สมการการเมือง
โดย : พาณิชย์ ภูมิพระราม
ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ - การบ้านของรมว.คลัง ที่มอบให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เกี่ยวกับแนวทางการจัดตั้ง “กองทุนมั่งคั่ง” ได้รับการคัดค้านอย่างหนัก เนื่องจากสังคมไม่ไว้ใจ “ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล” รมว.คลัง
สาเหตุของความไม่ไว้ใจก็เพราะสังคมไม่มั่นใจว่า ธีระชัย มือสะอาด ใจซื่อ พอที่จะจัดตั้งกองทุนที่มีมูลค่ามหาศาลขนาดนั้นได้หรือเปล่า ?
ที่สำคัญคือ การนำเงินทุนสำรองระหว่างประเทศของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่งอยู่ในบัญชีทุนสำรองระหว่างประเทศ ซึ่งมีมูลค่าประมาณ 1.9 แสนล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 5.7 ล้านล้านบาท ( คิดอัตราแลกเปลี่ยน 30 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ )
แต่ ธีระชัยกลับแสดงวาจานักเลงโต วิจารณ์การทำงานของแบงก์ชาติว่า บริหารทุนสำรองขาดทุนมหาศาล ทั้งๆ ที่เป็นการขาดทุนทางบัญชี
ธีระชัย บอกผ่านทางเฟซบุ๊กว่า ธปท.บริหารทุนสำรองมีผลขาดทุนจากดอกเบี้ยและอัตราแลกเปลี่ยนสูงถึง 117,473 ล้านบาท และยังมีขาดทุนจากการตีราคาหลักทรัพย์อีก 260,211 ล้านบาท ซึ่งเป็นการขาดทุนที่จะต้องมีการแก้ไข
“ณ สิ้นปี 2553 ธปท. มีส่วนของทุนติดลบเป็นจำนวนเงินมหาศาล ซึ่งสูงติดลบ 431,829 ล้านบาท ถ้าเป็นธุรกิจเอกชน ก็จะต้องปิดกิจการไปแล้ว”
ถ้าเป็นธุรกิจเอกชนก็จะต้องปิดกิจการไปแล้ว....มันร้ายแรงขนาดนั้นเลยหรือ !!?
การขาดทุนทางบัญชีของแบงก์ชาติ หมายความว่า ปริมาณเงินดอลลาร์ที่แบงก์ชาติถือไว้ทั้งหมดยังมีอยู่เท่าเดิม แต่เมื่อคิดเป็นเงินบาทเปรียบเทียบระหว่างปี 2540 กับ 2553 แล้ว แบงก์ชาติย่อมขาดทุนในรูปเงินบาทไปแล้ว 10 บาท ต่อหนึ่งดอลลาร์สหรัฐ
ยกตัวอย่าง เช่น หากแบงก์ชาติถือครองเงินดอลลาร์อยู่ 1 ล้านดอลลาร์ เมื่อปี 2540 และปัจจุบันแบงก์ชาติยังถือครองเงินดอลลาร์ในปริมาณเท่าเดิม โดยไม่นำไปใช้จ่ายใดๆ เงิน 1 ล้านดอลลาร์เมื่อปี 2540 มีมูลค่าเท่ากับ 40 ล้านบาท เพราะเวลานั้นอัตราแลกเปลี่ยนเท่ากับ 40 บาท ต่อดอลลาร์สหรัฐ เงิน 1 ดอลลาร์ก้อนเดียวกันในปี 2553 มีมูลค่าเท่ากับ 30 ล้านดอลลาร์ เพราะปัจจุบันอัตราแลกเปลี่ยนประมาณ 30 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ
นั่นหมายความว่า แบงก์ชาติขาดทุนทางบัญชีไปแล้ว 10 ล้านบาท เมื่อคิดในรูปเงินบาท แต่ข้อเท็จจริงก็คือ แบงก์ชาติยังถือเงินดอลลาร์สหรัฐเท่าเดิม
การกล่าวหาของธีระชัย ทำให้นักการเงิน นักเศรษฐศาสตร์ อดสูกับพฤติกรรมนักการเมืองของรมว.คลัง จนหลายคนเชื่อว่า ธีระชัย วิจารณ์การทำงานของแบงก์ชาติ เพราะต้องการเปลี่ยนแปลงผู้บริหารแบงก์ชาติ
นอกจากนั้น ธีระชัย ต้องการใช้เงิน 5.7 ล้านล้านบาท ที่เป็นทุนสำรองเงินตาต่างประเทศ มาจัดการตั้งกองทุนมั่งคั่ง
"การตั้งกองทุน จะยืมเงินสำรองเงินตราต่างประเทศของ ธปท. ส่วนหนึ่งมาทำเป็นบัญชีย่อยลงทุนหาผลประโยชน์ หากกำไร ก็ตกเป็นของรัฐบาล และหากขาดทุน ก็ต้องตั้งเงินงบประมาณแผ่นดินมาชดใช้ความเสียหาย" ธีระชัย ตอกย้ำเจตนารมณ์ที่บิดเบี้ยว
บิดเบี้ยวเพราะวิจารณ์ว่า แบงก์ชาติบริหารทุนสำรองจนขาดทุน แต่กลับต้องการเงินทุนสำรองเงินตราต่างประเทศมาบริหารเสียเอง
แม้ธีระชัย จะบอกว่า การดึงเงินสำรองมาตั้งกองทุน จะไม่เข้าไปแตะต้องเงินบริจาคของหลวงตามหาบัว ที่ตอนนี้เก็บไว้ในรูปของทองคำแท่ง เพราะสามารถคัดแยกออกจากเงินกองทุนสำรองได้ไม่ยาก ว่ามีจำนวนเท่าไร ซึ่งรัฐบาลจะไม่นำเงินส่วนดังกล่าวมาตั้งกองทุน
แต่ลูกศิษย์หลวงตามหาบัว พระอาจารย์นพดล นัททโน เจ้าอาวาสวัดป่าดอยลับงา จังหวัดกำแพงเพชร ไม่เชื่อเช่นนั้น “เงินคลังหลวงมีไว้ใช้ยามฉุกเฉิน ไม่ได้มีไว้ให้ไปลงทุนซื้อหวย หากำไร คลังหลวงไม่ได้หมายความเงินและทองที่หลวงตาบริจาคเท่านั้น แต่คลังหลวงหมายถึงเงิน และบัญชีของฝ่ายออกบัตรทั้งหมด"
นั่นจึงทำให้ ธีระชัย เริ่มเสียงอ่อนลงโดยเขาบอกผ่านเฟสบุ๊กว่า “ยังไม่ใช่เรื่องเร่งด่วน”
กองทุนมั่งคั่ง (Sovereign Wealth Fund) ในปัจจุบันมีทั้ง 51 กองทุนกองทุน ที่คนไทยคุ้นชื่อกันดีก็คือ กองทุนเทมาเส็ก (Temasek Holding) และกองทุนรัฐบาลสิงคโปร์ (GIC: Government of Singapore Investment Corporation) หรือกองทุนอาบูดาบี (Abu Dhabi Investment Authority) ของสหรัฐอาหรับเอมิเรสต์
กองทุนมั่งคั่งที่เก่าแก่ที่สุดในโลกก็คือ กองทุนของรัฐบาลคูเวต (Kuwait Investment Authority) ซึ่งจัดตั้งในปี 1953 ประเทศที่มีการจัดตั้งกองทุนมั่งคั่งมากที่สุดในโลกก็คือ ประเทศจีน
กองทุนมั่งคั่งจึงหมายถึงกองทุนของรัฐบาล ที่มีทุนเป็นสินทรัพย์ต่างประเทศและมีการบริหารจัดการแยกจากสินทรัพย์ประเภทอื่นๆ ของประเทศ
รูปแบบการลงทุนก็มีหลากหลาย ทั้งการลงทุนในหลักทรัพย์ประเภทต่างๆ ที่มีความเสี่ยงต่ำ และมีความเสี่ยงมาก เช่น พันธบัตร ตั๋วเงินคลัง หุ้น อสังหาริมทรัพย์ ตราสารอนุพันธ์ รวมทั้งธุรกิจ กิจการประเภทต่างๆ
แหล่งเงินทุนที่นำมาจัดตั้งกองทุนมั่งคั่ง อาจจะแบงกออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ ได้แก่
1. Commodity Funds จัดตั้งโดยมีแหล่งเงินจากการส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์ ซึ่งส่วนใหญ่ คือ น้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ซึ่งมาจากการจัดเก็บภาษี
2. Non-Commodity Funds ซึ่งจัดตั้งโดยนำสินทรัพย์เงินตราต่างประเทศที่เป็นส่วนประกอบของทุนสำรองระหว่างประเทศแยกออกมาบริหารจัดการในรูปของกองทุนมั่งคั่ง
อย่างไรก็ตาม เหตุผลสำคัญที่ทำให้กองทุนมั่งคั่งไม่ได้รับความสนใจมากในระยะหลังก็คือ ขนาดใหญ่ของกองทุน จะส่งผลต่อตลาดหลักทรัพย์ของประเทศนั้นๆ นอกจากนั้นหลายประเทศ เริ่มมีความกังวลเรื่องความมั่นคง เพราะการแทรกแซงทางการเมือง รวมทั้งความโปร่งใสในการลงทุน
ประเด็นที่สำคัญที่สุดก็คือ หากอำนาจการบริหารจัดการไม่อยู่ภายใต้ธนาคารกลางของประเทศนั้น จะทำให้เครื่องมือ และเป้าหมายทางเศรษฐกิจไม่สอดคล้องกับการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจมหภาคได้
ความกังวลที่สำคัญที่สุดของการจัดตั้งกองทุนมั่งคั่งของไทยก็คือ หากผู้บริหารมือไม่สะอาดโอกาสที่จะนำเงินกองทุนไปซื้อหุ้นชินคอร์ป หรือ ไทยคม หรือ เอสซี แอสเสท ได้ไม่ยาก
คนที่เคยยืนยันว่า การซื้อหุ้นชินคอร์ป กว่า 7.3 หมื่นล้านบาทไม่มีข้อสงสัย สามารถทำอะไรได้ทั้งนั้น แม้ว่า สิ่งที่ทำจะผิดจรรยาบรรณ กฎข้อบังคับ ก็ตาม