xs
xsm
sm
md
lg

สพฐ.เล็งใช้โอเน็ตเป็นเกณฑ์จบ ป.6

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สพฐ.เตรียมเพิ่มความศักดิ์สิทธิ์โอเน็ต เล็งใช้เป็นเกณฑ์จบ ป.6 ปีนี้ เริ่มจากเฉพาะวิชาภาษาไทย ต้องได้คะแนนมากกว่าร้อยละ 40 พร้อมขยายสู่การใช้ในชั้น ม.3 ในปี 2555 ด้าน “สมพงษ์” ระบุคะแนนโอเน็ตต่ำ เป็นวิกฤติการศึกษาชาติ เสนอยกเครื่องขบวนการวัดผล มีผลเลื่อนชั้น สอบตก แนะครูสอนให้เด็กคิดเป็นวิเคราะห์เป็น มีผลต่อการประเมินวิทยฐานะครู ส่วนอาจารย์ วอน สทศ.อย่าจัดสอบตรงตรุษจีน

วันนี้ (10 พ.ค.) รร.ปริ๊นซ์พาเลส สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จัดประชุมเสวนา “การใช้ O-NET เป็นเครื่องมือยกระดับคุณภาพการศึกษาทั้งระบบ” โดยเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม นายชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวว่า สพฐ.เตรียมจะนำคะแนนโอเน็ตมาใช้ในการวัดผลในจุดที่สำคัญต่อการเรียนการสอนมากขึ้น เพื่อให้การสอบโอเน็ตมีความศักดิ์สิทธิ์มากขึ้นและเป็นเครื่องมือในการประเมินวัดผลการศึกษาระดับชาติได้อย่างแท้จริง จะเริ่มใช้ในปีการศึกษา 2554 โดยใช้คะแนนโอเน็ตเป็นเกณฑ์ในการสำเร็จการศึกษาระดับ ป.6 โดยเฉพาะวิชาภาษาไทย ที่จะเสนอให้ผู้จบการศึกษา ป.6 ต้องมีคะแนนไม่ต่ำกว่าร้อยละ 40 หากนักเรียนคนใดคะแนนไม่ถึง จะต้องมีการเรียนซ่อมเสริมจนกว่าจะผ่านเกณฑ์แม้จะย้ายโรงเรียนไปแล้วก็ตาม

สำหรับปีการศึกษา 2555 จะนำโอเน็ตมาใช้มากขึ้น โดยเฉพาะการจบช่วงชั้น ป.6 และ ม.3 โดยนำเข้าไปเป็นสัดส่วนของผลการเรียนด้วย ส่วนจะใช้สัดส่วนคะแนนโอเน็ตเท่าไหร่นั้น จะสรุปให้ชัดเจนอีกครั้ง สำหรับข้อสอบโอเน็ต ทาง สพฐ.เห็นว่ามีความเหมาะสมแล้วทั้งด้านรูปแบบและวิธีการ เพราะ สทศ.บอกว่าปีนี้คะแนนโอเน็ตจะไม่เน้นให้คิดลึกซึ้งซับซ้อนจนเกินไปนัก นอกจากนี้สพฐ.จะส่งอาจารย์ไปร่วมออกข้อสอบด้วย ไม่ใช่อาจารย์จากโรงเรียนสาธิต เป็นผู้ออกข้อสอบเหมือนที่ผ่านมา

ด้าน รศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า คะแนนโอเน็ตลงต่ำสุดแล้วถือเป็นวิกฤติของการศึกษาไทย ในนโยบายปฎิรูปการศึกษาทศวรรษที่สอง ตั้งเป้าหมายไว้ว่า โอเน็ตต้องไม่ต่ำกว่าร้อยละ 50 ดังนั้น ขบวนการวัดผลของประเทศต้องปฏิรูปกันใหม่หมด ซึ่งหน่วยงานที่วัดประเมินผลต้องมาคุยกัน วันนี้ทุกหน่วยงานมาคุยกัน โดยเน้นที่โอเน็ต ซึ่งจะจุดประกายปฏิรูปการศึกษาครั้งนี้ เพื่อนำโอเน็ตไปปรับปรุงคุณภาพโดยเฉพาะผลสัมฤทธิ์ของเด็ก และร้อยละ 90 มีการปรับรื้อขบวนการวัดผลทั้งหมด นำคะแนนโอเน็ตไปใช้สอบคัดเลือก ป.6 ม.3 และ ม.6 จะต้องมีสอบได้สอบตก

สำหรับเนื้อหาการสอบที่เด็กระบุว่า ยากจะต้องมีการปรับให้เหมาะสมกับเด็ก ไม่ใช่ยากมาก มีสามมิติสี่มิติ ซึ่งซับซ้อนมาก เด็กตอบถูกครึ่งหนึ่งเด็กก็ไม่ได้คะแนน คะแนนที่ออกมาจึงต่ำมาก ตนคิดว่าควรมีการปรับปรุงระบบการออกข้อสอบของ สทศ.ครั้งใหญ่ โดยให้อาจารย์สังกัด สพฐ.ร่วมออกข้อสอบ ต้องดูเรื่องมาตรฐาน

ขณะนี้จริตของเด็กไทยไม่มีสอดคล้องกับข้อสอบของ สทศ. ต้องปรับ ไม่ใช่ให้อาจารย์สาธิตออกข้อสอบ ผมลงพื้นที่ต่างจังหวัด พบว่า โรงเรียนหลายแห่งตื่นตัวเรื่องโอเน็ต รู้ว่ารัฐบาลจะต้องเน้นในยุคหน้า และโรงเรียนต้องสอนให้เด็กคิดเป็น วิเคราะห์เป็น จะสอดคล้องคิดวิเคราะห์” รศ.ดร.สมพงษ์ แสดงความเห็นว่า การนำผลโอเน็ตมาประเมินเด็ก สอบตก ซ้ำชั้น ตนมองว่าจะต้องมีระบบซ่อม หากเด็กได้คะแนนต่ำจริง อาจจะต้องตก ควรซ้ำชั้น อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้อาจขัดแย้งกับนักวิชาการบางกลุ่ม ไม่มีการสอบตก เพราะมองว่าจะเป็นปมด้อย แต่ตรงนี้เป็นการทำลายโครงสร้างขบวนการวัดผล คุณภาพ ของประเทศ ซึ่งมีผลงานวิจัยออกมาว่า ข้อสอบยากมาก ซับซ้อนหลายขั้นตอน ให้อาจารย์มานั่งสอบ บางคนยังทำไม่ได้

ส่วนการนำคะแนนโอเน็ตมาใช้ในการประเมินวิทยฐานะครูนั้นตนเองมองว่าจะต้องนำมาประเมินด้วย ไม่อย่างนั้นครูจะเน้นเอกสาร งานวิจัย ต้องดูคะแนนโอเน็ตด้วย อย่างไรก็ตาม ต้องไม่ทำให้ข้อสอบโอเน็ตง่าย หรือนำข้อสอบโอเน็ตไปติว ตรงนี้ต้องระมัดระวัง

อาจารย์ผู้เข้าร่วมประชุมท่านหนึ่ง กล่าวว่า ขอให้ สทศ.ปรับตารางการสอบโอเน็ตไม่ให้ตรงกับช่วงเทศกาลตรุษจีน และหาช่วงวันที่เหมาะสม เพราะเดือนกุมภาพันธ์ที่ สทศ.กำหนดให้สอบนั้น สถานศึกษายังสอนไม่ครบตาม จะจำเป็นต้องเร่งอัดแน่นเนื้อหาให้เร็วขึ้น อาจทำให้เด็กบางคนเรียนไม่ทันได้
กำลังโหลดความคิดเห็น