xs
xsm
sm
md
lg

ตรวจ ‘5 นโยบายประชานิยม’ จัดเต็มสุดโดนใจ รัฐบาลยิ่งลักษณ์ทำได้-ทำไม่ได้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เป็นธรรมดาวิสัยเสียแล้ว สำหรับการหาเสียงทุกครั้งของพรรคการเมืองที่ถูกก่อตั้งโดยเครือข่ายของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่มักจะเน้นการหาเสียงด้วยนโยบายการตลาดที่เป็นรูปธรรมและจับต้องได้มากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค, พักหนี้เกษตรกร, กองทุนหมู่บ้านๆ ละล้านบาท มาใช้ ตั้งแต่การเลือกตั้งครั้งแรกวันที่ 6 มกราคม 2544 โดยหวังว่าประชาชนจะสามารถซึมซับและจดจำนโยบายเหล่านี้ได้ง่าย

ซึ่งสุดท้ายก็เป็นตามที่คาดจริงๆ เพราะพรรคไทยรักไทยในขณะนั้นสามารถกวาดที่นั่งได้ถล่มทลาย ได้รับคะแนนเสียงเบ็ดเสร็จถึง 256 คน (ก่อนจะถูกวิกฤตใบแดง-ใบเหลืองสอยจนเหลือ 248 คน)

จากความสำเร็จในครั้งนี้ ทำให้พรรคในเครือข่ายของทักษิณนับจากนั้น ไม่ว่าจะเป็นพลังประชาชน และเพื่อไทย ต่างก็เจริญรอยตามพรรคต้นแบบทุกกระเบียดนิ้ว โดยเฉพาะพรรคเพื่อไทยที่มีเดิมพันใหญ่ถึงขั้นที่ชูน้องสาวของ พ.ต.ท.ทักษิณ คือ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งจัดเต็มนโยบายเหล่านี้มากกว่ายุคพี่ชายหลายเท่าตัวนัก และสามารถกวาดคะแนนจำนวน ส.ส.ไปมากถึง 265 คนเลยทีเดียว

แต่อย่างว่าความฝันกับความจริงมักจะสวนทางกันอยู่เสมอ และที่แน่กว่านั้นก็คือ นโยบายพวกนี้ไม่ใช่อยากจะทำก็ทำได้เลย แต่ต้องอาศัยทั้งความพร้อมและงบประมาณมหาศาล เพราะฉะนั้นครั้งนี้ในฐานะที่รัฐบาลพรรคเพื่อไทยจะเข้ามาบริหารประเทศในอีกไม่กี่วันข้างหน้า ก็เลยขอหยิบยกเอา 5 นโยบายเด่นๆ ที่โดนใจชาวบ้าน มาพูดคุยกันสักหน่อยว่าดี-ไม่ดียังไง และมีโอกาสมากน้อยที่จะเป็นไปได้แค่ไหน

1. ปรับค่าแรงขั้นต่ำเป็นวันละ 300 บาท-เงินเดือนปริญญาตรีเดือนละ 15,000 บาท

เรื่องของเงินๆ ทองๆ ถือเป็นปัจจัยสำคัญในชีวิตผู้คน ภาพหนึ่งที่คนเห็นจนชินตาก็คือ ทุกวันที่ 1 พฤษภาคม ซึ่งเป็นวันแรงงานแห่งชาติ ก็มักจะมีแรงงานออกมายื่นข้อเรียกร้องแก่รัฐบาลให้เพิ่มค่าจ้างรายวันให้ที ซึ่งกว่าจะเพิ่มได้ก็ยากเย็นแสนเข็ญต้องเรียกร้องแล้วเรียกร้องอีกถึงจะได้สักครั้ง เช่นเดียวกับคนที่เรียนจบปริญญา อัตราเงินเดือนพื้นฐานที่ทำงานก็อยู่ที่ 9,500 บาทเท่านั้นเอง ซึ่งนับว่าไม่สอดคล้องกับสภาพความเป็นในปัจจุบันสุดๆ ยิ่งหากใช้ชีวิตอยู่ในเมืองกรุงที่นับวันข้าวของจะแพงเอาๆ เรื่องเงินเก็บหรือความฝันจะสร้างวิมานก็เตรียมพับไปได้ทันที

เพราะฉะนั้นทันทีที่พรรคเพื่อไทยประกาศนโยบายปรับค่าแรงขั้นต่ำเป็นวันละ 300 บาทและเงินเดือนปริญญาตรีเดือนละ 15,000 บาท เป็นสัญญาประชาคม จึงเรียกว่าโดนใจมหาชนทันที รศ.ดร.วรวิทย์ เจริญเลิศ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มองนโยบายนี้ว่า มีความเสี่ยงสูงมากที่บรรดานายจ้างเอกชนจะเลือกวิธีไม่จ้างคนเพิ่ม เพราะแม้การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำนั้นจะเป็นที่เรื่องที่ทำได้ แต่ก็ไม่ใช่เรื่องที่ทำได้ง่ายๆ เช่นกัน เนื่องจากเอาเข้าจริงบริษัทก็ต้องแบกรับภาระมหาศาลเอาไว้ และเรื่องพวกนี้หลายๆ รัฐบาลก็เคยคิดไว้แต่ยังจะไม่มีใครทำได้ ฉะนั้นทางที่ดีรัฐบาลควรจะต้องวางแผนระยะยาวรองรับเอาไว้ ทั้งเรื่องเงินเดือนและคุณภาพไปพร้อมๆ กัน จะมองเรื่องหนึ่งเรื่องใดแยกส่วนไปไม่ได้ เนื่องจากค่าแรงที่ดีก็ควรจะสัมพันธ์กับฝีมือและความสามารถที่สูงนั่นเอง

“การขึ้นต้องขึ้นอย่างมีเหตุผล อย่ามองเป็นส่วนๆ ต้องดูว่าการขึ้นค่าแรงนั้นจะเป็นยุทธศาสตร์นำพาประเทศไปยังจุดใด แต่จะทำได้จริงหรือไม่ก็ต้องมีขั้นตอนและใช้เวลาในการปรับ ต้องมองในระยะยาวว่าถ้าเริ่มจากจุดนี้แล้วจะไปต่อยังจุดไหนต่อไป ตอนนี้ไทยเข้าสู่ยุคที่ขาดแคลนแรงงาน เพราะอัตราการเกิดลดลง คนที่เข้ามาแทนที่ก็จะเป็นแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านเป็นหลัก มีถึง 2-3 ล้านคน ดังนั้น เวลานี้เป็นโอกาสที่จะปรับมาตรฐานของแรงงานไทยขึ้นไปให้กลายเป็นแรงงานที่มีฝีมือ และได้ค่าแรงที่สูงขึ้น”

อย่างไรก็ดี ทางว่าที่รัฐบาลเองก็ไม่ได้นิ่งนอนใจกับปัญหาที่เกิดขึ้น โดยมีแผนจะผลักดันให้เสร็จภายในวันที่ 1 มกราคม 2555 โดยเฉพาะเงินข้าราชการและพนักงานรัฐวิสาหกิจจะปรับขึ้น 15,000 บาทแน่นอน โดยเบิกงบประมาณมาเพิ่มอีก 10,000 ล้านบาท เช่นเดียวกับค่าจ้างอัตราขั้นต่ำ 300 บาท รัฐบาลจะใช้วิธีการลดภาษีนิติบุคคลจาก 30 เปอร์เซ็นต์เป็น 23 เปอร์เซ็นต์ โดยบริษัทก็จะนำส่วนลดตรงนี้ไปจ่ายเป็นค่าแรงที่เพิ่มขึ้นมา ขณะที่เงินเดือนระดับปริญญาตรีในภาคเอกชนนั้นไม่มีการพูดถึงแต่อย่างใด

2. เลิกกองทุนน้ำมัน-ประกาศลดราคาทันที 7.50 บาท

ต้องยอมรับว่า น้ำมันกลายเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดของคนที่ใช้รถทั้งหลาย นโยบายการยกเลิกกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เพื่อที่น้ำมันเบนซิน 95 จะลดลง 7.50 บาทต่อลิตร เบนซิน 91 จะลดลง 6.78 บาทต่อลิตร และดีเซล จะลดลง 2.20 บาทต่อลิตรจะสร้างความตื่นตาตื่นใจให้ผู้คนไม่น้อย

ดูอย่าง ชวลิต สงวนพร เจ้าของกิจการรถเช่า ที่ออกมายกมือสนับสนุนเต็มที่ แต่ก็อดเป็นห่วงไม่ได้ว่าของอย่างอื่น เช่น ก๊าซหุงต้ม (หรือก๊าซแอลพีจีที่แท็กซี่ในปัจจุบันชอบใช้) ก็อาจจะปรับตัวสูงขึ้นเป็นเท่าตัว เพราะฉะนั้น เรื่องนี้จึงถือว่ามีได้มีเสีย ซึ่งรัฐบาลคงต้องนำกลับมาคิดว่าจะคุ้มหรือไม่

ที่สำคัญว่า แม้ปัจจุบันการมีกองทุนน้ำมันจะทำให้ราคาน้ำมันสูงขึ้น เพราะเงินส่วนหนึ่งจะต้องหักเข้ากองทุนฯ แต่ถ้ามองในอีกมุมหนึ่งก็ต้องยอมรับว่า นี่เปรียบเสมือนเกราะกำบังไว้รับแรงกระแทกจากราคาน้ำมันอันผันผวนในตลาดโลกให้แก่ไทยได้เป็นอย่างดีเช่นกัน โดย รศ.ดร.พรายพล คุ้มทรัพย์ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ชี้ว่า หากยกเลิกกองทุนน้ำมัน ไทยก็ต้องเผชิญกับความจริงของราคาน้ำมันที่ปรับตัวพุ่งทะยานในตลาดโลก โดยไม่มีอะไรมารองรับหรือแบ่งเบาได้อีก รวมทั้งราคาพลังงานทดแทนอย่างเช่น แอลพีจี หรือ เอ็นจีวี ก็จะสูงขึ้นเพราะไม่ได้รับทุนส่งเสริมจากกองทุนฯ ดังที่เคยมีมาตลอด

“ถ้าไม่มีกองทุนฯ เลย ราคาขายปลีกก็จะขึ้นลงเหมือนราคาในตลาดโลก เพราะมันไม่มีตัวอะไรที่จะมารองรับ และตอนนี้เงินกองทุนฯ ก็หนุนราคาของแก๊สโซฮอล์ ก๊าซหุงต้ม หรือก๊าซธรรมชาติที่ใช้ในรถยนต์เพื่อที่จะทำให้ราคาขายปลีกของผลิตภัณฑ์เหล่านี้ต่ำ ซึงถ้าไม่มีการอุดหนุน ราคาพวกนี้ก็จะสูงขึ้น ทำให้ประเทศไทยต้องใช้น้ำมันที่นำเข้ามาก ต้องอาศัยจมูกคนอื่นหายใจมากขึ้น ซึ่งขัดกับหลักการที่เราตั้งไว้ว่าจะใช้พลังงานที่ผลิตภายในประเทศให้มากขึ้น”

อย่างไรก็ตาม ว่าที่นายกฯ เองก็ออกมาปฏิเสธนโยบายการยกเลิกกองทุนน้ำมันเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยชี้แจงว่า จะเพียงแค่การไม่ส่งเงินเข้ากองทุนฯ ชั่วคราวเท่านั้นและรอดูสถานการณ์ต่อไปว่าจะเป็นเช่นใดต่อ

3. บัตรเครดิตชาวนา

เป็นที่เข้าใจกันถ้วนหน้าว่าเกษตรกร ถือเป็นฐานเสียงหลักของพรรคเพื่อไทยมาตั้งแต่ยุคไทยรักไทย เห็นได้จากนโยบายที่มุ่งไปที่ชาวรากหญ้าโดยเฉพาะ ไม่ว่าจะเป็นกองทุนหมู่บ้าน พักหนี้เกษตรกร และสำหรับการเลือกตั้งครั้งนี้ก็เช่นกัน ที่พรรคเพื่อไทยงัดโครงการใหม่มานำเสนอในชื่อ 'บัตรเครดิตชาวนา' เพื่อนำไปใช้สำหรับซื้อวัสดุอุปกรณ์ ปุ๋ย ยาฆ่าแมลง และเพื่อที่เกษตรกรจะได้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนปลอดดอกเบี้ย หรือดอกเบี้ยต่ำได้อีกทางหนึ่งด้วย

ซึ่งทันทีที่มีนโยบายนี้ออกมาก็ได้รับเสียงตอบรับอย่างล้นหลามจากกลุ่มเป้าหมายอย่าง สุภาพ อุดธิยา เกษตรกรผู้ปลูกข้าวจังหวัดน่าน กล่าวว่าหากได้ใช้บัตรเครดิตก็จะรู้สึกดีใจ เพราะปัจจุบันนี้ตนก็ยังต้องไปกู้ตามกองทุนหมู่บ้านหรือตามธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) อยู่ แต่ถ้าจำเป็นใช้เงินเร่งด่วนก็กู้นอกระบบ เพราะฉะนั้นหากมีบัตรนี้ก็ไม่ต้องไปแย่งกันกู้เงินตามที่ต่างๆ แถมข้อเสนอเรื่องไม่มีดอกเบี้ยด้วยก็จะช่วยทำให้ได้กำไรจากการทำการเกษตรเพิ่มสูงขึ้น

แต่ทว่าที่ผ่านมา นโยบายนี้กลับถูกสบประมาทอยู่ตลอดเวลาว่า น่าจะเป็นเรื่องเพ้อฝันมากกว่า โดย ผศ.ดร.เจษฎา มิ่งฉาย อาจารย์ประจำคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ ที่อธิบายว่า ปกติแล้วกลุ่มเกษตรกรนั้นเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง เนื่องจากไม่มีหลักประกันที่ชัดเจน เพราะฉะนั้นคงเป็นไปไม่ได้ที่ธนาคารพาณิชย์โดยปกติจะปล่อยกู้ในอัตราดอเบี้ยที่ต่ำ ทางที่เป็นได้ก็ต้องให้ ธ.ก.ส.เป็นผู้ดำเนินการ

“บัตรเครดิตกับกองทุนหมู่บ้านไม่ค่อยต่างกัน เพราะมันขึ้นอยู่กับวินัยการใช้เงินของเกษตรกร คนที่จะวิ่งหาบัตรตัวนี้คือกลุ่มคนที่ไม่มีวินัยในการใช้เงินมาก เพื่อเขาจะเอาแหล่งหนึ่งไปจ่ายอีกแหล่งหนึ่งหมุนเวียนกันไป เพราะฉะนั้น การมีบัตรเครดิตมันก็ไม่ได้ยืนยันแน่นอนว่าเมื่อมีบัตรแล้วไม่ไปกู้นอกระบบ”

ขณะที่ ประสิทธิ์ บุญเฉย นายกสมาคมชาวนาไทย ให้ความเห็นว่า สุดท้ายแล้วประโยชน์บัตรเครดิตคงจะให้ได้เฉพาะเรื่องวัสดุการเกษตรเท่านั้น เพราะการที่บอกว่าผู้ที่ใช้บัตรนี้ได้นั้น จะไม่ต้องเป็นหนี้ หรือไปกู้ยืมหมุนเวียน ก็ไม่มีหลักประกันใดๆ ที่บอกว่าหลังจากใช้ไปแล้ว เรื่องแบบนี้จะไม่เกิดขึ้นทีหลัง

“เกษตรกรอาจไปตกลงกับเจ้าของร้านบัตรเครดิตว่า เอาของมาเท่านี้ นอกนั้นเอามาเป็นตัวเงิน แล้วจะให้ทางร้านเป็นเปอร์เซ็นต์ นี่ก็เป็นปัญหาอีกอันหนึ่ง เพราะเราไม่มีวินัยทางการใช้เงินแต่เราอยากจะใช้เงิน ถ้าเกิดรูปการณ์อย่างนี้ขึ้นจะได้ผลกับเกษตรกรไหม เงินคล่องขึ้นแต่ดูจะเป็นหนี้เป็นสิน เกษตรกรบางคนนั้นมีความเข้าใจพร้อมทำตรงนี้หรือยัง เรากลัวว่ามันจะเป็นหนี้เพิ่มพอกพูนขึ้นคือใช้เงินเพลิน แล้วจะทำให้เป็นหนี้ต่อไป”

อย่างไรก็ตาม แม้เรื่องนี้ดูน่าจะทำได้ลำบาก แต่ทีมเศรษฐกิจของพรรคเพื่อไทยก็ยังคงยืนยันว่าทำได้ ซึ่งสุดท้ายจะเป็นไปตามที่คาดหวังหรือไม่นั้น ก็คงต้องติดตามกันต่อไป

4. แจกแท็บเล็ตให้เด็กนักเรียน

กลายเป็นนโยบายการศึกษาที่โดดเด้งโดนสุดๆ โดยเฉพาะวัยทีนที่อยู่ในโลกไอที เมื่อพรรคเพื่อไทยประกาศประกาศแนวคิด ‘One table PC per Child’ หรือการแจกแท็บเล็ต พีซี ให้แก่นักเรียนระดับชั้น ป.1

แน่นอน เมื่อออกตัวแรงมาขนาดนี้ แถมเห็นผลชัดๆ กว่าเรียนฟรี 15 ปีแบบเห็นๆ จึงไม่แปลกที่เด็กๆ จึงพากันยิ้มกริ่มรอรับของขวัญวันเปิดเทอมกันถ้วนหน้า อย่าง ด.ช.ปรัญชัย ประเสริฐปั้น นักเรียนชั้น ม. 2 โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยรามคำแหง ที่บอกว่า โครงการนี้น่าจะเป็นประโยชน์มาก เพราะช่วยทำให้การทำงานเป็นไปได้อย่างสะดวกรวดเร็ว เนื่องจากแท็บเล็ตสามารถใช้สืบค้นข้อมูลก็ได้ พัฒนาศักยภาพทางด้านเทคโนโลยีก็ได้ และยังทำให้เด็กๆ หันมาให้ความสนใจกับการเรียนมากขึ้นอีกด้วย

แต่อย่างว่า เมื่อมีมุมดีก็ต้องมีมุมไม่ดีตามมา เพราะของแบบนี้มันมี 2 คม อย่างความเห็นของ จรัญ เสนาวงศ์ อดีตผู้อำนวยการโรงเรียนเมืองสุวรรณภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด ที่สะท้อนความเป็นห่วงว่า เด็กบางคนอาจนำไปเล่นเกม หรือนำไปใช้ในทางที่ผิด ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ทางด้านการศึกษาเท่าที่ควร เพราะต้องยอมรับว่า เด็ก ป.1 นั้นถือว่า ยังเยาว์วัยเกินกว่าจะใช้ของพวกนี้ แถมบางคนก็ยังไม่มีศักยภาพพอที่จะอ่านออกเขียนได้ ดังนั้นโอกาสที่จะดูแลอุปกรณ์อิเล็กทรอกนิกส์ชิ้นนี้ให้อยู่รอดปลอดภัยก็ถือเป็นเรื่องลำบาก

เช่นเดียว รศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่มองว่า เรื่องวุฒิภาวะนั้นสำคัญที่สุด และหากรัฐบาลจะทำจริงก็น่าจะไตร่ตรองดูว่าควรจะเริ่มแจกให้แก่เด็กในช่วงชั้นไหนจึงจะเหมาะสม ไม่เพียงแค่นั้น เรื่องนี้ยังสัมพันธ์กับผู้ปกครอง และครูว่ามีความพร้อมและรับทราบเกี่ยวกับเทคโนโลยีตรงนี้แค่ไหน เพราะปัจจุบันยังไม่มีโครงการมารองรับเลยแม้แต่น้อย ฉะนั้นหากแจกไปเฉยๆ โดยที่ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรต่อ ก็เท่ากับสูญเปล่านั่นเอง

“การนำแท็บเล็ตมาใช้ในวงการศึกษาของบ้านเรา อาจจะยังไม่มีความเหมาะสมมากนัก หากพิจารณาจากหลายภาคส่วนที่ออกมาแสดงความเห็นถึงความเป็นไปได้ หากมีการนำมาใช้ แต่ตอนนี้ปัญหาที่ทางรัฐบาลควรเร่งดำเนินการแก้ไข เกี่ยวกับการศึกษา เห็นจะเป็นเรื่องการส่งเสริมให้เด็กไทยอ่านออกเขียนได้มากกว่า”

อย่างไรก็ดี ตอนนี้ก็ดูเหมือนว่าจะไม่มีใครฉุดแนวคิดนี้อยู่แล้ว เพราะว่าที่รัฐบาลได้ประกาศความพร้อมไว้เรียบร้อยว่า เด็ก ป.1 จำนวน 800,000 คนจะได้รับแท็บเล็ตเป็นของขวัญวันเปิดเทอมในเดือนพฤษภาคม 2555 นี้แน่นอน

5. ถมทะเลสร้างเขื่อนกันน้ำท่วม

แค่ได้ยินครั้งแรก หลายคนก็อาจจะรู้สึกตื่นตาตื่นใจกับนโยบายแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในเขตกรุงเทพมหานคร ไม่ว่าจะเป็นการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่และถมทะเลที่บริเวณปากอ่าวไทย ลงในทะเลกว่า 10 เมตร ยาว 30 เมตร และไกลจากฝั่ง 10 กิโลเมตร เป็นระยะทาง 30 กิโลเมตร ตั้งแต่จังหวัดสมุทรสาครเรื่อยมาจนถึงจังหวัดสมุทรปราการซึ่งจะเริ่มถมแนวชายฝั่งเขตบางขุนเทียน กรุงเทพมหานครเป็นที่แรก ทั้งนี้จะได้พื้นที่ใหม่กว่า 1.8 ล้านไร่

แต่เมื่อพิจารณาข้อเท็จจริงจาก รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยภัยธรรมชาติ มหาวิทยาลัยรังสิต กลับพบว่าการถมทะเลไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพฯ

“สาเหตุที่น้ำท่วมกรุงเทพฯ มีอยู่ 3 สาเหตุหลัก หนึ่งฝนตกหนักทำให้น้ำเหนือปริมาณมากล้นหลามที่ผ่านลงมาที่กรุงเทพฯ เฉลี่ยเป็น 80 เปอร์เซ็นต์ สาเหตุที่สองคือเกิดจากแผ่นดินทรุด ปีหนึ่งเราก็จะทรุด 2-3 เซนติเมตรต่อปี และสุดท้ายเรื่องของระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น ซึ่งมันสูงประมาณ 3 มิลลิเมตรต่อปี ตรงนี้คือประเด็นระยะยาว เพราะฉะนั้นการถมทะเลกับการป้องกันน้ำท่วมมันไม่ได้เกี่ยวข้องกันเลย อย่างน้ำเหนือมาก็ไม่เห็นจะช่วยอะไรได้ มันไม่มีประโยชน์ ในทางหลักการแล้วมันควรจะต้องหาที่ให้น้ำอยู่ ไม่ใช่ไปถมแย่งที่น้ำ อีกอย่างการป้องกันน้ำท่วมไม่จำเป็นต้องถมทะเล คือทำแค่คันดินก็พอ”

ที่สำคัญ พื้นที่ตรงนี้ยังถือเป็นป่าชายเลนที่สมบูรณ์หนึ่งเดียวที่เหลืออยู่ในกรุงเทพฯ เป็นอาหารของคนกรุงเทพฯ และภาคกลาง เพราะฉะนั้น ถ้าถมทะเลเมื่อไหร่ ป่าชายเลนตายทันที และจะสร้างผลกระทบอย่างใหญ่หลวงให้แก่คนที่ประกอบอาชีพบริเวณตรงนั้นอย่างแน่นอน

“ถ้าถมออกไปถึง 10 กิโลเมตร ชาวบ้านก็เดือดร้อนนะ เขาเลี้ยงหอยในทะเลกันทั้งนั้น จะหาหอยกันตามชายฝั่งก็ไม่ได้แล้ว คอกหอยแครง ก่ำหอยแมลงภู่ (ไม้ปักใช้เลี้ยงหอย) ก็จะมีผลกระทบมาก ยิ่งถมความยาวขนาดนี้มันก็ลงน้ำลึกไปแล้ว จะให้ไปทำมาหากินตรงนั้นมันก็ไม่ได้” สอน พึ่งสาย ประธานชุมชนแสนตอ เขตบางขุนเทียน ในฐานะผู้ประกอบอาชีพเพาะหอยแครงหอยแมลงภู่บริเวณชายฝั่งให้ความเห็น

เพราะฉะนั้น หากให้ตั้งข้อสังเกต รศ.ดร.เสรีก็เชื่อว่า วัตถุประสงค์ของการถมทะเลนี้ คงไม่ใช่เรื่องที่พรรคเพื่อไทยหาเสียงเอาไว้ แต่จะเป็นการนำพื้นที่ไปใช้ประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจมากกว่า

อย่างไรก็ตาม นโยบายตรงนี้ก็ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ หรือจะทำอย่างไร มีเพียงแต่การวางแผนไว้คร่าวๆ ว่าจะใช้เงินจากงบประมาณและงบผูกพันเพียงเท่านั้น
>>>>>>>>>>
……….
เรื่อง : ทีมข่าว CLICK
ภาพ : ทีมภาพ CLICK



กำลังโหลดความคิดเห็น