xs
xsm
sm
md
lg

ระดม40ส.ส. ชำแหละ “ปู” ลั่นห้ามยุ่งแม้ว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน-รัฐบาลพร้อมแถลงนโยบายต่อรัฐสภา "ยิ่งลักษณ์" แถลงเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับนายกฯ ส่วนเรื่องอื่นๆ แบ่งให้รองนายกฯและรัฐมนตรีชี้แจง ลั่นห้ามพาดพิง "แม้ว" ด้านฝ่ายค้านระดม 40 ส.ส. ตั้งทีมชำแหละ 3 ด้าน "ศก.-สังคม-การเมือง" "มาร์ค"ไม่ห่วงถูกย้อนศร "ขุนค้อน" ลั่นยึดข้อบังคับการประชุมเคร่งครัด เพื่อความเรียบร้อย

วานนี้ ( 22 ส.ค.) นายวิทยา บุรณศิริ ประธานวิปรัฐบาล แถลงผลการประชุมวิปรัฐบาลว่า รัฐบาลจะใช้เวลา 2 วัน ในการแถลงนโยบายรัฐบาล คือวันที่ 23-24 ส.ค. โดยจะเริ่มตั้งแต่เวลา 09.00-24.00 น. ของทั้งสองวัน โดยพรรครัฐบาลได้เวลาอภิปราย 11 ชั่วโมง พรรคฝ่ายค้าน 11 ชั่วโมง คณะรัฐมนตรี 4 ชั่วโมง วุฒิสภาได้เพิ่มเวลาจาก 6 ชั่วโมง เป็น 7 ชั่วโมง ส่วนนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรคการเมืองไม่จำกัดเวลา

ส่วนการประท้วงระหว่างการแถลงนโยบายนั้นหากฝ่ายใดประท้วงก็ให้ไปหักเวลาจากฝ่ายนั้น ทั้งนี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี จะชี้แจงเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับตัวนายกฯ ส่วนประเด็นอื่นๆ จะให้รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องเป็นผู้ชี้แจง

อย่างไรก็ตามหากมีการพูดพาดพิงถึง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ก็ขึ้นอยู่กับประธานในที่ประชุมจะเป็นผู้วินิจฉัย แต่ตามข้อบังคับการประชุม ห้ามพูดพาดพิงบุคคลภายนอกอยู่แล้ว

ผู้สื่อข่าวถามว่า หากมีการพาดพิงถึง พ.ต.ท.ทักษิณ ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการทำหน้าที่ของนายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รมว.ต่างประเทศ จะทำได้หรือไม่ นายวิทยา ตอบว่า ต้องดูว่าเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับนโยบายรัฐบาลหรือไม่ เพราะไม่สามารถพูดพาดพิงบุคคลภายนอกในเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับนโยบายรัฐบาลได้ หากใครไปพูดพาดพิงก็ต้องรับผิดชอบต่อการฟ้องร้องเอง ยืนยันว่าไม่จำเป็นต้องมีองครักษ์ขึ้นมาพิทักษ์นายกรัฐมนตรี เพราะน.ส.ยิ่งลักษณ์ สั่งมาแล้วว่าไม่จำเป็นต้องมีองครักษ์มาปกป้องนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรี พร้อมให้อภิปรายเต็มที่ เพราะเป็นเรื่องนโยบายกรัฐบาล ซึ่งนายกฯ และรัฐมนตรีทุกคนพร้อมจะชี้แจง

**"เด็จพี่"แจงยิบ16นโยบายเร่งด่วน

นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย ยืนยันภายหลังการประชุม ส.ส. ของพรรคว่า ในการแถลงนโยบายวันนี้ จะไม่มีองครักษ์พิทักษ์นายกรัฐมนตรี ซึ่งนโยบายที่จะแถลงต่อต่อรัฐสภา แบ่งเป็น 2 ระยะ คือ ระยะเร่งด่วนในปีแรก และระยะการบริหารราชการของรัฐบาลใน 4 ปี ซึ่งนโยบายเร่งด่วนมี 16 ข้อ ประกอบด้วย การสร้างความปรองดองสมานฉันท์ของคนในชาติ ตามแนวทางของ คอป. การแก้ปัญหายาเสพติดเป็นวาระแห่งชาติ การป้องกันและปราบปรามการทุจริต การส่งเสริมการบริหารจัดการน้ำ นำสันติสุขกลับคืนสู่ชายแดนใต้ ฟื้นฟูและพัฒนาความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้าน แก้ไขปัญหาเงินเฟ้อ และราคาน้ำมัน ยกระดับคุณภาพชีวิต และสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจ ได้แก่ พักหนี้เกษตรกรต่ำกว่า 5 แสนบาท อย่างน้อย 3 ปี , ค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท , เงินเดือนปริญญาตรี 15,000 บาท , เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ 90 ปี 1,000 บาท และลดหลั่นกันไปไม่น้อยกว่า 600 บาทต่อเดือน , ลดภาษีบ้านหลังแรก รถยนต์คันแรก ปรับลดภาษีเงินได้นิติบุคคล ส่งเสริมให้ประชาชนเข้าถึงแหล่งทุน เช่น เพิ่มเงินกองทุนหมู่บ้านละ 1 ล้านบาท และงบกองทุนพัฒนาศักยภาพ SML อีก 3 แสน- 5 แสนบาท การยกระดับสินค้าการเกษตร ราคาข้าวเปลือก และข้าวหอมมะลิ ความชื้นไม่เกินร้อยละ 15 จำนวนเงิน 1 หมื่น 5 พันบาท และ 2 หมื่นบาทต่อเกวียน ,สนับสนุนการผลิตสินค้าท้องถิ่น , พัฒนาระบบประกันสุขภาพ 30 บาทรักษาทุกโรค เร่งเพิ่มรายได้จากการท่องเที่ยว สนับสนุนการพัฒนางานศิลปหัตถกรรม พัฒนาระบบประกันสุขภาพ จัดหาคอมพิวเตอร์แท็บเล็ตให้แก่โรงเรียน และเร่งรัดและผลักดันการปฏิรูปการเมืองที่ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวาง อาทิ แก้รัฐธรรมนูญโดยตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ

นายพร้อมพงศ์ กล่าวต่อว่า ส่วนนโยบายที่ต้องดำเนินการ 4 ปี 7 ข้อ คือ นโยบายความมั่นคงแห่งรัฐ อาทิ เทิดทูนสถาบันฯ พัฒนากองทัพให้มีศักยภาพ นโยบายด้านเศรษฐกิจ แบ่งเป็น ขยายเศรษฐกิจมหาภาค สร้างรายได้ ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจภาคอุตสาหกรรม และภาคเกษตร ส่งเสริมระบบมวลชนพื้นฐาน เป็นต้น นโยบายสังคมและคุณภาพชีวิต อาทิ ปฏิรูปการศึกษา แรงงาน พัฒนาสุขภาพประชาชน นโยบายที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การวิจัย และนวัตกรรม นโยบายการต่างประเทศและเศรษฐกิจระหว่างประเทศ และนโยบายการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี

** ฝ่ายค้านจัด40 ส.ส.ชำแหละนโยบาย

ด้านคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) ได้มีการประชุมเพื่อเตรียมความพร้อมก่อนการอภิปรายแถลงนโยบายรัฐบาล โดยในการประชุม นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ประธานวิปฝ่ายค้านได้แจ้งให้วิปของฝ่ายค้านตัดตอนผู้อภิปรายลงจาก 60 คน เหลือแค่ 40 คน เพื่อให้เป็นไปตามกรอบเวลาและกำชับทุกคนให้เคร่งครัดกับการอภิปรายครั้งนี้ด้วย

หลังการประชุมนายจุรินทร์ แถลงว่า ฝ่ายค้านได้เวลาในการอภิปรายทั้งหมด 8 ชั่วโมง 50 นาที ได้มีการจัดเตรียมแบ่งกลุ่มประเด็นและตัวบุคคล ซึ่งทราบว่าจะมีคนอภิปรายทั้งสิ้น 40 คน โดยจะอภิปรายเฉลี่ยคนละประมาณ 10-15 นาที โดยแบ่งการอภิปรายเป็น 3 กลุ่มคือ กลุ่มการเมืองความมั่นคง กลุ่มเศรษฐกิจ และกลุ่มด้านสังคม โดยผู้นำฝ่ายค้านจะเป็นคนอภิปรายเป็นคนแรก หลังจากนั้นจะพิจารณาตามสถานการณ์ ว่าควรจะให้ใครอภิปรายในช่วงใด

**ส.ว.โวยได้เวลาอภิปรายน้อย

ส่วนการประชุมวุฒิสภา มีนายนิคม ไวยรัชพานิช รองประธานวุฒิสภา เป็นประธานการประชุม โดย ส.ว.หลายคนหารือถึงสัดส่วนการจัดสรรเวลาให้ ส.ว.อภิปราย ในการประชุมรัฐสภา เพื่อรับฟังการแถลงนโยบายของรัฐบาลที่น้อยเกินไป โดยนายประเสริฐ ประคุณศึกษาภัณฑ์ ส.ว.ขอนแก่น ได้เสนอญัตติปากเปล่า ให้ที่ประชุมหารือกรณีดังกล่าว โดยให้เหตุผลว่า จากที่คณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการวุฒิสภา (วิปวุฒิสภา) มีมติกำหนดหลักเกณฑ์ให้ส.ว.จับสลากว่าใครจะเป็นผู้ร่วมอภิปรายในสัดส่วนของ ส.ว. 42 คน ใน 6 ชั่วโมง ที่ได้รับจัดสรรมา ควรให้เป็นไปตามจำนวนส.ว. ที่เข้าชื่อมีสิทธิอภิปรายในเวลาเท่าๆกัน ขณะนี้มีส.ว.เข้าชื่อจำนวนมาก ส่วนใครได้เวลาไปแล้วไม่อภิปราย จะยกให้คนอื่นอภิปรายแทนไม่ได้

นายตวง อันทะไชย ส.ว.สรรหา กล่าวว่า เห็นด้วยกับข้อเสนอของนายประเสริฐ แต่ขอตำหนิการทำหน้าที่ของวิปวุฒิสภา ซึ่งวิปวุฒิในอดีตจะพยายามเจรจาต่อรองเวลาได้มากกว่านี้ แต่วันนี้กลับไม่ต่อรองอะไรเลย จึงเห็นควรที่วิปวุฒิ จะไปทบทวนการทำหน้าที่ของตนเอง เพราะวันนี้ทำงานเกินหน้าที่ ที่สมาชิกมอบหมาย อย่าลืมว่าพวกท่านที่เป็นแค่ตัวแทนส.ว.เท่านั้น ทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกัน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ประชุมวุฒิสภายังคงใช้เวลาโต้เถียงระหว่างกลุ่ม ส.ว.ที่อยากได้เวลาเพิ่ม กับวิปวุฒิที่เป็นตัวแทนไปเจรจาต่อรอง จนนายชูชัย ต้องลุกชี้แจงอีกรอบว่า ล่าสุดทางรัฐบาลยอมแบ่งเวลาเพิ่มให้อีก 40 นาที รวมเวลาที่วุฒิสภาจะได้ 7 ชั่วโมง 40 นาที ส่วนประเด็นการจัดตัวผู้อภิปราย ไม่สามารถตกลงกันได้ตามญัตติของนายประเสริฐ ที่จะให้ ส.ว.ที่เข้าชื่อได้อภิปรายในเวลาที่เท่ากัน โดยให้ตัวแทนแต่ละคณะกรรมาธิการที่ได้เวลาคณะละ 10 นาที มาเฉลี่ยเวลาให้ ส.ว.คนอื่น ที่สุดที่ประชุมจึงมีมติเสียงส่วนใหญ่ 60 ต่อ 57 ไม่เห็นด้วยกับญัตติของนายประเสริฐ ดังนั้นการจัดแบ่งเวลาจึงเป็นตามนี้ คือให้ตัวแทนคณะกรรมาธิการ 22 คณะ คณะละ 10 นาที เวลาที่เหลือจึงไปหารเฉลี่ยให้ ส.ว. 59 คน ที่เข้าชื่อ

**จับตาพท.แกล้งลืมเรื่องที่หาเสียงไว้

นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา กล่าวช่วงหนึ่งระหว่างการเสวนาเพื่อให้ความรู้แก่สมาชิกวุฒิสภาในการอภิปรายนโยบายรัฐบาล ว่า การแถลงนโยบายรัฐบาล ต้องจับตาดูว่า จะมีนโยบายที่พรรคเพื่อไทยได้หาเสียงไว้กับประชาชนหรือไม่ เพราะหากนโยบายหาเสียงใดไม่ได้ถูกบรรจุไว้ในนโยบายของรัฐบาล อาจเข้าข่ายทำผิดกฎหมายเลือกตั้งได้

นอกจากนี้ ยังมีสิ่งที่ต้องจับตา คือ ร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2555 ที่อาจจะมีการเปลี่ยนแปลงงบประมาณ เพื่อมาดำเนินการตามนโยบายรัฐบาล

** "มาร์ค"ไม่ห่วงถูกตรวจสอบกลับ

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ว่าที่หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการแถลงนโยบายของรัฐบาลในระหว่างวันที่ 23-24 ส.ค.นี้ว่า เราหวังจะให้ประชาชนได้มองเห็นว่านโยบายและสิ่งที่รัฐบาลกำลังจะเดินต่อไป มีผลอย่างไรประชาชนในฐานะที่เป็นผู้ที่ใช้สิทธิเลือกตั้งก็น่าที่จะได้คำตอบว่า สิ่งที่เคยไปสัญญาหรือสิ่งที่ไปพูดไว้ จะเกิดขึ้นเมื่อไร อย่างไร

เมื่อถามว่า ทางรัฐบาลเองก็เตรียมที่จะรื้อโครงการต่างๆ ที่รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ ทำไว้ พร้อมกับจะตรวจสอบเรื่องการทุจริตคอร์รัปชันด้วย นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า เป็นการพยายามที่จะสร้างข่าวกันไป ความจริงอะไรไม่ถูกต้องก็ตรวจสอบได้อยู่แล้ว เพราะมีหน่วยงาน กระทรวง ทบวง กรม องค์กรอิสระก็ทำหน้าที่อยู่แล้ว และการที่มุ่งในเรื่องการอนุมัติงบประมาณในการประชุมครม.นัดสุดท้าย เป็นจำนวนเงินที่มากนั้น นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ไม่มีปัญหา ครม.นัดสุดท้ายที่พูดกันไปเรื่อย เราก็กลั่นกรองมีหลายเรื่องที่ไม่ผ่านด้วยซ้ำ เรื่องที่ผ่านก็เป็นเรื่องที่มีความจำเป็น ไม่ได้มากเท่ากับการอนุมัติในสัปดาห์ธรรมดา และมั่นใจด้วยว่าสามารถชี้แจงได้

** ถล่ม 3 ด้าน ศก.-สังคม-การเมือง

นายชวนนท์ อินทรโกมายล์สุต ว่าที่โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ แถลงผลการประชุมส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ เกี่ยวกับกรอบการอภิปรายนโยบายรัฐบาล ว่า พรรคได้แบ่งกรอบการอภิปรายออกเป็น 3 ประเด็น ประกอบไปด้วย 1. ด้านเศรษฐกิจ มีนายกรณ์ จาติกวณิช ส.ส.บัญชีรายชื่อ เป็นหัวหน้าทีม โดยจะมีผู้อภิปรายทั้งสิ้น 16 ราย ใช้เวลา 200 นาที 2. ด้านสังคม ซึ่งมีนายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส.นครศรีธรรมราช เป็นหัวหน้าทีม มีผู้อภิปราย 10 คน ใช้เวลา 80 นาที 3. ด้านการเมือง ความมั่นคง มีนายชำนิ ศักดิเศรษฐ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ เป็นหัวหน้าทีม โดยจะมีผู้อภิปรายทั้งสิ้น 10ราย ใช้เวลา 120 นาที รวมผู้อภิปรายทั้งสิ้น 36 ราย รวมเวลา 400 นาที ทั้งนี้ ยืนยันว่าการอภิปรายในครั้งนี้จะเป็นไปด้วยความสร้างสรรค์

** "ยิ่งลักษณ์"อย่าหนีการตอบคำถาม

นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ กล่าวว่า คาดหวังว่าหลังจากที่น.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภาแล้ว น.ส.ยิ่งลักษณ์ จะตอบข้อซักถามจากฝ่ายค้านด้วยตัวเอง ทั้งนี้ เพราะน.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้ระบุว่า เป็นผู้มีส่วนร่วมในการเป็นคณะกรรมการกลั่นกรองนโยบาย รวมถึงคัดเลือกผู้เหมาะสมจะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีด้วยตัวเอง ดังนั้นการตอบข้อซักถาม จะเป็นการพิสูจน์ข้อเท็จจริงที่เคยยืนยันมา และเป็นการแสดงศักยภาพว่ามีความเหมาะสมที่จะเป็นนายกรัฐมนตรี โดยที่น.ส.ยิ่งลักษณ์ ต้องไม่หนีการตอบคำถามของฝ่ายค้าน เหมือนที่เคยหนีข้อซักถามของผู้สื่อข่าว เพราะเป็นพฤติกรรมที่ไม่สง่างาม

**ภท.พร้อมชำแหละนโยบายรัฐ

นายศุภชัย ใจสมุทร ส.ส.บัญชีรายชื่อ และโฆษกพรรคภูมิใจไทย แถลงว่า ที่ประชุมพรรคมีมติ กรณีการอภิปรายแถลงนโยบายของรัฐบาลต่อรัฐสภาโดยนายชวรัตน์ ชาญวีรกูล ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรค จะไม่อภิปรายเอง แต่ได้มอบหมายให้ นายสนอง เทพอักษรณรงค์ ส.ส.บุรีรัมย์ เป็นผู้อภิปรายแทน โดยใช้เวลาอภิปรายไม่เกิน 30 นาที

นอกจากนี้พรรคยังได้วางตัวส.ส. ที่จะร่วมอภิปราย อีกจำนวน 9 คน ซึ่งทาง พรรคได้เวลาในการอภิปรายเพียง 1 ชั่วโมง 50 นาที ทำให้ ส.ส.แต่ละคน จะมีเวลาอภิปราย ประมาณ คนละ 10-15 นาที

นายศุภชัย กล่าวว่า ในการอภิปรายจะเป็นการนำเสนอแนวทางการแก้ปัญหาให้กับรัฐบาล รวมถึงทวงถามนโยบายที่พรรคเพื่อไทยได้หาเสียงเอาไว้ เพราะจากการตรวจสอบกลับพบว่า เมื่อนำมาเขียนเป็นนโยบาย มีหลายเรื่องที่ไม่ตรงตามที่หาเสียงไว้ หากทำไม่ได้จริง จะสร้างความเสื่อมเสียแก่ภาพลักษณ์ ส.ส. เพราะเป็นการไม่รักษาคำพูด ที่พรรคเพื่อไทยได้รับคะแนนล้นหลาม เพราะประชาชนให้ความเชื่อมั่นสูง ดังนั้น รัฐบาลจะต้องยืนยันถึงสิ่งที่จะดำเนินการให้กับประชาชน

** "ขุนค้อน"ลั่นยึดข้อบังคับเคร่งครัด

นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยถึงการแถลงนโยบายของรัฐบาล ต่อที่ประชุมรัฐสภาในวันนี้ ว่า ถือเป็นเรื่องที่ดีที่หลายฝ่ายเรียกร้องให้เคร่งครัดในระเบียบข้อบังคับการประชุม ซึ่งก็เป็นไปตามเจตนารมณ์ของตน แสดงว่าทุกฝ่ายเห็นตรงกันว่าให้มีการควบคุมการประชุมอย่างจริงจัง ส่วนการพาดพิงถึงบุคคลภายนอกนั้น ตนมองว่า ต้องดูโดยภาพรวมทั้งหมดให้เป็นไปตามระเบียบข้อบังคับ

"หากทุกฝ่ายทำได้ตามข้อบังคับ ก็จะถือว่าเป็นกลาง และเป็นธรรม ส่วนใครจะมองอย่างไร ก็เป็นเพียงการมองต่างมุม เพราะหากประธานทำหน้าที่ตามข้อบังคับแล้ว จะมาวิจารณ์ว่าไม่เป็นกลางไม่ได้" ประธานสภาฯระบุ
กำลังโหลดความคิดเห็น