเรียกเก็บแป๊ะเจี๊ยะได้ เหมือนที่ออกมาปฏิเสธก่อนหน้านี้ แต่นั่นเท่ากับเป็นการชี้ช่องให้โรงเรียนเรียกเก็บค่าหัวคิว หรือแป๊ะเจี๊ยะได้ทางอ้อม เพียงแค่เปลี่ยนจากกินใต้โต๊ะมาเป็นกินบนโต๊ะ โดยเรียงร้อยถ้อยคำใหม่ให้ดูดีว่า ช่วยกันระดมทรัพยากรแบบไร้เงื่อนไขแลกเปลี่ยนกับที่นั่งและต้องอยู่ในกรอบที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กำหนด

แน่นอนว่า พอปล่อยมุกนี้ออกสู่สาธารณะชน ย่อมมีทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ขณะที่เรื่องนี้ได้รับการตอบรับจากบรรดาผู้บริหารโรงเรียนที่มองว่าการเปิดโอกาสให้ระดมทรัพยากรโรงเรียนจะสามารถพัฒนาคุณภาพได้มากขึ้น แต่ในมุมมองนักวิชาการ มองว่าแนวคิดนี้จะทำให้กลับไปสู่วังวนปัญหาเก่า ๆ ที่ได้พยายามแก้ไขมาเป็นสิบปี

ด้านนักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิเยาวชนอย่าง นายอำนวย สุนทรโชติ ประธานชมรมค่านิยมเพื่อสร้างชาติ ออกมาสับเละระบุว่าเป็นแนวคิดที่อันตรายแถมยังท้าทายว่าหากมีการแก้ไขเพื่อเอื้อประโยชน์ต่อเรื่องนี้เมื่อไรจะเดินหน้าฟ้องร้องศาลปกครองแน่นอน

ที่สำคัญหากทำเรื่องนี้จริงจัง ต้องระวังให้ดีว่าโรงเรียนบางแห่งอาจจะฉวยโอกาสอาศัยโพรงที่กำลังชี้อยู่นั้นเลือกรับแต่ลูกคนมีเงินเข้ามาเรียน เพื่อดูดเม็ดเงินจากกระเป๋าผู้ปกครองที่พร้อมจ่าย จนกลายเป็นการปิดกั้นโอกาส สร้างความเหลื่อมล้ำต่อเด็กในครอบครัวฐานะปานกลาง และยากจนที่แม้จะมีความสามารถทางวิชาการสูงและต้องการให้ลูกได้รับการเรียนที่มีคุณภาพเช่นเดียวกัน คงจะสู้กำลังเงินไม่ไหว

ดังนั้น เมื่อวิเคราะห์แต่ละนโยบายของ “วรวัจน์” พบว่าล้วนแต่ไม่พ้นเรื่องเงินๆ ทองๆ และการใช้จ่ายงบประมาณมหาศาลในการด้านการศึกษาแบบลองถูกลองผิด เพราะไม่รู้ว่าจะได้ผลคืนกลับมาคุ้มค่าหรือไม่

นอกจากจะมีแต่นโยบายใช้เงินอู้ฟู่แล้ว นโยบายหนึ่งที่โดดเด่นไม่แพ้กัน ก็คือล้มเลิกนโยบายเก่าของรัฐบาลประชาธิปัตย์ไม่เว้นว่าจะดีหรือเลว นำไปสู่การสร้างความสับสนให้กับประชาชนอย่างมาก เพราะสิ่งที่พูดออกมานั้น เหมือนพูดด้วยความไม่รู้ ไม่มีข้อมูล ไม่มีความชัดเจนใดๆ ทั้งสิ้น

เริ่มจากการรื้อฟื้นกองทุนกู้เงินที่ผูกกับรายได้ในอนาคต (กรอ.) ที่คาดว่าจะใช้งบประมาณหลายหมื่นล้านบาท หลังล้มเลิกกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) จนนักศึกษาออกมาเดินขบวน โดยมีปัญหาสืบเนื่องมาจากการออกนอกระบบและความไม่ชัดเจนเรื่องการกู้ยืมเงิน เพราะเกรงว่าจะไม่มีเงินเรียน

แม้แต่การจะนำงบประมาณ 50,000 ล้านบาทมาบริหารในรูปแบบกองทุนเพื่อแก้ไขปัญหาสารพันหนี้สินครู เพราะเป็นห่วงว่าภาพรวมหนี้ครู ณ ปัจจุบันนี้สูงถึง 700,000 ล้านบาท แต่กลับสร้างความขุ่นเคืองใจให้ครูเพราะบรรดาครูที่มีหนี้สินล้นพ้นตัวเกรงว่า พ่อเลี้ยงแมวจะไม่ให้กู้กับการฌาปนกิจสงเคราะห์เพื่อนครูและบุคลากรทางการศึกษา (ช.พ.ค.) ซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครู และบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.)อีก จนถึงขั้นจะล่าชื่อถอดถอน และเมื่อรีบออกมาปฏิเสธข้อกังวลของครูเรื่องนี้จึงคลี่คลายไป

และหากยังจำได้ก็จะมีออกมาให้สัมภาษณ์ถึงครูพันธุ์ใหม่ว่าจะยกเลิกโดยที่ยังไม่รู้แม้แต่นิดว่าครูพันธุ์ใหม่คืออะไร แทนที่จะให้นโยบายว่าจะผลิตครูพันธุ์ใหม่ 6 ปี หรือ5ปี กลับไปแต่เน้นให้ผลิตบัณฑิตที่จบมาแล้วมีงานทำ เรียกได้ว่าไม่พ้นปัจจัยเรื่องปากเรื่องท้องเรื่องเงินเรื่องทองอยู่ดี

ฉะนั้น จะเห็นได้อย่างชัดเจน นับแต่เข้ารับตำแหน่งรมว.ศึกษาธิการ ตั้งแต่วันที่ 16 ส.ค.ที่ผ่านมา แนวทางชัดเจนของ “นายวรวัจน์” และ “รัฐบาลปู” เติบโตบนความเชื่อในระบบทุนนิยมและคุ้นชินกับการทุ่มเม็ดเงินมหาศาลเพื่อเป็นใบเบิกทางให้บรรลุนโยบาย โดยเฉพาะจุดหมายหลักของรัฐบาลนั้นมุ่งสนับสนุนโครงสร้างทางเศรษฐกิจภายในประเทศ ดังนั้น นายวรวัจน์ จึงต้องการให้กระทรวงศึกษาฯ ที่เป็นหน่วยงานสร้างบุคลากรทั้งในระบบ นอกระบบของการศึกษาทุกระดับ มุ่งเน้นไปในทางเพื่อส่งเสริมพัฒนาเศรษฐกิจเป็นหลัก

การศึกษาไทยในรัฐบาลนี้จึงมุ่งสู่ทิศทาง การสร้างเยาวชนไทยให้กลายเป็นหนุ่มสาวแรงงานที่มีคุณภาพเพื่อป้อนเข้าสู่ตลาดแรงงานในประเทศและเตรียมพร้อมเมื่อประเทศไทยก้าวสู่การค้าเสรีอาเซียนอย่างเต็มตัวในอนาคตเท่านั้น โดยมองข้ามการพัฒนาบุคลากรอีกกลุ่มหนึ่งที่มีสติปัญญาเหมาะจะเป็นนักคิด นักวางแผน นักวิทยาศาสตร์ ฯลฯ ให้ได้รับการหล่อหลอมอย่างมีคุณภาพเพื่อเป็นมันสมองของประเทศควบคู่ไปด้วย

ช่วงเวลาหนึ่งเดือนที่ผ่านมา ยังมีอีกหลายเรื่องที่ นายวรวัจน์ เปิดหัวเรื่องไว้แต่ยังขาดการสร้างความกระจ่าง ทำให้เกิดปัญหาให้การทำงานของหน่วยงานต่างๆ ที่ต้องชะลอตัวเพราะยังไม่รู้จะเดินหน้าไปในทิศทางใด ที่สำคัญแม้จะพยายามทำโครงการใหม่เพื่อให้ได้ดั่งใจต้องการ ก็ต้องไม่ลืมปัญหาที่ต้องแก้ไขในการศึกษาที่สะสมมายาวนานทั้งปัญหาการคิดวิเคราะห์ เด็กออกกลางคัน อ่านเขียนไม่คล่อง ปัญหาผลสัมฤทธิ์ของผู้เรียนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เหล่านี้ยังต้องได้รับการเยียวยาพัฒนาคุณภาพต่อเนื่อง

หากแต่ “นายวรวัจน์” ไม่หยุดสร้างปัญหาใหม่ ทับถมปัญหาเก่า เชื่อแน่ว่า “นายวรวัจน์” จะกลายเป็นจุดอ่อนที่สุดของรัฐบาลยิ่งลักษณ์เหมือนที่นักวิชาการด้านการศึกษาทั้งหลายพูดเอาไว้ พร้อมกับนำความล่มจมของการศึกษาไทยในไม่ช้านี้
กำลังโหลดความคิดเห็น