ASTVผู้จัดการออนไลน์ - คำสัญญาหลอกว่าจะให้กลายเป็นบ่วงรัดคอเพื่อไทย พิสูจน์น้ำยาประชานิยมสินค้าเก่ารีแบรนด์ใหม่ หากทำไม่ได้กระแสตีกลับถูกเหยียดหยันดีแต่พูดไม่ต่างประชาธิปัตย์แน่ ผู้ใช้แรงงานทวงค่าแรงขั้นต่ำวันละ 300 บาท บัณฑิตใหม่ฝันเงินเดือนเริ่มต้น 15,000 บาท นักเรียนทุกคนรอแจกคอมพิวเตอร์ เกษตรกรตั้งตาคอยพักหนี้ รีไฟแนนซ์หนี้ส่วนบุคคล คืนภาษีผู้ซื้อบ้านซื้อรถ ลดราคาน้ำมัน เพิ่มเบี้ยผู้สูงอายุหัวละพัน รับจำนำข้าวตันละ 15,000 บาท ขณะที่เสียงค้านเริ่มดัง ห่วงใช้จ่ายเกินตัวเกิดวิกฤตเศรษฐกิจพาชาติล่มจม
การเลือกตั้งเมื่อ 3 ก.ค. 54 ที่ผ่านมา ทุกพรรคการเมืองต่างแข่งขันกันหาเสียงด้วยนโยบายประชานิยม ชัยชนะของพรรคเพื่อไทยเจ้าตำหรับประชานิยมก็ได้มาด้วยคำสัญญาต่างๆ นาๆ เช่นเดียวกัน ดังนั้น ภารกิจสำคัญของเพื่อไทยหลังชัยชนะจึงไม่ใช่แค่เรื่องการนิรโทษกรรม ทักษิณ ชินวัตร ที่แอบซ่อนไว้เบื้องหลังเท่านั้น แต่ยังต้องทำให้คำสัญญา “หลอกว่าจะให้” เป็นจริงให้ได้ด้วยเพื่อรักษาคะแนนนิยมไม่ให้มวลชนรากหญ้ารู้ว่าดีแต่คุยโม้โอ้อวดไม่ต่างจากประชาธิปัตย์
แต่ในทางกลับกันก็มีเสียงแสดงความห่วงใยหากเพื่อไทยทำตามคำสัญญาหลอกว่าจะให้ได้จริง ก็เท่ากับว่า ว่าที่นายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของไทย นำพาประเทศเดินเข้าสู่กับดักวิกฤตเศรษฐกิจสร้างประวัติศาสตร์ซ้ำรอย เพราะรัฐบาลจะต้องกู้เงินจำนวนมหาศาลมาทุ่มเทให้กับโครงการลดแลกแจกแถมตามที่สัญญาเอาไว้
ย้อนกลับมาดูกันว่า คำสัญญาหลอกว่าจะให้ หลอกว่าจะทำนั้น ต้องใช้เม็ดเงินมหาศาลขนาดไหน ซึ่งก่อนนี้มีนักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินการคลัง ออกมาให้ข้อมูลเผยแพร่ตามสื่อต่างๆ โดยประเมินกันว่านโยบายประชานิยมลดแลกแจกแถมของเพื่อไทยนั้นจะต้องใช้เงินเพิ่มประมาณ 1 ล้านล้านบาท ถ้ารวมกับโครงการลงทุนต่างๆ เช่น รถไฟฟ้า รถไฟความเร็วสูง ระบบน้ำ ฯลฯ ประมาณ 3 ล้านล้านบาท รวมๆ แล้วเม็ดเงินที่จะใช้จ่ายเพิ่มสูงถึงประมาณ 4 ล้านล้านบาท
สำหรับโครงการตามนโยบายที่เพื่อไทยหาเสียง ซึ่งจะต้องหาเงินใส่ลงไป มีดังนี้
1.องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นได้รับเงินเพิ่ม 25%
2.เพิ่มทุนกองทุนหมู่บ้านๆ ละ 1 ล้านบาท 80,000 หมู่บ้าน ประมาณ 80,000 ล้านบาท
3.พักหนี้เกษตรกร ไม่เกิน 500,000 บาท 5 ปี และหนี้ไม่เกิน 5 ล้านบาท ยืดหนี้ 10 ปี ประมาณ 20,000 ล้านบาท
4.รีไฟแนนซ์หนี้ส่วนบุคคลไม่เกิน 500,000 บาท ไม่น้อยกว่า 3 ปี และปรับโครงสร้างหนี้ผู้ที่มีหนี้เกิน 500,000 บาท แต่ไม่เกิน 1 ล้านบาท ประมาณ 10,000 ล้านบาท
5.ลดภาษีนิติบุคคลจาก 30% เหลือ 23% รัฐสูญเสียรายได้ ประมาณ 98,000 ล้านบาท (1% ของภาษีที่ลดลงเท่ากับ 14,000 ล้านบาท)
6.ปรับเงินเดือนให้ข้าราชการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ
7.จบปริญญาตรีเงินเดือนเริ่มต้น 15,000 บาท หากคำนวณจากจำนวนบัณฑิตจบใหม่ต่อปี 400,000 คน ฐานเงินเดือนปัจจุบัน 10,500 บาท ต้องใช้เงินประมาณ 700 ล้านบาท
8.คืนภาษีและเพิ่มค่าลดหย่อนภาษีให้กับผู้ซื้อบ้านหลังแรก คืนภาษีให้ผู้ซื้อรถคันแรก
9.ตั้งกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีเฉลี่ยจังหวัดละ 100 ล้านบาท รวม 77 จังหวัด ประมาณ 7,700 ล้านบาท
10.เบี้ยเพื่อไทยวัยสูงอายุ เฉลี่ย 600 - 1,000 บาทต่อเดือน ประมาณ 4,200 - 7,000 ล้านบาท
11.คอมพิวเตอร์แท็บเล็ตแจกนักเรียนทุกคนทั้งประเทศ ประมาณ 80,000 - 100,000 ล้านบาท
12.โครงการรับจำนำข้าว ผลผลิตข้าวในแต่ละปีประมาณ 30 ล้านตันๆ ละ 15,000 ประมาณ 400,000 ล้านบาท
13.บัตรเครดิตชาวนา เกษตรกรมี 5.8 ล้านครัวเรือน ต้องการสินเชื่อ 30,000 บาทต่อฤดูกาลผลิต ตกประมาณ 174,000 ล้านบาท
14.โครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค ประมาณ 130,000 ล้านบาท
15.โครงการรถไฟฟ้า 10 สายรอบกรุงเทพฯและปริมณฑล ประมาณ 250,000 ล้านบาท
16.โครงการรถไฟรางคู่เชื่อมต่อบริเวณชานเมืองกรุงเทพฯ
17.โครงการรถไฟความเร็วสูงไปนครราชสีมา ระยอง จันทบุรี ประมาณ 78,000 ล้านบาท
18.โครงการขยายแอร์พอร์ตลิงค์ ไปพัทยา
19.ภาคใต้ทำแลนด์บริดจ์ ประมาณ 100,000 ล้านบาท
20.สนามบินสุวรรณภูมิให้เป็นศูนย์กลางการบิน ประมาณ 73,000 ล้านบาท
21.ชลประทานระบบท่อ 25 ลุ่มน้ำ ประมาณ 400,000 ล้านบาท
22.ตั้งกองทุนร่วมทุนในมหาวิทยาลัยของรัฐและเอกชน เพื่อให้นักศึกษากู้ยืม 169 มหาวิทยาลัยๆ ละ 1,000 ล้านบาท ประมาณ 1.69 แสนล้านบาท
23.ทำเขื่อนกั้นทะลไม่ให้น้ำท่วมกรุงเทพฯ 30กม. ใช้เวลา 9 ปี ประมาณ 900,000 ล้านบาท หรือปีละ 1.8 แสนล้าน
24.ค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำวันละ 300 บาท
25.ยกเลิกการจัดเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันชั่วคราว เพื่อลดราคาน้ำมันเบนซินและดีเซล (แต่เพื่อไทยไม่ได้บอกว่าราคาก๊าซฯจะพุ่งสูงขึ้นเพราะไม่มีเงินอุดหนุนจากกองทุนน้ำมันแล้วจะแก้ไขอย่างไร)
หากพิจารณาโครงการและเม็ดเงินลงทุนข้างต้นแล้ว หลายฝ่ายจึงวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นโครงการขายฝัน แต่ไม่น่าเชื่อว่าโครงการขายฝันนี้กลับขายได้ ประชาชนซื้อ ดังเช่นที่กลุ่มผู้ใช้แรงงานเทคะแนนให้กับพรรคเพื่อไทย และขณะนี้พวกเขากำลังรอว่า เมื่อไหร่พรรคเพื่อไทยจะทำให้ความฝันของพวกเขาเป็นจริงเสียที ขณะที่นักเรียน นักศึกษา ข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจ เกษตรกร ฯลฯ ต่างรอความหวังจากนโยบายขายฝันของเพื่อไทยถ้วนหน้า
แต่ถ้าตื่นจากฝันหันมามองความจริง คำถามแรกที่ควรถามกลับก็คือ รัฐบาลยิ่งลักษณ์ จะเอาเงินจากที่ไหนมาใส่เข้าไปในนโยบายขายฝันข้างต้น เพราะสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง ประเมินกรอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายปี 2555 ที่จะเริ่มใช้ในวันที่ 1 ต.ค. 54- 30 ก.ย. 55 ตามมติครม.เมื่อวันที่ 28 มี.ค. 54 ว่า มีรายจ่ายอยู่ที่ 2,250,000ล้านบาท และมีรายรับ 1,900,000 ล้านบาท ขาดดุลงบประมาณ 350,000 ล้านบาท ซึ่งในจำนวนงบประมาณที่ขาดดุลนี้สามารถนำมาจัดสรรเป็นงบลงทุนตามนโยบายรัฐบาลได้เพียง 186,000ล้านบาทเท่านั้น ถ้าเช่นนั้น จะเอาเงินมาจากไหนนอกจากกู้หนี้ยืมสินเพื่อมาใช้จ่าย
การกู้หนี้สาธารณะ การทำงบประมาณขาดดุลอย่างต่อเนื่องเพื่อนำมาใช้จ่ายแบบเกินตัว ย่อมส่งผลต่อฐานะการเงินการคลังของประเทศ ยอดหนี้สาธารณะ ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ 41.28% ของจีดีพี มีแนวโน้มจะพุ่งทะยานขึ้น และหากทะลุ 60% ของจีดีพีเมื่อไหร่ก็หมายถึงหายนะของประเทศ แม้ว่า ว่าที่นายกฯ ยิ่งลักษณ์ จะบอกว่า การดำเนินการตามโครงการขายฝันจะไม่กระทบต่อฐานะการเงินการคลังของประเทศ แต่การพูดเช่นนั้นถือเป็นคำกล่าวอ้างที่เชื่อถือได้น้อย แม้ด้านหนึ่งจะหวังว่าโครงการประชานิยมจะกระตุ้นการใช้จ่าย เพิ่มความต้องการซื้อ ทำให้เศรษฐกิจเฟื่องฟูรายได้หมุนเวียนกลับคืนสู่รัฐ ก็ตาม
นอกเหนือไปจากนั้น สิ่งที่จะตามมากับประชานิยม ก็คือ สินค้าจะปรับราคาสูงขึ้น ค่าครองชีพพุ่ง เงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้นมโหฬาร
ชัยชนะถล่มทลายของเพื่อไทย ซึ่งเป็นเครื่องชี้วัดการตัดสินใจของคนไทยที่ยกประเทศให้ “ทักษิณคิด เพื่อไทยทำ” ครั้งนี้ กำลังนำไปสู่คำตอบสุดท้าย ประชาชนชาวไทยจะได้รู้กันอย่างสิ้นสงสัยเสียทีว่า แท้จริงแล้ว ทักษิณ ชินวัตร คือนักบุญหรือซาตานกันแน่