xs
xsm
sm
md
lg

รักของสี่นางเอก (และนางเอกในดวงใจของ “น.นพรัตน์”) : ดาบมังกรหยก (5)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


คอลัมน์ : บู๊ลิ้ม
โดย : พชร สมุทวณิช

เมื่อตอนที่แล้ว ผมเขียนถึง “4 นางเอก” ในนิยายจีนกำลังภายในเรื่อง “ดาบมังกรหยก” ไปแล้วสองคน คือ “ฮึงลี้” และ “จิวจี้เยียก” ถึงตอนนี้จะเขียนต่ออีกสองคน นั่นก็คือ “เสี่ยวเจียว” และ “เตี่ยเมี่ยง”

“เสี่ยวเจียว”
นั้นแรกเริ่มเดิมทีสวมบทบาทเป็นหญิงรับใช้ในนิกาย “เม้งก่า” โดยที่ผู้อาวุโสของนิกาย “เอี้ยเซียว” และบุตรสาว “เอี้ยปุกฮ่วย” พบเจอนางโดยบังเอิญกลางทะเลทราย กอดศพหญิงชายที่เธอบอกว่าเป็นบิดามารดาที่ล่วงเกินทหารมองโกลจึงโดนฆ่าตาย สองพ่อลูกนิกายเม้งก่าจึงรับมาอุปการะเป็นหญิงรับใช้ในนิกาย

อย่างไรก็ดี หลังจากกลับมายังนิกายเม้งก่า “เอี้ยเซียว” พบว่า หญิงรับใช้ “เสี่ยวเจียว” แม้อายุยังน้อย แต่มีความฉลาดหลักแหลมผิดธรรมดา สามารถทำความเข้าใจวิทยายุทธอันลึกซึ้งได้อย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ “เสี่ยวเจียว” ยังแปลงโฉมแสร้งอัปลักษณ์ตาเหล่ปากเบี้ยว ทั้งๆ ที่ความจริงหน้าตางดงาม เขาจึงสงสัยในชาติกำเนิดของนาง จนวันหนึ่ง “เอี้ยเซียว” พบเจอนางทำตนเหมือนสายสืบหาข้อมูลไปตามสถานที่ต่างๆ ในนิกาย จึงจับนางกักขังทรมานเจ็ดวันเจ็ดคืน แต่นางก็ยังไม่ยอมปริปาก ในที่สุดเขาจึงใช้โซ่ตรวนเหล็กดำจองจำนางไว้ จนภายหลัง “เตียบ้อกี๋” ขึ้นเป็นเจ้านิกาย นางจึงได้รับความเอ็นดู ยังคงสถานะหญิงรับใช้ในนิกายเม้งก่าเอาไว้

หลังจากนั้นต่อมา เกิดสถานการณ์การต่อสู้การทะเลระหว่างพวกของ “เตียบ้อกี๋” กับ “นิกายเม้งก่าเปอร์เซีย” ที่ถือเป็นต้นกำเนิดร่วมรากเหง้ากับนิกายเม้งก่าตงง้วน สถานการณ์ขับคับจนฝ่ายของ “เตียบ้อกี๋” แทบจะเอาชีวิตไม่รอด พร้อมกันนี้ความลับที่เป็นความเกี่ยวพันระหว่าง “เม้งก่าเปอร์เซีย” กับ “นิกายเม้งก่าตงง้วน” ก็เผยออกมาว่า แท้จริงแล้ว “เสี่ยวเจียว” คือบุตรสาวของ “ไดอีซี่” หรือ “ฮั่งฮูหยิน” ที่เป็นหนึ่งในสาม “ธิดาศักดิ์สิทธิ์” ผู้ที่จะได้รับสืบทอดประมุขฝ่ายเปอร์เซีย

ทั้งนี้ “ไดอีซี่” ถูกส่งตัวมายัง “ตงง้วน” เพื่อประกอบความดีความชอบเสาะหาเคล็ดวิชาของนิกายที่สาบสูญ แต่บังเอิญระหว่างฝังตัวอยู่กับ “เม้งก่า” นั้น บังเอิญสร้างสัมพันธ์รักกับ “ฮั่งโชยเฮียะ” และแต่งงานกันจากนั้นจึงสืบทอดทายาท “ธิดาศักดิ์สิทธิ์” ให้บุตรสาวคือ “เสี่ยวเจียว” และให้ปะปนขึ้นยอดเขากวงเม้งเต้งที่ตั้งนิกาย “เม้งก่า” เพื่อหาทางขโมยเคล็ดวิชา “เคลื่อนย้ายจักรวาล” แสร้งปิดบังรูปโฉมงดงาม ปลอมเป็นอัปลักษณ์ ส่วน “ไดอีซี่” แม้อายุสูงวัยแต่ก็ยังมีหน้าตางดงามเช่นกัน ก็แปลงโฉมอัปลักษณ์เช่นกันเป็น “นางเฒ่าดอกไม้ทอง” เพื่อไม่ให้ฝ่ายเปอร์เซียสืบทราบ

“เสี่ยวเจียว” นั้นตกหลุมรัก “เตียบ้อกี๋” แต่ตอนหลังเธอแม้ได้ทราบเคล็ดลับวิชาแต่ก็ไม่ประสงค์แพร่งพราย เนื่องจากความรักที่มีต่อชายหนุ่ม เธอกล่าวว่า “ข้าพเจ้าเพียงหวังเป็นหญิงรับใช้ของท่าน ปรนนิบัติท่านชั่วชีวิต ไม่แยกจากท่านตลอดกาล”

ทั้ง “ไดอีซี่” และ “เสี่ยวเจียว” ต่างตกอยู่ในห้วงแห่ง “ความรัก” ต่อชายหนุ่มตงง้วนในต่างยุคต่างสมัย ทั้งสองแม่ลูกประสบชาตะกรรมเช่นเดียวกัน แต่เนื่องด้วย “เตียบ้อกี๋” ตกอยู่ในอันตราย ในที่สุด “เสี่ยวเจียว” จึงยอมเสียสละกลับคืนสู่ความเป็น “ธิดาศักดิ์สิทธิ์” คืนสู่เปอร์เซียเพื่อคลี่คลายสถานการณ์

“หากวันนี้มิใช่สถานการณ์บีบบังคับ อย่าว่าแต่เป็นก่าจู้ ต่อให้เป็นจักรพรรดินีปกครองทั่วโลก ข้าพเจ้าก็ไม่ต้องการ” นางบอกกับ “เตียบ้อกี๋” ก่อนที่จะเปลี่ยนเสื้อผ้าปรนนิบัติเขาในฐานะหญิงรับใช้เป็นครั้งสุดท้ายทั้งน้ำตา

ก่อนแยกจากกันกาลนาน

“รัก”
ของ “เสี่ยวเจียว” ถือเป็น “รักอันบริสุทธิ์” ยอมสละความสุขส่วนตัวเพื่อชายคนที่เธอรักและพรรคพวกนิกาย “เม้งก่า” ของเขา ทั้งยังเป็นการตอบสนองความกตัญญูต่อมารดาและนิกายฝ่ายเปอร์เซียที่มีพระคุณกับครอบครัวของเธอ ดังนั้นผมจึงไม่แปลกใจที่ “กิมย้ง” ผู้แต่งนิยายจีนกำลังภายใน “ดาบมังกรหยก” เรื่องนี้กล่าวว่าเขาชอบ “เสี่ยวเจียว” คนนี้มากที่สุดในสี่นางเอก และหดหู่ใจอยู่บ้างที่เธอไม่ได้อยู่ร่วมกับ “เตียบ้อกี๋”

นอกจากนี้ “กิมย้ง” ยังได้ระบุถึงอีกสองสาวงามว่า ในเรื่องความสามารถเชิงการเมืองที่ “เตียบ้อกี๋” ไม่สันทัดนักในสามด้าน “อดทน-เด็ดขาด-ใฝ่สูงทะเยอทะยาน” กลับเด่นชัดในตัวของ “จิวจี้เยียก” และ “เตี่ยเมี่ยง” ทำให้ “กิมย้ง” กล่าวว่า “ทั้งสองแม้งดงาม แต่ไม่น่ารัก”

สาวคนสุดท้ายใน “สี่นางเอก” ที่จะพูดถึงก็คือ “เตี่ยเมี่ยง” ในส่วนของ “เตี่ยเมี่ยง” นี้ เป็นหญิงสูงศักดิ์เชื้อสายมองโกลชื่อว่า “หมิ่นหมิ่น” บิดาเธอคือ “เจ้าลื่อเอี้ยง” ที่มีฐานะเป็นทั้งเจ้าสูงศักดิ์และแม่ทัพใหญ่

บุคลิกของ “เตียเมี่ยง” เด่นชัดในเรื่องฉลาดหลักแหลมเจ้าอุบาย และบางครั้งดูเหมือนอำมหิตโหดร้ายในสายตาคนอื่น “เตียบ้อกี๋” ถึงกับเคยกล่าวหยอกล้อเธอว่า “รูปโฉมงดงามปานดอกท้อ จิตใจอำมหิตดุจอสรพิษ”

จริงๆ แล้ว หากจะว่ากันจริงๆ “เตียเมี่ยง” ในความเห็นของผมนั้น มีสองภาพที่ซ้อนกันอยู่ ภาพแรกคือหญิงสาวธรรมดาที่มีความน่ารักแสนงอนซุกซนเหมือนคนทั่วไป แต่อีกภาพหนึ่งคือ ผู้ที่มีความคิดอ่านหลักแหลม และเธอต้องเผชิญกับภยันตรายมากมาย โดยที่มักจะมี “เตียบ้อกี๋” เป็นองค์ประกอบอยู่ด้วย ด้วยเหตุนี้ จึงเป็นเหตุให้ การแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าต่างๆ ที่ “เตียบ้อกี๋” ไม่เด็ดขาด และไม่กล้าตัดสินใจ จนดูเหมือนบางครั้ง “เตียบ้อกี๋” จะแสดงให้เราเห็นภาพเหมือนคนอ่อนแอเสียด้วยซ้ำ การจัดการปัญหาต่างๆ ของ “เตี่ยเมี่ยง” บางครั้งจึงถูกมองว่าเต็มไปด้วยเล่ห์เหลี่ยมเพทุบายและอำมหิตโหดร้าย ทั้งนี้หากว่ากันจริงๆ แล้วเธอก็ทำเพื่อ “เตียบ้อกี๋” นั่นแหละ

“เตี่ยเมี่ยง” โดนปรักปรำว่าเป็นผู้สังหาร “ฮึงลี้” และขโมย “กระบี่อิงฟ้า” และ “ดาบฆ่ามังกร” จากการวางแผนของ “จิวจี้เยียก” ดังที่เกริ่นไปในตอนที่แล้ว แต่เธอก็ยัง “นิ่งและเยือกเย็น” เดินเกมที่จะแก้ข้อกล่าวหา ซึ่งจริงๆ เธอนั้นไม่ได้แคร์ต่อใครๆ แต่เธอเพียงต้องการเคลียร์ตัวเองกับ “เตียบ้อกี๋” ชายคนรัก

ถ้าพูดถึง “รัก” ของ “เตี่ยเมี่ยง” ที่มีต่อ “เตียบ้อกี๋” ผมก็คิดว่าไม่ได้แพ้สาวนางเอกคนอื่น เธอถึงกับตัดขาดพ่อลูก และความเป็นหญิงสูงศักดิ์ เพื่ออยู่ร่วมกับ “เตียบ้อกี๋” และตอนท้ายเรื่องเมื่อถึงคราวที่ “เตียบ้อกี๋” จะบอกเปิดใจว่ารักใครมากที่สุดในสี่นางเอก เขาก็บอกกับ “จิวจี้เยียก” ว่าคือ “เตี่ยเมี่ยง” ผู้นี้

“วันนี้ข้าพเจ้าหานางไม่พบ ตัวเองถึงคิดใคร่ตาย หากแม้นับแต่นี้ไม่อาจพบหน้านาง ข้าพเจ้าคงไม่มีชีวิตยาวนาน เสี่ยวเจียวจากข้าพเจ้าไป ข้าพเจ้าย่อมเศร้าเสียใจ เปียม่วย(ฮึงลี้ ที่ตอนนั้นเขาคิดว่าเธอตายแล้ว)เมื่อลาโลกไป ข้าพเจ้ายังลำบากใจยิ่งกว่า ส่วนท่าน ภายหลังท่านแปรเปลี่ยนเป็นเช่นนี้ ข้าพเจ้าทั้งปวดร้าวและเสียดาย แต่ว่า ข้าพเจ้าไม่อาจปิดบังท่าน หากข้าพเจ้าไม่สามารถพบพานเตี่ยโกวเนี้ยอีก ข้าพเจ้ายอมตายเสียประเสริฐกว่า”

เมื่อผมมีโอกาสได้คุยเรื่องนี้กับท่านอาจารย์ “น.นพรัตน์” ท่านอาจารย์กล่าวกับผมว่า สมัยก่อนท่านเคยชอบ “จิวจี้เยียก” เนื่องจากตัวละครนี้มีความซับซ้อนในตัว “กิมย้ง” ได้สร้างตัวละครขึ้นมา และเขียนบรรยายเรื่องต่างๆ เกี่ยวกับเธอได้อย่างลึกซึ้งและบรรยายได้อย่างสละสลวยงดงาม ในด้านการเขียนถือได้ว่า อ่านตัวละคร “จิวจี้เยียก” แล้วโดดเด่นมาก

“จิวจี้เยียก” ในความเห็นของ “น.นพรัตน์” ถือได้ว่าในฐานะความเป็น “ตัวละคร” เรียกได้ว่ามีความพิสดารมากที่สุดในจำนวนตัวละครทั้งหมด

เธอเริ่มจากฉายภาพหญิงสาวสาวสวยงามไร้เดียงสาและจิตใจดี ติดจะอ่อนต่อโลกเสียด้วยซ้ำ แต่ต่อมากลับมีความพลิกผันสู่ภาพของหญิงสาวเล่ห์เหลี่ยมซับซ้อน เจ้าเล่ห์เพทุบาย และโหดร้ายลุ่มลึก แต่ในบั้นปลายตอนท้าย กลับฉายภาพให้เป็นหญิงสาวที่กลับตัวกลับใจได้ และยังสะท้อนสภาพแวดล้อมต่างๆ นานาที่กดดันเธอ ทำให้คนอ่านรู้สึกว่า เธอเลวเพราะสถานการณ์บีบบังคับกดดัน และเราก็ปล่อยใจให้อภัยหญิงสาวที่กลับใจคนนี้ในท้ายสุดจนได้

ท่านอาจารย์ “น.นพรัตน์” ยังได้กล่าวเลยไปถึงเรื่องภาพรวมของ “ดาบมังกรหยก” ด้วยว่า นอกจากตัวละครที่โดดเด่นแล้ว สำหรับโครงเรื่องยังเป็นโครงใหญ่แต่ไม่เทอะทะ

“โครงใหญ่ ตัวละครซับซ้อน แต่ผู้เขียนควบคุมได้” ท่านอาจารย์ชมเชยฝีมือของ “กิมย้ง”

อย่างไรก็ดี เมื่อท่านอาจารย์ “น.นพรัตน์” กล่าวเบื้องต้นว่า สมัยก่อนท่าน “เคยชอบจิวจี้เยียก” แต่ถึงตอนนี้ ท่านกล่าวกับผมว่า “อาจจะเพราะเราอายุมากขึ้นอาจจะชอบความเรียบง่าย ถ้าจะถามว่าในสี่นางเอกของดาบมังกรหยก ตอนนี้ชอบใครมากที่สุด ขอเลือกเป็นเตี่ยเมี่ยง”

อาจกล่าวได้ว่า “เตี่ยเมี่ยง” เป็นตัวละครที่ไม่ซับซ้อนจนเกินไป ท่านอาจารย์ “น.นพรัตน์” สรุปสั้นๆ ว่า “เตี่ยเมี่ยงฉลาดหลักแหลม มีความคิด เจ้าปัญญา แต่ยังคงมีรายละเอียดเล็กน้อยที่น่ารัก”

ส่วนตัวผมเมื่ออ่านเรื่อง “ดาบมังกรหยก” ซ้ำแล้วซ้ำอีกหลายรอบในต่างกรรมต่างวาระ ผมมีความเห็นว่า “รัก” ของ “สี่นางเอก” นั้น อาจแบ่งได้เป็นสามส่วนหลักๆ ด้วยกัน หนึ่งคือ ความรักต่อเตียบ้อกี๋ สอง ความรักต่อสถาบันที่ตนเองสังกัด และสุดท้ายคือความรักต่อส่วนรวม

ทั้งสามส่วนนี้ ผมมอง “ตัวละครนางเอก” และ “รัก” ดังนี้

“ฮึงลี้” นั้น อาจจะกล่าวไว้ไม่ชัดเจนที่สุดในบริหารจัดการสามสัดส่วน อย่างกรณีของ “เตียบ้อกี๋” นั้น เธอยังสับสนอยู่ในความรักฝังใจวัยเด็กที่มีต่อ “เตียบ้อกี๋” กับชายหนุ่มที่เธอเจอทีหลังในคราบปลอมแปลงตัวเอง นอกจากนั้นเธอมีอดีตที่รันทด และไม่ได้มีปณิธานมากมายในเรื่อง “สถาบัน” กับ “สำนึกแห่งชาติ” มากนัก

เธอถือได้ว่าเป็นนางเอกที่ด้อยกว่าสามคนที่เหลือในความเห็นผม

“เสี่ยวเจียว”
หรือธิดานิกายศักดิ์สิทธิ์เม้งก่าเปอร์เซีย เธอจะแสดงถึงความรักต่อ “เตียบ้อกี๋” เป็นหลัก โดยละทิ้งความรักต่อ “สถาบัน” แต่สุดท้ายเธอก็แสดงความรักต่อชายหนุ่ม และยอมกลับไปจงรักภักดีต่อสถาบันเพื่อรักษาชีวิตชายคนรัก ในส่วนของ “เสี่ยวเจียว” นั้นถือเป็นหญิงสาวที่มีแง่มุมเช่นเดียวกับ “ฮึงลี้” คือทุ่มเทสัดส่วนความรักทั้งหมดที่ “เตียบ้อกี๋”

ความรู้สึกของผมที่มีต่อ “เสี่ยวเจียว” เป็นความ “สงสาร” มากกว่า “รัก”


จะเห็นได้ว่า “รัก” ของสองสาวแรกไม่ซับซ้อนมากมาย แต่ในกรณีอีกสองคนนั้น กลับมีสัดส่วนของ “รัก” ระหว่างสามเรื่องที่โดดเด่นกว่า

“จิวจี้เยียก” ในเรื่องของการจงรักภักดีกับความ “รักสถาบัน” ยอมละทิ้งทั้งความรักต่อ “เตียบ้อกี๋” และความรักเคารพต่อตนเองในการเป็นคนดี เพื่อสนองตอบต่อ “สถาบันง้อไบ๊” ของตนเอง และเธอยังละเลยที่จะนึกถึง “รักส่วนรวม” อีกด้วย เป็นการบริหารจัดการแบบเอียงกระเท่เร่

ตัวละครอย่าง “จิวจี้เยียก” นี้ แม้จะน่าสงสารและเป็นตัวละครที่โดดเด่นมากที่สุดคนหนึ่ง แต่ในการให้ความเคารพจากผมในฐานะคนอ่าน “จิวจี้เยียก” ถือว่า “สอบไม่ผ่าน”

สุดท้ายคือ “เตี่ยเมี่ยง” ผมมองว่า หญิงสาวผู้นี้ ผสมกลมกลืนกันดีระหว่างความรักใกล้ตัวที่สุด คือ “รักต่อเตียบ้อกี๋” และ “สำนึกส่วนรวม” เพราะเธอยอมช่วยเหลือชายหนุ่มที่เธอรักที่เผชิญปัญหาต่างๆ โดยที่ “เตียบ้อกี๋” นั้นทำไปก็เพราะ “สำนึกในชาติ” เธอยืนอยู่เคียงข้าง เป็นคู่คิด และยอมสละ “รักต่อสถาบัน” ยอมละทิ้งความเป็นหญิงสูงศักดิ์มองโกลเพื่อ “เตียบ้อกี๋”

“รัก” ของ “เตี่ยเมี่ยง” จึงผสมกลมกลืนอย่างลงตัวที่สุด ถ้าให้ผมเลือก ผมเลือกที่จะ “รัก” เธอผู้นี้มากกว่าคนอื่นๆ
กำลังโหลดความคิดเห็น