xs
xsm
sm
md
lg

อภัยโทษทักษิณ แค่เกมการเมือง ปูลั่นไม่ช่วยพี่ชาย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน-ปชป.ยัน กฎหมายอภัยโทษปี 53 คำนึงถึงความเหมาะสมกับนักโทษทั่วไป ชี้"เพื่อไทย" รู้ดีว่า"ฎีกาแม้ว"ไม่เข้าข่าย 2 ประเด็น แต่ยังดันให้เป็นเกมการเมือง "เหลิม"ยันไม่ทำผิดกม.เพื่อช่วย"แม้ว" "ยิ่งลักษณ์" ลั่นไม่คิดถวายฎีกาช่วยพี่ชาย ยันรัฐบาลไม่มีนโยบายในเรื่องนี้ ด้านอดีต รมว.ยุติธรรม ขวางเปิดคุกใหม่สำหรับนักโทษการเมือง ขณะที่"ประชา"ปัดล้างคุก"โรงเรียนพลฯบางเขน" ไม่ได้รอรับ"แม้ว " แต่จะใช้กับนักโทษความมั่นคงชายแดนใต้ และคดียาเสพติดรายใหญ่ หวั่นอยู่รวมกันแล้วจะก่อเหตุจลาจล

นายวิรัตน์ กัลยาศิริ ส.ส.สงขลา ในฐานะคณะทำงานด้านกฎหมาย พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) พระราชทานอภัยโทษ พ.ศ. 2553 ที่เกิดขึ้นในสมัยรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งมีการวิพากษ์วิจารณ์เนื้อหาในข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับคุณสมบัติหลักเกณฑ์ของนักโทษที่ได้รับพระราชทานอภัยโทษปล่อยตัวนั้น มีบางส่วนที่เอื้อประโยชน์ต่อ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ว่า เป็นหลักเกณฑ์ทั่วไป ที่คณะกรรมการกฤษฎีกาเป็นผู้ดำเนินการ ซึ่งมีเนื้อหาที่ไม่ต่างจากอดีตที่ผ่านมา โดยเนื้อหากฎหมายฉบับดังกล่าว คำนึงถึงความเหมาะสมสำหรับนักโทษที่ยื่นฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษ ทั้งประเด็นเรื่องของอายุของนักโทษ และประเด็นความจำเป็นที่ต้องถูกควบคุมตัวก่อนจึงสามารถเข้าหลักเกณฑ์ได้

อย่างไรก็ตาม กรณีของพ.ต.ท.ทักษิณ นั้นยังมีอยู่ 2ประเด็นใหญ่ ที่ไม่เข้าข่ายคุณสมบัติดังกล่าวคือ

1. การเข้าชื่อกันร่วมลงนามขอพระราชทานอภัยโทษนั้นไม่มีรายชื่อของตัวผู้ต้องขังหรือญาติ ดังนั้นถึงจะอ้างว่ามีผู้เข้าร่วมลงนามกว่า 2 ล้านคน เพื่อขอความเป็นธรรมก็ไม่เป็นไปตามกฎหมาย

2.นัยยะสำคัญของการขออภัยโทษนั้น ผู้ต้องขังต้องแสดงออกถึงการรับผิด ผ่านถ้อยคำที่ยืนถวาย หรือการกลับมาถูกควบคุมตัว แต่กรณีของพ.ต.ท.ทักษิณ ไม่มีการแสดงออกถึงพฤติกรรมดังกล่าวเลยแม้แต่น้อย เพราะในฎีกาที่คนเสื้อแดงเข้าชื่อร่วมกัน เต็มไปด้วยการวิพากษ์วิจารณ์ระบบกฎหมายว่ามี 2 มาตรฐาน และโจมตีฝ่ายการเมืองตรงข้าม ทั้งนี้ในประเด็นมาตรา 4 ในข้อกฎหมาย ที่ไม่มีการกำหนดระยะเวลาของการถูกกักขัง ซึ่งมีการมองกันว่า พ.ต.ท.ทักษิณ อาจกลับมาติดคุกเพียงไม่กี่วัน เพื่อให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์นั้น ตนมองว่า ต้องเป็นไปตามข้อกำหนดคุณสมบัติ ที่ผู้กระทำความผิดต้องได้รับโทษ และยอมรับความผิดก่อน ส่วนใครจะได้ประโยชน์นั้น เป็นอีกเรื่อง

นายวิรัตน์ กล่าวด้วยว่า คนเสื้อแดง และพรรคเพื่อไทย รู้ถึงหลักเกณฑ์ดังกล่าวเป็นอย่างดี เพราะมีนักกฎหมายที่เข้าร่วมเป็นคณะทำงาน รวมถึงรู้ว่าถึงจะให้ประชาชนร่วมลงรายชื่อมากเท่าใด ก็ไม่มีผลเพราะต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายระบุ แต่ที่ยังยืนยันที่จะกระทำการดังกล่าวนั้น ก็เพื่อหวังผลให้เกิดความเข้าใจผิด และหวังดึงกระบวนการยุติธรรมมาให้เป็นประเด็นในเรื่องการเมือง

**"ฎีกาแดง"แค่เกมการเมือง

ด้านสมชาย แสวงการ ส.ว.สรรหา กล่าวในช่วงหารือต่อที่ประชุมวุฒิสภา เมื่อวานนี้ (12 ก.ย.) ว่า ขอฝากไปยังนายกรัฐมนตรี และรมว.ยุติธรรม กรณีตั้งคณะทำงานขึ้นพิจารณาเรื่องการถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษให้พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร โดยหลายฝ่ายวิจารณ์ว่า เป็นการถวายฎีกาทางการเมือง กรณีการถวายฎีกา มีบทบัญญัติของกฎหมายกำหนดเงื่อนไขวิธีการไว้อย่างชัดเจน การขอพระราชทานอภัยโทษ ไม่ใช่เรื่องที่ใครจะทำ อย่างไร เมื่อใดก็ได้

การขอพระราชทานอภัยโทษต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหมาย ผู้ที่ถูกพิพากษาให้รับโทษต้องเป็นผู้ถวายฎีกาเอง ทนายความไม่สามารถทำแทนได้ ขณะนี้พ.ต.ท.ทักษิณ ไม่ใช่นักโทษเด็ดขาด และไม่ได้ถูกขังไว้ตามหมายจำคุก จึงไม่อยู่ในสถานะที่จะถวายฎีกา ขณะที่ประชาชนที่เข้าชื่อ ก็ไม่ใช่ญาติของอดีตนายกรัฐมนตรี ตนไม่ขัดหากญาติของ พ.ต.ท.ทักษิณ จะเป็นผู้ยื่นเอง แต่ต้องไม่ใช่มวลชนที่ถูกครอบงำความคิดให้เชื่อว่าสามารถเป็นผู้ที่เกี่ยวข้อง จึงฝากคณะกรรมการฯว่า อย่ามีธงเพื่อเรื่องนี้อาจนำไปสู่ความขัดแย้งขึ้นได้ โดยขอให้พิจารณาอย่างรอบคอบก่อนจะดำเนินการ เพื่อใครคนใดคนหนึ่ง เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหาย

** เหลิมย้ำจะไม่ทำผิดกม.ในการช่วยแม้ว

ด้านร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีพรรคประชาธิปัตย์ ออกมาโจมตีรัฐบาลเกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ว่า เป็นเรื่องถนัดของพรรคประชาธิปัตย์ ที่ออกมาโจมตีว่า พ.ต.ท.ทักษิณ เกี่ยวข้องกับรัฐบาล ซึ่งเป็นสิ่งที่คิดเอง เออเอง เพราะรัฐบาลไม่ได้คิดทำอะไรเลย และอยากขอย้ำว่า สิ่งที่ผิดกฎหมายรัฐบาลจะไม่ทำ เพราะประเทศไทยไม่ได้อยู่กันแค่ 5 คน 10 คน ขอให้เลิกกันเสียที

ผู้สื่อข่าวถามว่าการที่มีข่าว พ.ต.ท.ทักษิณ ออกมาบ่อยๆ โดยเฉพาะเรื่องการเดินทางไปประเทศกัมพูชา จะทำให้มีผลกระทบต่อเสถียรภาพของรัฐบาล จากการโจมตีของฝ่ายต่างๆหรือไม่ ร.ต.อ.เฉลิม กล่าวว่าไม่เกี่ยวกัน พ.ต.ท.ทักษิณ จะไปที่ไหนก็ได้ ในสมัยรัฐบาลประชาธิปัตย์ ก็ไม่เห็นจะออก เรดโนติส ตำรวจสากลก็ไม่มีหมายจับ ก็เพราะความผิดที่เกิดขึ้นมันไม่เข้าข่าย ฉะนั้นพ.ต.ท.ทักษิณ ก็มีสิทธิ์เดินทางไปได้ทุกประเทศที่ยินยอม และยอมรับท่าน

เมื่อถามว่า มองอย่างไรกับการที่มีบางกลุ่มออกมาตีกันทุกเรื่อง รองนายกฯ กล่าวว่า ก็เป็นพวกเจ้าเก่าทั้งนั้น ไม่มีใหม่สักคน มีการกล่าวหามาทุกปี แต่พ.ต.ท.ทักษิณ ก็ชนะหมด

เมื่อถามว่า พรรคประชาธิปัตย์ อยากให้รัฐบาลแสดงบทบาทเกี่ยวกับ พ.ต.ท.ทักษิณที่เดินทางไปกัมพูชา ในฐานะเป็ผู้ร้ายข้ามแดน รองนายกฯ กล่าวว่า แล้วทำไมสมัยพรรคประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาลไม่ดำเนินการ ก็เพราะมันไม่เข้าเคียงกฎหมาย ไม่มี เรดโนติส ไม่มีความผิด

" ขนาดสมัยเขาเป็นรัฐบาล เขาทำทุกอย่างก็ยังทำอะไรไม่ได้ ทำถึงขนาดให้รัฐมนตรีท่านหนึ่ง ไปเดินด้อมๆมองๆ ที่หน้าบ้านในดูไบ ผมรู้เรื่องนี้ละเอียด ถึงอยากให้ฝ่ายค้านยื่นกระทู้ถามมาจะได้ซัดให้ชัดจบๆ กันสักที ทำไปทำมาบอกว่าผมเป็นสายล่อฟ้า ผมไปล่อฟ้าใคร ผมไม่ใช่สายล่อฟ้า อย่าคิดว่าผมจะตกใจ ผมไม่ใช่ห่านถึงจะตกใจ พูดไปก็จะหาว่าผมท้าทาย" รองนายกฯ กล่าว

***ปูนัยไม่ใช่นโยบายรัฐบาล

เมื่อเวลา 18.30 น.วานนี้ (12 ก.ย.) น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ที่บน.6 ภายหลังเดินทางกลับจากการเยือนอินโดนีเซีย ถึงกรณีที่ฝ่ายค้านทวงถามการจับกุม พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่จะเดินทางไปประเทศกัมพูชาว่า วันนี้ตนยังไม่ทราบ เพราะทำหน้าที่ในส่วนของรัฐบาล ยังไม่ทราบกำหนดการเดินทางของพ.ต.ท.ทักษิณ

เมื่อถามถึงกรณี นายวันชัย สอนศิริ อดีตเลขาฯสภาทนายความ และสมาชิกวุฒิสภา ระบุว่า สามารถขอพระราชทานอภัยโทษให้ พ.ต.ท.ทักษิณได้ เพราะตามกฎหมายฎีกา ปี พ.ศ. 2553 ระบุว่านักโทษสามารถขอฎีกาพระราชทานอภัยโทษได้ โดยมีอายุไม่เกิน 60 ปี และจำคุกไม่เกิน 3 ปี รัฐบาลจะใช้ช่องทางนี้หรือไม่ นายกฯ กล่าวว่าต้องกราบเรียนว่า รัฐบาลมีหน้าที่ดูแลปัญหาความเดือดร้อนเศรษฐกิจ ในภาพรวมของพี่น้องประชาชน

"สำหรับเรื่องการฎีกาของ พ.ต.ท.ทักษิณ ถือเป็นเรื่องบุคคล และเป็นเรื่องของเจ้าตัวเท่านั้นที่จะมีความประสงค์ รัฐบาลไม่ได้เข้าไปยุ่งเกี่ยว" น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าว

เมื่อถามว่าในฐานะที่เป็นญาติ จะช่วยเหลือได้หรือไม่ นายกฯ กล่าวว่าวันนี้ขอทำงานให้ประเทศชาติ เพราะมีภารกิจหลายอย่างจริงๆ ต้องใช้เวลา และเอาตัวเข้าไปทำงานอย่างจริงจัง

เมื่อถามย้ำว่า ตัวของนายกฯ ถือว่าอยู่ในตระกูลชินวัตร จะร่วมลงชื่อด้วยหรือไม่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า เอาว่า ให้เป็นเรื่องของเจ้าตัวจะดีกว่า ที่จะเป็นผู้ประสงค์ และเอาเป็นว่าตัวดิฉันไม่มีความประสงค์ที่จะทำในเรื่องนี้

" ต้องเรียนว่า เราประกาศไว้ตั้งแต่ต้นแล้วว่า จะมาทำงานนี้เพื่อภารกิจของคนทั้งประเทศ ไม่ได้มาทำภารกิจเพื่อคนเดียว ยังไงก็ต้องยืนยันเจตนานี้กับพี่น้องประชาชน และดิฉันจะตั้งใจทำงานเพื่อพิสูจน์ให้พี่น้องประชาชนเห็นว่า ดิฉันมีความตั้งใจที่จะเข้ามาทำงานรับใช้" น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าว

**ค้านเปิดคุกนักโทษการเมือง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเมื่อวานนี้ เว็บไซต์พรรคประชาธิปัตย์ ได้เผยแพร่บทความเรื่อง " คุกใหม่กับนักโทษการเมือง? " ที่เขียนโดยนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค อดีตรมว.ยุติธรรม ซึ่งแสดงความไม่เห็นด้วย กับการใช้โรงเรียนพลตำรวจบางเขน เป็นสถานที่คุมขังนักโทษการเมือง นักโทษคดีความมั่นคง และนักโทษต่างชาติที่รอการส่งตัวกลับประเทศ เพื่อแก้ไขปัญหายาเสพติด และความแออัดในเรือนจำ

ในบทความระบุว่า สมัยที่ตนเป็นรมว.ยุติธรรม กรมราชทัณฑ์ ไม่เคยเสนอใช้โรงเรียนดังกล่าวเพื่อแก้ปัญหาความแออัด แต่กลับเสนอให้ยกเลิกการใช้โรงเรียนพลตำรวจบางเขน ตามที่ฝ่ายตำรวจขอมาถึง 2 ครั้ง โดยอ้างว่ากรมราชทัณฑ์ไม่ค่อยได้ใช้ประโยชน์ในสถานที่ดังกล่าว หากเก็บไว้ก็จะสิ้นเปลืองงบประมาณ ตนจึงลงนามประกาศยกเลิกการเป็นเรือนจำชั่วคราวของโรงเรียนพลตำรวจ บางเขน

ทั้งนี้จนถึงปัจจุบัน ก็ยังไม่เห็นเหตุผลที่มีความจำเป็นต้องใช้โรงเรียนพลตำรวจบางเขน เพื่อแก้ไขดังกล่าว เพราะนอกจากจะเป็นคนละเรื่องกันแล้ว เรายังไม่มีนักโทษการเมือง และนักโทษคดีความมั่นคง กับนักโทษที่รอส่งตัวกลับประเทศ ก็มีจำนวนน้อยมากเกินกว่าที่จะก่อให้เกิดปัญหาความแออัด โดยมีเพียง 1-2 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น การแก้ปัญหาดังกล่าวจึงเหมือนกับการเอาน้ำเปล่าหยิบมือเดียวไปเทลงทะเล เพื่อแก้ปัญหาความเค็ม และหากมีปัญหาจริง ก็ยังมีเรือนจำทหารที่ประกาศสำรองไว้แล้วถึง 3 แห่ง รองรับอยู่ แถมการประกาศใช้โรงเรียนพลตำรวจบางเขน เป็นเรือนจำหรือคุกนั้น ยังจะทำให้กรมราชทัณฑ์มีปัญหาด้านกำลังเจ้าหน้าที่ และด้านงบประมาณที่มีไม่เพียงพออยู่แล้วนั้นให้มีปัญหามากขึ้นไปอีกด้วย

นายพีระพันธุ์ ยังตั้งข้อสังเกตด้วยว่า เหตุใดกรมราชทัณฑ์ เพิ่งจะนึกได้ว่าจะใช้แนวทางนี้แก้ปัญหาความแออัดในเรือนจำ หลังจากที่ได้ประชุมร่วมกันกับคณะของตำรวจที่มีพล.ต.อ.เพรียวพันธุ์ ดามาพงศ์ รองผบ.ตร. เข้าร่วมด้วย ที่สำคัญ ผู้บัญชาการตำรวจสันติบาลหรือ ผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ต้องตอบให้ได้ว่า ความจำเป็นที่ฝ่ายตำรวจต้องใช้โรงเรียนพลตำรวจบางเขนที่แจ้งยืนยัน และขอคืนมายังกรมราชทัณฑ์ ถึงสองครั้งนั้น หายไปไหนแล้ว ในส่วนของนักโทษ ปัจจุบันเราไม่มีนักโทษการเมือง ในการควบคุมตัวของเรือนจำใดๆ ของกรมราชทัณฑ์ ที่ผ่านมามักจะสับสน เกี่ยวกับความหมายของนักโทษการเมือง โดยเหมารวมว่า คดีที่นักการเมืองเป็นผู้ต้องหา จะเป็นคดีการเมือง ซึ่งความจริงไม่เกี่ยวกัน เพราะไม่ว่าผู้นั้นจะเป็นใคร หากกระทำความผิดอาญาแผ่นดิน ที่มีโทษจำคุกตามกฎหมายแล้ว ผู้นั้นจะเป็นผู้ต้องหาในคดีอาญา เหมือนผู้กระทำความผิดอื่นทั่วๆ ไป การที่ผู้นั้นเป็นนักการเมืองแล้วไปกระทำความผิดที่มีโทษอาญา ไม่ทำให้คดีนั้นเปลี่ยนจากคดีอาญาเป็นคดีการเมือง และไม่ทำให้ผู้นั้นเปลี่ยนสถานะจากนักโทษคดีอาญา เป็นนักโทษการเมือง

** "ประชา"ปัดล้างคุกรอ"แม้ว"

พล.ต.อ. ประชา พรหมนอก รมว.ยุติธรรม ปฏิเสธกระแสข่าว เรื่องการปรับปรุงพื้นเรือนจำชั่วคราว หลักสี่ ( โรงเรียนพลตำรวจบางเขน ) ว่า การกระทำดังกล่าวไม่ได้มีแนวคิด หรือมาจากนโยบายการจัดสถานที่คุมขังพิเศษ เพื่อรองรับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร

แต่ที่ต้องปรับปรุง เนื่องจากต้องการรองรับผู้ต้องขังคดีความมั่นคง โดยที่ผ่านมา ได้เกิดปัญหาการก่อจลาจลในเรือนจำ ที่ จ.นราธิวาส และ จ.ยะลา นอกจากนี้ขณะนี้เรือนจำทั่วประเทศ 143 แห่ง สามารถจุนักโทษได้ 140,00 คน แต่ปัจจุบันกลับมีผู้ต้องขังเพิ่มสูงขึ้นถึง 240,000 คน ทำให้ทุกเรือนจำมีสภาพแออัด ตนจึงมีความคิดที่จะแยกการคุมขังนักโทษคดีความมั่นคง หรือนักค้ายาเสพติดรายสำคัญ ออกไปควบคุมเป็นกรณีพิเศษเพื่อไม่ให้ เกิดปัญหาการคุมขังปะปนกับนักโทษทั่วไป และนำไปสู่การขยายผลการกระทำผิดอื่นๆในเรือนจำ

นายชาติชาย สุทธิกลม อธิบดีกรมราชทัณฑ์ กล่าวว่า การกำหนดประเภทเรือนจำหรือชั้นเรือนจำ เป็นอำนาจที่ทำได้ ตาม พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ มาตรา 4 และ 6 ซึ่ง ให้อำนาจ รมว.ยุติธรรม กำหนดชั้น หรือประเภทของเรือนจำได้ โดยต้องประกาศในราชกิจจานุเบกษา

ทั้งนี้ เรือนจำชั่วคราวหลักสี่ ได้เคยใช้มาตั้งแต่ปี 2506 นอกจากนี้ ที่ผ่านมาก็เคยมีการขอใช้ ใช้เรือนจำทหารเป็นสถานที่สำคัญแล้วแต่กรณี ดังนั้น เรื่องการปรับพื้นที่ครั้งนี้จึงไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่

นายชาติชาย กล่าวว่า พื้นที่เรือนจำชั่วคราวหลักสี่ นั้นเมื่อปี 2553 กองบัญชาการตำรวจสันติบาล มีนโยบายจะขยายพื้นที่สำนักงาน จึงขอพื้นที่ดังกล่าว แต่เกิดปัญหาติดขัดเรื่องงบประมาณในการก่อสร้าง ต่อมาเมื่อกรมราชทัณฑ์มีปัญหา รมว.ยุติธรรม จึงมีนโยบายขอคืนพื้นที่ จาก กองบัญชาการตำรวจสันติบาล

แหล่งข่าว อดีตอธิบดีกรมราชทัณฑ์ รายหนึ่ง เปิดเผยว่า การจัดเตรียมเรือนจำที่จะคุมขังนักโทษ หรือจำเลยคดีการเมืองมีมาตั้งแต่ประวัติศาตร์แล้ว เช่นที่ เกาะตะรุเตา โดยแบ่งแยกนักโทษที่มีความผิด เนื่องจากมีความเห็นทางการเมืองแยกออกจกานักโทษที่เป็นอาชญากร ที่ทำผิดคดีอาญาทั่วไปไว้ ซึ่งการจัดเรือนจำคุมขังเฉพาะก็เป็น แนวทางที่ดี ที่จะไม่จับเอาผู้ที่เรียกว่าเป็นอาชญากร ที่เกิดจากความเห็นแตกต่างไปอยุ่กับอาชญากรที่เรียกว่าเป็นโจร แต่ทั้งนี้ไม่ว่าจะเป็นเรือนจำที่คุมขังประเภทใด ก็ไม่มีความสะดวกสบาย เพราะเรือนจำคือที่คุมขังผู้ที่มีความผิด
กำลังโหลดความคิดเห็น