xs
xsm
sm
md
lg

เผยงานด่วน รบ.ใหม่ ปรองดอง-เสียสละ เร่งแก้ของแพง-อย่าทำให้ ปชช.ผิดหวัง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“ภาคเอกชน” ลุ้นเห็นหน้าตา รบ.ใหม่ แนะงานแรก “ปรองดอง” กล้าหาญ เสียสละ ทำผลงานให้เป็นที่ประจักษ์ อย่าทำให้ ปชช.ผิดหวัง เผยคำแรกที่อยากได้ยิน ผู้นำต้องประกาศว่าจะนำประเทศชาติไปในทิศทางไหน “ส่งออก” เตือนความเสี่ยง เงินเฟ้อ การขึ้น ดบ. และการเพิ่มรายได้ ปชช.“นิด้า” แนะให้รักษามารยาททางการเมือง ชี้ รัฐบาลผสมเกิน 300 เสียง จะสร้างเสถียรภาพ แนะงานแรก ควรแก้ปัญหาของแพง และปากท้องชาวบ้าน “มาม่า” ถามค่าแรงขั้นต่ำ 300 ปริญญาตรี 1.5 หมื่น เอาเงินมาจากไหน

นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวถึงทิศทางประเทศไทยหลังการเลือกตั้ง ภาคเอกชนอยากให้ทุกภาคส่วนยอมรับผลการเลือกตั้งที่ออกมา เพราะเป็นไปตามระบอบประชาธิปไตย บริสุทธิ์ยุติธรรม และมีความโปร่งใส ซึ่งจากนี้ต่อไป ก็ต้องเริ่มเข้าสู่กระบวนการของการแก้ไขปัญหาประเทศ

นายพยุงศักดิ์ กล่าวว่า วันนี้ จะมีการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ซึ่งประกอบด้วย ส.อ.ท. สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย ซึ่งจะหารือถึงสถานการณ์การเมืองในปัจจุบัน โดยอาจกำหนดจุดยืนของภาคเอกชนต่อการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ โดยต้องการให้รัฐบาลชุดใหม่สร้างความปรองดองให้กับประเทศ เพื่อให้คนไทยกลับมาอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข รวมทั้งต้องการให้แก้ไขปัญหาคอร์รัปชัน ซึ่งบั่นทอนการพัฒนาประเทศมานาน และต้องการให้กระจายการพัฒนาเศรษฐกิจไปยังภูมิภาคต่างๆ

“แม้พรรคเพื่อไทยจะได้คะแนนเสียงข้างมาก แต่คงต้องมีพรรคอื่นมาร่วม เพื่อให้รัฐบาลมีความมั่นคง และเมื่อพรรคเพื่อไทยได้รับการสนับสนุนจากประชาชนจำนวนมาก ก็อย่าทำลายโอกาสที่ประชาชนให้มา ถ้าทำให้ผิดหวังประชาชนจะจำได้ และทำตามนโยบายที่วางไว้”

โดยพรรคเสียงข้างมากเข้ามาเป็นรัฐบาล จะทำให้การบริหารประเทศเดินหน้าได้เต็มที่ แต่เมื่อทำอะไรต้องรับผิดชอบกับสิ่งที่ทำ และต้องไม่แย่งกันเป็นใหญ่ ควรเลือกคนดีมีวิสัยทัศน์มาเป็นรัฐมนตรี และเลือกคนให้เหมาะกับตำแหน่ง

“คงต้องเริ่มรอดูตั้งแต่หน้าตารัฐบาลใหม่จะเป็นอย่างไร แต่เชื่อว่าน่าจะมีการคัดสรรบุคคลที่มีความรู้ความสามารถเข้ามาทำงาน เพราะในช่วงภาวะเช่นนี้ถือเป็นงานที่ค่อนข้างหนัก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการสร้างความปรองดอง และการบริหารเศรษฐกิจ”

สำหรับสิ่งที่รัฐบาลใหม่ต้องทำเป็นอันดับแรก คือ เรื่องความปรองดองซึ่งเป็นจุดตั้งต้นของการทำงานทุกอย่าง เพราะหากยังมีปัญหาความขัดแย้งอยู่ก็คงจะทำอะไรยั่งยืนลำบาก เรื่องเศรษฐกิจก็ต้องเร่งแก้ไข คงจะทำไปเรื่อยๆ ไม่ได้ ต้องมียุทธศาสตร์ มีความจริงใจ กล้าหาญ เสียสละ ทำผลงานให้เป็นที่ประจักษ์ อย่าทำให้ประชาชนผิดหวัง

หลังจากนี้ รัฐบาลใหม่คงต้องลงมือทำงานในทันที แม้ว่าตอนนี้จะเข้าสู่ครึ่งปีหลังของปี 2554 แล้ว และในครึ่งปีแรกเป็นการบริหารประเทศของอีกรัฐบาลหนึ่ง พอมาครึ่งปีหลังก็เปลี่ยนเป็นอีกรัฐบาลหนึ่ง นโยบายต่างๆ ก็อาจจะเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง แต่ในส่วนของภาคธุรกิจเอกชนมองว่าไม่น่ามีปัญหา ภาคเอกชนพร้อมทำตามนโยบายเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจภายในประเทศให้เดินหน้าไปในทิศทางที่ดี

นอกจากนี้ รัฐบาลจะต้องดูว่า ควรจะทำยังไงให้มีขีดความสามารถมากขึ้น และดูแลภาคเศรษฐกิจที่สำคัญๆ ไม่ว่าจะเป็นภาคธุรกิจขนาดกลางและเล็ก (SME) การกระจายอุตสาหกรรม การสร้างความเจริญยั่งยืนให้เข้าสู่ภูมิภาค ทั้งด้านการค้าการบริการ การท่องเที่ยว การเกษตร ประมง มีอีกหลายเรื่องที่ต้องทำ เพราะเวลานี้สิ่งต่างๆ เหล่านี้ยังแยกส่วน แยกกระทรวงกันอยู่ เราคิดว่าน่าจะต้องร่วมกันทำ ต้องมีการบูรณาการ เรื่องการดูแลปัญหาปากท้อง ราคาสินค้าแพงก็เป็นเรื่องหนัก

สำหรับนโยบายที่พรรคเพื่อไทยประกาศไว้ในตอนแรก จะทำได้ครบทุกข้อหรือไม่ ต้องรอดูรายละเอียดวิธีการว่าจะทำอย่างไร บางเรื่องถ้าทำแล้วอาจจะกระทบในภาพรวมก็ต้องมาดูกันในรายละเอียดของวิธีการ

นายพยุงศักดิ์ ยังเชื่อมั่นว่า ในภาพรวมการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลังและทั้งปีน่าจะยังเป็นไปในทิศทางที่ดี เศรษฐกิจน่าจะยังเติบโตต่อเนื่อง จีดีพีที่คาดการณ์กันไว้ที่ 4-5% มีความเป็นไปได้สูง เนื่องจากศักยภาพของประเทศไทยยังดีทั้งการส่งออก สินค้าเกษตร อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวก็ดี ยิ่งสถานการณ์การเมืองคลี่คลาย ซึ่งคิดว่าหลังจากนี้ไม่น่าจะมีอะไรเกิดขึ้นอีกแล้ว

“เรายังมั่นใจว่าจีดีพี 4-5% มีความเป็นไปได้สูง ถ้าสถานการณ์การเมืองคลี่คลาย ไร้ความกังวลไปได้ในส่วนหนึ่งแล้ว และหลังจากนี้ไม่มีอะไรเกิดขึ้นอีก เพราะประเทศไทยใช้ระบอบประชาธิปไตย ถ้าผลจากการใช้ระบอบประชาธิปไตยออกมาแบบนี้แล้วยังมีอะไรเกิดขึ้นอีก ประเทศไทยก็คงจะลำบาก ไม่อยากให้ดัชนีความสุขของคนในประเทศถอยลงไปกว่านี้ มันควรจะดีขึ้น และอยู่ใช้ในแนวหน้าด้วยซ้ำไป”

ส่วนเรื่องจะยกเลิกกองทุนน้ำมันนั้น มองว่าเป็นเรื่องที่ดีที่จะปล่อยให้ราคาน้ำมันเป็นไปตามกลไกตลาดโลกอย่างแท้จริง แต่ก็ควรคิดเครื่องมือมาตรการช่วยเหลือภาคอุตสาหกรรมและภาคเอกชน เมื่อภาวะราคาน้ำมันมีราคาผันผวนมาก เพราะไม่เช่นนั้นจะทำให้ภาคเอกชนแบกรับภาระสูงในช่วงที่ราคาน้ำมันผันผวน

ด้าน นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า สิ่งแรกที่รัฐบาลใหม่ต้องดำเนินการ คือ จะปฏิบัติตามที่ประกาศนโยบายไว้อย่างไร เพราะพูดไว้หลายเรื่อง แต่ยังมีความไม่ชัดเจนและยังไม่ครบถ้วน เช่น นโยบายด้านการค้าระหว่างประเทศ ที่มาของค่าใช้จ่ายในการสร้างโครงสร้างเศรษฐกิจขั้นพื้นฐาน และนโยบายประชานิยม

“ดังนั้น เรื่องที่ต้องทำมันมีมากกว่านั้น เช่น การปรับโครงสร้างการผลิต ความสามารถทางการแข่งขัน เรื่องกฎระเบียบ การบังคับใช้กฎหมาย ทรัพยากร การจัดห่วงโซ่การผลิต โดยคำแรกที่อยากได้ยิน คือ จะนำประเทศไทยไปสู่การแข่งขันที่มีประสิทธิภาพสูงสุดอย่างไร”

อย่างไรก็ตาม 2 อย่างที่รัฐบาลต้องแก้ไขให้ได้ ข้อแรก คือ ลดความเหลื่อมล้ำอย่างไร จะทำให้เกษตรกรและผู้ใช้แรงงานมีรายได้เพิ่มขึ้นอย่างไร นโยบายค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทจะทำอย่างไร แนวทางการจำนำราคาแทนการประกันรายได้เกษตรจะเป็นอย่างไร และที่สำคัญ คือ การปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชัน ซึ่งน่าจะมีแทรกซึมอยู่ในทุกภาคส่วน

“เรื่องสินค้าเกษตร ก็ต้องมาดูกันว่าที่ประกาศจะรับจำนำนั้นจะทำแบบเดิมหรือจะเปลี่ยนรูปแบบ เพราะต้องทำให้เราแข่งขันได้ ไม่ว่าจะประกันรายได้ หรือรับจำนำก็แล้วแต่ ต้องทำให้สินค้าเกษตรของไทยแข่งขันได้”

ด้าน นายไพบูลย์ พลสุวรรณา ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย เตือนรัฐบาลชุดใหม่ ให้ระวังอันตรายจากการบริหารจัดการการเงินในประเทศ ทั้งเรื่องเงินเฟ้อ การปรับอัตราดอกเบี้ย และการเพิ่มรายได้ให้ภาคประชาชน

นายพิพัฒ พะเนียงเวทย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริการ บริษัท ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปตรา “มาม่า” กล่าวว่า รัฐบาลใหม่น่าจะมีเป้าหมายหลักเข้ามาดูแลผู้มีรายได้น้อย โดยเชื่อว่าจะเข้ามาช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ และจะมีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 300 บาท และรับประกัน 15,000 บาทต่อเดือนสำหรับผู้จบปริญญาตรี รวมทั้งคาดว่าจะเกิดความสามัคคีได้

“เขาจะขึ้นค่าแรง ซึ่งจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ ปัญหาอยุ่ที่ว่า จะเอาเงินมาจากไหน แต่ก็ดีกว่าไม่ทำอะไร อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือเรื่องคอร์รัปชัน และเรื่องปัญหายาเสพติด ซึ่งต้องการให้รัฐบาลใหม่สนใจปัญหาดังกล่าวให้มาก”

**นิด้า แนะงานแรกแก้ของแพง ปากท้องชาวบ้าน

นายมนตรี โสคติยานุรักษ์ ผู้อำนวยการหลักสูตรรัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต (MPA) คณะรัฐประศาสนศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนศาสตร์ (NIDA) เปิดเผยว่า การจัดตั้งรัฐบาลหลังเลือกตั้งวันที่ 3 กรกฎาคม 2554 (วานนี้) พรรคการเมืองทุกพรรคควรรักษามารยาททางการเมือง โดยพรรคการเมืองที่ได้คะแนนเสียงจากประชาชนมากที่สุดต้องเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลก่อน ซึ่งผู้สมัครปาร์ตี้ลิสอันดับที่ 1 จะก้าวขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี แต่หากพรรคที่ได้คะแนนเสียงมากที่สุดไม่สามารถฟอร์มทีมตั้งรัฐบาลได้ ก็ต้องเปิดโอกาสให้พรรคการเมืองที่ได้คะแนนเป็นอันดับที่ 2 มีสิทธิจัดตั้งรัฐบาลเพื่อเข้ามาบริหารประเทศ ซึ่งถือเป็นมารยาทนักการเมืองที่ดีพึงปฏิบัติ

อย่างไรก็ดี เชื่อว่า รัฐบาลชุดใหม่ที่เข้ามาบริหารประเทศหลังเลือกตั้งนั้นจะเป็นรัฐบาลผสม ไม่ว่าพรรคที่ได้คะแนนเสียงมาเป็นอันดับหนึ่งจะมีคะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่ง หรือได้คะแนนเสียงมากกว่าหรือน้อยกว่า 250 ที่นั่ง ก็จะต้องชักชวนพรรคที่มีนโยบายการทำงานที่ใกล้เคียงกันมาร่วมเป็นรัฐบาลในการบริหารประเทศ ซึ่งเชื่อว่ารัฐบาลชุดใหม่จะต้องมี ส.ส.ในสภาไม่ต่ำกว่า 300 ที่นั่ง เพื่อสร้างเสถียรภาพทางการเมืองให้มั่นคง

“การจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่จะง่ายหรือยาก อยู่ที่พรรคใหญ่ทั้ง 2 พรรคว่าจะได้คะแนนเสียงมากกว่า 250 ที่นั่งหรือไม่ ซึ่งหากเกิน 250 ที่นั่ง ก็เป็นเรื่องง่ายที่จะฟอร์มทีมรัฐบาลโดยดึงพรรคขนาดกลางและขนาดเล็กเข้ามาร่วมเป็นรัฐบาลให้ได้คะแนนเสียงมากกว่า 300 ที่นั่งก็ทำให้รัฐบาลมีเสถียรภาพ แต่หากพรรคใหญ่ทั้ง 2 พรรค ต่างมีคะแนนเสียงไม่ถึงกึ่งหนึ่งทั้งคู่ ก็เชื่อว่า การจัดตั้งรัฐบาลครั้งนี้จะมีการแข่งจัดตั้งรัฐบาล ทำให้เสถียรภาพของรัฐบาลชุดใหม่ไม่แข็งแกร่ง และกลายเป็นจุดอ่อนซ้ำเติมเศรษฐกิจไทยได้”

ส่วนรัฐบาลชุดใหม่จะได้รับการสนับสนุนจากประชาชนมากน้อยเพียงใด ยังต้องดูถึงปัจจัยของคะแนนเสียงของคนกรุงเทพฯ ด้วยว่าพรรคที่ได้จำนวน ส.ส.มากที่สุดได้คะแนนจากคนกรุงเทพฯ เกินกึ่งหนึ่งหรือไม่ เพราะหากได้คะแนนเกินกึ่งหนึ่งย่อมทำให้พรรคการเมืองที่ได้คะแนนมากที่สุดได้รับการสนับสนุนในการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ได้ง่ายยิ่งขึ้น

นายมนตรี กล่าวว่า หากพรรคการเมืองสามารถฟอร์มทีมรัฐบาลได้เร็วย่อมส่งผลดีต่อเศรษฐกิจของไทย เนื่องจากมีรัฐบาลชุดใหม่เข้ามากำหนดนโยบายและขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการพิจารณางบประมาณปี 2555 ที่เชื่อว่า อาจมีการแก้ไขเพื่อให้เกิดการสนับสนุนขับเคลื่อนนโยบายตามที่ได้หาเสียงไว้กับประชาชน

อย่างไรก็ตาม การดำเนินมาตรการใดๆ ของรัฐบาลชุดใหม่ต้องคำนึงถึงปัจจัยเงินเฟ้อ ที่จะเป็นแรงกดดันสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลัง และคำนึงถึงภาวะเศรษฐกิจของโลกให้มากขึ้น เพื่อที่รัฐบาลชุดใหม่จะสามารถกำหนดแนวทางการส่งออกหรือการดำเนินนโยบาย เพื่อดึงนักลงทุนต่างชาติให้เข้ามาลงทุนในประเทศไทยมากขึ้น เพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้กับเศรษฐกิจไทยให้เติบโตได้อย่างมั่นคงต่อไป

นายมนตรี ยังเชื่อว่า การบริหารนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลใหม่ เชื่อว่า จะมีเอกภาพมากกว่าเดิม เพราะการบริหารงานด้านเศรษฐกิจที่ผ่านมาค่อนข้างมีข้อจำกัด โดยเฉพาะการดูแลกระทรวงเศรษฐกิจที่ยังบริหารงานกันไปคนละทิศคนละทาง ซึ่งหากรัฐบาลใหม่สามารถบริหารกระทรวงเศรษฐกิจสำคัญได้ไปในทิศทางเดียวกัน ก็จะช่วยให้การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของประเทศประสบผลสำเร็จได้เร็วขึ้น

“การบริหารประเทศเชื่อว่าน่าจะมีเอกภาพมากกว่าเดิม เพราะที่ผ่านมามีข้อจำกัดเรื่องการดูแลกระทรวงเศรษฐกิจ โดยหลักแล้วต้องประสานกัน แต่ที่ผ่านมาบริหารกันคนละทิศละทาง เกิดความขัดแย้งและเห็นไม่ตรงกัน แต่คราวนี้น่าจะทำให้การบริหารเศรษฐกิจดีขึ้น”

โดยงานที่รัฐบาลจะต้องเริ่มดำเนินการแก้ไขปัญหาให้ประชาชนก่อนเป็นลำดับแรกๆ คือ การแก้ปัญหาเงินเฟ้อ, ราคาสินค้าแพง, ปัญหาสินค้าขาดแคลน ขณะเดียวกันต้องเร่งแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคมและการกระจายรายได้ให้มีความเท่าเทียม ซึ่งยอมรับว่าการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคมและการกระจายรายได้นี้อาจต้องใช้เวลาพอสมควรกว่าจะเห็นผลเป็นรูปธรรม

นายมนตรี ยังเห็นด้วยกับแนวนโยบายของพรรคเพื่อไทยเรื่องการลดภาษีเงินได้นิติบุคคล เพราะมองว่าการช่วยลดรายจ่ายของภาคธุรกิจ จะเป็นการช่วยกระตุ้นภาคเอกชนให้มีแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ดีขึ้น เพราะปัจจุบันประเทศไทยมีนิติบุคคลมากกว่า 3 ล้านบริษัท ที่ล้วนแต่เป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ขณะเดียวกันภาครัฐต้องช่วยส่งเสริมและสนับสนุนผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก (SMEs) ที่มีอยู่กว่า 2.7 ล้านรายทั่วประเทศให้สามารถแข่งขันได้ ซึ่งการดูแลภาคธุรกิจในภาพรวมนี้จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศเติบโตได้ดียิ่งขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น