xs
xsm
sm
md
lg

ธีระชัยบีบธปท. ฟื้น"ตะกร้าเงิน" ดึงม.หอการค้ากดดัน-ปัดล้างบางบิ๊กคลัง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เปิดเกมกดดันธปท. “ธีระชัย” ดึงม.หอการค้ากดดันผู้ว่าฯ แบงก์ชาติศึกษาระบบตะกร้าเงิน ระบุไม่ได้แทรกแซงแต่ต้องการข้อมูลทางวิชาการประกอบการตัดสินใจระบบการค้าในอีก 10 ปีข้างหน้า รื้อเอ็มโอยู “งบประมาณสมดุลปี 58” อ้างไอเอ็มเอฟแนะใช้นโยบายการคลังขยายตัวต่อไป พร้อมปัดข่าวล้างบางบิ๊กคลัง ปลัด-อธิบดีกรมภาษีเก้าอี้ร้อน

นายธีระชัย ภูวนารถนรานุบาล รมว.คลัง เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการติดตามภาวะเศรษฐกิจของประเทศว่า ได้มีการหารือเรื่องค่าเงินบาทที่ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ใช้ติดตามดูว่าค่าเงินบาทของไทยแข็งหรืออ่อนค่าเกินไป ด้วยการใช้ระบบตระกร้าเงินตามสัดส่วนการค้า จึงมอบหมายให้มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยทำการศึกษาว่า ระบบตะกร้าเงินของไทยในอีก 10 ปีข้างหน้าสัดส่วนการค้าจะต่างจากเดิมหรือไม่ สอดรับกับการค้าของไทยในอนาคตหรือไม่ เพราะสัดส่วนการค้าของประเทศในอาเซียนน่าจะสูงขึ้นรวมถึงจีนและอินเดียน่าด้วย จึงต้องการให้ศึกษาเพื่อเป็นข้อมูลในการดูแลค่าเงินบาทเพิ่มเติม

ทั้งนี้การศึกษาระบบตระกร้าเงินของธปท.ไม่ได้หมายว่าความว่า ระบบที่ใช้อยู่ในปัจจุบันไม่เหมาะสม เพียงแต่ต้องการศึกษาข้อมูลในเชิงวิชาการ เพื่อนำมาประกอบการพิจารณาคำนวณเรื่องนโยบายทางเศรษฐกิจและอัตราแลกเปลี่ยนในอนาคต ไม่ได้ต้องการแทรกแซงการดูแลอัตราแลกเปลี่ยนของธปท. เพราะหน้าที่ในการดูแลค่าเงินยังเป็นของธปท. เพียงแต่ต้องการดูสัดส่วนที่เหมาะสมทางวิชาการ และไม่ต้องการให้ถกเถียงเรื่องค่าเงินกันผ่านทางสื่อ ซึ่งคาดว่ามหาวิทยาลัยหอการค้าจะได้ข้อสรุปโดยเร็ว หากเห็นว่าปัจจุบันเหมาะสมแล้ว ก็ถือว่าจบไป

"คณะกรรมการชุดนี้ไม่ได้เข้าไปแทรกแซงการทำงานของธนาคารแห่งประเทศไทย แต่สิ่งที่คณะกรรมการชุดนี้ให้ทำเพื่อนำมาเปรียบเทียบเป็นข้อมูลในเชิงวิชาการ เพราะไม่อยากให้ถกเถียงเรื่องค่าเงินกันทางสื่อ...เรื่องตะกร้าเงินในอนาคตจะเป็นข้อมูลเชิงวิชาการ และจะได้นำมาใช้ประกอบการพิจารณาร่วมกัน"นายธีระชัย กล่าว

***ชู5ภารกิจเพิ่มศักยภาพแข่งขัน

นายธีระชัยกล่าวว่า ที่ประชุมยังตั้งเป้าหมายในการทำงาน 5 ประการคือ 1.เน้นกระบวนการสร้างอุปสงค์ในประเทศให้สามารถเกิดขึ้นได้และเป็นไปอย่างต่อเนื่อง 2.เร่งให้มีการปรับปรุงประสิทธิภาพด้านการผลิตของภาคเอกชนเพื่อรองรับการปรับขึ้นค่าจ้างและเงินเดือน 3.เร่งสร้างตลาดส่งออกใหม่ๆ เพื่อทดแทนตลาดหลัก 4.เร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอย่างต่อเนื่อง โดยเปิดโอกาสให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วม และ 5.การส่งเสริมให้ภาคเอกชนไปลงทุนในต่างประเทศมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนในรูปของหลักทรัพย์ หรือการตั้งโรงงาน โดยมอบหมายให้นายนริศ ชัยสูตร ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.) รับไปศึกษาและพิจารณาแนวทางการดำเนินงานแล้วนำกลับมาเสนอที่ประชุมในครั้งต่อไป

***ไม่ยืนยันทำงบสมดุลในปี 58

นายธีระชัยกล่าวว่า ไม่ยืนยันว่ารัฐบาลจะดำเนินนโยบายเข้าสู่งบประมาณแบบสมดุลภายในปี 58 ตามแนวทางของรัฐบาลชุดก่อนหรือไม่ ซึ่งคำเตือนของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ(IMF) ถือว่ามีความน่าสนใจ เพราะ IMF มองว่าสถานการณ์เศรษฐกิจโลกในปัจจุบันมีความเสี่ยงที่จะเกิดจากปัญหาเศรษฐกิจถดถอยมากกว่าความเสี่ยงที่จะเกิดจากปัญหาเงินเฟ้อ ดังนั้น ในระยะยาวการใช้นโยบายงบประมาณแบบสมดุลเป็นเรื่องที่ดี แต่หากรีบใช้นโยบายดังกล่าวเร็วเกินไป อาจทำให้การแก้ไขปัญหาจากผลกระทบของเศรษฐกิจของโลกทำได้ยากขึ้น

“IMF เตือนว่าหากมากังวลกับการทำให้สมดุลเร็วเกินไปจะทำให้การแก้ปัญหาเศรษฐกิจโลกยากมากขึ้น เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราจะต้องสื่อไปให้นักวิเคราะห์ต่างประเทศได้ทราบคือ เรายังยึดหลักของการมีวินัยทางการคลังอยู่ แต่เรายังไม่ฟันธงว่าจะสมดุลได้ในปีไหน” รมว.คลังกล่าว

ส่วนกรณีที่จะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างประเทศหรือไม่หากไม่ดำเนินการตามแนวทางที่รัฐบาลก่อนได้ลงนามในพันธสัญญาไว้ร่วมกับ 4 หน่วยงาน คือ กระทรวงการคลัง, สำนักงบประมาณ, ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.)ในการทำให้ประเทศเข้าสู่งบประมาณสมดุลในปี 58 นั้น รมว.คลัง ยืนยันว่า รัฐบาลชุดนี้คำนึงถึงการรักษาวินัยทางการเงินการคลังเป็นสิ่งสำคัญ คือ การรักษาระดับหนี้สาธารณะไม่ให้เกินไปกว่าเป้าหมาย รวมทั้งไม่ทำให้ยอดรายจ่ายในปีงบประมาณต้องมียอดการชำระหนี้เป็นรายจ่ายหลัก

***ปัดโยก "ปลัดคลัง-อธิบดีภาษี"

สำหรับกระแสข่าวใบสั่งโยกย้ายผู้บริหารของกระทรวงการคลัง ทั้งปลัดกระทรวงการคลัง และอธิบดีกรมภาษีทั้ง 3 กรมนั้น นายธีระชัยขอปฏิเสธที่จะชี้แจงกรณีดังกล่าว ท่ามกลาวข่าวลือที่แพร่สะพัดอย่างหนักภายในกระทรวง ซึ่งเชื่อกันว่า รัฐบาลชุดนี้ มีเป้าหมายที่จะโยกย้ายนายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงการคลังคลัง โดยจะโยกให้นางเบญจา หลุยเจริญ รองปลัดกระทรวงการคลัง ขึ้นเป็นปลัดคนใหม่แทน ตามที่พรรคเพื่อไทย (พท.) ซึ่งเป็นแกนนำรัฐบาลต้องการ

สำหรับสาเหตุที่รัฐบาลชุดนี้ ต้องการโยกย้ายนายอารีพงศ์ เพราะถูกมองว่า ตำแหน่งของนายอารีพงศ์เติบโตแบบก้าวกระโดดในยุครัฐบาลประชาธิปัตย์(ปชป.) สามารถขึ้นมานั่งตำแหน่ง อธิบดีกรมสรรพสามิต แค่ช่วงอายุ 50 เศษ และเพียงปีเดียวก็ได้นั่งเก้าอี้ปลัดกระทรวงการคลัง โดยข้ามหัวข้าราชการรุ่นพี่หลายคน

ขณะที่มองกันว่า นางเบญจา ถือว่ามีสายสัมพันธ์อันดีกับคนในรัฐบาล และพรรคเพื่อไทย เพราะก่อนหน้านี้เป็นหนึ่งในทีมผู้บริหารกรมสรรพากร ยุคนายศิโรตม์ สวัสดิ์พาณิชย์ เป็นอดีตอธิบดีกรมสรรพากร ที่ทำความเห็นว่า การขายหุ้นชินคอร์ปของครอบครัวชินวัตร ไม่ต้องเสียภาษี

โดยรายงานข่าวตามหน้าหนังสือพิมพ์วานนี้ ระบุว่า มีสัญญาณการเมืองหลายประการที่บ่งชี้ว่า คนในรัฐบาลไม่ให้ความสำคัญกับผู้บริหารของกระทรวงการคลังยุคที่เติบโตในยุครัฐบาล ปชป. เห็นได้จากการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เมื่อวันศุกร์ที่ 26 สิงหาคม 2554 ที่ผ่านมา
กำลังโหลดความคิดเห็น