ศูนย์ข่าวขอนแก่น -นายกสมาคมส่งเสริมการค้าหนังสือและเครื่องเขียนไทย แฉ ข้อมูลทุจริตโครงการเรียนฟรี 15 ปี หลังพบโรงเรียนกว่า 1,000 แห่งยังไม่ได้รับหนังสือ ทั้งที่มีการเบิกจ่ายเงินก้อนแรกไปแล้วกว่าร้อยละ 70 หวั่นรัฐสูญงบเรียนฟรีไปร่วม 6,000 ล้านบาท
เมื่อเวลา 14.30 น.วันนี้ (5 ก.ย.) ที่ห้องประชุมชั้น 1 บ.ศึกษาภัณฑ์ ขอนแก่น จำกัด นายประสม ประคุณสุขใจ ประธานบริษัท ศึกษาภัณฑ์ขอนแก่น ในฐานะนายกสมาคมส่งเสริมการค้าหนังสือและเครื่องเขียนไทย ได้แถลงข่าวต่อสื่อมวลชนถึงความไม่ชอบพามากลในการทุจริตโครงการเรียนฟรี 15 ปี โดยเรียกร้องให้รัฐบาลเข้ามาตรวจสอบในเรื่องดังกล่าว หลังพบว่าสถาบันศึกษากว่า 1,000 แห่งทั่วประเทศ ยังไม่ได้รับหนังสือและบางรายวิชามีการจัดส่งไม่ครบ ทั้งทีรัฐบาลมีการเบิกจ่ายเงินงวดแรกไปแล้วกว่าร้อยละ 70
นายประสม ประคุณสุขใจ นายกสมาคมส่งเสริมการค้าหนังสือและเครื่องเขียนไทย กล่าวว่าควรรัฐบาลเร่งตรวจสอบการทุจริตโครงการดังกล่าวอย่างจริงจัง เพราะส่งผลกระทบโดยภาพรวมกับนักเรียน และเงินงบประมาณของแผ่นดิน เพราะงบประมาณในการจัดซื้อหนังสือแต่ละปีมีมากถึง 6,000 ล้านบาท ในจำนวนนี้มีการชำระเงินงวดแรกไปแล้วร้อยละ 70 แต่หนังสือเรียนใน 8 กลุ่มสาระวิชาของโรงเรียนอีกกว่า 1,000 แห่งยังไม่ได้รับ
ขณะที่บางโรงเรียนมีการรับมอบหนังสือในจำนวนที่ไม่ครบเช่นกัน และเหลือเวลาเพียงไม่ถึงเดือนก็จะปิดภาคเรียน ที่ 1 ของปีการศึกษา 2554
นายประสม ระบุว่า นโยบายเรียนฟรี 15 ปี เป็นเรื่องที่ดีที่จะทำให้เยาวชนนั้นได้รับการศึกษาที่สมวัยและมีโอกาสเข้ามาศึกษาในระดับชั้นต่างๆ ในจำนวนที่เพิ่มขึ้น เพราะเป็นที่ทราบกันว่าปัญหาเรื่องการเรียนสิ่งหนึ่ง เกิดขึ้นมาจากเรื่องของรายได้ของแต่ละครอบครัวจนทำให้เด็กและเยาวชนของชาติเสียโอกาส แต่เมื่อมีการดำเนินโครงการดังกล่าวมา 2 ปี กลับพบปมปัญหาการทุจริตหลายอย่าง หลายพันโรงเรียนยังคงได้หนังสือไม่ครบ แต่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษารายงานผลการจัดซื้อไปยัง สพฐ.ด้วยข้อมูลที่ไม่ตรงกับความจริง เพราะกลัวความผิด
จากการสำรวจพบว่า อีกร้อยละ 30 ไม่มีการสั่งซื้อหนังสือ และงบนั้นได้หายไป แสดงให้เห็นว่า ต้องมีหนังสือปลอมกลับมาระบาดในวงการศึกษาไทยอีกครั้ง นอกจากนี้ยังคงพบว่าสถานศึกษาบางแห่งมีการซื้อบิลลม คือ มีส่วนได้เสียกับร้านค้าบางแห่งเพื่อปลอมแปลงบิลนำไปเบิกจ่ายกับต้นสังกัด และแก้ไขปัญหาด้วยการนำหนังสือเรียนไปถ่ายเอกสารและนำมาจำหน่ายให้กับนักเรียนในราคาต้นทุน
นายประสม กล่าวต่ออีกว่า รัฐบาลจะต้องเล็งเห็นถึงความสำคัญในแวดวงการศึกษาไทย ด้วยการเริ่มต้นจากการจัดหาหนังสือเรียนให้เป็นวาะเร่งด่วนเพราะขณะนี้จะหมดภาคเรียนที่ 1 ของปี 2554 และจะเข้าสู่เทอมที่ 2 และควรมีคำสั่งให้แต่ละโรงเรียนนั้นแจกจ่ายหนังสือเรียนให้กับนักเรียน ตั้งแต่วันแรกของการเปิดภาคเรียนและหนังสือเรียนทุกเล่มต้องยกให้เป็นสมบัติของนักเรียน เพื่อจะได้ใช้ทบทวน โดยเฉพาะระดับชั้น ม.1 ม.3 และระดับอุดมศึกษา
อีกทั้งในช่วงที่เศรษฐกิจยังคงผันผวน ราคาต้นทุนทางวัตถุดิบนั้นเริ่มแพงขึ้น รัฐบาลก็ต้องมากำหนดและควบคุมราคาหนังสือเรียนเช่นกัน เพราะแนวโน้มของการเตรียมปรับขึ้นราคากระดาษนั้นมีอย่างแน่นอนซึ่งหากต้นทุนสูงขึ้น นักเรียนและนักศึกษาก็จะมีค่าใช้จ่ายในด้านการศึกษาที่เพิ่มขึ้นด้วย