xs
xsm
sm
md
lg

"ปู"พลิ้ว300-15000 อัดไม่เทิดทูนสถาบันฯ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน-"ยิ่งลักษณ์"ร่ายยาวนโยบาย 44 หน้า เร่งรัด 2 ส่วน เร่งด่วน 1 ปีระยะยาว 4 ปี ลั่นขอสร้างความปรอดองสามัคคี เน้นพัฒนาเศรษฐกิจยั่งยืน ทำนโยบายที่หาเสียงไว้ให้เป็นจริง "มาร์ค"ชำแหละแค่นโยบายแก้บน ยังไม่ทันบริหาร ความสุขประชาชนหดหาย เริ่มบิดพลิ้ว ลืมคำสัญญา ทั้งค่าแรง 300 บาท เงินเดือนปริญญาตรี 15,000 บาท "เหลิม" แก้ตัวไม่เคยสัญญาตอนหาเสียง อ้างผิดกฎหมาย เด็กภท. จวกไม่ให้ความสำคัญกับนโยบายเทิดทูนสถาบันฯ

เมื่อเวลา 09.00 น. วานนี้ (23 ส.ค.) ที่รัฐสภา คณะรัฐมนตรี (ครม.) นำโดยน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้แถลงนโยบายต่อที่ประชุมรัฐสภา และชี้แจงการดำเนินการตามแนวนโยบายแห่งรัฐตามรัฐธรรมนูญมาตรา 176

ทั้งนี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้อ่านเอกสารแถลงนโยบายทั้งหมด 44 หน้า ซึ่งมีใจความโดยสรุปว่า จากสถานการณ์และสภาวะแวดล้อมของเศรษฐกิจโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญได้ส่งผลให้ประเทศไทยอยู่ในช่วงการเปลี่ยนผ่านเชิงโครงสร้างที่สำคัญ 3 ประการ คือ

1.การเปลี่ยนผ่านเศรษฐกิจ ที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยมีความเสี่ยงสูงไม่สามารถก้าวพ้นวิกฤตได้อย่างยั่งยืน เศรษฐกิจโลกมีความไม่แน่นอนสูง อยู่ในกระบวนการเปลี่ยนผ่านขั้วอำนาจทางเศรษฐกิจและการเมืองไปสู่ศูนย์กลางใหม่ทางทวีปเอเซียในระยะยาว
2.การเปลี่ยนผ่านทางด้านการเมือง ความขัดแย้ง ทางการเมืองในช่วงที่ผ่านมา แม้จะมีผลต่อความเชื่อมมั่นทางเศรษฐกิจในระยะสั้น แต่เนื่องจากการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ผ่านมาผูกโยงกับภาวะเศรษฐกิจโลก อย่างไรก็ดี ความขัดแย้งดังกล่าวมีผลกระทบต่อการวางพื้นฐานเพื่ออนาคตในระยะยาว และทำให้สูญเสียโอกาสในการเดินหน้าเพื่อพัฒนาประเทศในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้เพียง 3.6% ซึ่งต่ำกว่าที่ควรจะเป็น
3.การเปลี่ยนผ่านเชิงโครงสร้างประชากรและสังคมไทย โครงสร้างดังกล่าวของไทยกำลังเปลี่ยนไปสู่สังคมผู้สูงอายุ ซึ่งจะมีผลต่อปริมาณและคุณภาพของคนไทยในอนาคต

"นโยบายการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาล จะยึดหลักการบริหารที่มีความยืดหยุ่นที่คำนึงถึงพลวัตรการเปลี่ยนแปลงของปัจจัยภายนอกที่มีผลกระทบต่อการดำเนินนโยบายของรัฐบาล นโยบายของรัฐบาลมีจุดมุ่งหมาย 3 ประการ คือ ประการที่หนึ่ง เพื่อนำประเทศไทยไปสู่โครงสร้างเศรษฐกิจที่สมดุล มีความเข้มแข็งของเศรษฐกิจภายในประเทศมากขึ้น ประการที่สอง เพื่อนำประเทศไทยไปสู่สังคมที่มีความปรองดองสมานฉันท์ และอยู่บนพื้นฐานของหลักนิติธรรมที่เป็นมาตรฐานสากลเดียวกัน และมีหลักปฏิบัติที่เท่าเทียมกันต่อประชาชนคนไทยทุกคน ประการที่สาม เพื่อนำประเทศไทยไปสู่การเป็นประชาคมอาเซียนในปี 2558 อย่างสมบูรณ์ โดยสร้างความพร้อมและความเข้มแข็งทั้งด้านเศรษฐกิจสังคมและวัฒนธรรมและการเมืองและความมั่นคง"

น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวว่า สำหรับนโยบายเร่งด่วนที่จะเริ่มดำเนินการในปีแรก และนโยบายตลอดระยะการบริหารราชการ 4 ปี ของรัฐบาลนั้น เนื้อหาส่วนใหญ่เป็นการนำนโยบายหาเสียงของพรรคเพื่อไทย มาไว้ในคำแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรี

ทั้งนี้ นโยบายระยะเร่งด่วนที่จะเริ่มดำเนินการในปีแรกมี 16 ด้าน แบ่งเป็น

1.สร้างความปรองดองสมานฉันท์ของคนในชาติ และฟื้นฟูประชาธิปไตย เสริมสร้างความเข้าใจร่วมกันของประชาชนในชาติให้เกิดความสมัครสมานสามัคคีเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และยึดมั่นในการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เยียวยาและฟื้นฟูอย่างต่อเนื่องแก่บุคคลทุกแก่บุคคลทุกฝ่าย เช่น ประชาชน เจ้าหน้าที่รัฐและผู้ประกอบการภาคเอกชน ซึ่งได้รับผลกระทบอันเนื่องมาจากความขัดแย้งทางความคิด ทางการเมืองและความรุนแรงที่ก่อตัวขึ้นตั้งแต่ช่วงปลายของการใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 สนับ สนุนให้คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อแนวทางปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ดำเนินการอย่างอิสระ และได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่ายอย่างเต็มที่ในการตรวจสอบหาความจริงกรณีความรุนแรงทางการเมือง การละเมิดสิทธิมนุษยชน การสูญเสียชีวิต บาดเจ็บทางร่างกายและจิตใจ ความเสียหายทางทรัพย์สิน

2.กำหนดให้การแก้ไขและป้องกันปัญหายาเสพติด เป็นวาระแห่งชาติ
3.ป้องกันและปราบปรามการทุจริต คอร์รัปชันในภาครัฐอย่างจริงจัง
4.เร่งแก้ไขปัญหาความไม่สงบและนำสันติสุขกลับสู่จังหวัดชายแดนภาคใต้โดยเร็ว
5.เร่งฟื้นฟูความสัมพันธ์และพัฒนาความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านและนานาประเทศ
6.แก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนและผู้ประกอบการเนื่องจากภาวะเงินเฟ้อและราคาน้ำมันเชื้อเพลิง
7.ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน พักหนี้ครัวเรือนของเกษตรกรรายย่อย และผู้มีรายได้น้อยที่มีหนี้ต่ำกว่า 5 แสนบาท อย่างน้อย 3 ปี และปรับโครงสร้างหนี้สำหรับผู้ที่มีหนี้เกิน 5 แสนบาท เพิ่มรายได้รายวันสำหรับแรงงานเป็นวันละ 300 บาท และรายเดือนของผู้ที่จบการศึกษาระดับปริญญาตรีเป็น 15,000 บาท
8.ปรับลดภาษีเงินได้นิติบุคคลให้เหลือร้อยละ 23 ในปี 2555 และลดลงร้อยละ 20 ในปี 2556 เพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขันของภาคเอกชน ขยายฐานภาษีและรองรับเข้าสู่การเป็นประชาคาอาเซียนในปี 2558
9.ส่งเสริมให้ประชาชนเข้าถึงแหล่งเงินทุนสนับสนุนสินเชื่อรายย่อย เพิ่มกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง 1 ล้านบาท จัดตั้งกองทุนพัฒนาศักยภาพสตรีเฉลี่ยจังหวัดละ 100 ล้านบาท จัดตั้งกองทุนตั้งตัวได้วงเงินประมาณ 1 พันล้านต่อสถาบันอุดมศึกษา ที่ร่วมโครงการสนับสนุนการสร้างผู้ประกอบการรายย่อย
10.ยกระดับสินค้าการเกษตรและให้เกษตรกรเข้าถึงแหล่งเงินทุน โดยให้มีการประกันภัยพืชผล และนำระบบรับจำนำสินค้าการเกษตรมาใช้ รวมถึงการออกบัตรเครดิตสำหรับเกษตรกร
11.ส่งเสริมให้มีการจัดการน้ำอย่างบูรณาการ ด้วยการสร้างระบบชลประทานขนาดใหญ่ กลาง เล็ก
12.เร่งเพิ่มรายได้จากการท่องเที่ยวโดยได้ปี 2554-2555 เป็นปีมหัศจรรย์ไทยแลนด์ (มิราเคิลไทยแลนด์ เยียร์) และประชาสัมพันธ์ให้นักท่องเที่ยวร่วมเฉลิมฉลองในพระราชพิธีมหามงคลในช่วงปี 2554-2555
13.สนับสนุนงานศิลปหัตถกรรมเพื่อสร้างเอกลักษณ์และผลิตสินค้าในท้องถิ่น
14.พัฒนาระบบประกันสุขภาพ 30 บาทรักษาทุกโรค
15.จัดหาเครื่องคอมพิวเตอร์แทปเล็ตให้โรงเรียน โดยเริ่มทดลองดำเนินการในโรงเรียนนำร่องสำหรับระดับประถมศึกษาปีที่ 1 ปีการศึกษา 2555 ควบคู่กับการพัฒนาเนื้อหาที่เหมาะสมตามหลักสูตรบรรจุลงในแทปเล็ต รวมถึงทำอินเตอร์เน็ตไร้สายในระดับการให้บริหารและในพื้นที่สาธารณะ รวมถึงสถานศึกษาที่กำหนดฟรี

16.เร่งรัดและผลักดันการปฏิรูปการเมือง ที่ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างกว้างขว้าง โดยมีสภาร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยให้ประชาชนเห็นชอบโดยการออกเสียงประชามติ
จากนั้น น.ส.ยิ่งลักษณ์ได้กล่าวถึงนโยบายตลอดระยะการบริหารราชการ 4 ปีของรัฐบาล ว่า จะผลักดันโครงสร้างพื้นฐาน การพัฒนาระบบรางเพื่อขนส่งมวลชนและการบริหารจัดการขนส่งสินค้าและบริการ ด้วยการศึกษาและพัฒนารถไฟความเร็วสูงสายกรุงเทพ-เชียงใหม่ กรุงเทพ-นครราชสีมา กรุงเทพ-หัวหิน และเส้นทางอื่นเพื่อเตรียมการเชื่อมต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน ศึกษาและพัฒนาขยายทางรถไฟสายแอร์พอร์ตเรลลิงค์ ต่อจากท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ไปยังชลบุรี และพัทยา เร่งรัดโครงการรถไฟฟ้า10 สายในกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล ให้สามารถเริ่มก่อสร้างได้ครบใน 4 ปี โดยเก็บค่าบริการ 20 บาทตลอดสายทั้งระบบรวมทั้งเร่งพัฒนาระบบตั๋วร่วมบัตรเดียว และพัฒนาที่อยู่อาศัยให้ผู้มีรายได้น้อยให้มีโอกาสได้ที่อยู่อาศัยในราคา และค่าเช่าถูกตามบริเวณใกล้สถานีรถไฟฟ้า

นอกจากนี้ จะพัฒนาการขนส่งทางน้ำและกิจการพาณิชยนาวีขนส่งเดินเรือชายฝั่งทะเลทั้งฝั่งด้านทะเลอันดามัน และฝั่งด้านทะเลออ่าวไทย โดยพัฒนาท่าเรือน้ำลึกและสะพานเศรษฐกิจเชื่อมสองฝั่งทะเลภาคใต้ พัฒนาท่าอากาศยานสากล ท่าอากาศยานภูมิภาคและอุตสาหกรรมการบินของไทย รวมทั้งเพิ่มความสามารถท่าอากาศยานสุวรรณภูมิให้รองรับผู้โดยสารจากปีละ 45 ล้านคน เป็นปีละ 65 ล้านคนขึ้นไป เพื่อให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการบิน สร้างภูมิคุ้มกันและเตรียมความพร้อมในการรองรับและปรับตัวต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของของสภาพภูมิอากาศ และภัยพิบัติธรรมชาติ ดำเนินการศึกษาอย่างรอบคอบในเรื่องของความจำเป็นของโครงการพัฒนาเขื่อน และเกาะเพื่อป้องกรุงเทพฯ และภาคกลางให้ปลอดภัยจากการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล และจากการละลายของน้ำแข็งขั้วโลก ตามสภาวะโลกร้อนที่กำลังเกิดขึ้น

"รัฐบาลขอให้ความเชื่อมั่นต่อรัฐสภาว่า รัฐบาลจะบริหารราชการแผ่นดินด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต และมีประสิทธิภาพ มุ่งมั่นที่จะให้ประเทศมีความเจริญรุ่งเรืองมีความสามัคคี ปรองดอง และมีความยุติธรรม รัฐบาลมุ่งมั่นที่จะทำให้ประเทศไทยสามารถแข่งขันได้อย่างมีศักดิ์ศรีในเวทีโลก พร้อมทั้งนำความสุขกลับคืนมาให้พี่น้องประชาชนคนไทยทุกคน" น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าว

** "มาร์ค"สับหาเสียงไว้แต่ทำไม่ได้
 

หลังจากน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวรายงานจบ โดยใช้เวลาร่วม 3ชั่วโมง ก็เดินออกจากห้องประชุมไปทันที จากนั้นนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ได้อภิปรายเป็นคนแรก ในฐานะตัวแทนของฝ่ายค้านว่า รัฐบาลชุดนี้ได้รับความไว้วางใจจากประชาชนในช่วงที่ประเทศชาติเพิ่งผ่านพ้นกับวิกฤตเศรษฐกิจรุนแรง แต่ต้องมาเผชิญกับปัญหาปากท้องและของแพง ประเด็นนี้เป็นที่คาใจประชาชนมากที่สุด แกนนำรัฐบาลให้คำมั่นสัญญาว่า จะแก้ไขได้เร็วและโดยทันที นับตั้งแต่วันเลือกตั้งเป็นต้นมา ประชาชนมีความรู้สึกหวั่นไหวการแก้ไขปัญหาจะทำจริงหรือไม่ สะท้อนได้จากดัชนีความสุขของประชาชนหลังการเลือกตั้งลดน้อยลง โดยเฉพาะนโยบายเพิ่มรายได้ และการลดค่าครองชีพของประชาชน พรรคเพื่อไทยประกาศนโยบายตอนหาเสียงชัดเจนมาก แต่หลังเลือกตั้งกลับกลายเป็นความคลุมเครือ รัฐมนตรีบางคนพูดว่า ค่าแรง 300บาท เป็นการพูดเพื่อการหาเสียง ถึงเวลาที่พรรคเพื่อไทยต้องทำความชัดเจนให้ประชาชนไม่หวั่นไหว มิเช่นนั้นการสร้างความสุขเกิดขึ้นไม่ได้

**บิดพลิ้วเรื่องค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท
 

ส่วนนโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทนั้น ตนไม่เห็นด้วยกับการกำหนดเป็นตัวเลขตายตัว เพราะอัตราค่าแรงแต่ละพื้นที่ไม่เท่ากัน แต่ที่สำคัญ คือ การสร้างความสับสนในนโยบาย เพราะการหาเสียงในหลายโอกาส นายกฯ บอกว่า จะดำเนินการทันที แต่ในทีมเศรษฐกิจท่านอื่นๆ ไม่พูดว่าจะดำเนินการทันที และเท่าเทียมกันทั่วประเทศ และในนโยบายของรัฐบาลไม่พูดถึงค่าจ้างขั้นต่ำ แต่เป็นรายได้วันละ 300 บาท ที่สอดคล้องกับผลิตภาพและประสิทธิภาพของบุคคลากร ซึ่งอยากทราบว่าค่าจ้างขั้นต่ำทั่วประเทศ และเริ่มวันที่ 1 ม.ค.2555 ใช่หรือไม่ เพราะค่าจ้างขั้นต่ำตามหลัก คือ ค่าจ้างที่แรงงานได้เมื่อเข้ามาทำงานไม่ว่าจะเป็นแบบมีฝีมือ หรือไร้ฝีมือ จึงอยากขอความชัดเจนจากรัฐบาลในเรื่องนี้ และที่สำคัญจะทำให้แรงงานต่างด้าวหลั่งไหลเข้ามาในประเทศมากขึ้น เพราะอัตราค่าแรงสูงมาก ดูผลกระทบต่อขีดความสามารถในการส่งออก เพราะเป็นตัวสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจไทยมีความสามารถในการจ้างงานต่อเนื่อง ถ้าเพิ่มแต่ค่าจ้างและไม่ลดต้นทุนในการผลิตให้กับภาคอุตสาหกรรมจะมีปัญหาผลกระทบตามมา

** ไม่เชื่อจบป.ตรีจะได้ 1.5 หมื่น
 

ส่วนนโยบายเงินเดือนปริญญาตรี 1.5 หมื่นบาท อยากรู้ว่า รัฐบาลจะใช้กลไกอะไรไปบังคับภาคเอกชน เพราะไม่เหมือนกับภาคราชการที่รัฐบาลเป็นผู้กำหนดเงินเดือนเอง ประเด็นนี้รัฐบาลต้องมีคำตอบให้กับกลุ่มอื่นๆ ด้วย เช่น คนที่จบปริญญาตรีก่อนหน้านี้ แต่ไม่ถึง 1.5 หมื่นบาท หรือเกินมานิดหน่อย ถ้าให้เฉพาะคนจบใหม่จะทำให้โครงสร้างเงินเดือนมีความเป็นธรรมหรือไม่ หรือถ้าทำในภาคส่วนราชการต้องใช้เงินกว่า 1 แสนล้านบาท เชื่อว่ารัฐบาลไม่น่าจะทำ นอกจากนี้ คนที่ได้รับผลกระทบ คือ บุคคลที่จบการศึกษาสายวิชาชีพ รัฐบาลจะไม่ปรับให้ใช่หรือไม่

**นโยบายพลังงานแกว่งไปแกว่งมา
 

นายอภิสิทธิ์ยังกล่าวถึงการยกเลิกกองทุนน้ำมันทันที เพื่อให้ราคาน้ำมันลดลง ว่า หลังการเลือกตั้งก็เปลี่ยนแปลงไป เพราะเปลี่ยนใช้คำว่าชะลอการเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับน้ำมันเชื้อเพลิงบางประเภทชั่วคราว เพื่อให้ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงลดลงทันที สรุปแล้วการชะลอดังกล่าว พร้อมกับการปรับโครงสร้างราคาพลังงานทั้งระบบให้มุ่งสู่การสะท้อนราคาต้นทุนพลังงานจะทำอย่างไร เพื่อไม่ให้กองทุนน้ำมันเป็นหนี้เพิ่มมากขึ้น เพราะจะเอาเงินตัวไหนมาใช้หนี้กองทุน และส่งผลให้แก็สโซฮอล และไบโอดีเซล แข่งขันไม่ได้ทั้งที่เคยพยายามส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนมาตลอด และจะกระทบไปถึงเกษตรกรที่ผลิตพลังงานเหล่านี้

"รัฐบาลกล้าฟันธงอยู่เรื่องเดียว คือ ปรับลดภาษีให้นักธุรกิจ พวกนายทุนที่จะปรับลด จะให้เหลือ 23% ในปี 2555 และให้เหลือ 20% ในปี 2556 ทำไมกับนายทุนพูดชัดเจนได้ แต่ทำไมผู้ใช้แรงงานจะฟันธงไม่ได้ว่าจะขึ้นเงินเดือนเท่าไร"นายอภิสิทธิ์ กล่าว

** แจกแท็บเล็ตฝนตกไม่ทั่วฟ้า
 

นายอภิสิทธิ์ยังกล่าวถึงความสับสน และไม่ชัดเจนจากนโยบายแจกแท็บเล็ตเพื่อการศึกษา ว่า ตอนหาเสียงบอกว่าเด็กได้ทุกคน แต่พอมาแปลงเป็นนโยบายที่แถลงต่อรัฐสภา ใช้คำว่าทดลองดำเนินการในโรงเรียนนำร่อง สำหรับระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 สรุปว่าจะดำเนินการอย่างไร เราหวังว่าจะได้เห็นการเมืองที่ใจกว้าง อะไรที่ดำเนินการสานต่อและเป็นประโยชน์ก็ควรทำต่อไม่ใช่ยกเลิกทั้งหมด เช่น ในสมัยรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ ยังเดินหน้านโยบายรัฐบาลชุดเก่า เช่น กองทุนหมู่บ้านหรือโครงการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ อะไรที่เป็นประโยชน์ ก็ควรดำเนินการต่อเนื่อง และนโยบายที่เสียดายมากที่สุด คือ การยกเลิกการประกันรายได้ให้กับเกษตรกร เนื่องจากนโยบายการจำนำที่ผ่านมาไม่เคยทั่วถึง อย่างมากที่สุดก็แค่ 1 ใน 4 เพราะรัฐบาลไม่มีทรัพยากรมากพอที่จะมาไล่จำนำผลผลิตการเกษตรในราคาสูงกว่าตลาด จึงอยากถามว่า มีหลักประกันอะไรที่ระบบจำนำจะทำให้ประชาชนได้ประโยชน์อย่างทั่วถึง

** แก้รัฐธรรมนูญหวังนิรโทษ"แม้ว"
 

นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่รัฐบาลกำหนดให้เป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องทำภายใน 1 ปี ทั้งที่ไม่มีผลการศึกษาให้ต้องแก้ไขเป็นเรื่องเร่งด่วน จะมีอยู่จุดประสงค์เดียวของการแก้ไขรัฐธรรมนูญ คือ หวังผลการนิรโทษกรรม ดังนั้น อยากให้ดูบทเรียนเมื่อปี 2551 ด้วยที่นำมาสู่ความขัดแย้งในเวลาต่อมา ขณะเดียวกัน มีบางคนที่มีคดีเกี่ยวข้องกับอดีตนายกฯ บางท่าน เช่น คดีหลักทรัพย์ และคดีให้การเท็จ ซึ่งเราคาดหวังว่ารัฐบาลจะยอมรับการตรวจสอบ และไม่ทราบว่ามาตรฐานของรัฐบาลนี้จะเป็นมาตรฐานเหมือนกับรมว.ต่างประเทศหรือไม่ เพราะพวกตนเอาสิ่งที่รัฐบาลญี่ปุ่นมาพูด ก็ไปฟ้องร้อง เรื่องนี้ไปว่ากันที่ศาล ถ้าจะใช้มาตรฐานแบบนี้รัฐบาลชุดที่แล้วคงฟ้องกลับเป็นร้อยคดี

**"เหลิม"อ้างไม่เคยสัญญาตอนหาเสียง
 

ต่อมา ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี กล่าวตอบโต้ว่า มีบางส่วนที่นายอภิสิทธิ์ เข้าใจผิดและเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องชี้แจง โดยขอปฏิเสธว่า ไม่เคยไปให้สัญญาอะไรตอนหาเสียง เพราะจะผิดกฎหมายเลือกตั้ง มีแต่บอกว่า นโยบายเพื่อไทย คือ "ทักษิณคิด เพื่อไทยทำ" เท่านั้น จากนั้นสมาชิกต่างทยอยอภิปรายแสดงความเห็นทั้งฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายค้าน และส.ว. โดยมีทั้งกล่าวสนับสนุน และคัดค้าน

**เด็กภท.ชี้เทิดทูนสถาบันฯต้องด่วน
 

นายสนอง เทพอักษรณรงค์ ส.ส.บุรีรัมย์ เป็นผู้อภิปรายแทนนายชวรัตน์ ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย โดยระบุว่า ไม่เห็นด้วยกับการนำนโยบายปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ไปใส่ไว้ในกรอบ 4 ปี คิดหรือว่ารัฐบาลจะได้บริหารครบ 4 ปี เพราะสถานการณ์ข้างหน้าไม่สามารถล่วงรู้ได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น อีกทั้งในช่วง 2-3 ปี มีการกระทำผิดกฎหมายล่วงละเมิดต่อสถาบันฯ หลายครั้ง มีการเคลื่อนไหวของคนบางกลุ่มให้ยกเลิก ม.112 มีการกระทำหลายกรรมหลายวาระ ทั้งในและต่างประเทศ หมิ่นต่อพระบรมเดชานุภาพ และสถาบันฯ นอกจากนี้ ยังมีผู้ใช้เว็บไซต์กระทำการขัดแย้งกับนโยบายรัฐบาลในการละเมิดต่อสถาบันฯ รัฐบาลจะต้องบรรจุไว้ในนโยบายที่เร่งด่วน

** ยันไม่แก้ ม.112 เรื่องหมิ่นสถาบันฯ

ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ชี้แจงแทนน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ว่า พวกตนจงรักภักดีต่อสถาบันฯ การเขียนนโยบายของรัฐบาลชุดนี้ หากนับบรรทัดก็ยาวกว่ารัฐบาลชุดที่ผ่านมา อีกทั้งยังเป็นพรรคการเมือง ที่มีทหาร และตำรวจ เข้าเวร เข้ายาม เฝ้าพระตำหนักมากที่สุด และพรรคเพื่อไทยก็ไม่มีแนวคิดแก้กฎหมายอาญา มาตรา 112 เรื่องการหมิ่นสถาบันฯ เพราะเป็นเครื่องมือในการปกป้องสถาบันฯ พวกตนไม่เข้าไปแตะต้องเด็ดขาด
กำลังโหลดความคิดเห็น