ASTVผู้จัดการรายวัน - พธม.ยื่น กกต.ยุบ 5 พรรคการเมือง เหตุมีนโยบายสัญญาว่าจะให้ ผิดกม.เลือกตั้ง กรรมการกฤษฎียันโหวตโนมีผลทางกฏหมาย จัดการนักการเมืองน้ำเน่าได้ ย้ำแถลงการณ์ประกาศยุติการชุมนุม 158 วัน ประสบผลสำเร็จ จี้รัฐถอนตัวภาคีมรดกโลกได้ตามเงื่อนไข 1 ใน 3 ช่วยปกป้องศักดิ์ศรีอธิปไตยไทย
เมื่อเวลา 15.00 น. วานนี้(1 มิ.ย.) ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นายประพันธ์ คูณมี โฆษกคณะกรรมการป้องกันราชอาณาจักรไทย ได้เข้ายื่นหนังสือต่อนายทะบียนพรรคการเมืองและคณะกรรมการการเลือกตั้ง เพื่อขอให้ยุบพรรคเพื่อไทย พรรคประชาธิปัตย์ ภูมิใจไทย ชาติไทยพัฒนา และชาติพัฒนาเพื่อแผ่นดิน
นายประพันธ์ กล่าวว่า พรรคการเมืองทั้ง 5 พรรค ได้มีนโยบายหาเสียงและโฆษณาชวนเชื่อให้ประชาชนเลือกตนเป็นส.ส.ซึ่งพรรคการเมืองดังกล่าวได้ดำเนินการที่กระทำผิดพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และการได้มาซึ่งส.ว. พ.ศ. 2550 มาตรา 53 ที่ระบุว่า ห้ามมิให้ผู้สมัครหรือผู้ใดกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อจูงใจให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงคะแนนเสียงเลือกตั้งให้แก่ตนเองหรือผู้สมัครอื่นหรือพรรคการเมืองใด หรืองดเว้นการลงคะแนนแก่ผู้สมัครหรือพรรคการเมืองใดด้วยวิธีการ คือ จัดทำให้ เสนอให้ สัญญาว่าจะให้หรือจัดเตรียมเพื่อจะให้ทรัพย์สินหรือผลประโยชน์อื่นใดอันอาจคำนวณเป็นตัวเงินได้ และให้เสนอให้ หรือสัญญาว่าจะให้เงิน ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดไม่ว่าจะโดยตรงหรือโดยอ้อม แก่ชุมชน สมาคม มูลนิธิ วัด สถาบันการศึกษา สถานสงเคราะห์ หรือสถาบันอื่นใด
ทุกพรรคมีคำมั่นสัญญาเป็นตัวเงินชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นพรรคเพื่อไทย ที่มีนโยบายหาเสียงลดภาษีนิติบุคคล พักหนี้ กองทุนหมู่บ้านเพิ่มทุกตำบลๆละ 1 แสนบาท ปรับเงินเดือนข้าราชการและรัฐวิสาหกิจ ฯในขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ มีนโยบายหาเสียงด้วยการตรึงน้ำมันดีเซล ตรึงก๊าซหุงต้ม รักษาฟรี เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เรียนฟรี พรรคภูมิใจไทย มีนโยบายหาเสียง ล้างหนี้กองทุนหมู่บ้าน ลดภาษีมูลค่าเพิ่ม ฯ พรรคชาติไทยพัฒนา มีนโยบายหาเสียง เพิ่มรายได้คนไทย 2 เท่าใน 5 ปี ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ฯ และพรรคชาตีพัฒนา มีนโยบายหาเสียง เพิ่มจัดสรรรายได้องค์กรปกครองท้องถิ่น ค่าแรงขั้นต่ำ
“เห็นได้ชัดเจนว่า เป็นนโยบายที่เสนอให้เป็นตัวเงินชัดเจน เป็นการเฉพาะหน้าในช่วงเลือกตั้ง ที่มุ่งเสนอผลประโยชน์ให้กับประชาชนเพื่อจูงใจให้เลือก ถือว่าเป็นการกระทำที่ผิดกฏหมาย และยังกระทำผิดรัฐธรรมนูญมาตรา 68,237 และพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และการได้มาซึ่งส.ว. พ.ศ. 2550 มาตรา 53 (1),(2),137,159,160 นอกจากนี้ยังเป็นความผิดตามพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง มาตรา 4,94((1),(2),(3)หัวหน้าพรรคและกรรมการพรรคจึงต้องรับโทษตามมาตรา 116 ทั้งนี้ก็ขึ้น กกต.ว่าวินิจฉัยอย่างไร เพื่อจะได้เป็นบรรทัดฐานต่อไป ส่วนกรณที่พรรคประชาธิปัตย์ตั้งเวทีหาเสียงที่บริเวณณลานพระบรมรูปทรงม้านั้นถือว่าผิดประกาศของกทม.ที่ห้าม เนื่องจากเป็นเขตพระราชทาน กกต.ต้องเข้าไปตรวจสอบด้วย
**ยกเอกสาร“มีชัย”โหวตโนมีผลทางกม.
ช่วงเช้าที่บ้านพระอาทิตย์ นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ โฆษกพันธมิตรฯ แถลงข่าวถึงการยุติการชุมนุมของพันธมิตรฯ และข้อกฎหมายเกี่ยวกับการทำเครื่องหมายลงในช่องไม่ประสงค์ลงคะแนน ว่า ข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายเลือกตั้งมาตรา 88 และ 89 ในที่สุดก็ได้ปรากฏพบเอกสารของนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ซึ่งได้ปรากฏเป็นข้อความ 2 ครั้ง คือในขณะที่นายมีชัยก่อนจะได้รับการแต่งตั้งเป็น สนช. ได้ตอบคำถามไว้ในเว็บไซต์มีชัยไทยแลนด์ ด็อท คอม วันที่ 2 พ.ค. 2549 ในเวลาตอนนั้นการกาในช่องไม่ประสงค์ลงคะแนนยังไม่มีผลทางกฎหมาย ทำให้นายมีชัยเสนอความคิดว่า จะเป็นไปได้หรือไม่ที่หากจะมีการแก้ไขรัฐรรมนูญในวันข้างหน้า ให้คะแนนโหวตโนมีผลทางกฎหมายขึ้น เช่น กำหนดว่าคนที่จะได้รับการเลือกตั้งจะต้องได้คะแนนมากกว่าคะแนนโหวตโน
ทั้งนี้ โดยถือว่าถ้าคะแนนโหวตโนมีมากกว่าคนที่ได้รับคะแนนสูงสุด เป็นการแสดงเจตนาของประชาชนว่าไม่ต้องการผู้สมัครทุกคนที่สมัครในเขตนั้น และต้องจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ โดยห้ามผู้สมัครเดิมลงสมัครใหม่ เพราะประชาชนได้ปฏิเสธไปแล้ว ต้องเว้นวรรคไปสร้างความน่าเชื่อถือให้เกิดขึ้นเสียก่อน จึงค่อยมาสมัครในคราวเลือกตั้งทั่วไปครั้งต่อไป ด้วยวิธีนี้คะแนนโหวตโนก็จะมีความหมาย ในขณะเดียวกันก็เป็นมาตรการหรือเป็นดุลถ่วงพรรคการเมืองที่จะมั่วในการส่งคนลงสมัครรับเลือกตั้ง ทั้งยังจะทำให้ประชาชนมีบทบาทในทางการเมืองเพื่อต่อต้านพรรคการเมืองที่ไม่ดีได้
**ย้ำเจตนาปชช.ต้องการแสดงสัญลักษณ์
นายปานเทพกล่าวต่อว่า ต่อมาในปี 2550 นายมีชัยเป็นประธาน สนช. และ น.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ เป็นประธานยกร่างรัฐธรรมนูญ และเป็นประธานคณะกรรมาธิการยกร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ 3 ฉบับ รวมถึงพระราชบัญญัติว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และการได้มาซึ่ง ส.ว. ขณะนั้น น.ต.ประสงค์ได้ยกร่างนี้ ซึ่งขณะที่ยกร่างก็ได้มีการเสวนาและสัมมนาของ สนช. ในปี 2550 ก็ได้ปรากฏชัดเจนว่านายมีชัยได้นำความคิดของตนเองเสนอเข้าที่การสัมมนาก่อนที่จะแก้ไขกฎหมายมาตรา 88 และ 89 นายมีชัยได้ยืนยันชัดเจนว่าควรมีการแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับกำหนดฐานเสียงของคะแนน ส.ส.เพื่อให้คะแนนโหวตโน หรือโนโหวตที่ใช้ในขณะนั้นมีผลทางกฎหมาย เพราะช่องไม่ประสงค์ลงคะแนนในการเลือกตั้งครั้งที่แล้วมีสูงมาก และไม่มีผลทางกฎหมาย กลายเป็นแค่บัตรเสียเท่านั้น เป็นไปได้หรือไม่ว่าให้แก้กกฎหมาย ส.ส.ที่ได้รับการเลือกตั้งสูงกว่าคะแนนโหวตโน หากไม่ผ่านต้องมีการเลือกตั้งใหม่เพื่อให้ได้ตัวแทนที่ประชาชนยอมรับมากที่สุด
ในขณะเดียวกันปรากฏว่ามีการอภิปราย ซึ่งที่ประชุมส่วนใหญ่เห็นชอบและเป็นที่มาของการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และต่อมามีการแก้ไขกฎหมายเลือกตั้ง มาตรา 89 โดยเขียนข้อความเพิ่มเติมจากที่ไม่เคยปรากฏในกฎหมายเลือกตั้งปี 2540 ด้วยคำว่า “ภายใต้บังคับมาตรา 88” ซึ่งมาตรา 88 ใช้กับคนๆ เดียว ต้องใช้เกณฑ์ 20 เปอร์เซ็นต์ และต้องชนะคะแนนโหวตโนด้วย แสดงให้เห็นว่าเจตนารมณ์ของผู้ร่างตั้งแต่ตอนต้นต้องการที่จะแก้ไขให้คะแนนในช่องไม่ประสงค์ลงคะแนนมีผลทางกฎหมาย ทำให้ภาคประชาชนซึ่งได้เห็นข้อความดังกล่าว และเจตนารมณ์ก่อนที่จะมีกฎหมายดังกล่าว มีความเชื่อมั่นมากขึ้นว่า กฎหมายดังกล่าวนั้นมีผลทางกฎหมาย และคะแนนโหวตโนมีผลทางกฎหมายในลักษณะที่เป็นเจตนารมณ์ของผู้ร่าง
อย่างไรก็ตามการรณรงค์โหวตโนครั้งนี้ พันธมิตรฯ ไม่ได้มุ่งหวังว่าจะมีผลทางกฎหมายหรือไม่แต่เพียงประการเดียว แต่สนใจเจตนารมณ์ของประชาชนต้องการแสดงสัญลักษณ์ในเชิงการเรียกร้องการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างและการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง
***“โหวตโน” จัดการการเมืองน้ำเน่าได้
เว็บไซต์สำนักข่าวอิศรา ได้เผยแพร่บทความเรื่องความเป็นมาของคะแนนโหวตโน โดย ศาสตราจารย์ นพ.วิฑูรย์ อึ้งประพันธ์ กรรมการกฤษฎีกาและที่ปรึกษากฎหมายอาวุโส ศูนย์กฎหมายสุขภาพและจริยศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ศ.นพ.วิฑูรย์ ระบุว่า การกาช่องไม่ประสงค์จะลงคะแนน (หรือ โหวตโน) บนบัตรเลือกตั้ง ไม่ใช่บัตรเสียอย่างที่หลายๆ คนพยายามกล่าวบิดเบือน เพราะได้รับการบัญญัติไว้ตั้งแต่รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งฯ พ.ศ.2541
“ในบัตรเลือกตั้งจึงมีช่องให้ผู้เลือกตั้งทำเครื่องหมาย (กากบาท) ในช่องผู้ไม่ประสงค์จะลงคะแนน (มาตรา 56 ของกฎหมายที่กล่าวมาแล้ว) และในมาตรา 70 ในกฎหมายฉบับนั้น บัญญัติให้มีการนับคะแนนสำหรับเลือกตั้งชนิดนี้ด้วย และต้องประกาศจำนวนบัตรดังกล่าวด้วย ไม่ได้ถือว่าเป็นบัตรเสียอย่างที่ใครๆ พยายามออกมาบิดเบือน” หนึ่งในคณะกรรมการกฤษฎีการะบุ
ศ.นพ.วิฑูรย์ ยังแสดงความผิดหวังกับการที่ เลขาธิการ กกต.ออกมาตีความเรื่องมาตรา 88 และ มาตรา 89 ว่าคะแนนในช่องไม่ประสงค์ลงคะแนน หรือโหวตโนไม่มีผลทางกฎหมาย เพราะหากพิจารณาจากเนื้อหาของมาตรา 88 และ 89 แล้ว ตนไม่คิดว่าจะมีนักกฎหมายใดที่มีความเห็นเหมือน เลขาธิการ กกต.และไม่จำเป็นต้องส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความ เนื่องจากสำนวนที่ใช้กับกฎหมายดังกล่าวนั้น มีบรรจุอยู่แล้วในกฎหมายหลายฉบับ
“ผมไม่คิดว่าจะมีนักกฎหมายคนใดมีความเห็นเหมือนเลขาธิการ กกต. เพราะนักกฎหมายที่ใช้กฎหมายอยู่เป็นประจำทุกคน เข้าใจเหมือนกันทุกคนครับ ไม่ต้องส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความให้เสียเวลา เพราะสำนวนแบบนี้มีใช้ในกฎหมายหลายฉบับ และรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันก็ใช้อยู่หลายมาตรา ตัวอย่างเช่นมาตรา 281 …” ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายระบุ และว่า “ผมออกจะเป็นห่วง กกต.ครับ ถ้าเลขาธิการ กกต.ยังแปลกฎหมายตามใจชอบอยู่อย่างนี้ อาจมีผลทำให้ กกต.เข้ารกเข้าพงไปอีกองค์กรหนึ่ง อยากจะเตือน กกต.ชุดนี้ให้ดูชะตากรรมของ “กกต.ชุด 3 หนา” เอาไว้บ้าง”
ในตอนท้ายของบทความ ศ.นพ.วิฑูรย์ กล่าวยืนยันว่า จำนวนเสียงของผู้ไม่ประสงค์จะลงคะแนนนั้นหากมากจนสามารถยับยั้งไม่ให้ ส.ส.เขตได้รับการประกาศให้เป็นผู้ได้รับการเลือกตั้งเกินกว่าร้อยละ 5 ของ ส.ส.ทั้งหมด หรืออย่างน้อย 26 เขต ก็จะทำให้สภาผู้แทนราษฎรไม่สามารถเปิดประชุมสภาได้ ซึ่งตนเชื่อว่า สถานการณ์ดังกล่าวก็จะไม่สร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนทั่วไป เพราะประเทศยังมีรัฐบาลรักษาการอยู่ แต่ผู้ที่เดือดร้อนและเกิดความวุ่นวายน่าจะเป็น พรรคการเมืองต่างๆ ที่ต้องหาคนลงสมัครใหม่
“เพราะฉะนั้น อยากจะเชิญชวนผู้ที่เบื่อการเมืองน้ำเน่า สภาน้ำเน่า ส.ส.น้ำเน่า และในอดีตเคยต่อต้านด้วยการนอนหลับทับสิทธิ คราวนี้ต้องเห็นถึงความสำคัญของโหวตโน โดยช่วยกันออกไปใช้สิทธิกาช่องที่ไม่ประสงค์จะลงคะแนน จึงจะเป็นการ “เอาคืน” พวกน้ำเน่าทั้งหลายที่กล่าวมาข้างต้นได้ครับ” ศ.นพ.วิฑูรย์ กล่าวทิ้งท้าย
**รณรงค์โหวตโนย่านสีลมคึกคัก
ช่วงสายวันเดียวกัน พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ได้เดินรณรงค์โหวตโนที่ย่านสีลม ท่ามกลางสายฝนที่ตกลงมาไม่ขาดสาย โดยมีการร้องเพลงกันอย่างคึกคัก พร้อมทั้งแจกแผ่นพับและผ้าผูกศีรษะด้วย ขณะที่การจราจรบนถนนสีลมติดขัดอย่างหนัก เนื่องจากต้องปิดสองช่องทางการจราจร.
**ประกาศปิดเวที พธม.ไปโหวตโน
เวลา 20.00 น.นายปานเทพ อ่านแถลงการณ์ร่วมครั้งที่ 2/2554 พันธมิตรฯ และคณะกรรมการป้องกันราชอาณาจักรไทย ว่า การชุมนุมรวมพลังปกป้องแผ่นดินตั้งแต่วันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2554 ต่อมาได้มีการตั้งคณะกรรมการปกป้องแผ่นดิน ซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อมาเป็น คณะกรรมการป้องกันราชอาณาจักรไทย ซึ่งในเริ่มต้นนั้นได้เรียกร้องต่อรัฐบาลทั้งสิ้น 3 ประการคือ เรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนทางบก พ.ศ. 2543 (MOU 2543) เรียกร้องให้รัฐบาลถอนตัวจากภาคีอนุสัญญามรดกโลก และเรียกร้องให้รัฐบาลผลักดันให้ทหารและชุมชนชาวกัมพูชาออกจากแผ่นดินไทย
ทั้งนี้ยังได้ เปิดโปงการทุจริตคอร์รัปชั่น และการทำให้ข้าวยากหมากแพง จนผู้ชุมนุมได้มีฉันทานุมัติเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2554 ให้ยกระดับการชุมนุมโดยการให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และเรียกร้องให้คณะรัฐมนตรีลาออกทั้งคณะ เพื่อเปิดโอกาสให้คนที่มีความสามารถและมีความกล้าหาญในการปกป้องอธิปไตยของชาติและยุติความล้มเหลวทางการเมืองให้มาทำหน้าที่แทน
นายอภิสิทธิ์ ยังกลับใช้วิธีประกาศล่วงหน้าว่าจะยุบสภาหนีปัญหา เราจึงกำหนดว่าหากมีการเลือกตั้งก็จะไปรณรงค์ให้ประชาชนไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งแต่กากบาทลงในช่องไม่ประสงค์จะลงคะแนน เพื่อแสดงการสงวนสิทธิ์ในคะแนนของตัวเอง (โหวตโน)ที่ไม่ยอมจำนนต่อระบบการเมืองที่ล้มเหลวและเรียกร้องให้มีการปฏิรูปการเมือง
ประกอบกับทีผ่านมาก็ได้รับชัยชนะ ซึ่งถือเป็นชัยชนะของประชาชนคนไทยทั้งประเทศ และเป็นผลโดยตรงที่เกิดขึ้นจากการต่อสู้ของพี่น้องประชาชนทั้งสิ้น แม้ว่าภารกิจการต่อสู้เรื่องเขตแดนทั้งหมดและการปฏิรูปการเมืองยังไม่แล้วเสร็จ แต่เมื่อเราในฐานะประชาชนที่ปราศจากอำนาจรัฐได้ทำหน้าที่จนสุดความสามารถจนเกิดผลการเปลี่ยนแปลง ตลอดจนได้ทำอย่างเต็มที่ในการรณรงค์เพื่อให้ประชาชนไปใช้สิทธิ์กากาบาทลงในช่องไม่ประสงค์ลงคะแนนเพื่อการปฏิรูปการเมืองแล้ว ถือได้ว่าทุกคนได้ทำหน้าที่สมบูรณ์ของปวงชนชาวไทยตามรัฐธรรมนูญแล้ว
“ เราได้ชุมนุมต่อเนื่องผ่านช่วงเวลาร้อน หนาว และพายุฝนมาถึง 158 วัน 158 คืน ถือว่าได้พิสูจน์ความเพียรของพี่น้องประชาชนแล้วในการมาทำหน้าที่ใช้หนี้แผ่นดิน และมาทำบุญ ได้อย่างเต็มที่สุดกำลัง”
นายปานเทพ กล่าวว่า ณ บัดนี้เราจึงขอประกาศยุติการชุมนุมในคืนวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 โดยจะใช้เวลาจัดการเก็บของและรื้อถอนอุปกรณ์การชุมนุมประมาณ 5 วัน โดยจะมีกิจกรรมแสดงดนตรีและบันเทิงบนเวทีตลอดวันเสาร์ที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 จนถึงเวลา 18.00 น. ทั้งนี้ขอให้พี่น้องประชาชนชาวไทยได้กลับไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งในวันที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 เพื่อไปกากบาทลงในช่องไม่ประสงค์ลงคะแนนเพื่อการปฏิรูปการเมืองอย่างพร้อมเพรียง.