xs
xsm
sm
md
lg

โพลชี้ดัชนีความสุขมวลรวมด้านการเมือง-ศก.ต่ำกว่ามาตรฐาน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เอแบคโพลล์เผยดัชนีชี้วัดความสุขมวลรวมของคนไทย ซึ่งแบ่งเป็นออกเป็น 3 กลุ่มคือด้านการเมือง เศรษฐกิจและสังคม โดยค่าอ้างอิงความสุขอยู่ที่ระดับ 11 จุด พบว่า ปชช.มีความสุขด้นสังคม โดยเฉพาะค่าแสดงความจงรักภักดีต่อสถาบันอยู่ที่ 162.7 จุด แต่ดัชนีมวลรวมด้านการเมืองและเศรษฐกิจต่ำกว่ามาตรฐาน อยู่ที่ 84.56 และ 77.58 จุดตามลำดับ

วันนี้ (11 ก.ย.) มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจเรื่อง รายงานดัชนีความสุขมวลรวมในช่วงโค้งแรกของรัฐบาล ภายใต้การนำของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี จำนวน 26 ตัวชี้วัด แบ่งออกเป็น 3 กลุ่มได้แก่ ด้านสังคม ด้านเศรษฐกิจ และด้านการเมือง พบว่า จากค่าอ้างอิงความสุขอยู่ที่ระดับ 100 จุด ผลการศึกษาด้านสังคมปรากฏว่า ประชาชนมีความสุขที่ได้เห็นประชาชนแสดงความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์มากที่สุดอยู่ที่ระดับ 162.7 จุด รองลงมาคือ ความสุขต่อบรรยากาศความสัมพันธ์ของคนในครอบครัวช่วง 30 วันที่ผ่านมาอยู่ที่ 135.0 จุด

นอกจากนี้ มีความสุขต่อสุขภาพทางใจ 117.6 จุด มีความสุขต่อหน้าที่การงาน อาชีพที่ทำอยู่ 111.4 จุด มีความสุขต่อการให้บริการด้านการรักษาพยาบาลในชุมชน 110.7 จุด มีความสุขต่อคุณภาพด้านการศึกษาของบุตรหลาน 110.5 จุด มีความสุขต่อสุขภาพทางกาย 108.8 จุด และมีความสุขต่อบรรยากาศความสัมพันธ์ของคนในชุมชนช่วง 30 วันที่ผ่านมาอยู่ที่ระดับ 107.7 จุด

ขณะเดียวกัน ประชาชนไม่มีความสุขต่อสภาพถนนหนทาง ไฟฟ้า น้ำดื่มน้ำใช้ในชุมชนเพราะได้ค่าที่ 94.9 จุด ต่ำกว่าค่าอ้างอิงความสุขที่ระดับ 100 จุด ทั้งนี้ยังไม่มีความสุขต่อวัฒนธรรมประเพณีไทยที่ถูกละเลยกันไป 86.8 จุด ไม่มีความสุขต่อภาพลักษณ์ของประเทศไทย คนไทย เด็กไทย 86.7 จุด

ส่วนด้านความเป็นธรรมในสังคม ผลการศึกษาพบว่า ประชาชนยังไม่มีความสุขเพราะมีค่าความสุขต่ำกว่ามาตรฐานคือได้เพียง 78.8 ถือว่าน้อยที่สุดในตัวชี้วัดด้านสังคมของคนไทย แต่ค่าความสุขโดยภาพรวมด้านสังคมได้คะแนน 109.30 จุด สูงกว่าค่ามาตรฐานถือว่า คนไทยมีความสุขด้านสังคมเพราะ ตัวชี้วัดเกี่ยวกับความจงรักภักดีของคนในชาติ ความสุขต่อครอบครัว สุขภาพทางใจ และอาชีพการทำงาน ถือเป็นปัจจัยบวกที่สำคัญต่อความสุขมมวลรวมด้านสังคมของประชาชนภายในประเทศไทย

แต่ที่น่าเป็นห่วงคือ ผลการศึกษาพบว่า ประชาชนไม่มีความสุขต่อทุกตัวชี้วัดด้านเศรษฐกิจ ได้แก่ เรื่อง รายได้ส่วนตัวเปรียบเทียบกับช่วงเวลารัฐบาล นายอภิสิทธิ์ หรือจะเป็นเรื่องรายได้ครัวเรือน และการใช้จ่ายต่างๆ ในชีวิตประจำวัน การร้องเรียกสิทธิของผู้บริโภคจากกลุ่มนายทุนผู้ประกอบธุรกิจ และสภาวะเศรษฐกิจของประเทศ โดยได้ค่าความสุขต่ำกว่ามาตรฐาน ได้แก่ 93.1จุด 83.2 จุด 75.6 จุด 74.7 จุด และ 61.3 จุด ตามลำดับ โดยค่าความสุขมวลรวมด้านเศรษฐกิจก็ต่ำกว่าค่ามาตรฐานเช่นกันคือได้ 77.58 หมายความว่า ประชาชนยังไม่มีความสุขต่อตัวชี้วัดด้านเศรษฐกิจ

มากกว่านั้น ผลการศึกษายังพบว่าประชาชนไม่มีความสุขต่อทุกตัวชี้วัดด้านการเมืองเช่นกัน ได้แก่ ไม่มีความสุขต่อนโยบายของรัฐบาลชุดปัจจุบันเปรียบเทียบกับรัฐบาลยุคนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้เพียง 92.5 จุด ถือว่าต่ำกว่าค่ามาตรฐาน นอกจากนี้ ประชาชนยังไม่มีความสุขต่อ การทำงานของรัฐบาลในการป้องกันแก้ไขปัญหาภัยพิบัติต่างๆ ในช่วง 30 วันที่ผ่านมา 91.2 จุด ไม่มีความสุขต่อการทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจในการดูแลความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินในช่วง 30 วันที่ผ่านมา 90.8 จุด ไม่มีความสุขต่อการทำงานของรัฐบาลโดยภาพรวมช่วงนี้ 90.0 จุด ไม่มีความสุขต่อการพบเห็นการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐในช่วง 30 วันที่ผ่านมา 89.6 จุด ไม่มีความสุขต่อการทำงานของนักการเมืองฝ่ายค้าน 87.2 จุด ไม่มีความสุขต่อนักการเมืองระดับท้องถิ่นในชุมชน 80.4 จุด ไม่มีความสุขต่อคุณภาพนักการเมืองระดับชาติในช่วง 30 วันที่ผ่านมา 71.1 จุด และไม่มีความสุขต่อสถานการณ์การเมืองโดยภาพรวมในช่วง 30 วันที่ผ่านมา 68.2 จุด ตามลำดับ

โดยค่าความสุขมวลรวมด้านการเมืองก็ต่ำกว่าค่ามาตรฐานเช่นกัน คือ ได้ 84.56 หมายความว่า ประชาชนยังไม่มีความสุขต่อตัวชี้วัดด้านการเมือง

เมื่อพิจารณาโดยรวมของแต่ละด้านพบว่า ประชาชนไม่มีความสุขมวลรวมด้านการเมือง 84.56 จุด ไม่มีความสุขมวลรวมด้านเศรษฐกิจ 77.58 จุด แต่มีความสุขมวลรวมด้านสังคม 109.30 จุด อย่างไรก็ตาม เมื่อวิเคราะห์ตัวชี้วัดความสุขทั้ง 26 ตัวชี้วัดพบว่า ประชาชนมีความสุขเพียง 8 ตัวชี้วัดเท่านั้น ในขณะที่ประชาชนไม่มีความสุขต่อ 18 ตัวชี้วัดที่เหลือ และค่าความสุขมวลรวมของประชาชนภายในประเทศทุกด้านรวมกันไม่มีความสุขอยู่ที่ระดับ 90.48 ซึ่งต่ำกว่าค่าความสุขมาตรฐานในการศึกษาครั้งนี้
กำลังโหลดความคิดเห็น