เอเจนซี - ป้ายหาเสียงที่มีอยู่ทั่วประเทศไทยขณะนี้ล้วนแต่โฆษณาขายฝันอย่างสวยหรู เช่นว่า จะแจกคอมพิวเตอร์แท็บเล็ตแก่เด็กนักเรียน, ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ, สร้างรถไฟความเร็วสูง หรือแม้แต่ลดภาษี ซึ่งนโยบายเหล่านี้อาจกระตุ้นให้ประชาชนหันมาจับจ่ายใช้สอยหรือลงทุนเพิ่มก็จริง แต่ก็อาจก่อวิกฤตด้านอื่นๆตามมา เช่น หนี้สินที่สูงขึ้น, การปฏิรูปเศรษฐกิจที่ล่าช้า และภาวะเงินเฟ้อ เป็นต้น
ขณะที่ตัวเลขเงินเฟ้อยังคงสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง นักเศรษฐศาสตร์บางคนจึงเริ่มตั้งคำถามว่าประเทศไทยพร้อมหรือไม่ที่จะหันมาใช้นโยบายเศรษฐกิจแบบ “ทักษิโณมิกส์” อีกครั้ง ซึ่งไม่ว่าพรรคการเมืองใดจะได้เป็นรัฐบาล ก็ดูยากที่จะหลีกเลี่ยง
“ตอนนี้ทุกพรรคการเมืองเอาแต่แข่งกันให้ โดยไม่คำนึงถึงการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาว” ไพบูลย์ กิตติศรีกังวาน ผู้ช่วยผู้อำนวยการธนาคารแห่งประเทศไทย ให้สัมภาษณ์กับรอยเตอร์
ทั้งประชาธิปัตย์และเพื่อไทยต่างเสนอนโยบายที่คล้ายคลึง คือ ทุ่มงบประมาณมหาศาลเพื่อพัฒนาระบบสาธารณูปโภค เช่น การสร้างรถไฟความเร็วสูง และขยายเส้นทางรถไฟใต้ดิน รวมถึงแจกจ่ายเม็ดเงินรูปแบบอื่นๆ เพื่อเพิ่มอำนาจการใช้จ่าย โดยเฉพาะในเขตชนบท
นโยบายลักษณะนี้เคยช่วยให้อดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร ได้ชัยชนะในการเลือกตั้งมาแล้วเมื่อปี 2001 และ 2005 ก่อนจะถูกกองทัพรัฐประหารในอีก 1 ปีให้หลัง ซึ่งรัฐบาลประชาธิปัตย์เองก็ได้ลอกเลียนนโยบายบางอย่างมาเพื่อเรียกคะแนนนิยม ไม่ว่าจะเป็นโครงการการรักษาพยาบาลราคาถูก หรือเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ เป็นต้น
“ถ้าดูให้ดีแล้วจะพบว่า นโยบายของทั้ง 2 พรรคไม่ได้แตกต่างกันมากนัก” อุสรา วิไลพิชญ์ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสจากธนาคารสแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ด ระบุ
ในทางทฤษฎีแล้ว การอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่เศรษฐกิจชนบทจะช่วยกระตุ้นการบริโภค และทำให้เกิดการขยายตัวต่อเนื่องไปเรื่อยๆตามหลักเศรษฐศาสตร์แบบเคนส์ (Keynasian Economics) ซึ่งรัฐบาลทักษิณก็ได้ใช้วิธีพักชำระหนี้เกษตรกรและออกเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ เพื่อกระตุ้นให้ประชาชนมีแรงซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคมากยิ่งขึ้น
ผลที่ตามมา ก็คือ ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ(จีดีพี)เติบโตขึ้นโดยเฉลี่ย 5.7 เปอร์เซ็นต์ระหว่างปี 2002 ถึง 2006 เมื่อเทียบกับ 2.1 เปอร์เซ็นต์ในปี 2001 ทั้งที่มีปัจจัยฉุดรั้งหลายประการไม่ว่าจะเป็นราคาน้ำมันที่สูงขึ้น, สงครามในอิรัก หรือการแพร่ระบาดของไข้หวัดมรณะ (SARS)
อย่างไรก็ตาม นักวิจารณ์มองว่าเศรษฐกิจแบบทักษิโณมิกส์ก็ไม่ต่างอะไรจากการปันประโยชน์กันกิน โดยไม่ได้ส่งเสริมการสร้างงานที่ยั่งยืน และไม่สามารถทำให้ไทยหยุดพึ่งพาการส่งออก ซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 50 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพีในปี 2005 และปัจจุบันก็เพิ่มสูงถึง 65 เปอร์เซ็นต์แล้ว
การปล่อยเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำยังส่งผลให้ครัวเรือนมีหนี้สิ้นเพิ่มขึ้นเป็น 57 เปอร์เซ็นต์ของรายได้ จากเดิม 50 เปอร์เซ็นต์ในปี 2001
ธนาคารกลางแห่งประเทศไทยระบุว่า อัตราหนี้สินต่อจีดีพีของไทยมีแนวโน้มจะเพิ่มจาก 42 เปอร์เซ็นต์ในปัจจุบันเป็นมากกว่า 60 เปอร์เซ็นต์ภายใน6 ปีข้างหน้า ซึ่งการใช้จ่ายของรัฐบาลจะเป็นตัวเร่งให้ปรากฎการณ์ดังกล่าวเร็วขึ้น
ปัญหาหลักอีกประการของไทย คือ รายได้จากภาษีที่ค่อนข้างต่ำ โดยมีสัดส่วนเพียง 17 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี เมื่อเทียบกับญี่ปุ่นและอังกฤษ ซึ่งมีรายได้จากภาษีถึง 27 และ 40 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี ตามลำดับ
“นี่คือความเสี่ยงต่อระบบเศรษฐกิจ รัฐบาลควรใช้นโยบายประชานิยมเพียงบางส่วน ไม่เช่นนั้นจะต้องระดมทุนสูงมาก” นุชจรินทร์ ปัณรส นักเศรษฐศาสตร์จากบริษัทหลักทรัพย์โนมูระ กล่าว
ผู้ช่วยผู้อำนวยการธนาคารแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า งบประมาณรัฐตลอด 4 ปีที่ผ่านมาเพิ่มขึ้น 8.8 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่รายได้ของรัฐเพิ่มแค่ 4.2 เปอร์เซ็นต์ โดยงบประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์ถูกนำไปใช้จ่ายในโครงการต่างๆ เหลือถึงภาคการลงทุนไม่ถึง 17 เปอร์เซ็นต์
ไพบูลย์ ยังเรียกร้องให้รัฐบาลใหม่พิจารณาการปฏิรูประบบภาษี เช่น ขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มให้สูงกว่า 7 เปอร์เซ็นต์ และอุดรอยรั่วในการเรียกเก็บภาษีประเภทต่างๆ
สิ่งที่น่าเป็นห่วงอีกประการคืออัตราเงินเฟ้อที่สูงถึง 4.2 เปอร์เซ็นต์เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา และอาจเพิ่มเป็น 15 เปอร์เซ็นต์หากพรรคเพื่อไทยได้เป็นรัฐบาล และปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำอีก40 เปอร์เซ็นต์เป็นวันละ 300 บาท บริษัท ทิสโก ซิเคียวริตีส์ ระบุ
ชุติมา วรมนตรี นักเศรษฐศาสตร์จากธนาคาร บีเอ็นพี พาริบาส์ กล่าวว่า นโยบายหลักของ ยิ่งลักษณ์ จะต้องใช้งบประมาณสูงถึง 264,000 ล้านบาท รวมถึงรายได้ที่สูญเสียไปจากนโยบายลดภาษีเงินได้นิติบุคคลจาก 30 เปอร์เซ็นต์เหลือเพียง 23 เปอร์เซ็นต์ ในปี 2012 และจะลดลงเหลือ 20 เปอร์เซ็นต์ในปีถัดไป
นโยบายประชานิยมอื่นๆของพรรคเพื่อไทยซึ่งต้องใช้งบประมาณมหาศาลได้แก่ โครงการบัตรเครดิตชาวนา, การขึ้นเงินเดือนบัณฑิตจบใหม่อีก 41 เปอร์เซ็นต์, กองทุนหมู่บ้านละ 2 ล้านบาทสำหรับ 73,000 หมู่บ้านทั่วประเทศ และโครงการแจกคอมพิวเตอร์แท็บเล็ตให้แก่เด็ก 800,000 คนที่เข้าโรงเรียน ซึ่งนับเป็นสัดส่วนไม่น้อยสำหรับประเทศซึ่งประชากรร่ำรวยที่สุด 20 เปอร์เซ็นต์เป็นเจ้าของรายได้กว่าครึ่งหนึ่ง ส่วนกลุ่มคนยากจนที่สุด 20 เปอร์เซ็นต์ยังเข้าถึงรายได้เพียง 4 เปอร์เซ็นต์ของประเทศเท่านั้น
ด้านพรรคประชาธิปัตย์ก็ชูนโนบายที่สำคัญ เช่น สร้างเครือข่ายรถไฟความเร็วสูง, ตรึงราคาน้ำมันดีเซล, ยกเว้นค่าไฟฟ้าสำหรับครัวเรือนที่รายได้น้อย และเพิ่มรายได้เกษตรกรอีก 25 เปอร์เซ็นต์ ซึ่ง ชุติมา ระบุว่า จะต้องใช้งบประมาณราว 235,000 ล้านบาท
ธนาคารแห่งประเทศไทยเรียกร้องให้พรรคที่ได้เป็นรัฐบาลรักษาสัญญาว่าจะทำงบประมาณสมดุลให้ได้ภายในปี 2015 ขณะที่ พิมลวรรณ มหัจฉริยวงศ์ จากศูนย์วิจัยกสิกรฯชี้ว่า รัฐบาลควรสนับสนุนให้เอกชนเข้ามาร่วมลงทุนในโครงการต่างๆ โดยเฉพาะโครงการที่จะทำผลกำไร ซึ่งจะช่วยให้รัฐมีรายได้เพิ่มสำหรับสานต่อนโยบายสำคัญตามที่ได้สัญญาไว้กับประชาชน