สภาพัฒน์ ประเมิน 3 ปีแรกแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 10 ต้องปรับปรุงดัชนีความสุข แก้คอร์รัปชัน โดยมีปมจากรากฐานทาง ศก.ยังอ่อนแอและมีความเหลื่อมล้ำ คนไทยต้องเผชิญความเสี่ยงจากปัญหายาเสพติดที่สูงขึ้น สัมพันธภาพในครอบครัวเปราะบาง คุณภาพการศึกษามีปัญหาไม่สามารถปลูกฝังการคิดเป็นทำเป็นได้ การเป็นพลเมืองที่มีคุณภาพ รวมถึงความขัดแย้งของคนในสังคมการขาดจริยธรรมทางการเมือง การไม่เคารพกฎระเบียบและการขาดวินัยของคนในสังคม
รายงานข่าวแจ้งว่า สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้เผยแพร่การรายงานติดตามประเมินผล 3 ปีแรก ของการใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 10 ที่ใช้ระหว่างปี 2550-2554 ซึ่งพบว่า การดำเนินนโยบายเศรษฐกิจสามารถรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ และสร้างภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลง ทั้งภายในและภายนอกประเทศ โดยเฉพาะการจ้างงานและดุลบัญชีเดินสะพัดอยู่ในเกณฑ์ดี
ทั้งนี้ กรณีดังกล่าวยังสอดคล้องกับเป้าหมายของแผนฯ 10 แม้ว่าการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศจะหดตัวลดลงเหลือร้อยละ 2.28 ในปี 2552 ทำให้การผลิตและการส่งออกสินค้าและบริการลดลง เนื่องจากการชะลอตัวของอุปสงค์ทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งเป็นผลมาจากวิกฤตเศรษฐกิจการเงินโลกที่ทำให้ภาวะเศรษฐกิจถดถอย และปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองในประเทศที่มีผลต่อความเชื่อมั่นของประชาชนและเอกชน
ขณะที่การพัฒนาผลิตภาพการผลิตล่าช้า ทำให้เศรษฐกิจไทยต้องพึ่งพาต่างประเทศสูงและเกิดความเหลื่อมล้ำระหว่างสาขาการผลิตและวิสาหกิจขนาดต่างๆ แต่เมื่อมาถึงปี 2553 และต่อเนื่องปี 2554 เศรษฐกิจไทยก็เริ่มขยายตัวมากขึ้น
ส่วนการสร้างความเข้มแข็งของชุมชนนั้นได้ดำเนินการต่อเนื่อง จนทำให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการจัดทำแผนชุมชนมากถึงร้อยละ 98.11 สามารถจัดทำแผนชุมชนได้ร้อยละ 91.42 มีการแลกเปลี่ยนการเรียนรู้และรวมตัวกันเป็นวิสาหกิจชุมชนและเครือข่ายในรูปแบบองค์กรชุมชนเพิ่มขึ้นจาก 45,675 แห่งในปี 2549 เป็น 79,184 แห่ง ในปี 2552 และยังมีกระบวนการจัดการองค์ความรู้และระบบการเรียนรู้ของชุมชนอย่างกว้างขวาง แต่ก็พบว่าชุมชนที่เข้มแข็งในระดับที่พึ่งตนเองได้มีน้อยและจัดสวัสดิการชุมชนได้ 1 ใน 3 ของประเทศ
สำหรับการสร้างความมั่นคงของฐานทรัพยากร สิ่งแวดล้อมและความหลากหลายทางชีวภาพก้าวหน้าและมีความเป็นไปได้ในการบรรลุเป้าหมาย ขณะที่การเสริมสร้างธรรมาภิบาลในการบริหารจัดการประเทศยังประสบปัญหาทุจริตคอร์รัปชัน และความสมานฉันท์
โดยภาพลักษณ์การคอร์รัปชั่นมีคะแนนเฉลี่ยในปี 2550-2552 ที่ระดับ 3.40 คะแนน ลดลงจาก 3.60 คะแนนในปลายแผนฯ 9 และต่ำกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ 5 คะแนน ขณะที่บริษัทในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) มีธรรมาภิบาลเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 75 ในปี 2551 เป็น 82 ในปี 2552 โดยเฉพาะเรื่องบทบาทกรรมการและความเชื่อถือของผู้บริหาร
ขณะที่ประสิทธิภาพการบริหารขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีทิศทางดีขึ้นเล็กน้อย รายได้ที่องค์กรฯ จัดเก็บเองเพิ่มขึ้นเล็กน้อย แต่การถ่ายโอนภารกิจให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นยังล่าช้า การลดอัตรากำลังคนภาครัฐไม่เป็นไปตามเป้าหมายและสังคมยังคงเผชิญกับปัญหาความขัดแย้ง และขาดจริยธรรมทางการเมืองที่บั่นทอนความสงบสุขของสังคมไทย
ส่วนเรื่องความอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกันของคนไทย ยังอยู่ในระดับที่ต้องปรับปรุงต่อเนื่อง โดยในปี 2550-2552 อยู่ในระดับร้อยละ 64-66 ใกล้เคียงกับปี 2549 ที่อยู่ที่ระดับร้อยละ 65.89 เนื่องจากรากฐานทางเศรษฐกิจยังอ่อนแอและมีความเหลื่อมล้ำ คนไทยต้องเผชิญความเสี่ยงจากปัญหายาเสพติดที่สูงขึ้น สัมพันธภาพในครอบครัวเปราะบาง คุณภาพการศึกษามีปัญหาไม่สามารถปลูกฝังการคิดเป็นทำเป็นได้ การเป็นพลเมืองที่มีคุณภาพ รวมถึงความขัดแย้งของคนในสังคมการขาดจริยธรรมทางการเมือง การไม่เคารพกฎระเบียบและการขาดวินัยของคนในสังคม