xs
xsm
sm
md
lg

“ปู” เจอด่านหิน เอกชนต้านค่าแรง 300 บาท “พี่แม้ว” ช่วยได้หรือ!!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

 ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
ผ่าประเด็นร้อน

เพิ่งจะได้รับการรับรองเป็น ส.ส.จากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ยังไม่ทันข้ามวันดีนัก มิหนำซ้ำยังไม่ทันที่จะได้รับการโหวตจากสภาให้เป็นนายกรัฐมนตรีด้วยซ้ำไป แต่ล่าสุดก็ต้องเจอกับด่านหินสุดโหดเข้าให้แล้วจังเบอร์ นั่นก็คือ การออกโรงคัดค้านของภาคเอกชนยักษ์ใหญ่ที่ผนึกกำลังกันต่อต้านนโยบายการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำของพรรคเพื่อไทยที่ประกาศจะปรับขั้นทันทีเป็นวันละ 300 บาททั่วประเทศ โดยพวกเขาอ้างว่าการปรับค่าแรงแบบก้าวกระโดดดังกล่าวกระทบต่อต้นทุนที่สูงมากเกินไปจนแบกรับภาระไม่ไหว ธุรกิจทั้งใหญ่น้อย ขนาดกลางขนาดเล็กจะต้องล้มหายตายจากกันโกลาหล ในที่สุดนำไปสู่การเลิกจ้าง ทำให้สินค้าราคาแพง เกิดปัญหาตามมาสารพัด

ภาคเอกชนดังกล่าวประกอบด้วยสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) สภาหอการค้าไทย และสมาคมธนาคารไทย ที่เรียกชื่อในนามคณะกรรมการร่วมภาคเอกชนสามสถาบัน (กกร.)

ภาคเอกชนได้ประชุมนัดพิเศษร่วมกันและมีมติออกมา และแถลงโดย พยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เมื่อวานนี้( 20 กรกฎาคม)

ที่น่าสนใจก็คือนี่คือท่าทีที่ชัดเจนที่สุดของภาคเอกชนที่แสดงออกต่อภาครัฐ และฝ่ายการเมืองที่กำลังจะเข้ามาใหม่และมีเสียงข้างมากเด็ดขาด ซึ่งน้อยครั้งที่จะเคยมีท่าทีตรงๆแบบนี้ออกมา ส่วนใหญ่ในอดีตมักจะไม่กล้า “ชน” ตรงๆ จะออกมาในโทนประนีประนอมยอมๆ กันไป หรือก้มหน้าก้มตาทำมาหากิน การให้ความเห็นก็จะไม่อยาก “เปลืองตัว” เนื่องจากบางครั้งอาจส่งผลกระทบกับการดำเนินธุรกิจอีกด้วย

แต่คราวนี้สถานการณ์มันผิดเพี้ยนไปจากเดิมแบบหน้ามือเป็นหลังเท้าก็เป็นได้ โดยเฉพาะนโยบายปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำวันละ 300 บาทเท่ากันทั่วประเทศและดำเนินการทันทีนั้นมันส่งผลต่อความอยู่รอดของตัวเองอย่างที่สุด จึงอยู่นิ่งเฉยต่อไปไม่ได้ หรือใช้วิธีประนีประนอมหลบเลี่ยงแบบเดิมต่อไปคงไม่ได้แล้ว

ขณะเดียวกันก็ต้องยอมรับความจริงด้วยเช่นกันว่า การเคลื่อนไหวแบบผนึกกำลังกันของภาคเอกชนคราวนี้ย่อมมีผลกระเทือนต่อรัฐบาลใหม่ภายใต้การนำของ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และพรรคเพื่อไทยเป็นอย่างมาก เพราะต้องไม่ลืมว่า กกร.เป็นที่รวมตัวของภาคธุรกิจเอกชนยักษ์ใหญ่ที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ถือว่ามีพลังมากที่สุดมาตลอด

การออกมาประกาศว่าให้ปรับขึ้นค่าแรงต้องเป็นไปตามกลไกตลาด ต้องเป็นไปตามความเห็นหรือมติของคณะกรรมการไตรภาคี และที่สำคัญห้ามการเมืองเข้ามาแทรกแซง นี่แหละที่เป็นท่าทีชัดเจนเป็นการ “ประกาศชน” โดยตรง

ขณะที่ในมุมของพรรคเพื่อไทย และยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ว่าที่นายกรัฐมนตรีคนใหม่ ถือว่าจะต้องเจอกับด่านหินด่านแรกตั้งแต่ยังไม่ทันเริ่มต้น และยังถือว่าพรรคเพื่อไทยยังไม่เจอสภาพแบบนี้มาก่อน โดยเฉพาะการเปิดศึกกับภาคเอกชน ที่ผ่านมาตั้งแต่ในยุคของ ทักษิณ ชินวัตร และพรรคไทยรักไทยเป็นรัฐบาลมีการออกนโยบาย “ประชานิยม” ออกมาตั้งแต่เมื่อ 5-6 ปีก่อน คราวนั้นเป็นการใช้นโยบายภาครัฐหรืองบประมาณของรัฐเป็นตัวขับเคลื่อน ขณะที่ภาคเอกชนจะได้ประโยชน์จากนโยบายเหล่านั้นเพราะในระยะสั้นทำให้ชาวบ้านมีเงินมาจับจ่ายซื้อของมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น พักหนี้ กองทุนหมู่บ้าน 30 บาทรักษาทุกโรค หวยบนดิน ฯลฯ

แต่คราวนี้ทุกอย่างกลับตาลปัตร เพราะไปเกี่ยวข้องกับภาคเอกชนโดยตรง เริ่มจากการปรับค่าแรงขั้นต่ำวันละ 300 บาท เพิ่มเดือนปริญญาตรี 15,000 บาท แค่นี้ก็ถือว่าหนักหน่วงเอาการ และเชื่อว่าจะเกิดแรงต้านจากฝ่ายที่ได้รับผลกระทบโดยตรงนั่นคือภาคธุรกิจ ซึ่งก็ส่งสัญญาณชัดเจนออกมาแล้วจากผลการประชุมนัดพิเศษของคณะกรรมการร่วมภาคเอกชนสามสถาบัน (กกร.) ดังกล่าว

อย่างที่เคยระบุเอาไว้ก่อนหน้านี้ว่า นโยบายประชานิยมชุดสองที่ออกมาของพรรคเพื่อไทยจะต้องเจอกับแรงกดดันอย่างหนักเช่นเดียวกัน อย่างแรกก็คือ ภาคเอกชนซึ่งได้แสดงท่าทีออกมาให้เป็นที่รับรู้ไปแล้ว ขณะเดียวกันหาก “บิดพลิ้ว” หรือทำไม่ได้ตามที่พูดมันก็อาจเจอรุมสหบาทาก็ได้ เพราะมีคนคอยจ้องกันอยู่รอบทิศ นี่แหละถึงได้บอกว่าเป็นงานหิน และในฐานะที่บอกว่า “ทักษิณคิด เพื่อไทยทำ” จะช่วยหาทางออกให้กับน้องสาวที่เป็น “โคลนนิ่ง” ได้ไหวหรือไม่ เพราะแค่ยังไม่เริ่มก็ทำท่าหนักหนาสาหัสเกินกำลังแล้ว

เพราะนี่ว่ากันเฉพาะนโยบายแค่เรื่องเดียวเท่านั้น ยังมีอีกหลายนโยบายที่สัญญาว่าจะทำทันทีอีกหลายเรื่อง ซึ่งต้องใช้งบประมาณจำนวนมหาศาลจะเอาเงินมาจากไหน แม้ว่าจะเป็นการใช้หลักการเพิ่มรายได้ เพื่อไปกระตุ้นเศรษฐกิจให้เติบโต แต่ขณะเดียวกันก็ต้องเจอกับภาวะข้าวของแพง เงินเฟ้อ จะมีวิธีการจัดการอย่างไร ก็ต้องจับตามองกันต่อไป แต่รับรองว่ากระอักแน่!!
 พยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล
กำลังโหลดความคิดเห็น