ก่อนที่ท่านจะอ่านบทความนี้ โปรดสังเกตสีหน้าของหนูน้อยชาวซิมบับเวผู้นี้ครับ รูปนี้เพิ่งถ่ายเมื่อประมาณ 3 ปีมานี้เอง สาธารณรัฐซิมบับเว ที่ตั้งอยู่ทางตอนใต้ทวีปแอฟริกา มีประชากร 11 ล้านคน มีแพลทินัมหรือทองคำขาวมากเป็นอันดับสองของโลกแต่ประชาชนยากจน
ในอ้อมแขนของหนูน้อยเต็มไปด้วยธนบัตรจำนวนมากมายจนนับไม่ได้ แต่แทบไม่มีค่าอะไรเลย จากเว็บไซต์เดียวกันระบุว่า เงินจำนวน 1 แสนล้านดอลลาร์ มีค่าเท่ากับไข่ไก่แค่ 3 ฟองเท่านั้น ภาพถัดมาเป็นโปสเตอร์ในห้องสุขา ที่บอกว่า "ให้ใช้กระดาษชำระเท่านั้น ห้ามใช้กระดาษลัง ผ้า เงินดอลลาร์ซิมบับเว ห้ามใช้กระดาษหนังสือพิมพ์”
ทำไมผมจึงยกเรื่องค่าเงินหรือเงินเฟ้ออย่างรุนแรง (hyperinflation) ในสาธารณรัฐซิมบับเวขึ้นมาก่อน? คำตอบเพราะผมมีประสบการณ์ตรงกับบ้านเราครับ
ผมรับเงินเดือนครั้งแรก 1,340 บาท ด้วยวุฒิปริญญาตรีตำแหน่งอาจารย์ระดับ 3 เมื่อปี 2516 ด้วยความรู้สึกเท่ห์และภูมิใจนิดๆ ไม่เคยคิดเสียด้วยซ้ำว่าเงินเดือนในขณะนั้นน้อยเกินไปเลย ตอนนั้นเงินจำนวนนี้ถ้านำไปซื้อทองคำจะได้ประมาณ 3 บาท ถ้าซื้อน้ำมันจะได้ประมาณ 700 ลิตร
ไม่กี่เดือนต่อมา พ่อผมสั่งมาทางจดหมายว่า “ต้องส่งให้น้องเดือนละ 300 บาทนะ” เงินจำนวนนี้เพียงพอสำหรับค่าใช้จ่ายนอกบ้านของคนเรียนมหาวิทยาลัยในขณะนั้น
ย้อนไปอีกนิดครับ ถ้าลุงผมยังมีชีวิตอยู่ ปัจจุบันท่านจะมีอายุ 105 ปี ท่านเล่าว่าเงินเดือนขั้นต้นสำหรับผู้จบวุฒิอนุปริญญาตรีได้เงินเดือนเพียง 40 บาทเท่านั้น (ประมาณปี 2470)
ปัจจุบันนี้เงินเดือนระดับปริญญาตรีประมาณเกือบ 8 พันบาท (ประมาณ 6 เท่าของที่ผมได้รับเมื่อ 38 ปีก่อน) แต่ถ้านำไปซื้อทองคำจะได้ไม่ถึงสองสลึง ซื้อน้ำมันได้ประมาณ 200 ลิตร
ในอนาคตอันใกล้นี้ รัฐบาลใหม่ได้สัญญาในช่วงหาเสียงเลือกตั้งทั่วไปว่าจะเพิ่มเงินเดือนคนจบปริญญาตรีเป็น 15,000 บาท และค่าแรงขั้นต่ำจะเพิ่มเป็น 300 บาทต่อวัน โดยไม่ได้บอกรายละเอียดว่าจะเอาเงินมาจากไหน และโดยไม่ได้บอกค่าแรงเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคนี้หรือในกลุ่มอาเซียนด้วยกัน
มาถึงวันนี้ เมื่อพรรคเพื่อไทยผู้ให้สัญญาก็ชนะการเลือกตั้ง ผู้ประกอบการ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ กลุ่มผู้ประกอบการขนาดเล็กและขนาดกลางก็เริ่มออกมาแสดงความไม่เห็นด้วย
ผมนึกถึงอดีตผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครท่านหนึ่งเคยหาเสียง “แบบตื้นๆ และซื่อๆ” ว่า “จะแก้ปัญหารถติดด้วยการให้ตำรวจจราจรเปิดสัญญาณไฟเขียวตลอด”
ปรากฏว่าสังคมไทยในขณะนั้นรู้สึกขบขัน ไม่มีคำตำหนิใดๆ กับคำหาเสียงดังกล่าว อาจเป็นเพราะสังคมไทย “เข้าใจ” ผู้สมัครท่านนั้นดีแล้วก็เป็นได้
แต่พอมาถึงการหาเสียงครั้งนี้ ผมไม่เชื่อว่าผู้หาเสียงเป็น “แบบซื่อๆ” เหมือนคราวเลือกผู้ว่าฯ กทม. แต่น่าจะเป็น “แบบตื้นๆ ลวกๆ หรือหลอกลวง” ตามประสานักการเมืองมากกว่า
ขณะเดียวกัน สังคมเราก็ไม่ได้ตั้งคำถามหรือไม่ได้มีการถกเถียงแลกเปลี่ยนกันด้วยเหตุด้วยผลซึ่งเป็นองค์ประกอบที่สำคัญมากของกระบวนการประชาธิปไตย (ตามนิยามของ อมาตยา เสน ผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์)
จากประสบการณ์ของผม รายได้เพียงอย่างเดียวไม่ใช่ดัชนีชี้วัดความสุขหรือคุณภาพชีวิต แต่ขึ้นอยู่กับอีกหลายปัจจัย ถ้าคิดกันแบบตื้นๆ ก็ขึ้นอยู่กับรายจ่ายหรือค่าของเงินเฟ้อ ถ้าข้าวของแพง รายได้มากก็ไม่มีความหมาย
นอกจากนี้ ยังขึ้นอยู่กับความเหลื่อมล้ำของคนในสังคมด้วย จากข้อมูลทั่วโลกพบว่า กลุ่มประเทศสแกนดิเนเวียมีความเหลื่อมล้ำระหว่างคนรวยที่สุด (20% บนสุด) กับคนจนที่สุด (20%ล่างสุด) ต่างกันเพียง 3-4 เท่าตัว แต่ของประเทศไทยเรากลับมีความเหลื่อมล้ำมากที่สุดในเอเชียคือ 13-15 เท่าตัว
ถ้าคิดกันแบบลึกๆ เนียนๆ อย่างประเทศภูฏาน ดัชนีความสุขวัดมาจาก 9 ปัจจัยสำคัญ และปัจจัยที่สำคัญที่สุดคือ การใช้เวลา ความมีธรรมาภิบาลของรัฐ เป็นต้น
ผมยังมีข้อมูลอีก 2 ชิ้นที่จะกล่าวถึงในที่นี้ครับ
ชิ้นแรกเป็นการเปรียบเทียบเป็นค่าแรงงานระดับปฏิบัติการในประเทศต่างๆ ในกลุ่มอาเซียน เป็นข้อมูลที่กลุ่มเพื่อนกลุ่มหนึ่งของผมนำมาแลกเปลี่ยนกัน ข่าวบอกว่ามาจาการสัมมนาแห่งหนึ่งของญี่ปุ่นเมื่อเร็วๆ นี้ ดังนี้ (ตัวเลขเป็นบาทต่อเดือน และน่าจะหมายถึงค่าแรงของโรงงานญี่ปุ่น)
จากข้อมูลในตารางดังกล่าว หากมีการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทจริง (จากเดิมประมาณ 200 บาท) นอกจากผู้ประกอบการจะมีปัญหาแล้ว จะมีปัญหาแรงงานต่างด้าวและปัญหาสังคม ปัญหาสิ่งแวดล้อมตามมาอีกมากมาย รวมทั้งปัญหาเงินเฟ้อ
ดูค่าแรงของชาวพม่าในประเทศของเขาสิครับ!
จากวงสัมมนาดังกล่าว เมื่อพิจารณาถึงค่าแรงงาน มาตรฐานแรงงาน สภาพโครงสร้างพื้นฐานและการบังคับใช้กฎหมาย นักอุตสาหกรรมของญี่ปุ่นได้แนะนำให้ไปลงทุนใน 3 ประเทศดาวเด่น คือ เวียดนาม อินโดนีเซีย และกัมพูชา (ไม่ยักไปพม่า!) ปรากฏว่า บริษัทอายิโนะโมะโต๊ะได้ตัดสินใจลงทุนในกัมพูชาเมื่อเร็วๆ นี้ ทางบริษัทแคนนอนได้ลงทุนในเวียดนาม (ฮานอย)
ข้อมูลชิ้นที่สองที่อยากนำมาเสนอในที่นี้คือ อะไรทำให้เกิดเงินเฟ้ออย่างรุนแรงในประเทศซิมบับเว (ช่วงปี 2547 ถึง 2552 ที่สูงถึง 1,730% ในปี 2549) ที่ผมเกริ่นไว้ตั้งแต่ต้น ทั้งๆ ที่เมื่อปี 1980 เงินดอลลาร์ซิมบับเวมีค่ามากกว่าเงินดอลลาร์สหรัฐถึง 25% ปัจจุบัน $ 1 USD เท่ากับ 376 ซิมบับเวดอลลาร์
วิกิพีเดียได้สรุปสาเหตุสำหรับประเทศนี้ไว้ว่ามาจาก 3 สาเหตุ หนึ่งในนั้นคือความไม่มีวินัยทางการเงินการคลังของรัฐบาล ทั้งการส่งทหารไปรบในประเทศคองโก ต้องขึ้นเงินเดือนสูงๆ ให้กับทหารที่ไปรบและข้าราชการ รวมทั้งการคอร์รัปชันและการพิมพ์ธนบัตรออกมาใช้ด้วย
กลับมาที่รัฐบาลใหม่ของเราครับ นอกจากการประกาศนโยบายจะขึ้นเงินเดือนอย่างมโหฬารแล้ว ยังมีโครงการจะถมทะเล ชลประทานระบบท่อ แจกคอมพิวเตอร์ให้นักเรียน ฯลฯ ซึ่งจัดเป็นสาเหตุเดียวกับที่ทำให้ประเทศซิมบับเวได้ประสบมาแล้ว
แต่คราวนี้สังคมไทยคงจะไม่แค่ขบขันเหมือนกรณี “เปิดสัญญาณไฟเขียวตลอดเพื่อแก้ปัญหารถติด” อีกแล้วนะครับ เพราะนี่คือของจริงไม่ใช่แค่การหาเสียง