xs
xsm
sm
md
lg

ชำแหละนโยบายรัฐบาลใหม่ เงินเฟ้อเพิ่ม-ค่าใช้จ่ายรัฐทวีคูณ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เป็นที่แน่ชัดแล้วว่า การจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ จะอยู่ภายใต้พรรคเพื่อไทย และพรรคร่วมรัฐบาลอีก 4 พรรค ได้แก่ พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคชาติพัฒนาเพื่อแผ่นดิน พรรคพลังชล และพรรคมหาชน ทำให้เมื่อวานที่ผ่านมาตลาดหุ้นไทยขานรับการเลือกตั้งที่เกิดขึ้น

อย่างไรก็ตามสิ่งที่หลายคนร่วมถึงนักวิชาการกำลังจับตามองอยู่นั้น คือการจัดสรรตำแหน่งรัฐมนตรีประจำกระทรวงต่างๆ ว่าจะมีความเหมาะหรือไม่ นอกจากนี้แล้วนโยบายที่พรรคเพื่อไทยเคยใช้หาเสียงนั้นจะมีความเป็นจริงได้มากน้อยแค่ไหน นั้นคือสิ่งที่หลายคนกำลังให้ความสนใจอยู่ไม่น้อย

ทั้งนี้เริ่มมีเสียงสะท้อนมาจากแวดวงนักวิเคราะห์เศรษฐกิจหลายแห่งไม่ว่าจะเป็นทั้งของไทยหรือต่างประเทศก็ดี เริ่มกังวลว่า นโยบายประชานิยมของพรรคเพื่อไทยจะส่งผลให้เงินเฟ้อเร่งตัวและเพิ่มขึ้นกว่าที่คาดการณ์ไว้ หรือแม้แต่ความกังวลว่ารัฐจะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น

ดร.สมชัย อมรธรรม ผู้อำนวยการ ฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) กรุงไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า เสถียรภาพทางการเมืองที่เกิดขึ้นส่งผลให้ส่งผลเสถียรภาพทางเศรษฐกิจมีโอกาสเติบโต โดยนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลส่วนใหญ่จะเน้นไปที่การบริโภคภายในประเทศเป็นหลัก ซึ่งถือว่าเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจได้ดีในระดับหนึ่ง GDP ภายในประเทศเติบโตมากขึ้น แต่สิ่งที่ตามมาคือเงินเฟ้อ และค่าใช้จ่ายของรัฐที่เพิ่มขึ้น เช่นนโยบายการสร้างรถไฟฟ้า อย่างไรก็ตามปัจจุบันหนี้สาธารณะของไทยเฉลี่ยอยู่ที่ 42% ของ GDP ซึ่งอาจจะมีการปรับเพิ่มขึ้นบ้างเล็กน้อย แต่ไม่ควรอยู่ในระดับที่สูงเกินไปอาจจะทำให้เกิดปัญหาอย่างที่ประเทศในกลุ่มยุโรปกำลังเผชิญอยู่ และส่งผลให้ขาดวินัยทางการคลังอีกด้วย

สำหรับปัญหาเงินเฟ้อที่หลายคนกำลังกังวลอยู่นั้น สิ่งที่ต้องจับตามองหลังจากนี้คือการดำเนินนโยบายของรัฐควบคู่ไปกับการทำงานและการดูแลการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. ว่าจะมีแนวโน้มการทำงานสอดคล้องกันหรือไม่ สำหรับอัตราเงินฟ้อที่คาดการณ์ไว้ในปีนี้อยู่ที่ 4-5% ซึ่งคิดว่าอัตราเงินเฟ้อไม่น่าจะเพิ่มขึ้นเนื่องจากราคาคอมมอนีตีนั้นไม่สูง แต่ในปี 2555 คงต้องจับตาดูอีกครั้งว่าจะเพิ่มขึ้นหรือไม่ แต่ในส่วนของอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานนั้นอาจจะมีการปรับเพิ่มขึ้นในไตรมาสที่ 3 หรือไตรมาสที่ 4 ซึ่งคงต้องดูว่ารัฐบาลดำเนินนโยบายได้รวดเร็วแค่ไหน

ดร.สมชัย กล่าวต่อว่า ส่วนนโยบายการปรับขึ้นเงินเดือนโดยเฉพาะปริญาตรี 15,000 บาทนั้นเรางมอว่าน่าจะส่งผลดีในแง่ของการบริโภคภายในประเทศ แต่ในความเป็นจริงการขึ้นเงินเดือนนั้นอาจจะเป็นไปได้ค่อนข้างยาก เนื่องจากไม่มีกฎหมายบังคับซึ่งคงต้องดูต่อไปว่ารัฐบาลจะดำเนินนโยบายดังกล่าวอย่างไร ทั้งนี้การปรับเงินเดือนของผู้ประกอบการอาจจะส่งผลให้ต้นทุนของผู้ประกอบการแต่ละเเห่งสูงขึ้น กำไรผลประกอบการน้อยลง ทำให้เกิดการจ้างงานลดลงตามได้ด้วยซึ่้งก็เป็นไปตามกลไกลของหลักเศรษฐศาสตร์

ขณะที่ภาพรวมตลาดหุ้นไทยต่อจากนี้หากมองระยะสั้นดัชนีตลาดหลักทรัพย์ฯจะยังปรับตัวอยู่ในแดนบวก เนื่องจากปัญหาการเมืองไทยเริ่มคลี่คลาย ปัญหาความกังวลเรื่องหนี้ของยุโรปก็คลายความกังวลไปได้ทำให้เม็ดเงินกลับเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นอีกครั้ง แต่ระยะถัดไปสิ่งที่ต้องจับมองคือผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียน รวมถึงการนโยบายของรัฐบาลว่าจะเริ่มดำเนินการได้เมื่อไร

 ดร.มนตรี โสคติยานุรักษ์ ผู้อำนวยการหลักสูตรรัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต (MPA) คณะรัฐประศาสนศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนศาสตร์ (NIDA) กล่าวว่า หากพรรคการเมืองสามารถฟอร์มทีมรัฐบาลได้เร็วย่อมส่งผลดีต่อเศรษฐกิจของไทย เนื่องจากมีรัฐบาลชุดใหม่เข้ามากำหนดนโยบายและขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการพิจารณางบประมาณปี 2555 ที่เชื่อว่าอาจมีการแก้ไขเพื่อให้เกิดการสนับสนุนขับเคลื่อนนโยบายตามที่ได้ หาเสียงไว้กับประชาชน

อย่างไรก็ตาม การดำเนินมาตรการใดๆ ของรัฐบาลชุดใหม่ต้องคำนึงถึงปัจจัยเงินเฟ้อ ที่จะเป็นแรงกดดันสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลัง และคำนึงถึงภาวะเศรษฐกิจของโลกให้มากขึ้น เพื่อที่รัฐบาลชุดใหม่จะสามารถกำหนดแนวทางการส่งออกหรือการดำเนินนโยบาย เพื่อดึงนักลงทุนต่างชาติให้เข้ามาลงทุนในประเทศไทยมากขึ้น เพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้กับเศรษฐกิจไทยให้เติบโตได้อย่างมั่นคงต่อไป

การบริหารนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลใหม่เชื่อว่าจะมีเอกภาพมากกว่าเดิม เพราะการบริหารงานด้านเศรษฐกิจที่ผ่านมาค่อนข้างมีข้อจำกัด โดยเฉพาะการดูแลกระทรวงเศรษฐกิจที่ยังบริหารงานกันไปคนละทิศคนละทาง ซึ่งหากรัฐบาลใหม่สามารถบริหารกระทรวงเศรษฐกิจสำคัญได้ไปในทิศทางเดียวกัน ก็จะช่วยให้การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของประเทศประสบผลสำเร็จได้เร็วขึ้น

โดยงานที่รัฐบาลจะต้องเริ่มดำเนินการแก้ไขปัญหาให้ประชาชนก่อนเป็น ลำดับแรกๆ คือ การแก้ปัญหาเงินเฟ้อ , ราคาสินค้าแพง , ปัญหาสินค้าขาดแคลน ขณะเดียวกันต้องเร่งแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคมและการกระจายรายได้ให้มี ความเท่าเทียม ซึ่งยอมรับว่าการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคมและการกระจายรายได้นี้อาจ ต้องใช้เวลาพอสมควรกว่าจะเห็นผลเป็นรูปธรรม

อย่างไรก็ตามเราเห็นด้วยกับแนวนโยบายของพรรคเพื่อไทยเรื่องการลดภาษีเงินได้นิติบุคคล เพราะมองว่าการช่วยลดรายจ่ายของภาคธุรกิจ จะเป็นการช่วยกระตุ้นภาคเอกชนให้มีแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ดีขึ้น เพราะปัจจุบันประเทศไทยมีนิติบุคคลมากกว่า 3 ล้านบริษัท ที่ล้วนแต่เป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ขณะเดียวกันภาครัฐต้องช่วยส่งเสริมและสนับสนุนผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลาง และขนาดเล็ก(SMEs) ที่มีอยู่กว่า 2.7 ล้านรายทั่วประเทศให้สามารถแข่งขันได้ ซึ่งการดูแลภาคธุรกิจในภาพรวมนี้จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศเติบโตได้ดียิ่งขึ้น

เตือนประชานิยมดันเงินเฟ้อเพิ่ม

โกลด์แมน เเซคส์ มองว่า นโยบายประชานิยมจะทำให้แรงกดดันภาวะเงินเฟ้อของไทยยิ่งสูงขึ้น โกลด์แมน แซคส์ คาดว่าเงินเฟ้อปีนี้จะอยู่ที่ร้อยละ 4.1 สูงกว่าที่ตลาดส่วนใหญ่คาดว่าจะอยู่ที่ร้อยละ 3.9 และจะขอรอดูความชัดเจนของนโยบายเหล่านี้ ซึ่งสิ่งสำคัญคือลักษณะการใช้จ่ายงบประมาณของรัฐบาลที่จัดสรรไปด้านอื่นมากกว่า การลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน โกลด์แมน แซคส์ เคยเตือนก่อนหน้านี้ว่า ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาไทยลดการใช้จ่ายด้านโครงสร้างพื้นฐาน ทำให้เกิดข้อจำกัดด้านอุปทาน ซึ่งจะไม่เป็นผลดีต่อศักยภาพการขยายตัวของไทยในระยะยาว

ส่วนเจพีมอร์แกน เอง มองว่า ไม่คิดว่าตลาดจะเกิดปฏิกิริยาอย่างรุนแรงในช่วงต้นหลังการเลือกตั้ง เพราะนักลงทุนกำลังรอดูผลการตัดสินของคณะกรรมการการเลือกตั้ง และจัดตั้งรัฐบาลในขั้นสุดท้าย อย่างไรก็ดี เจพีมอร์แกนมองแนวโน้มตลาดไทยในแง่ดีว่าเศรษฐกิจมหภาคจะกลับมาสู่ทิศทางที่ ถูกต้องและการผลัดเปลี่ยนรัฐบาลจะดำเนินไปอย่างเรียบร้อย

ขณะที่นายเวลเลียน วิรันโต และนายทูชาร์ อะโรรา จากเอชเอสบีซี มองไปที่หัวหน้าทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลชุดใหม่ว่าน่าจะเป็น ดร.โอฬาร ไชยประวัติ ซึ่งเคยเป็นผู้อำนวยการฝ่ายกำกับและตรวจสอบสถาบันการเงินของธนาคารแห่ง ประเทศไทย และรองนายกรัฐมนตรีในรัฐบาลสมชาย วงศ์สวัสดิ์ สิ่งที่ต้องจับตามองใกล้ชิดคือการใช้จ่ายภาครัฐที่จะเพิ่มขึ้นจากการดำเนิน นโยบายประชานิยม ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทยเคยเตือนว่า สัดส่วนหนี้ต่อจีดีพี เสี่ยงจะสูงขึ้นจาก 42% ในขณะนี้เป็น 60% ใน 6 ปีข้างหน้า
นโยบายพรรคเพื่อไทย

1. พักหนี้เกษตรกร ไม่เกิน 500,000 บาท 5 ปี และหนี้ไม่เกิน 5 ล้านบาทยืดหนี้ 10 ปี
2. โครงการรถไฟฟ้า 10 สายรอบกรุงเทพ และปริมณฑล
3. โครงการรถไฟเชื่อมต่อชานเมืองกับกรุงเทพฯ
4. รถไฟความเร็วสูงนครราชสีมา-ระยอง-จันทบุรี
5. ขยายแอร์พอร์ตลิ้งค์-พัทยา
6. ทำแลนด์บริดจ์ในภาคใต้
7. ทำสนามบินสุวรรณภูมิให้เป็นศูนย์กลางการบิน
8. ชลประทานระบบท่อ 25 ลุ่มน้ำ
9. ระบบป้องกันน้ำท่วมกทม.และภาคกลาง
10. เพิ่มกองทุนหมู่บ้านอีก 1 ล้านบาท
11. รีไฟแนนซ์หนี้ส่วนบุคคลไม่เกิน 500,000 บาท นาน 3 ปี และหนี้เกิน 500,000-1 ล้านบาท ปรับโครงสร้างหนี้
12. โครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค
13. จบปริญญาตรีมีเงินเดือนเริ่มต้น 15,000 บาท และขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท
14. รัฐลดภาษีเงินได้นิตีบุคคล จากปัจจุบัน 30% เหลือ 25%
15. ขจัดความยากจนต้องหมดไปภายใน 4 ปี
16. ออกบัตรเครดิตการ์ดสำหรับเกษตรกร
17. โครงการรับจำนำข้าว ข้าวเปลือกเกวียนละ 15,000 ข้าวหอมมะลิ 20,000 บาท
18. กองทุน S-M-L จำนวน 3-4-5 แสนบาท
19. สานต่อโอทอป ส่งเสริมส่งออกไปต่างประเทศ และทำศูนย์กระจายสินค้าโอทอป
20. กองทุนตั้งตัวได้สำหรับคนไทย 2 กลุ่ม คือ นักศึกษา-อาจารย์, ประชาชน
21. เครดิตการ์ดพลังงาน
22. ลดภาษีรายได้นิติบุคคล จาก 30% เป็น 23% ในปี 55 และ 20% ปี 56
23. คืนภาษีและเพิ่มค่าลดหย่อนเป็น 5 แสนบาทให้กับผู้ซื้อบ้านหลังแรก
24. คืนภาษีให้กับผู้ซื้อรถคันแรก โดยต้องถือครองรถคันดังกล่าวไม่น้อยกว่า 5 ปี จึงจะขายต่อได้ (ราคารถไม่เกิน 1 ล้านบาท)
25. ปรับปรุงคุณภาพและมาตรฐานการศึกษา พัฒนาทักษะครู อาจารย์ พัฒนาหลักสูตรและสื่อการสอน
26. จัดศูนย์ฝึกอบรมอาชีวศึกษา
27. จัดแท็บเล็ต และคอมพิวเตอร์ให้กับนักเรียน นักศึกษา
28. Free Wifi และใช้อินเตอร์เน็ตฟรีในที่สาธารณะ
29. เพิ่มทุนเรียนต่อต่างประเทศ หนึ่งอำเภอหนึ่งทุน
กำลังโหลดความคิดเห็น