อดีต รมว.ยุติธรรม ขวางเปิดคุกนักโทษการเมืองใหม่ ระบุ ปัจจุบันไม่มีนักโทษประเภทนี้แล้ว งง กรมราชทัณฑ์เคยเสนอให้ยกเลิกการใช้โรงเรียนพลตำรวจ บางเขต เป็นสถานที่คุมขังถึง 2 ครั้ง แต่เมื่อประชุมร่วมกับ “เพรียวพันธ์” กลับพลิกลิ้น แนะแยกให้ออกระหว่างนักโทษอาญา กับนักโทษการเมือง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เว็บไซต์พรรคประชาธิปัตย์ วันนี้ (12 ก.ย.) เผยแพร่บทความเรื่อง “คุกใหม่กับนักโทษการเมือง????” โดย นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค อดีต รมว.ยุติธรรม ซึ่งแสดงความไม่เห็นด้วยกับการใช้โรงเรียนพลตำรวจบางเขน เป็นสถานที่คุมขังนักโทษการเมือง นักโทษคดีความมั่นคง และนักโทษต่างชาติที่รอการส่งตัวกลับประเทศ เพื่อแก้ไขปัญหายาเสพติดและความแออัดในเรือนจำ
บทความระบุว่า สมัยที่ตนเป็น รมว.ยุติธรรม กรมราชทัณฑ์ ไม่เคยเสนอใช้โรงเรียนดังกล่าวเพื่อแก้ปัญหาความแออัด แต่กลับเสนอให้ยกเลิกการใช้โรงเรียนพลตำรวจบางเขน ตามที่ฝ่ายตำรวจขอมาถึง 2 ครั้ง โดยอ้างว่ากรมราชทัณฑ์ไม่ค่อยได้ใช้ประโยชน์สถานที่ดังกล่าว หากเก็บไว้ก็จะสิ้นเปลืองงบประมาณ ตนจึงลงนามประกาศยกเลิกการเป็นเรือนจำชั่วคราวของโรงเรียนพลตำรวจ บางเขน
ทั้งนี้ จนถึงปัจจุบันตนยังไม่เห็นเหตุผลที่ความจำเป็นต้องใช้โรงเรียนพลตำรวจบางเขน เพื่อแก้ไขดังกล่าว เพราะนอกจากจะเป็นคนละเรื่องกันแล้ว เรายังไม่มีนักโทษการเมือง และนักโทษคดีความมั่นคงกับนักโทษที่รอส่งตัวกลับประเทศก็มีจำนวนน้อยมากเกินกว่าที่จะก่อให้เกิดปัญหาความแออัด โดยมีเพียง 1-2 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น การแก้ปัญหาดังกล่าวจึงเหมือนกับการเอาน้ำเปล่าหยิบมือเดียวไปเทลงทะเล เพื่อแก้ปัญหาความเค็ม และหากมีปัญหาจริงก็ยังมีเรือนจำทหารที่ประกาศสำรองไว้แล้วถึง 3แห่ง รองรับอยู่ แถมการประกาศใช้โรงเรียนพลตำรวจบางเขนเป็นเรือนจำ หรือคุกนั้น ยังจะทำให้กรมราชทัณฑ์มีปัญหาด้านกำลังเจ้าหน้าที่และด้านงบประมาณที่มีไม่เพียงพออยู่แล้วนั้นให้มีปัญหามากขึ้นไปอีกด้วย
นายพีระพันธุ์ ตั้งข้อสังเกตว่า เหตุใดกรมราชทัณฑ์เพิ่งจะนึกได้ว่าจะใช้แนวทางนี้แก้ปัญหาความแออัดในเรือนจำ หลังจากที่ได้ประชุมร่วมกันกับคณะของตำรวจที่มี พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ รองผบ.ตร.เข้าร่วมด้วย ที่สำคัญ ผู้บัญชาการตำรวจสันติบาล หรือผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ต้องตอบให้ได้ว่า ความจำเป็นที่ฝ่ายตำรวจต้องใช้โรงเรียนพลตำรวจบางเขนที่แจ้งยืนยัน และขอคืนมายังกรมราชทัณฑ์ถึงสองครั้งนั้น หายไปไหนแล้ว
ในส่วนของนักโทษ ปัจจุบันเราไม่มีนักโทษการเมือง ในการควบคุมตัวของเรือนจำใดๆ ของกรมราชทัณฑ์ ที่ผ่านมา มักจะสับสนเกี่ยวกับความหมายของนักโทษการเมือง โดยเหมารวมว่าคดีที่นักการเมืองเป็นผู้ต้องหาจะเป็นคดีการเมือง ซึ่งความจริงไม่เกี่ยวกัน เพราะไม่ว่าผู้นั้นจะเป็นใครหากกระทำความผิดอาญาแผ่นดินที่มีโทษจำคุกตามกฎหมายแล้ว ผู้นั้นจะเป็นผู้ต้องหาในคดีอาญาเหมือนผู้กระทำความผิดอื่นทั่วๆ ไป การที่ผู้นั้นเป็นนักการเมืองแล้วไปกระทำความผิดที่มีโทษอาญาไม่ทำให้คดีนั้นเปลี่ยนจากคดีอาญาเป็นคดีการเมืองและไม่ทำให้ผู้นั้นเปลี่ยนสถานะจากนักโทษคดีอาญาเป็นนักโทษการเมือง