xs
xsm
sm
md
lg

“มาร์ค” ฉะนโยบายรัฐบาลเริ่มพลิ้ว ลืมสัญญาที่ให้ไว้ตอนหาเสียง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
“มาร์ค” นำทีมฝ่ายค้านชำแหละนโยบายแก้บน อัดยังไม่ทันบริหารดัชนีความสุขประชาชนหดหาย เริ่มพลิ้วลืมคำสัญญาที่ให้ไว้ตอนหาเสียง กลับเดินหน้าทำในเรื่องที่ไม่ควร กล้าฟันธงลดภาษีให้นายทุน แต่ไม่กล้าขึ้นเงินค่าแรงงาน หวั่นมาตรฐานเดียวกับ “ปึ้ง” เตือนต้องเคร่งวินัยการเงินรับมือปัญหาเงินเฟ้อ ด้าน “เป็ดเหลิม” แก้ตัวไม่เคยสัญญาตอนหาเสียงอ้างผิด กม. ยกหน้าที่แก้ รธน.ให้ ส.ส.ร. แต่ไม่คิดแก้ ม.309 โต้เดือดขอลาออกหากลูกรักสอบตกแค่กลยุทธ์หาเสียง



ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี แถลงนโยบายรัฐบาลเสร็จ โดยใช้เวลาร่วม 3 ชั่วโมง ได้เดินออกจากห้องประชุมไปทันที จากนั้นนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคประชาธิปัตย์ ได้อภิปรายเป็นคนแรกในฐานะตัวแทนของฝ่ายค้านว่า รัฐบาลมีความจำเป็นในการทำตามคำมั่นสัญญาต่อประชาชน เพราะรัฐบาลให้ความคาดหวังต่อประชาชนในการแก้ไขปัญหาปากท้อง หลายเรื่องจำเป็นต้องใช้การทำงานแบบสานต่อที่ต้องเชื่อมต่อนโยบาย ต้องเดินหน้าไม่ใช่เปลี่ยนแปลงไปตามสมัยของรัฐบาล และรัฐบาลมุ่งหน้าขจัดผลประโยชน์ทับซ้อนและผลประโยชน์แอบแฝง เนื่องจากพวกเรานักการเมืองตกเป็นจำเลยสังคม ในสายตาสังคมมองพวกเราไม่ดี สบประมาทว่าพูดอะไรก็ได้เพื่อหาคะแนนเสียง แต่เวลาลงมือแก้ไขปัญหาไม่ทำตามคำมั่นสัญญา

“รัฐบาลชุดนี้ได้รับความไว้วางใจจากประชาชนในช่วงที่ประเทศชาติเพิ่งผ่านพ้นกับวิกฤตเศรษฐกิจรุนแรง แต่ต้องมาเผชิญกับปัญหาปากท้องและของแพง ประเด็นนี้เป็นที่คาใจประชาชนมากที่สุด แกนนำรัฐบาลให้คำมั่นสัญญาว่าจะแก้ไขได้เร็วและโดยทันที นับตั้งแต่วันเลือกตั้งเป็นต้นมา ประชาชนมีความรู้สึกหวั่นไหวการแก้ไขปัญหาจะทำจริงหรือไม่ สะท้อนได้จากดัชนีความสุขของประชาชนหลังการเลือกตั้งลดน้อยลง โดยเฉพาะนโยบายเพิ่มรายได้และการลดค่าครองชีพของประชาชน พรรคเพื่อไทยประกาศนโยบายตอนหาเสียงชัดเจนมากแต่หลังเลือกตั้งกลับกลายเป็นความคลุมเครือ รัฐมนตรีบางคนพูดว่าค่าแรง 300 บาทเป็นการพูดเพื่อการหาเสียง ถึงเวลาที่พรรคเพื่อไทยต้องทำความชัดเจนให้ประชาชนไม่หวั่นไหว มิเช่นนั้นการสร้างความสุขเกิดขึ้นไม่ได้” นายอภิสิทธิ์กล่าว

ส่วนนโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทนั้นตนไม่เห็นด้วยกับการกำหนดเป็นตัวเลขตายตัวเพราะอัตราค่าแรงแต่ละพื้นที่ไม่เท่ากัน แต่ที่สำคัญ คือ การสร้างความสับสนในนโยบาย เพราะการหาเสียงในหลายโอกาสปรากฏว่านายกฯ บอกว่าจะดำเนินการทันทีแต่ในทีมเศรษฐกิจท่านอื่นๆ ไม่พูดว่าจะดำเนินการทันทีและเท่าเทียมกันทั่วประเทศ และในนโยบายของรัฐบาลไม่พูดถึงค่าจ้างขั้นต่ำแต่เป็นรายได้วันละ 300 บาทอย่างสอดคล้องกับผลิตภาพและประสิทธิภาพของบุคลากร ซึ่งอยากทราบว่าค่าจ้างขั้นต่ำทั่วประเทศและเริ่มวันที่ 1 ม.ค. 2555 ใช่หรือไม่ เพราะค่าจ้างขั้นต่ำตามหลัก คือ ค่าจ้างที่แรงงานได้เมื่อเข้ามาทำงานไม่ว่าจะเป็นแบบมีฝีมือหรือไร้ฝีมือ จึงอยากขอความชัดเจนจากรัฐบาลในเรื่องนี้ และที่สำคัญจะทำให้แรงงานต่างด้าวหลั่งไหลเข้ามาในประเทศมากขึ้นเพราะอัตราค่าแรงสูงมาก ดูผลกระทบต่อขีดความสามารถในการส่งออกเพราะเป็นตัวสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจไทยมีความสามารถในการจ้างงานต่อเนื่อง ถ้าเพิ่มแต่ค่าจ้างและไม่ลดต้นทุนในการผลิตให้กับภาคอุตสาหกรรมจะมีปัญหาผลกระทบตามมา

ส่วนนโยบายเงินเดือนปริญญาตรี 1.5 หมื่นบาท อยากรู้ว่ารัฐบาลจะใช้กลไกอะไรไปบังคับภาคเอกชน เพราะไม่เหมือนกับภาคราชการที่รัฐบาลเป็นผู้กำหนดเงินเดือนเอง ประเด็นนี้รัฐบาลต้องมีคำตอบให้กับกลุ่มอื่นๆ ด้วย เช่น คนที่จบปริญญาตรีก่อนหน้านี้แต่ไม่ถึง 1.5 หมื่นบาท หรือเกินมานิดหน่อย ถ้าให้เฉพาะคนจบใหม่จะทำให้โครงสร้างเงินเดือนมีความเป็นธรรมหรือไม่ หรือถ้าทำในภาคส่วนราชการต้องใช้เงินกว่า 1 แสนล้านบาท เชื่อว่ารัฐบาลไม่น่าจะทำ นอกจากนี้ คนที่ได้รับผลกระทบ คือ บุคคลที่จบการศึกษาสายวิชาชีพ รัฐบาลจะไม่ปรับให้ใช่หรือไม่

นายอภิสิทธิ์ยังกล่าวถึงการยกเลิกกองทุนน้ำมันทันทีเพื่อให้ราคาน้ำมันลดลง แต่หลังการเลือกตั้งก็เปลี่ยนแปลงไป เพราะเปลี่ยนใช้คำว่า ชะลอการเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับน้ำมันเชื้อเพลิงบางประเภทชั่วคราว เพื่อให้ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงลดลงทันที สรุปแล้วการชะลอดังกล่าวพร้อมกับการปรับโครงสร้างราคาพลังงานทั้งระบบให้มุ่งสู่การสะท้อนราคาต้นทุนพลังงานจะทำอย่างไรเพื่อไม่ให้กองทุนน้ำมันเป็นหนี้เพิ่มมากขึ้น เพราะจะเอาเงินตัวไหนมาใช้หนี้กองทุน และส่งผลให้แก๊สโซฮอล์ และไบโอดีเซลแข่งขันไม่ได้ทั้งที่เคยพยายามส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนมาตลอด และจะกระทบไปถึงเกษตรกรที่ผลิตพลังงานเหล่านี้ นโยบายตรงนี้สับสนมากจากนโยบายหาเสียงกลายมาเป็นนโยบายเร่งด่วน ถ้ามั่นใจก็ประกาศ ถ้าทำไม่ได้ก็ชี้แจงดีกว่าปล่อยให้ภาวะคลุมเครืออยู่ต่อไป เพราะความชัดเจนจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนและการบริหารราชการของรัฐบาล

“รัฐบาลกล้าฟันธงอยู่เรื่องเดียว คือ ปรับลดภาษีให้นักธุรกิจ พวกนายทุนที่จะปรับลด จะให้เหลือ 23 เปอร์เซ็นต์ ในปี 2555 และให้เหลือ 20 เปอร์เซ็นต์ ในปี 2556 ทำไมกับนายทุนพูดชัดเจนได้ แต่ทำไมผู้ใช้แรงงานจะฟันธงไม่ได้ว่าจะขึ้นเงินเดือนเท่าไหร่”

นายอภสิทธิ์กล่าวว่า รัฐบาลอ้างว่าเพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขันของภาคเอกชน ไม่เข้าใจว่าทำไมนโยบายเกี่ยวกับภาคธุรกิจและเอกชนถึงมีความชัดเจน ซึ่งสวนทางกับความคลุมเครือในนโยบายของประชาชนส่วนใหญ่ ทั้งนี้ ความไม่ชัดเจนทางเศรษฐกิจจะส่งผลต่อด้านอื่นๆ ด้วย เช่น ธนาคารแห่งประเทศไทย เตรียมขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่อง พอเห็นรัฐบาลจะลงทุนมหาศาล ธปท.วิตกในเรื่องเงินเฟ้อจึงต้องขึ้นดอกเบี้ยเอาไว้ก่อนทำให้กระทบต่ออัตราแลกเปลี่ยนและด้านอื่นๆ

ทั้งนี้ รวมทั้งความสับสนและไม่ชัดเจนจากนโยบายแจกแท็บเล็ตเพื่อการศึกษา ปรากฏว่า ตอนหาเสียงใช้บอกว่าเด็กได้ทุกคน แต่พอมาแปลงเป็นนโยบายที่แถลงต่อรัฐสภา ใช้คำว่าทดลองดำเนินการในโรงเรียนนำร่องสำหรับระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 สรุปว่าจะดำเนินการอย่างไร เราหวังว่าจะได้เห็นการเมืองที่ใจกว้างอะไรที่ดำเนินการสานต่อและเป็นประโยชน์ก็ควรทำต่อ ไม่ใช่ยกเลิกทั้งหมด เช่นในสมัยรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ยังเดินหน้านโยบายรัฐบาลชุดเก่า เช่น กองทุนหมู่บ้าน หรือโครงการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ อะไรที่เป็นประโยชน์ก็ควรดำเนินการต่อเนื่อง และนโยบายที่เสียดายมากที่สุด คือ การยกเลิกการประกันรายได้ให้แก่เกษตรกร เนื่องจากนโยบายการจำนำที่ผ่านมาไม่เคยทั่วถึง อย่างมากที่สุดก็แค่ 1 ใน 4 เพราะรัฐบาลไม่มีทรัพยากรมากพอที่จะมาไล่จำนำผลผลิตการเกษตรในราคาสูงกว่าตลาด จึงอยากถามว่ามีหลักประกันอะไรที่ระบบจำนำจะทำให้ประชาชนได้ประโยชน์อย่างทั่วถึง

นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญที่รัฐบาลกำหนดให้เป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องทำภายใน 1 ปี ทั้งที่ไม่มีผลการศึกษาให้ต้องแก้ไขเป็นเรื่องเร่งด่วน จะมีอยู่จุดประสงค์เดียวของการแก้ไขรัฐธรรมนูญ คือ หวังผลการนิรโทษกรรม ดังนั้น อยากให้ดูบทเรียนเมื่อปี 2551 ด้วยที่นำมาสู่ความขัดแย้งในเวลาต่อมา ขณะเดียวกัน มีบางคนที่มีคดีเกี่ยวข้องกับอดีตนายกฯ บางท่าน เช่น คดีหลักทรัพย์ และคดีให้การเท็จ ซึ่งเราคาดหวังว่ารัฐบาลจะยอมรับการตรวจสอบ และไม่ทราบว่ามาตรฐานของรัฐบาลนี้จะเป็นมาตรฐานเหมือนกับ รมว.ต่างประเทศหรือไม่เพราะพวกตนเอาสิ่งที่รัฐบาลญี่ปุ่นมาพูดก็ไปฟ้องร้อง เรื่องนี้ไปว่ากันที่ศาล ถ้าจะใช้มาตรฐานแบบนี้รัฐบาลชุดที่แล้วคงฟ้องกลับเป็นร้อยคดี

“ผมมีความห่วงใยว่า ถ้าเอาเนื้อหาสาระมารวมกันทั้งหมดแล้วจะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจ การเมือง สังคม อยากให้รัฐบาลให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก เพราะจะต้องมีการใช้เงินไปเพื่อทำนโยบายเป็นหลักล้านล้านบาท รัฐบาลต้องดูผลกระทบเกี่ยวกับการวินัยการเงินการคลัง ถ้าไม่ใส่ใจว่าการเงินการคลังจะเป็นอย่างไรสิ่งที่ทำทั้งหมดจะสูญเปล่า จะบอกว่าไม่สนใจเงินเฟ้อไม่ได้เพราะเป็นภาษีที่ประชาชนต้องจ่าย เพราะถ้าเพิ่มขึ้นจะเหมือนต่างประเทศ โดยเฉพาะแนวคิดการตั้งกองทุนความมั่งคั่งจะเป็นการเอาเงินทุนสำรองของประเทศมาใช้ อยากทราบว่าจะแก้ไขกฎหมาย ธปท.หรือไม่ และจะทำอย่างไรให้การบริหารจัดการกองทุนมีประสิทธิภาพโดยไม่ใช้เงินดังกล่าวเป็นไปในลักษณะการบริหารงบประมาณปกติ”

นายอภิสิทธิ์กล่าวต่อว่า รัฐบาลชุดนี้เน้นมากเรื่องประชาธิปไตย จะปฏิรูปกระบวนการบังคับใช้กฎหมายให้เกิดความเสมอภาค แต่กลับจะดึงกระบวนการยุติธรรมเข้ามาสู่ความขัดแย้ง ตอนนี้มีกระบวนการใช้มวลชนมากดดันการทำหน้าที่ของศาล กกต. กลายเป็นลักษณะพวกมากลากไป ถ้าทำแบบนี้ปัญหาไม่จบ กลุ่มคนเสื้อแดงมีเสรีภาพในรวมตัวภายใต้กฎหมาย แต่การไปตั้งเป็นหมู่บ้านตั้งธงเป็นสีต่างๆ ไม่ควรทำ เป็นการแบ่งแยกประชาชนให้กลับไปอยู่สภาพความแตกแยก กดดันให้ประชาชนเลือกข้าง เพราะที่สุดแล้วเราต้องการให้สังคมอยู่ร่วมกันตามแบบประชาธิปไตย

“ขอให้รัฐบาลทำตามคำมั่นสัญญา อย่าให้มีผลประโยชน์ทับซ้อน เพื่อสร้างสังคมและประเทศไทยให้น่าอยู่ต่อไป ในฐานะที่นายกฯ เป็นหัวหน้ารัฐบาล เป็นคนที่ต้องรับผิดชอบสูงสุดต่อบ้านเมือง เป็นนายกฯ หญิงคนแรก และเป็นคนที่ประชาชนให้โอกาส แม้ว่าจะมีประสบการณ์การบริหารราชการน้อยมาก ขอให้ท่านนายกฯ ดำเนินการไม่ให้เกิดความขัดแย้งต่อไป และนโยบายที่เขียนแม้ว่าจะทำไม่สำเร็จทุกเรื่อง ประชาชนยังพร้อมให้โอกาสทำงาน ทั้งหมดเป็นอำนาจการตัดสินใจของท่านตลอด 4 ปี” นายอภิสิทธิ์กล่าว

ต่อมา ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี กล่าวตอบโต้ว่า มีบางส่วนที่นายอภิสิทธิ์เข้าใจผิดและเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องชี้แจง โดยขอปฏิเสธว่าไม่เคยไปให้สัญญาอะไรตอนหาเสียง เพราะจะผิดกฎหมายเลือกตั้ง มีแต่บอกว่านโยบายเพื่อไทย คือ “ทักษิณคิด เพื่อไทยทำ” การบอกว่าจะแก้ไขความผิดให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นการเข้าใจผิด ไม่เคยบอกว่าถ้าชนะเลือกตั้งแล้วจะแก้รัฐธรรมนูญมาตรา 309 แต่แนวคิดของพรรคเพื่อไทย คือ การแก้ไขมาตรา 291 ให้มีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ แต่ให้มาจากการเลือกตั้ง 77 จังหวัด และอีก 22 คนมาจากนักปราชญ์ราชบัณฑิตขอให้สบายใจว่า ถ้าพรรคเพื่อไทยจะขอแก้รัฐธรรมนูญจะใช้วิธีนี้วิธีเดียว วิธีอื่นไม่เอา

“รัฐบาลจะขอทำงานก่อน 6 เดือน พอถึงสมัยประชุมสามัญนิติบัญญัติ ก็จะมาหารืออีกครั้งว่า จะยื่นเมื่อไร ยืนยันการแก้รัฐธรรมนูญครั้งนี้เป็นไปตามนโยบายที่หาเสียงไว้กับประชาชน ไม่มีวาระแอบแฝง และไม่ได้มุ่งจะช่วยเหลือใครให้รอดพ้นจากการกระทำผิด ถ้าประชาชนเห็นว่า ไม่ดีเขาก็ไม่เอาเอง สื่อมวลชนก็จะวิพากษ์วิจารณ์”

ด้านนายอภิสิทธิ์สวนกลับว่า เป็นครั้งแรกที่ได้ยินรายละเอียดเรื่องกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่าเป็นอย่างไร แต่มีทีมกฎหมายพรรคเพื่อไทยบางคน มีความเชื่อให้ยกเลิกรัฐธรรมนูญบางมาตราในบทเฉพาะกาล แต่ถ้ายืนยันว่าไม่มีการนิรโทษกรรมก็เป็นเรื่องดี ขอให้ทุกคนในพรรคเพื่อไทยเห็นตรงกันเช่นนี้ ขอเตือนว่าอย่าไปทำเรื่องนี้ให้เกิดเงื่อนไขความขัดแย้งในสังคมโดยไม่จำเป็น เรื่องนี้ประชาชนไม่ได้มองว่าเป็นเรื่องเร่งด่วน แต่ถ้าไม่มีเรื่องนิรโทษกรรม ประชาชนจะสบายใจ ส่วนที่ตนทวงถามสัญญาตามที่พรรคเพื่อไทยหาเสียงไว้นั้น เป็นการทำตามหน้าที่ ไม่ได้ทวงถามทุกเรื่อง และไม่ได้ทวงถามว่า ถ้าฝั่งธนฯ ไม่ได้ ส.ส.แล้วจะไม่รับตำแหน่ง

ด้าน ร.ต.อ.เฉลิม รีบลุกขึ้นมาโต้อีกครั้งว่า ที่บอกว่าหากฝั่งธนฯ ไม่ได้ ส.ส.แล้วจะไม่รับเก้าอี้ เป็นเทคนิคการหาเสียง เหมือนที่บางคนก็เคยพูดว่าถ้าเพื่อไทยชนะเลือกตั้งแล้วจะไปขุดรูอยู่ จากนั้นสมาชิกต่างทยอยอภิปรายแสดงความเห็นทั้งฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายค้าน และ ส.ว. โดยมีทั้งกล่าวสนับสนุน และคัดค้าน
ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง


กำลังโหลดความคิดเห็น