xs
xsm
sm
md
lg

สกศ.ดันปฏิรูปรอบ 2 “ประทีป” แนะทีมเวิร์กแก้ “คอขวด”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพประกอบจากอินเทอร์เนต
สกศ.ดันปฏิรูปรอบสองสู่การปฏิบัติ “ประทีป” แนะทำงานเป็นทีมอย่าแยกส่วน ขจัดคอขวด เพื่อไปสู่เป้าหมายเดียวกัน ขณะที่ “เลขา” ระบุรัฐจัดงบพัฒนาการศึกษาต่ำ ทุกฝ่ายต้องช่วยกันคิดจะทำอย่างไรให้มีคุณภาพ ส่วน “ปัญญา” ใบ้กิน สพฐ.ลงทุนสูงแต่ผลสัมฤทธิ์ดิ่ง คะแนนโอเน็ต เด็กได้ “ศูนย์” กว่าแสนคน ตั้งเป้า 5 วิชาหลักคะแนนพุ่ง 4%

ที่โรงแรมภูเก็ตเมอร์ลิน จ.ภูเก็ต วันนี้ (24 พ.ค.) นางสุทธศรี วงษ์สมาน รองเลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวตอนหนึ่งในการประชุมเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจ เรื่อง แนวทางการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง (พ.ศ.2554-2561) โดยมีผู้เข้าร่วมการประชุม 500 คน ว่า การปฏิรูปการศึกษาในรอบสองจะไม่ใช่การปรับรื้อจากการปฏิรูปการศึกษารอบแรก แต่จะเป็นการปรับแต่ง โดยเน้นเรื่องคุณภาพการศึกษา โอกาสและความเสมอภาค และการมีส่วนร่วมเป็นหลัก โดยกำหนดเป็น 10 นโยบายเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการ เช่น พัฒนาผู้เรียนและครูด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ เทคโนโลยี ภาษาไทย ภาษาต่างประเทศ และเทคโนโลยีสารสนเทศ, การปรับหลักสูตร และจัดกระบวนการเรียนการสอน และการประเมินผลในรูปแบบใหม่ โดยเน้นกิจกรรมมากขึ้น, เร่งผลิตครูพันธุ์ใหม่ และผลิตครูในสาขาขาดแคลนและครูวิชาชีพ, สนับสนุนโรงเรียนดีประจำตำบล อำเภอ และจังหวัด, เพิ่มประสิทธิภาพและลดความสูญเปล่าของโรงเรียนขนาดเล็ก และสร้างแรงจูงใจให้เด็กเรียนอาชีวศึกษามากขึ้น

 ทั้งนี้ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) จะจัดประชุมอีก 7 ครั้งใน 4 ภูมิภาค เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจ และรับฟังความคิดเห็น จากนั้นจะนำผลการประชุมหมดไปสังเคราะห์ แล้วจัดสมัชชาทั่วประเทศอีกครั้ง เพื่อนำผลไปนำร่องเชิงลึกในบางพื้นที่ต่อไป

นายประทีป วีระพัฒนนิรันดร์ อนุกรรมการคณะกรรมการนโยบายปฎิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง (กนป.) ด้านการพัฒนาคุณภาพมาตรฐานการศึกษาและเรียนรู้ กล่าวว่า การปฏิรูปการศึกษาที่ประสบความสำเร็จได้นั้น อยู่ที่ระบบบริหารจัดการ จะต้องหล่อหลอมคนให้มีวัฒธรรมการทำงานในรูปแบบองค์กรเดียวกัน โดยเน้นการทำงานเป็นทีม มุ่งมั่นสู่ความสำเร็จอย่างไม่มีเงื่อนไข ขณะเดียวกันจะต้องขจัดคอขวด โดยให้คนที่ปฏิบัติเป็นผู้ที่วางแผน แต่ต้องมีเป้าหมายร่วมกัน รวมทั้งต้องปลดล็อกการทำงานแบบแยกส่วน ซึ่งการจะทำเรื่องเหล่านี้ให้สำเร็จได้ประกอบด้วย 2 แนวทาง คือ 1.คิดอย่างสำเร็จ มีการวางแผนอย่างแม่นยำและจับต้องได้ 2.การตัดสินใจอย่างรวดเร็วโดยใช้ประสบการณ์และถอดบทเรียนที่ผิดพลาดที่ผ่านมา

น.ส.เลขา ปิยะอัจฉริยะ อนุกรรมการ กนป.ด้านการเพิ่มโอกาสทางการศึกษาและเรียนรู้ กล่าวว่า การปฏิรูปฯรอบสอง นอกจากนั้น จะเน้นสร้างโอกาสให้กับผู้ที่พลาดโอกาสแล้ว สิ่งที่ต้องเพิ่มเติมคือจะต้องมีการป้องกันผู้ที่มีโอกาสแล้วไม่ให้เสีย โอกาสด้วย โดยจะต้องสร้างเครื่องมือให้กับคนไทย เพื่อให้สามารถเรียนรู้ได้ตลอดชีวิต แม้ว่าจะเกษียณอายุจากการทำงานแล้ว เพราะคนกลุ่มนี้หากไม่เรียนรู้ต่อเนื่อง ทางการแพทย์ระบุว่าคนนั้นจะก้าวถอยหลังและสมองฟ่อทันที

ทั้งนี้ จากที่ได้ทำงานวิจัยเรื่องการศึกษาของประเทศไทย พบว่า เด็กไทยไม่ได้ด้อยกว่าเด็กชาติอื่นๆ แต่ไทยมีจุดอ่อนในการบริหารจัดการ ซึ่งเป็นระบบการจัดการศึกษาที่ลงทุนน้อยมาก โดยงบประมาณส่วนใหญ่จะเน้นไปที่เงินเดือน และการพัฒนาโครงสร้าง ดังนั้นจึงต้องหาแนวทางว่าจะทำอย่างไรให้การลงทุนที่น้อยนั้นมีประสิทธิภาพ มากขึ้น

อย่าง ไรก็ตาม คงไม่ใช่หน้าที่ของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) อย่างเดียว แต่จะต้องเน้นการมีส่วนร่วม และการเป็นเครือข่ายกับหน่วยงานต่างๆ ในหลายระดับ และหลายรูปแบบที่จะเข้ามาร่วมส่งเสริมด้วย มีกลไกที่จะขับเคลื่อนนโยบายไปสู่การปฏิบัติได้นั้น คือ เรื่องวิชาการและการติดตามประเมินผล ที่ต้องเปลี่ยนจากการจับผิดเป็นการตรวจสอบ และประกันคุณภาพ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้รับบริการ ว่ามีคุณภาพ

ด้าน นายสมหมาย ปาริจฉัตต์ อนุกรรมการ กนป.ด้านการส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองเป็นปัจจัยตัวหนึ่ง เพราะความต่อเนื่องกับการดำเนินงานเป็นตัวชี้วัดที่สำคัญที่จะชี้ได้ว่าการปฏิรูปการศึกษาฯจะประสบความสำเร็จหรือไม่ อย่างไรก็ตาม แม้ที่ผ่านมาจะมีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นมาก โดยเฉพาะการปฏิรูปครู เช่น แก้กฎหมายเพื่อเพิ่มเงินเดือน ตั้งกองทุนพัฒนาครู เป็นต้น แต่หลังจากนี้ต้องมาพิจารณาว่า เมื่อครูได้รับการปฏิรูปแล้วทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการศึกษา รวมทั้งผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของเด็กหรือไม่ ซึ่งตนเชื่อว่าหากครูสามารถเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการเรียนการสอนได้ เชื่อว่าการปฏิรูปการศึกษาฯก็จะเกิดการเปลี่ยนแปลงได้ และขณะนี้มีสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) เกิดขึ้น จึงเชื่อว่าจะเป็นองค์กรที่ช่วยให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการเรียนการสอนมากขึ้น ทั้งนี้ช่องทางที่จะทำให้การปฏิรูปการศึกษาฯ ประสบความสำเร็จได้นั้น จะปล่อยให้การศึกษาอยู่ในความรับผิดชอบของ ศธ.เพียงอย่างเดียวไม่ได้ แต่ต้องให้สังคมโดดเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้นด้วย นอกจากนี้จะต้องส่งเสริมให้ภาคเอกชนหันมาทำกิจกรรมทางด้านการศึกษา ตลอดจนเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการการทำบุญของคนให้หันมาทำบุญเพื่อการศึกษามากขึ้น

นาย ปัญญา แก้วกียูร ที่ปรึกษาสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กล่าวว่า สพฐ.ได้ลงทุนทางด้านการศึกษาจำนวนมาก แต่ผลคะแนนแบบทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นพื้นฐาน (โอเน็ต) กลับลดลงโดยเฉพาะในปีที่ผ่านมา เด็กได้คะแนนศูนย์หลายแสนคน ซึ่ง สพฐ.ได้ตั้งคำถามเหมือนกันว่าเกิดอะไรขึ้น เพราะเราได้ลงทุนในเรื่องพัฒนาการศึกษาเป็นจำนวนมาก ดังนั้น จึงได้กำหนดจุดเน้นในเรื่องผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาใน 5 กลุ่มสาระวิชาหลัก คือ คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ไทย อังกฤษ สังคม ให้คะแนนเฉลี่ยในวิชาเหล่านี้จะต้องเพิ่มขึ้นร้อยละ 4

น.ส.สมใจ สุวรรณศุภพนา นายกเทศมนตรีนครภูเก็ต กล่าวว่า ในส่วนของเทศบาลเมืองภูเก็ตนอกจากจะยึดยุทธศาสตร์และนโยบายของ ศธ.แล้ว ก็ยังผนวกกับยุทธศาสตร์ของเมืองภูเก็ตด้วย เพื่อให้เด็กรู้จักตนเอง รักท้องถิ่น และทำงานในจ.ภูเก็ต โดยได้มีการจัดทำแผนที่ชัดเจนว่าในอีก 5-10 ปีข้างหน้า เมื่อเด็กจบการศึกษาแล้วจะมีงานอะไรรองรับบ้าง เพื่อให้เด็กได้ทำงานอยู่ในพื้นที่ สำหรับจุดเน้นของเทศบาลเมืองนครภูเก็ตนั้น จะเน้นให้เด็กรู้ไอที รู้ภาษาอังกฤษ และภาษาจีน มีจิตอาสา รวมถึงมีความภาคภูมิใจในตัวตนของคนเมืองภูเก็ต
กำลังโหลดความคิดเห็น