xs
xsm
sm
md
lg

ยุค"ปู"ศก.-การเมืองแย่ ความสุขประชาชนวูบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายนพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการศูนย์เครือข่ายวิชาการเพื่อสังเกตการณ์และวิจัยความสุขชุมชน หรือ ศูนย์วิจัยความสุขชุมชน มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจ เรื่องรายงานดัชนีความสุขมวลรวมหรือ Gross Domestic Happiness (GDH) ในช่วงโค้งแรกของรัฐบาล ภายใต้การนำของ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไปใน 17 จังหวัดของประเทศ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร กาญจนบุรี สุพรรณบุรี ชลบุรี พิจิตร เพชรบูรณ์ เชียงใหม่ นครพนม กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด ศรีสะเกษ อุดรธานี ขอนแก่น กระบี่ นราธิวาส และสงขลา จำนวนทั้งสิ้น 2,520 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 1 - 10 กันยายน 2554 ที่ผ่านมา โดยใช้การเลือกตัวอย่างแบบแบ่งกลุ่มเชิงชั้นภูมิหลายชั้น ที่สุ่มเลือกจังหวัด อำเภอ ตำบล ชุมชน ครัวเรือน และประชาชนตัวอย่างระดับครัวเรือน ช่วงความคลาดเคลื่อนบวกลบร้อยละ 7 พบว่า
เมื่อทำการศึกษาดัชนีชี้วัดความสุขมวลรวมของประชาชนภายในประเทศ หรือ Gross Domestic Happiness (GDH) จำนวน 26 ตัวชี้วัด และแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ด้านสังคม ด้านเศรษฐกิจ และด้านการเมือง พบว่า เมื่อค่าอ้างอิงความสุขอยู่ที่ระดับ 100 จุด ผลการศึกษาด้านสังคมปรากฏว่า ประชาชนมีความสุข ที่ได้เห็นประชาชนแสดงความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์มากที่สุด อยู่ที่ระดับ 162.7 จุด
รองลงมาคือ ความสุขต่อบรรยากาศความสัมพันธ์ของคนในครอบครัวช่วง 30 วันที่ผ่านมาอยู่ที่ 135.0 จุด นอกจากนี้ มีความสุขต่อสุขภาพทางใจ 117.6 จุด มีความสุขต่อหน้าที่การงาน อาชีพที่ทำอยู่ 111.4 จุด มีความสุขต่อการให้บริการด้านการรักษาพยาบาลในชุมชน 110.7 จุด มีความสุขต่อคุณภาพด้านการศึกษาของบุตรหลาน 110.5 จุด มีความสุขต่อสุขภาพทางกาย 108.8 จุด และมีความสุขต่อบรรยากาศความสัมพันธ์ของคนในชุมชนช่วง 30 วันที่ผ่านมาอยู่ที่ระดับ 107.7 จุด
อย่างไรก็ตาม ประชาชนไม่มีความสุขต่อสภาพถนนหนทาง ไฟฟ้า น้ำดื่มน้ำใช้ในชุมชน เพราะได้ค่าที่ 94.9 จุด ต่ำกว่าค่าอ้างอิงความสุขที่ระดับ 100 จุด
นอกจากนี้ ยังไม่มีความสุขต่อวัฒนธรรม ประเพณีไทยที่ถูกละเลยกันไป 86.8 จุด ไม่มีความสุขต่อภาพลักษณ์ของประเทศไทย คนไทย เด็กไทย 86.7 จุด และด้านความเป็นธรรมในสังคม ผลการศึกษาพบว่า ประชาชนยังไม่มีความสุข เพราะมีค่าความสุขต่ำกว่ามาตรฐาน คือได้เพียง 78.8 ถือว่าน้อยที่สุดในตัวชี้วัดด้านสังคมของคนไทย แต่ค่าความสุขโดยภาพรวมด้านสังคมได้คะแนน 109.30 จุด สูงกว่าค่ามาตรฐานถือว่า คนไทยมีความสุขด้านสังคมเพราะ ตัวชี้วัดเกี่ยวกับความจงรักภักดีของคนในชาติ ความสุขต่อครอบครัว สุขภาพทางใจ และอาชีพการทำงาน ถือเป็นปัจจัยบวกที่สำคัญต่อความสุขมมวลรวมด้านสังคมของประชาชนภายในประเทศไทย

**เผยความสุขด้านศก.- การเมืองต่ำสุด

แต่ที่น่าเป็นห่วงคือ ผลการศึกษาพบว่า ประชาชนไม่มีความสุขต่อทุกตัวชี้วัดด้านเศรษฐกิจ ได้แก่ เรื่องรายได้ส่วนตัว เปรียบเทียบกับช่วงเวลารัฐบาลนายอภิสิทธิ์ หรือจะเป็นเรื่องรายได้ครัวเรือน และการใช้จ่ายต่างๆในชีวิตประจำวัน การร้องเรียกสิทธิของผู้บริโภคจากกลุ่มนายทุนผู้ประกอบธุรกิจ และสภาวะเศรษฐกิจของประเทศ โดยได้ค่าความสุขต่ำกว่ามาตรฐาน ได้แก่ 93.1จุด 83.2 จุด 75.6 จุด 74.7 จุด และ 61.3 จุด ตามลำดับ โดยค่าความสุขมวลรวมด้านเศรษฐกิจ ก็ต่ำกว่าค่ามาตรฐานเช่นกันคือได้ 77.58 หมายความว่า ประชาชนยังไม่มีความสุขต่อตัวชี้วัดด้านเศรษฐกิจ
ยิ่งไปกว่านั้น ผลการศึกษายังพบว่า ประชาชนไม่มีความสุขต่อทุกตัวชี้วัดด้านการเมืองเช่นกัน ได้แก่ ไม่มีความสุขต่อนโยบายของรัฐบาลชุดปัจจุบันเปรียบเทียบกับรัฐบาลยุคนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้เพียง 92.5 จุด ถือว่าต่ำกว่าค่ามาตรฐาน

** ความปลอดภัย-ภัยพิบัติ ยังแย่

นอกจากนี้ ประชาชนยังไม่มีความสุขต่อ การทำงานของรัฐบาลในการป้องกันแก้ไขปัญหาภัยพิบัติต่างๆ ในช่วง 30 วันที่ผ่านมา 91.2 จุด ไม่มีความสุขต่อการทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจในการดูแลความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินในช่วง 30 วันที่ผ่านมา 90.8 จุด ไม่มีความสุขต่อการทำงานของรัฐบาลโดยภาพรวมช่วงนี้ 90.0 จุด ไม่มีความสุขต่อการพบเห็นการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐในช่วง 30 วันที่ผ่านมา 89.6 จุด ไม่มีความสุขต่อการทำงานของนักการเมืองฝ่ายค้าน 87.2 จุด ไม่มีความสุขต่อนักการเมืองระดับท้องถิ่นในชุมชน 80.4 จุด ไม่มีความสุขต่อคุณภาพนักการเมืองระดับชาติในช่วง 30 วันที่ผ่านมา 71.1 จุด และไม่มีความสุขต่อสถานการณ์การเมืองโดยภาพรวมในช่วง 30 วันที่ผ่านมา 68.2 จุด ตามลำดับ โดยค่าความสุขมวลรวมด้านการเมืองก็ต่ำกว่าค่ามาตรฐานเช่นกันคือได้ 84.56 หมายความว่า ประชาชนยังไม่มีความสุขต่อตัวชี้วัดด้านการเมือง
เมื่อพิจารณาโดยรวมของแต่ละด้านพบว่า ประชาชนไม่มีความสุขมวลรวม ด้านการเมือง 84.56 จุด ไม่มีความสุขมวลรวมด้านเศรษฐกิจ 77.58 จุด แต่มีความสุขมวลรวมด้านสังคม 109.30 จุด
อย่างไรก็ตาม เมื่อวิเคราะห์ตัวชี้วัดความสุขทั้ง 26 ตัวชี้วัดพบว่า ประชาชนมีความสุขเพียง 8 ตัวชี้วัดเท่านั้น ในขณะที่ประชาชนไม่มีความสุขต่อ 18 ตัวชี้วัดที่เหลือ และค่าความสุขมวลรวมของประชาชนภายในประเทศทุกด้านรวมกันไม่มีความสุขอยู่ที่ระดับ 90.48 ซึ่งต่ำกว่าค่าความสุขมาตรฐานในการศึกษาครั้งนี้

**"การเมืองจุ้น โกง เล่นพวก"
ทำระบบราชการ เสื่อม

สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต สำรวจความคิดเห็นข้าราชการเกษียณทั่วประเทศ จำนวน 3,469 คน ระหว่างวันที่ 1-10 กันยายน 2554 เรื่องระบบราชการไทยในสายตาข้าราชการเกษียณ พบว่า กลุ่มตัวอย่างเห็นว่า ระบบราชการไทยในอดีตมีจุดเด่น 3 อันดับแรกคือ ความเสียสละ ทุ่มเท อุทิศเวลาให้ราชการ การเมืองไม่ค่อยเข้ามาแทรกแซง และผู้บังคับบัญชามีบารมี เมตตา ให้ความเป็นธรรม
ส่วนจุดเด่นของระบบราชการในปัจจุบัน 3 อันดับแรก คือ ใช้เทคโนโลยีในการทำงาน มีคนที่มีความรู้สูงๆ มาก และมีแผนการดำเนินงานชัดเจน
ขณะที่จุดด้อยของระบบราชการในอดีต 3 อันดับแรก คือ ขาดเทคโนโลยีที่ทันสมัย ทำงานตามคำสั่ง ขาดความคิดริเริ่ม สร้างสรรค์ และ ความก้าวหน้าของข้าราชการมีน้อย
ส่วนจุดด้อยของระบบราชการในปัจจุบัน 3 อันดับแรก คือ การเมืองเข้ามาแทรกแซงมาก มีการทุจริต คอร์รัปชัน และมีการเล่นพรรคเล่นพวก
สิ่งที่ข้าราชการเกษียณเห็นว่าต้องเร่งแก้ไขในระบบราชการไทยมากที่สุดร้อยละ 30.93 คือ ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันในแวดวงราชการ รองลงมาคือ การถูกแทรกแซงทางการเมือง และการดูแลด้านสวัสดิการ รายได้ หนี้สินให้กับข้าราชการ
กำลังโหลดความคิดเห็น