ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ - เห็นอาการดิ้นทุรนทุรายและดันทุรังจะเอาให้ได้ของ “นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ต่อกรณีนโยบายการจัดตั้ง “กองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ(Sovereign Wealth Funds)” รวมทั้งอากัปกิริยาที่ขุนคลังผู้นี้มีต่อธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์อย่างเฟซบุ๊กแล้ว ต้องบอกว่า วังเวงยิ่งนัก
จนหลายคนอดรู้สึกไม่ได้ว่า เป็นวาระส่วนตัวของอดีตคนแบงก์ชาติอย่างนายธีระชัยที่ต้องการลบรอยแผลเป็นในใจเสียมากกว่าจะเป็นวาระแห่งชาติ โดยที่สุดท้ายแล้ว ก็ยังไม่มีใครเห็นชัดว่า ประโยชน์ของกองทุนมั่งคั่งแห่งชาตินั้นคืออะไร และจะมั่นใจได้อย่างไรกับความโปร่งใสในการบริหารจัดการกองทุนก้อนมหึมาก้อนนี้ภายใต้การบริหารงานของรัฐบาลชุดนี้
เสมือนนายธีระชัยต้องการพิสูจน์ตัวเองให้คนในบ้านเก่าได้ประจักษ์ รวมทั้งเสมือนว่า ต้องการสำแดงพลังให้ “นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล” ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยยอมรับและปฏิเสธไม่ได้ว่ามองไกลไปถึงการกดดันให้นายประสารยอมถอยออกจากเก้าอี้ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยเพราะมิฉะนั้นแล้วคงไม่หยิบเอาตัวเลขบัญชีของธนาคารแห่งประเทศไทยที่ติดลบอยู่ราว 4 แสนล้านบาทออกมาโจมตีเช่นนี้
ลบแผลในใจที่นายธีระชัย อดีตรองผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศ และผู้เคยได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยในยุคเดียวกับนายประสาร ซึ่งสุดท้ายนายธีระชัยก็ไม่ได้รับการคัดเลือก กระทั่งต้องพกพาหัวใจอันบอบช้ำไปเป็นเลขาธิการคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.)
ยิ่งเมื่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังออกอาการจิตหลุดถึงขนาดกล้าประกาศต่อหน้าสาธารณชนว่า “จะผลักดันกองทุนมั่งคั่งให้ได้” พร้อมทั้งลั่นวาจาเรื่องการขาดทุนว่า “หลักการบริหารกองทุน หากมีผลกำไรให้ส่งเป็นรายได้เข้าคลัง แต่หากประสบผลขาดทุนรัฐบาลพร้อมตั้งงบประมาณเพื่อชดใช้ผลขาดทุนดังกล่าวให้ ซึ่งยอมรับว่าการบริหารกองทุนฯ มีกระบวนการบริหารความเสี่ยงและการลงทุนทุกรูปแบบย่อมมีผลกำไรและขาดทุน”
พระเจ้าช่วยกล้วยทอด! รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังจะนำเงินคลังหลวงของชาติไม่น้อยกว่า 10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐไปลงทุนทำพระแสงของ้าวอะไรถ้าหากมีปัจจัยในเรื่องของความเสี่ยงและการขาดทุนค้ำคออยู่
หากยังจำกันได้ “หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน” ได้เคยแสดงธรรมและลุกขึ้นนำทัพคัดค้านการนำเงินในคลังหลวงไปใช้มาแล้ว
“เขาจะถอนเงินออกไปอีลุ่ยฉุยแฉกแหลกหมด เราเอาเข้าไปให้เป็นกอบเป็นกำเป็นหลักเกณฑ์ของชาติไทยเรา เรามุ่งมั่นอย่างนั้น หากมีความจำเป็นอะไรก็ให้ออกจ่ายด้วยความเป็นธรรม นี่จะเอาไปเหมือนว่าเล่นการพนัน เรียกว่าเสี่ยงได้เสี่ยงเสีย เราไม่เห็นด้วยเลยการพนัน เงินนี้ไม่ใช่เงินการพนัน เขาบริจาคมาไม่ใช่บริจาคเพื่อการพนัน เรารับไว้ก็ไม่เพื่อการพนัน ไปทำอย่างนั้นผิด”
เป็นคำเทศนาที่ต้องบอกว่า เป็นคนละขั้วและคนละแนวคิดกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังคนปัจจุบันเลยทีเดียว
และนั่นก็เป็นที่มาของการเคลื่อนไหวของบรรดาลูกศิษย์ลูกหาของหลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโนที่ลุกขึ้นมาคัดค้านการจัดตั้งกองทุนมั่งคั่งแห่งชาติตามคำสั่งเสียของพ่อแม่ครูอาจารย์อย่างต่อเนื่อง ทั้งที่ธนาคารแห่งประเทศไทย ทั้งที่กระทรวงพลังงานและทั้งที่กระทรวงการคลัง
แน่นอน แม้นายธีระชัยจะยืนยันว่าไม่มีการแตะต้องเงินบริจาคและทองคำของหลวงตามหาบัว แต่ก็ต้องไม่ลืมว่าเงินก้อนดังกล่าวเป็นเงินก้อนเดียวกันที่เรียกกันรวมๆ ว่าคลังหลวง ซึ่งเงินคลังหลวงของหลวงตามหาบัวนั้น มิได้หมายถึงทองคำและเงินดอลลาร์ที่บริจาคโดยผ้าป่าช่วยชาติ หากแต่รวมถึงบัญชีทั้ง 3 บัญชีของฝ่ายออกบัตรด้วยคือ 1.บัญชีทุนสำรองเงินตรา 2.บัญชีผลประโยชน์ประจำปี และ 3.บัญชีสำรองพิเศษ ดังที่พระอาจารย์นภดล นันทโน เจ้าอาวาสวัดป่าดอยลับงา จ.กำแพงเพชร ลูกศิษย์หลวงตามหาบัวได้แจกแจงเอาไว้
จริงอยู่ แม้หลายประเทศทั่วโลกจะดำเนินการจัดตั้งกองทุนมั่งคั่งแห่งชาติและประสบความสำเร็จอย่างล้นหลาม แต่สำหรับประเทศไทยแล้วมีปัญหาให้ต้องขบคิดค่อนข้างสูง เพราะมีข้อมูลที่ชัดเจนเกี่ยวกับกองทุนมั่งคั่งของต่างประเทศว่า เงินที่ประเทศเหล่านั้นนำมาใช้ส่วนใหญ่เป็นเงินเย็น เป็นเงินนอน ไม่ได้เป็นเงินที่กู้ยืมมา ดังนั้น ทำให้การลงทุนของกองทุนฯ เหล่านี้สามารถมองไกลในระยะยาวและรับความเสี่ยงได้มาก
ขณะที่เงินสำรองระหว่างประเทศที่นายธีระชัยต้องการนำมาใช้นั้น ในปัจจุบันส่วนใหญ่เป็น “เงินที่กู้ยืม” มาเป็นสำคัญจากการออกธนบัตรออกใช้หรือจากการเข้าแทรกแซงค่าเงินบาทเพื่อช่วยดูแลไม่ให้เงินบาทแข็งค่าเร็วเกินไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาที่ต่างชาติเข้ามาลงทุนในตลาดพันธบัตร ตลาดหุ้น ตลาดอสังหาริมทรัพย์หรือในช่วงที่ประเทศไทยสามารถส่งออกได้ดี
นอกจากนี้ สิ่งสำคัญที่นายธีระชัยจะต้องให้ข้อมูลกับประชาชนก็คือ กองทุนมั่งคั่งฯ คือการลงทุน จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องเผชิญกับความเสี่ยงดังเช่นที่กองทุนเทมาเส็กของสิงคโปร์ขาดทุนมโหฬารในช่วงปี ค.ศ.2009 โดยขาดทุนไปถึง 30% ก่อนที่จะกลับมาพลิกฟื้นได้ในปีถัดมา
ดังนั้น เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องที่จะมอบความไว้วางใจให้โดยง่าย เพราะถ้าหากเกิดปัญหาขึ้นมาแล้ว ประเทศชาติจะพังทั้งระบบ
นี่คือปัญหาในเชิงจริยธรรมและปัญหาในเชิงยุทธศาสตร์ของชาติว่า สุดท้ายแล้วจะเลือกเอาความมั่งคั่งของพรรคเพื่อไทยหรือยืนหยัดอยู่กับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
ที่สำคัญคือการนำเงินสำรองระหว่างประเทศออกไปใช้นั้นไม่ใช่เรื่องชุ่ยๆ หรือเรื่องง่ายๆ ที่ฝ่ายการเมืองจะตัดสินใจตามลำพังได้เนื่องจากเป็นเงินของประชาชนคนไทยทั้งประเทศ ดังที่ ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล” ประธานบอร์ดธนาคารแห่งประเทศไทยซึ่งแม้จะเห็นด้วยกับการนำเงินดังกล่าวออกไปใช้ แต่หม่อมเต่าก็ระบุเอาไว้ชัดเจนว่า “เงินสำรองระหว่างประเทศเป็นเงินของประเทศ ไม่ใช่เงินแบงก์ชาติ หรือเงินของผู้ชนะการเลือกตั้ง ดังนั้น กลไกการตัดสินใจในการลงทุนของกองทุนจะต้องมีตัวแทนจาก ธปท.ผ่านกลไกทางสังคม ให้มีผู้ร่วมตัดสินใจ แต่ไม่ใช่นักการเมือง”
ขณะเดียวกัน สิ่งที่ต้องคำนึงถึงไม่แพ้กันก็คือ สมมติว่าถ้าหากประสบความสำเร็จในการจัดตั้งจริง ใครจะเป็นผู้บริหารกองทุน เนื่องเพราะธนาคารแห่งประเทศไทยไม่มีประสบการณ์การลงทุนในตราสารทุนต่างๆ รวมถึงจะมีระบบป้องกันฝูงเหลือบริ้นไรที่จะดาหน้ากันเข้ามาในกองทุนนี้ชนิดปากเป็นมันอย่างไร
หรือถ้าหากนำไปใช้เพื่อดูแลเรื่องความมั่นคงทางพลังงานของประเทศตามที่นายพิชัย นริพทะพันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานประกาศเอาไว้ก็เป็นเหตุผลที่ฟังไม่ขึ้น เพราะหน้าที่นี้ความจริงก็มี บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ.ทำหน้าที่นี้อยู่แล้ว
จะเป็นการทำงานที่ซ้ำซ้อนกันหรือไม่
แต่สุดท้ายแล้วคำตอบก็เริ่มชัดเจนมากขึ้นจากคำให้สัมภาษณ์ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังที่ระบุชัดเจนถึงการจัดสรรผลประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นกับกองทุนกองนี้
“ธปท.ควรมีสิทธิหักภาระค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องได้ ซึ่งมีอยู่ 2 ส่วนคือ 1.ค่าใช้จ่ายภาระดอกเบี้ยจากการออกพันธบัตร ออกตราสารหนี้ต่างๆ และ 2. ค่าใช้จ่ายของทีมงานที่ดูแลระบบการลงบัญชี โดยทั้ง 2 ส่วนนี้รัฐบาลจะยอมให้ ธปท.หักค่าใช้จ่ายได้เต็มที่ ก่อนที่กำไรที่เหลือจะตกเป็นของรัฐบาล ซึ่งจริงๆ แล้วในปัจจุบันมีหลายประเทศที่ถือว่าทุนสำรองเป็นของรัฐบาลด้วยซ้ำ”
หรือสรุปง่ายๆ ก็คือรัฐบาลต้องการดึงเงินจากคลังหลวงออกไปเพื่อแสวงหากำไรเป็นประการสำคัญ และรัฐบาลเป็นผู้มีสิทธิอันชอบธรรมในการใช้เงินจากกำไรที่เกิดขึ้น
หรือสรุปง่ายๆ ก็คือ รัฐบาลชุดนี้มีความกระเหี้ยนกระหือรือที่จะนำเงินทุนสำรองหรือที่รู้จักกันในชื่อคลังหลวงมาบริหารจัดการเอง
ดังนั้น คำถามสุดท้ายที่รัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์จะต้องตอบก็คือ แนวนโยบายของรัฐบาลชุดนี้จะมุ่งเน้นไปที่การนำพาเศรษฐกิจของชาติก้าวเข้าสู่ทุนนิยมเสรีเต็มตัวด้วยการทำให้คลังหลวงของประเทศมีความเสี่ยงเช่นนั้นหรือ เพราะชื่อของกองทุนก็มีความชัดเจนอยู่ในตัวแล้วว่า ตั้งขึ้นมาเพื่อความมั่งคั่งไม่ใช่ตั้งขึ้นมาเพื่อ “ความพอเพียง”
และเช่นเคยเมื่อโยนหินถามทางแล้วสังคมไม่ตอบสนอง “นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” นายกรัฐมนตรีเจ้าของฉายา “ดีแต่โม้โมเดล” ก็ทำเป็น “คันหูไม่รู้ปูเป็นอะไร” ด้วยการออกตัวเหมือนเรื่องอื่นๆว่า ไม่รู้ ไม่เห็น ไม่ใช่นโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล
“ขณะนี้เรายังไม่ได้หารือถึงรายละเอียดกองทุนมั่งคั่ง เพราะขณะนี้เป็นแค่แนวทางในการศึกษาเท่านั้น ยังไม่มีนโยบาย และรายละเอียด ควรจะรอให้หารือทั้งหมดจะดีกว่า ซึ่งเราคงต้องไปศึกษาในข้อกฎหมายและรายละเอียดอีกครั้งเสียก่อน… เป็นเพียงแค่การหารือของรัฐมนตรีเท่านั้น แต่ยังไม่ได้หารือในระดับเนื้อหาของโครงการดังกล่าวเลย ...เรื่องนี้คงอีกนาน ขอหารือและศึกษาก่อนในเงื่อนไขของกองทุนทั้งหมด และขนาดของโครงการจะดีกว่า”
สุดท้ายคงต้องขอน้อมนำพระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่พระราชทานแด่คณะผู้บริหารของสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เมื่อ 6 กันยายน 2554 มาเป็นเครื่องเตือนใจแก่ผู้มีอำนาจในบ้านนี้เมืองนี้.....
“คำว่าเศรษฐกิจพอเพียงนี้ คนบอกว่าทำแบบเล่นๆ อย่าทำเป็นเล่นเกินไป แต่ว่าเป็นการล้อคำว่าเศรษฐกิจและพอเพียง ตอนนี้ไม่มีคนเข้าใจว่า พอเพียงคืออะไร แต่ถ้าความคิดของตัวพอเพียงก็แปลว่า ทำอะไรไม่ฟุ่มเฟือย ไม่ฟุ้งซ่านและทำให้ได้ผล ผู้ที่เป็นผู้เชี่ยวชาญต้องพยายามที่จะอธิบายว่าเป็นเศรษฐกิจและความพอเพียงก็คือความไม่ฟุ้งซ่าน ไม่ทำอะไรให้เกินไป ทำอะไรให้ได้ผล เมื่อทำแล้วได้ผลในการทำ ถ้าได้ผลก็หมายความว่า ประหยัด สำหรับชาวบ้าน คนที่ทำเศรษฐกิจนี้ ผู้ที่เป็นนักทฤษฎีหรือผู้ที่เป็นผู้เชี่ยวชาญต้องหาเหตุผลของเศรษฐกิจพอเพียง ถ้าหาเหตุผลได้ก็เชื่อว่า เหตุผลดีจะได้ประโยชน์ ชาวบ้านก็จะได้ประโยชน์ ประเทศจะได้ประโยชน์ เมื่อได้ประโยชน์แล้ว เขาก็จะมีความร่ำรวยขึ้นโดยที่ไม่ต้องลงทุนอะไรมากมาย ถ้าทำได้แล้วจะเป็นการช่วยประเทศชาติให้อยู่ได้ ถ้าไม่เอาใจใส่ในความคิดเหล่านี้ งานทั้งหลายที่เราทำจะไม่เกิดประโยชน์อะไรเลย”