xs
xsm
sm
md
lg

“ธีระชัย” บีบ ธปท.ฟื้น “ตะกร้าเงิน” ดึง ม.หอการค้า กดดัน-ปัดล้างบางบิ๊กคลัง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เปิดเกมกดดัน ธปท.“ธีระชัย” ดึง ม.หอการค้า กดดันผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ ศึกษาระบบตะกร้าเงิน ระบุ ไม่ได้แทรกแซง แต่ต้องการข้อมูลทางวิชาการประกอบการตัดสินใจระบบการค้าในอีก 10 ปีข้างหน้า รื้อเอ็มโอยู “งบประมาณสมดุลปี 58” อ้างไอเอ็มเอฟแนะใช้นโยบายการคลังขยายตัวต่อไป พร้อมปัดข่าวล้างบางบิ๊กคลัง ปลัด-อธิบดีกรมภาษีเก้าอี้ร้อน

นายธีระชัย ภูวนารถนรานุบาล รมว.คลัง เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการติดตามภาวะเศรษฐกิจของประเทศ ว่า ได้มีการหารือเรื่องค่าเงินบาทที่ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ใช้ติดตามดูว่าค่าเงินบาทของไทยแข็ง หรืออ่อนค่าเกินไป ด้วยการใช้ระบบตะกร้าเงินตามสัดส่วนการค้า จึงมอบหมายให้มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยทำการศึกษา ว่า ระบบตะกร้าเงินของไทยในอีก 10 ปีข้างหน้า สัดส่วนการค้าจะต่างจากเดิมหรือไม่ สอดรับกับการค้าของไทยในอนาคตหรือไม่ เพราะสัดส่วนการค้าของประเทศในอาเซียนน่าจะสูงขึ้นรวมถึงจีนและอินเดียน่าด้วย จึงต้องการให้ศึกษาเพื่อเป็นข้อมูลในการดูแลค่าเงินบาทเพิ่มเติม

ทั้งนี้ การศึกษาระบบตะกร้าเงินของ ธปท.ไม่ได้หมายความว่า ระบบที่ใช้อยู่ในปัจจุบันไม่เหมาะสม เพียงแต่ต้องการศึกษาข้อมูลในเชิงวิชาการ เพื่อนำมาประกอบการพิจารณาคำนวณเรื่องนโยบายทางเศรษฐกิจและอัตราแลกเปลี่ยนในอนาคต ไม่ได้ต้องการแทรกแซงการดูแลอัตราแลกเปลี่ยนของ ธปท.เพราะหน้าที่ในการดูแลค่าเงินยังเป็นของ ธปท.เพียงแต่ต้องการดูสัดส่วนที่เหมาะสมทางวิชาการ และไม่ต้องการให้ถกเถียงเรื่องค่าเงินกันผ่านทางสื่อ ซึ่งคาดว่า มหาวิทยาลัยหอการค้าจะได้ข้อสรุปโดยเร็ว หากเห็นว่าปัจจุบันเหมาะสมแล้ว ก็ถือว่าจบไป

“คณะกรรมการชุดนี้ไม่ได้เข้าไปแทรกแซงการทำงานของธนาคารแห่งประเทศไทย แต่สิ่งที่คณะกรรมการชุดนี้ให้ทำเพื่อนำมาเปรียบเทียบเป็นข้อมูลในเชิงวิชาการ เพราะไม่อยากให้ถกเถียงเรื่องค่าเงินกันทางสื่อ...เรื่องตะกร้าเงินในอนาคตจะเป็นข้อมูลเชิงวิชาการ และจะได้นำมาใช้ประกอบการพิจารณาร่วมกัน” นายธีระชัย กล่าว

***ชู 5 ภารกิจเพิ่มศักยภาพแข่งขัน
นายธีระชัย กล่าวว่า ที่ประชุมยังตั้งเป้าหมายในการทำงาน 5 ประการ คือ 1.เน้นกระบวนการสร้างอุปสงค์ในประเทศให้สามารถเกิดขึ้นได้และเป็นไปอย่างต่อเนื่อง 2.เร่งให้มีการปรับปรุงประสิทธิภาพด้านการผลิตของภาคเอกชนเพื่อรองรับการปรับขึ้นค่าจ้างและเงินเดือน 3.เร่งสร้างตลาดส่งออกใหม่ๆ เพื่อทดแทนตลาดหลัก 4.เร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอย่างต่อเนื่อง โดยเปิดโอกาสให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วม และ 5.การส่งเสริมให้ภาคเอกชนไปลงทุนในต่างประเทศมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนในรูปของหลักทรัพย์ หรือการตั้งโรงงาน โดยมอบหมายให้ นายนริศ ชัยสูตร ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) รับไปศึกษาและพิจารณาแนวทางการดำเนินงานแล้วนำกลับมาเสนอที่ประชุมในครั้งต่อไป

***ไม่ยืนยันทำงบสมดุลในปี 58
นายธีระชัย กล่าวว่า ไม่ยืนยันว่า รัฐบาลจะดำเนินนโยบายเข้าสู่งบประมาณแบบสมดุลภายในปี 58 ตามแนวทางของรัฐบาลชุดก่อนหรือไม่ ซึ่งคำเตือนของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ(IMF) ถือว่ามีความน่าสนใจ เพราะ IMF มองว่า สถานการณ์เศรษฐกิจโลกในปัจจุบันมีความเสี่ยงที่จะเกิดจากปัญหาเศรษฐกิจถดถอยมากกว่าความเสี่ยงที่จะเกิดจากปัญหาเงินเฟ้อ ดังนั้น ในระยะยาวการใช้นโยบายงบประมาณแบบสมดุลเป็นเรื่องที่ดี แต่หากรีบใช้นโยบายดังกล่าวเร็วเกินไป อาจทำให้การแก้ไขปัญหาจากผลกระทบของเศรษฐกิจของโลกทำได้ยากขึ้น

“IMF เตือนว่า หากมากังวลกับการทำให้สมดุลเร็วเกินไป จะทำให้การแก้ปัญหาเศรษฐกิจโลกยากมากขึ้น เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราจะต้องสื่อไปให้นักวิเคราะห์ต่างประเทศได้ทราบ คือ เรายังยึดหลักของการมีวินัยทางการคลังอยู่ แต่เรายังไม่ฟันธงว่าจะสมดุลได้ในปีไหน” รมว.คลัง กล่าว

ส่วนกรณีที่จะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างประเทศหรือไม่ หากไม่ดำเนินการตามแนวทางที่รัฐบาลก่อนได้ลงนามในพันธสัญญาไว้ร่วมกับ 4 หน่วยงาน คือ กระทรวงการคลัง, สำนักงบประมาณ, ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ในการทำให้ประเทศเข้าสู่งบประมาณสมดุลในปี 58 นั้น รมว.คลัง ยืนยันว่า รัฐบาลชุดนี้คำนึงถึงการรักษาวินัยทางการเงินการคลังเป็นสิ่งสำคัญ คือ การรักษาระดับหนี้สาธารณะไม่ให้เกินไปกว่าเป้าหมาย รวมทั้งไม่ทำให้ยอดรายจ่ายในปีงบประมาณต้องมียอดการชำระหนี้เป็นรายจ่ายหลัก

***ปัดโยก “ปลัดคลัง-อธิบดีภาษี”
สำหรับกระแสข่าวใบสั่งโยกย้ายผู้บริหารของกระทรวงการคลัง ทั้งปลัดกระทรวงการคลัง และอธิบดีกรมภาษีทั้ง 3 กรมนั้น นายธีระชัย ขอปฏิเสธที่จะชี้แจงกรณีดังกล่าว ท่ามกลางข่าวลือที่แพร่สะพัดอย่างหนักภายในกระทรวง ซึ่งเชื่อกันว่า รัฐบาลชุดนี้มีเป้าหมายที่จะโยกย้ายนายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงการคลังคลัง โดยจะโยกให้ นางเบญจา หลุยเจริญ รองปลัดกระทรวงการคลัง ขึ้นเป็นปลัดคนใหม่แทน ตามที่พรรคเพื่อไทย (พท.) ซึ่งเป็นแกนนำรัฐบาลต้องการ

สำหรับสาเหตุที่รัฐบาลชุดนี้ ต้องการโยกย้าย นายอารีพงศ์ เพราะถูกมองว่า ตำแหน่งของนายอารีพงศ์ เติบโตแบบก้าวกระโดดในยุครัฐบาลประชาธิปัตย์ (ปชป.) สามารถขึ้นมานั่งตำแหน่ง อธิบดีกรมสรรพสามิต แค่ช่วงอายุ 50 เศษ และเพียงปีเดียวก็ได้นั่งเก้าอี้ปลัดกระทรวงการคลัง โดยข้ามหัวข้าราชการรุ่นพี่หลายคน

ขณะที่มองกันว่า นางเบญจา ถือว่า มีสายสัมพันธ์อันดีกับคนในรัฐบาล และพรรคเพื่อไทย เพราะก่อนหน้านี้ เป็นหนึ่งในทีมผู้บริหารกรมสรรพากร ยุค นายศิโรตม์ สวัสดิ์พาณิชย์ เป็นอดีตอธิบดีกรมสรรพากร ที่ทำความเห็นว่า การขายหุ้นชินคอร์ปของครอบครัวชินวัตร ไม่ต้องเสียภาษี

โดยรายงานข่าวตามหน้าหนังสือพิมพ์ วานนี้ ระบุว่า มีสัญญาณการเมืองหลายประการที่บ่งชี้ว่า คนในรัฐบาลไม่ให้ความสำคัญกับผู้บริหารของกระทรวงการคลัง ยุคที่เติบโตในยุครัฐบาล ปชป.เห็นได้จากการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เมื่อวันศุกร์ที่ 26 สิงหาคม 2554 ที่ผ่านมา
กำลังโหลดความคิดเห็น