พันธมิตรฯยื่น กกต.ยุบ “เพื่อไทย-ประชาธิปัตย์-ภูมิใจไทย-ชาติไทยพัฒนา-ชาติพัฒนาเพื่อแผ่นดิน” หาเสียงสัญญาว่าจะให้ผิดกฎหมายเลือกตั้งชัดเจน
ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) วันนี้ (1 ก.ค.) นายประพันธ์ คูณมี แกนนำกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) ได้เข้ายื่นหนังสือต่อนายทะบียนพรรคการเมืองและคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพื่อขอให้ยุบพรรคเพื่อไทย พรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทย พรรคชาติไทยพัฒนา และพรรคชาติพัฒนาเพื่อแผ่นดิน
นายประพันธ์ กล่าวว่า พรรคการเมืองทั้ง 5 มีนโยบายหาเสียงและโฆษณาชวนเชื่อให้ประชาชนเลือกตนเป็น ส.ส.ซึ่งพรรคการเมืองดังกล่าวได้ดำเนินการที่กระทำผิดพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และการได้มาซึ่ง ส.ว.พ.ศ.2550 มาตรา 53 ที่ระบุว่า ห้ามมิให้ผู้สมัครหรือผู้ใดกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อจูงใจให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงคะแนนเสียงเลือกตั้งให้แก่ตนเองหรือผู้สมัครอื่น หรือพรรคการเมืองใด หรืองดเว้นการลงคะแนนแก่ผู้สมัครหรือพรรคการเมืองใดด้วยวิธีการ คือ จัดทำให้ เสนอให้ สัญญาว่าจะให้หรือจัดเตรียมเพื่อจะให้ทรัพย์สินหรือผลประโยชน์อื่นใดอันอาจคำนวณเป็นตัวเงินได้ และให้เสนอให้ หรือสัญญาว่าจะให้เงิน ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดไม่ว่าจะโดยตรงหรือโดยอ้อม แก่ชุมชน สมาคม มูลนิธิ วัด สถาบันการศึกษา สถานสงเคราะห์ หรือสถาบันอื่นใด
นายประพันธ์ กล่าวว่า ทุกพรรคมีคำมั่นสัญญาเป็นตัวเงินชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นพรรคเพื่อไทย ที่มีนโยบายหาเสียงลดภาษีนิติบุคคล พักหนี้ กองทุนหมู่บ้านเพิ่มทุกตำบลๆ ละ 1 แสนบาท ปรับเงินเดือนข้าราชการและรัฐวิสาหกิจ ในขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ มีนโยบายหาเสียงด้วยการตรึงน้ำมันดีเซล ตรึงก๊าซหุงต้ม รักษาฟรี เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เรียนฟรี พรรคภูมิใจไทย มีนโยบายหาเสียง ล้างหนี้กองทุนหมู่บ้าน ลดภาษีมูลค่าเพิ่ม ฯ พรรคชาติไทยพัฒนา มีนโยบายหาเสียง เพิ่มรายได้คนไทย 2 เท่าใน 5 ปี ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ และพรรคชาตีพัฒนา มีนโยบายหาเสียง เพิ่มจัดสรรรายได้องค์กรปกครองท้องถิ่น ค่าแรงขั้นต่ำ
“เห็นได้ชัดเจนว่า เป็นนโยบายที่เสนอให้เป็นตัวเงินชัดเจน เป็นการเฉพาะหน้าในช่วงเลือกตั้ง ที่มุ่งเสนอผลประโยชน์ให้กับประชาชนเพื่อจูงใจให้เลือก ถือว่าเป็นการกระทำที่ผิดกฏหมาย และยังกระทำผิดรัฐธรรมนูญมาตรา 68, 237 และพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และการได้มาซึ่ง ส.ว.พ.ศ.2550 มาตรา 53(1), (2), 137, 159, 160 นอกจากนี้ ยังเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง มาตรา 4, 94((1), (2), (3) หัวหน้าพรรคและกรรมการพรรคจึงต้องรับโทษตามมาตรา 116 ทั้งนี้ ก็ขึ้น กกต.ว่า วินิจฉัยอย่างไร เพื่อจะได้เป็นบรรทัดฐานต่อไป ส่วนกรณที่พรรคประชาธิปัตย์ตั้งเวทีหาเสียงที่บริเวณณลานพระบรมรูปทรงม้านั้น ถือว่าผิดประกาศของ กทม.ที่ห้าม เนื่องจากเป็นเขตพระราชทาน กกต.ต้องเข้าไปตรวจสอบด้วย”