xs
xsm
sm
md
lg

“หมอประเวศ” ชี้ ไม่ใช่กิจ ศธ.ยุบ ร.ร.เล็ก แนะฟังเสียงชุมชน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศ.นพ.ประเวศ วะสี
“หมอประเวศ” พูดชัดไม่ใช่ธุระ ศธ.มาตัดสินใจยุบโรงเรียนขนาดเล็ก แนะฟังเสียงชุมชน ให้การสนับสนุนแทนการควบคุม  เลิก วัฒนธรรมการใช้อำนาจ ขณะที่ อดีตอธิบดีกรมสามัญ ชี้ ร.ร.เล็กถูกทำให้ด้อยค่า เพราะเอาผลประเมิน สมศ.ไปตัดสิน ด้าน “ชินภัทร” เผยมี ร.ร.เล็ก 137 โรง ไม่มี นร.เรียน เตรียมหารือ กศน. อปท.ใช้ประโยชน์จากอาคารเป็นศูนย์เรียนรู้

 
วันนี้ (16 มิ.ย.) ห้องประชุมเธียเตอร์ อาคารรัชมังคลา กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.)  สภาการศึกษาทางเลือก (สกล.) จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง “ปัญหาและทางออกการยุบโรงเรียนขนาดเล็ก 7,000 โรง” โดยมีกลุ่มครู อาจารย์ นักเรียน และตัวแทนชุมชนจากภาคใต้ ภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เข้าร่วมประชุมกว่า 300 คน

ศ.นพ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส ปาฐกถาหัวข้อ “การศึกษาไทยในอดีตถึงปัจจุบัน” มีใจความสำคัญตอนหนึ่งว่า การตัดสินใจยุบรวมโรงเรียนขนาดเล็กที่มีอยู่กว่า 7,000 โรง นั้นไม่ใช่ธุระที่ ศธ.จะมาตัดสินใจยุบโรงเรียนแห่งใด แต่ต้องให้ชุมชนเป็นผู้ตัดสินใจ เพราะชุมชนรู้จักท้องถิ่นตัวเอง รู้ความต้องการที่แท้จริง ใน ศธ.ซึ่งอยู่ในส่วนกลางไม่รู้ว่าสิ่งที่ชุมชนต้องการคืออะไร ดังนั้น ควรจะเลิกคิดเอง และมุ่งเอาเรื่องงบประมาณเป็นตัวตั้ง แล้วไปตัดสินใจยุบโรงเรียนขนาดเล็กตามที่ต่างๆ เพราะการใช้อำนาจเพื่อจะยุบจะส่งผลให้เกิดความขัดแย้งตามมา  

“การปฏิรูปการศึกษาสิ่งหนึ่งที่ควรจะทำ คือ ลดอำนาจจากส่วนกลาง แล้วให้ท้องถิ่นมีอำนาจมากขึ้น เพราะฉะนั้น ศธ.จะต้องปรับบทบาทโดยเริ่มจากกรณียุบรวมโรงเรียนขนาดเล็กเป็นตัวอย่าง ความจริงแล้ว ศธ.ควรจะเลิกวัฒนธรรมสั่งการจากส่วนกลาง แต่ทำหน้าที่เป็นผู้ส่งเสริมสนับ สนุนให้ชุมชนเป็นผู้จัดการศึกษาตามความเหมาะสม และต้องการไม่ใช่เข้าไปนั่ง ควบคุม จากนั้นก็คอยชื่นชมความเจริญงอกงามของต้นไม้นานาพันธุ์เติบโตได้อย่างหลาก หลาย” ศ.นพ.ประเวศ กล่าว

ด้าน ดร.เอกวิทย์ ณ ถลาง นักวิชาการการศึกษา อดีตอธิบดีกรมสามัญศึกษา กล่าวว่า จะยุบเลิกโรงเรียนเล็กหรือไม่นั้น จะต้องฟังเสียงประชาชนในพื้นที่เป็นหลัก หากย้อนดูประวัติศาสตร์การศึกษาไทยโรงเรียนในยุคแรกๆ ของไทย คือ โรงเรียนประชาบาล ซึ่งไม่ได้เป็แต่เกิดจากประชาชน ชุมชน เห็นความสำคัญของการศึกษาร่วมกับรัฐจัดตั้งขึ้น โดยโรงเรียนประถมศึกษาแห่งแรกเกิดขึ้นใน พ.ศ.2464 ชื่อ โรงเรียนวัมหรรณพาราม และในอดีตโรงเรียนประถมส่วนใหญ่ในประเทศจะเกิดขึ้นจากกำลังทรัพย์ความร่วมมือของประชาชนร่วมกับรัฐทั้งนั้น ที่สำคัญในอดีตไมได้เน้นวิชาการศึกษาตามหนังสือ แต่มุ่งส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม ความรักในรากเง้าวัฒนธรรมของชุมชนท้องถิ่น

  “โรงเรียนขนาดเล็กถูกทำให้ด้อยคุณค่า เพราะไปเอาระบบประเมินมาตรฐานที่ดำเนินการโดยสำนักงานรับรองมาตรฐานและ ประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) มาใช้ตัดสิน และโรงเรียนขนาดเล็กส่วนใหญ่จะไม่ค่อยผ่านการประเมิน แต่คำถามก็คือ โรงเรียนขนาดเล็กด้อยคุณภาพจริง หรือซึ่งผมยืนยันว่าไม่จริง เพราะสถานศึกษาหลายแห่งเน้นจัดการศึกษาที่มุ่งสู่รากเง้าของตนเอง วิธีทำมาหากินซึ่งเป็นแนวทางที่ถูกต้อง แต่เราถูกกระแสโลกครอบงำโรงเรียนต้องจัดการศึกษาตามแบบโรงเรียนในเมือง ซึ่งมุ่งเรียนรู้วิชาการ ไม่เข้าใจชีวิตในชนบท เมื่อเอามาตรฐานตามวิถีเมืองมาประเมินโรงเรียนขนาดเล็กจึงถูกทำให้เหมือน ด้อยคุณภาพ” ดร.เอกวิทย์ กล่าว

ด้าน นายชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวชี้แจงแนวทางการพิจารณายุบรวมโรงเรียนขนาดเล็ก ว่า สพฐ.ไม่ได้ตั้งธงไว้ว่าจะต้องยุบกี่โรง เพียงแต่เราต้องมีคำตอบให้สังคม รวมถึงรัฐบาลที่ต้องกำกับดูแลในเชิงนโยบาย ทั้งในเรื่องของคุณภาพ ประสิทธิภาพและโอกาสที่ต้องไปด้วยกัน ทั้งนี้ ในการประชุมคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ที่ผ่านมา ได้มีการหารือเกี่ยวกับการบริหารจัดการโรงเรียนขนาดเล็ก ซึ่งกพฐ.ได้เห็นตรงกัน ว่า ในเรื่องของการบริหารโรงเรียนขนาดเล็กมีประเด็นที่ต้องพิจารณาให้ละเอียด รอบคอบ เพราะฉะนั้นจึงต้องให้ สพท.ไปดำเนินการศึกษาข้อมูลทั้งเรื่องแผนที่ตั้งของโรงเรียน และวิธีการบริหารจัดกาให้เกิดคุณภาพและประสิทธิภาพ แต่ทั้งหมดนั้นจะต้องเปิดโอกาสให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการเสนอแนวทางการบริหารจัดการด้วย

ขณะนี้ ข้อมูลพบว่าโรงเรียนขนาดเล็กที่ไม่มีนักเรียนอยู่เลยมีจำนวน  137 โรง จะต้องพิจารณาใช้ประโยชน์จากอาคารสถานที่ โดย สพท.จะต้องวางแผนประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) การศึกษานอกโรงเรียน ว่าจะสามารถปรับเปลี่ยนสถานที่ให้เป็นแหล่งเรียนรู้ชุมชนได้หรือไม่ อย่างไรก็ตาม สพฐ.ยินดีรับฟังและพิจารณาข้อเสนอแนะที่จะเน้นการมีส่วนร่วมระหว่าง สพฐ. สกล.รวมถึงหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง เพราะต้องการเห็นโรงเรียนขนาดเล็กมีความเจริญก้าวหน้าและอยู่คู่สังคมไทยต่อไป

               
กำลังโหลดความคิดเห็น