xs
xsm
sm
md
lg

ถลกนโยบายรัฐบาล “ปูแดง” เอาแน่ เดินหน้าแก้ไข รธน.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผลประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อ 16 สิงหาคม 2554 ที่ผ่านมา ที่ประชุมได้เห็นชอบกรอบร่างคำแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่จะต้องแถลงต่อรัฐสภา ในวันที่ 22-24 สิงหาคมนี้

หลังจากที่พิมพ์เขียวทั้งหมดได้มีการเคาะกันรอบสุดท้าย เสร็จเอาเกือบ 4 ทุ่มของคืนวันจันทร์ที่ 15 สิงหาคมที่ผ่านมา โดยยิ่งลักษณ์เรียกประชุมรัฐมนตรีพรรคเพื่อไทยทุกคนคุยกันร่วม5ชั่วโมง หัวใจของร่างดังกล่าวก็คือ การนำสิ่งที่ยิ่งลักษณ์และพรรคเพื่อไทยเคยพูดและหาเสียงไว้ในช่วงการเลือกตั้งมาบรรจุใส่ไว้ในเรื่องหลักๆ เพราะขืนหากไม่ทำมีหวังโดนถล่มหนักโดยเฉพาะจากประชาชนเกือบ 15 ล้านเสียงที่เลือกพรรคเพื่อไทย

ถัดจากนี้ก็จะมีการส่งเรื่องให้สำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี จัดพิมพ์เพื่อส่งต่อให้สมาชิกรัฐสภาทั้งหมดเพื่อให้ทั้ง ส.ส.-สว.ได้นำไปศึกษาและอภิปรายกันในสัปดาห์หน้า

ตรวจสอบแล้วพบว่า รัฐบาลยิ่งลักษณ์ได้แบ่งนโยบายที่จะแถลงต่อรัฐสภาซึ่งก็คือสัญญาประชาคมทางการเมืองออกเป็น 3 ระดับ

1.ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับพระราชเสาวนีย์ในสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ถือเป็นเรื่องแรกที่รัฐบาลจะเร่งดำเนินการเช่น การปราบปรามยาเสพติด

2.นโยบายเร่งด่วนซึ่งจะต้องเร่งดำเนินการให้เสร็จสิ้นภายปีแรก มีทั้งหมด 16 เรื่อง แต่บางเรื่องอาจเสร็จก่อนครบ 1 ปี เช่น ปรับลดภาษีเงินได้นิติบุคคลให้เหลือร้อยละ 23 ในปี 2555 และลดลงร้อยละ 20 ในปี 2556 เพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขันของภาคเอกชน ขยายฐานภาษีและรองรับเข้าสู่การเป็นประชาคาอาเซียนในปี 2558 หรือชะลอการเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับน้ำมันเชื่อเพลิงบางประเภทชั่วคราว

3.นโยบาย 4 ปี ที่จะเริ่มดำเนินการได้ทันทีหลังจากแถลงนโยบายต่อสภาแล้ว แต่บางเรื่องจะเสร็จก่อนครบ 4 ปีก็ได้

ที่น่าสนใจ คือ นโยบายเร่งด่วนที่จะทำในปีแรก ที่มีทั้งสิ้น 16 เรื่องและแยกย่อยออกไปจะพบว่ามีทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง อันประกอบด้วยหลักๆ ดังนี้

1.สร้างความปรองดองสมานฉันท์ของคนในชาติและฟื้นฟูประชาธิปไตย แยกเป็น

- การเสริมสร้างความเข้าใจร่วมกันของประชาชนในชาติให้เกิดความสมัครสมานสามัคคีเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และยึดมั่นในการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

- เยียวยาและฟื้นฟูอย่างต่อเนื่องแก่บุคคลทุกแก่บุคคลทุกฝ่าย เช่น ประชาชน เจ้าหน้าที่รัฐและผู้ประกอบการภาคเอกชน ซึ่งได้รับผลกระทบอันเนื่องมาจากความขัดแย้งทางความคิด ทางการเมืองและความรุนแรงที่ก่อตัวขึ้นตั้งแต่ช่วงปลายของการใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540

- สนับสนุนให้คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อแนวทางปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ดำเนินการอย่างอิสระและได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่ายอย่างเต็มที่ในการตรวจสอบหาความจริงกรณีความรุนแรงทางการเมือง การละเมิดสิทธิมนุษยชน การสูญเสียชีวิต บาดเจ็บทางร่างกายและจิตใจ ความเสียหายทางทรัพย์สิน

2.กำหนดให้การแก้ไขและป้องกันปัญหายาเสพติดเป็นวาระแห่งชาติ 3.ป้องกันและปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชันในภาครัฐอย่างจริงจัง อาทิ ปรับปรุงกฎหมายเพื่อการปราบการทุจริต 4.เร่งแก้ไขปัญหาความไม่สงบและนำสันติสุขกลับสู่จังหวัดชายแดนภาคใต้โดยเร็ว 5.เร่งฟื้นฟูความสัมพันธ์และพัฒนาความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านและนานาประเทศ

6.แก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนและผู้ประกอบการเนื่องจากภาวะเงินเฟ้อและราคาน้ำมันเชื้อเพลิง 7.ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน เช่น พักหนี้ครัวเรือนของเกษตรกรรายย่อยและผู้มีรายได้น้อยที่มีหนี้ต่ำกว่า 5 แสนบาท อย่างน้อย 3 ปี และปรับโครงสร้างหนี้สำหรับผู้ที่มีหนี้เกิน 5 แสนบาท เพิ่มรายได้รายวันสำหรับแรงงานเป็นวันละ 300 บาท และรายเดือนของผู้ที่จบการศึกษาระดับปริญญาตรีเป็น 15,000 บาท 8.ปรับลดภาษีเงินได้นิติบุคคลให้เหลือร้อยละ 23 ในปี 2555 และลดลงร้อยละ 20 ในปี 2556 เพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขันของภาคเอกชน ขยายฐานภาษีและรองรับเข้าสู่การเป็นประชาคาอาเซียนในปี 2558

9.ส่งเสริมให้ประชาชนเข้าถึงแหล่งเงินทุนสนับสนุนสินเชื่อรายย่อย เช่นเพิ่มกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง 1 ล้านบาท ข้อ 10 ยกระดับสินค้าการเกษตรและให้เกษตรกรเข้าถึงแหล่งเงินทุน โดยให้มีการประกันภัยพืชผลและนำระบบรับจำนำสินค้าการเกษตรมาใช้ รวมถึงการออกบัตรเครดิตสำหรับเกษตรกร 11.ส่งเสริมให้มีการจัดการน้ำอย่างบูรณาการด้วยการสร้างระบบชลประทานขนาดใหญ่ กลาง เล็ก 12.เร่งเพิมรายได้จากการท่องเที่ยวโดยได้ปี 2554-2555 เป็นปีมหัศจรรย์ไทยแลนด์ (มิลาเคิลไทยแลนด์ เยียร์) และประชาสัมพันธ์ให้นักท่องเที่ยวร่วมเฉลิมฉลองในพระราชพิธีมหามงคลในช่วงปี 2554-2555

13.สนับสนุนงานศิลปหัตถกรรมเพื่อสร้างเอกลักษณ์และผลิตสินค้าในท้องถิ่น อาทิสนับสนุนมูลนิธิส่งเสริมศิลปชีพ 14.พัฒนาระบบประกันสุขภาพ 30 บาทรักษาทุกโรค 15.จัดหาเครื่องคอมพิวเตอร์แทปเล็ตให้โรงเรียน โดยเริ่มทดลองดำเนินการในโรงเรียนนำร่อง สำหรับระดับประถมศึกษาปีที่ 1 ปีการศึกษา 2554 ควบคู่กับการพัฒนาเนื้อหาที่เหมาะสมตามหลักสูตรบรรจุลงในแทปเล็ต รวมถึงทำอินเตอร์เน็ตไร้สายในระดับการให้บริหารและในพื้นที่สาธารณะ รวมถึงสถานศึกษาที่กำหนดฟรี

และข้อสุดท้ายที่ถูกบรรจุเป็นเรื่องด่วนที่เป็นเรื่องการเมืองก็คือ

“เร่งรัดและผลักดันการปฏิรูปการเมือง ที่ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างกว้างขว้าง โดยมีสภาร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยให้ประชาชนเห็นชอบโดยการออกเสียงประชามติ”

ซึ่งก็คือการแบะท่าพร้อมจะแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันนั่นเอง เพียงแต่ยังไม่ชัดว่าพรรคเพื่อไทยจะเอาอย่างไร จะเอาตามร่าง คณะกรรมการประชาชนเพื่อแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ 2550 (คปพร.) ที่ประชาชน 71,543 ลงชื่อในการขอแก้ไขรัฐธรรมนูญ2550 ซึ่งเสนอให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2550 กลับไปเป็น รัฐธรรมนูญปี 2540 ที่เคยถูกคว่ำมาแล้วในการแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2553 หรือว่าจะแก้ไขเฉพาะบางมาตราที่พรรคเพื่อไทย-คนเสื้อแดงเห็นว่า

เป็นอุปสรรคต่อรัฐบาลพรรคเพื่อไทยและเพื่อเปิดประตูให้ทักษิณ ชินวัตร กลับประเทศได้ง่ายขึ้น อันนี้ก็ต้องติดตามดูต่อไป

เพราะดูแล้วการทำเรื่องนี้ของพรรคเพื่อไทย หากคิดจะเริ่มแผนการก็คงทำกันแบบหมกเม็ด ค่อยๆ คิด ค่อยๆ ทำกัน เพื่อไม่ให้เกิดแรงต่อต้านแน่นอน ส่วนจะเอื้อประโยชน์ให้กับใครเมื่อถึงตอนนั้น หางคงโผล่แน่นอน
กำลังโหลดความคิดเห็น