คอลัมน์ : บู๊ลิ้ม
โดย : พชร สมุทวณิช
“กิมย้ง”ได้เขียนเรื่อง “ดาบมังกรหยก” โดยมีชื่อภาษาจีนที่แปลเป็นไทยว่า “กระบี่อิงฟ้า ดาบฆ่ามังกร” แต่ที่มีการแปลเป็นภาษาไทยและใช้ชื่อว่า “ดาบมังกรหยก” นั้น น่าจะเป็นด้วยเหตุผลบางประการที่ผมเดาว่า “ดาบมังกรหยก” เป็นชื่อที่กระชับ และตรงประเด็นใจความสำคัญของท้องเรื่อง เนื่องจาก “ดาบฆ่ามังกร” นั้นเด่นกว่า “กระบี่อิงฟ้า” มากมาย และใช้ว่า “ดาบมังกรหยก” ก็เป็นความสอดคล้องให้รู้ว่าต่อจากภาคแรกก็คือ “มังกรหยก”
“ดาบฆ่ามังกร” คือหนึ่งในหัวใจของท้องเรื่อง เป็นสุดยอดศาสตราที่ชนชาวบู๊ลิ้มต่างหมายมั่นปั้นมือที่จะยึดครอง เพราะคำร่ำลือถึงสุดยอดวิชายุทธที่แอบซ่อนอยู่ ริเริ่มจากผู้คนจากค่ายสำนักชาวอธรรม ต้องการครอบครองสร้างความยิ่งใหญ่ หลังจากนั้นค่ายสำนักธรรมมะก็เข้าร่วมวงและแก่งแย่งกัน ในช่วงนำเรื่องช่วงที่สองต่อจากช่วงแรกคือเรื่องปฐมบทของ “เตียซำฮง” ดาบวิเศษเล่มนี้ตกอยู่ในมือของ “เจี่ยซุ่น” ที่มีฉายา “ราชสีห์ขนทอง” ก่อนจะถึงช่วงที่สามที่เป็นเนื้อหาหลักของเรื่องคือเรื่องราวที่มีแกนอยู่ที่ “เตียบ้อกี๋”
ครั้งที่ “เจี่ยซุ่น” ครอบครองดาบ เขากล่าวถึงดาบเล่มนี้ไว้ว่า “เราครอบครองดาบเล่มนี้ ผู้อื่นย่อมอิจฉาริษยา วันนี้บนเกาะภูเขาเฮ้งปั้วซัว ไม่มีผู้ใดเป็นคู่มือเรา... นับแต่ดาบเล่มนี้ถือจุติ ไม่ทราบเปลี่ยนเจ้าของกี่คน และไม่ทราบชักนำภัยฆ่าฟันให้แก่เจ้าของกี่ครั้ง วันนี้เราหยิบฉวยดาบไป ไหนเลยทราบว่าภายหน้าไม่มียอดฝีมือที่เข้มแข็งกว่าเราฆ่าประหารเราหยิบฉวยดาบไป”
สำหรับประเด็นของ “ดาบฆ่ามังกร” ในนิยายจีนกำลังภายในเรื่อง “ดาบมังกรหยก” นี้ ผมคิดว่ามีเรื่องน่าสนใจที่ให้หยิบยกมาพูดคุยสองประการ คือประการแรก เรื่องราวของ “ความลับที่ซ่อนอยู่ในดาบ” ซึ่งหมายถึงสุดยอดวิชาสะท้านฟ้า ทั้งในด้าน “ตำราพิชัยสงคราม” ของ“งักฮุย” กับ “ตำราวิทยายุทธ” ที่หัวใจสำคัญคือ “คัมภีร์นพยม”
ทั้งสอง “ตำราและคัมภีร์สะท้านฟ้า” นี้ ได้รับการซุกซ่อนโดย “อึ้งย้ง” ที่ได้สร้างขึ้นและหล่อหลอมดาบ-กระบี่ขึ้น เพื่อเป็น “ที่ซ่อน” และ “กุญแจ” กระทำการก่อนเมืองเซียงเอี้ยงจะแตก เนื่องจากทัพมองโกลกล้าแข็งยากต้านทาน “ก๊วยเจ๋ง” และ “อึ้งย้ง” จึงยอม “สละชีพเพื่อชาติ” และได้วางรากฐานเอาไว้ใน “ความลับของกระบี่อิงฟ้า-ดาบฆ่ามังกร” เพื่อมุ่งหวังให้ชนรุ่นหลังใช้เป็นเครื่องมือในการก่อร่างสร้างทัพต่อสู้กับมองโกล
ดังที่ผมกล่าวถึงไปเมื่อตอนที่แล้วถึง การนำเอา “โครงสร้างบู๊ลิ้ม” มาสอดคล้องทาบซ้อนกับ “โครงเรื่องประวัติศาสตร์” ได้อย่างลงตัว ถือเป็นสุดยอดของ “กิมย้ง” ในการเอาเรื่องความรู้สึกของ “สำนึกแห่งชาติบ้านเมือง” เข้ามาร่วมเป็นแก่นแกน
“บู๊ลิ้ม” เป็นส่วนหนึ่งของ “ประเทศชาติบ้านเมือง” อย่างไม่อาจปฏิเสธได้
ความเป็นอยู่ใดๆ ในยุทธจักรของจอมยุทธไม่ว่าคนไหน ก็ล้วนแล้วแต่ผูกพันกับสถานการณ์โดยรวมของประเทศทั้งสิ้น
ในเรื่อง “ดาบมังกรหยก” นั้น ชนชาวบู๊ลิ้มทั้งหลาย จะมุ่งมั่นในเรื่อง “ความลับของดาบ” ในด้าน “คัมภีร์วิชาวิทยายุทธ” ที่ซ่อนอยู่ มากกว่าที่จะให้ความสนใจกับ “ตำรารบทัพจับศึก” ทั้งนี้อาจจะเพราะ“จอมยุทธ” เพียงมุ่งเน้นแต่วิชาฝีมือเฉพาะตัว มากกว่าที่จะคิดถึง “องค์รวม” ในความเป็นประเทศชาติ
เรียกได้ว่า มีจิตวิญญาณปัจเจกชน มากกว่า “สำนึกแห่งชาติ” ซึ่งทั้งนี้ถือเป็นเรื่องปกติของชนชาวบู๊ลิ้มอยู่แล้ว ที่จอมยุทธส่วนใหญ่ไม่ข้องแวะกับ “ทางการ” ไม่ยุ่งกับการแก่งแย่งทางการเมือง
ในนิยายจีนกำลังภายในส่วนใหญ่ที่เราอ่าน เราจะพบว่า แม้จะมีหลายเรื่องที่เอาเรื่องราวของการแย่งชิงราชบัลลังค์มาเกี่ยวพันกับบู๊ลิ้ม แต่หัวใจหลักแล้ว เป็นที่ยอมรับกันว่า “ราชอาณาจักร” กับ “บู๊ลิ้ม” นั้นถือว่าอยู่กันคนละส่วน
อย่างไรก็ดี ในสมัยที่เป็นโครงเรื่องของ “มังกรหยก” ไปจนถึง “ดาบมังกรหยก” นั้น ถือว่าบ้านเมืองอยู่ในช่วงถูกรุกรานโดยมองโกล ดังนั้น เรื่องราวของ “ดาบมังกรหยก” จะมี “ประเด็นคู่ขนาน” ที่เป็น “ความลับที่ซ่อนในดาบ” ถูกหล่อหลอมด้วยพระเอกของเรื่อง นั่นก็คือ “เตียบ้อกี๋” นั่นเอง
ทั้งนี้ในฉากที่จอมยุทธทั้งค่ายธรรมมะและอธรรม จัดงานชุมนุมกันบนยอดเขาที่ตั้งวัดเสี่ยวลิ้มยี่ ฝ่ายมองโกลก็ถือโอกาสล้อมปราบ ยกทัพเข้ากวาดล้างจอมยุทธซึ่งถูกมองว่าอาจเป็นเภทภัยต่อทางการ “เตียบ้อกี๋” ก็ได้นำเอา “ตำราพิชัยสงคราม” ที่ซ่อนอยู่ในดาบ ออกมาวางแผน “รบทัพจับศึก” กับพวกมองโกล ทั้งนี้หลังจากที่ทราบแน่แล้วว่า แม้แต่ละคนจะเยี่ยมเปี่ยมวรยุทธก็ไม่สามารถจะหลีกพ้นภัยร้ายจากการล้อมปราบด้วยกองทัพจำนวนมากของมองโกลได้
ประเด็นนี้ทำให้เรามองเห็นว่า เรื่องของ “บู๊ลิ้ม” ในฐานะต่างคนต่างอยู่กับ “เรื่องราวของบ้านเมือง” จึงถูกสะท้อนออกมาให้เห็นภาพว่า แท้จริงแล้ว “เราท่านต่างเป็นส่วนหนึ่งของบ้านนี้เมืองนี้” หลังจากนั้นจึงก่อเกิดขึ้นเป็น “สำนึกในความเป็นชาติ” ขึ้นในที่สุด
นอกจากนี้ ก็มาถึงประเด็นที่สองที่จะพูดถึง ประเด็นนี้ผมกล่าวถึงไปแล้วบ้างในเรื่องประเด็นคลาสิกของ “กิมย้ง” ที่สะท้อนภาพได้เยี่ยมยอดในเรื่อง “เทพ” และ “มาร” ในหัวใจที่ว่า “เทพหรือมารนั้นสะท้อนได้ด้วยการกระทำ”
กรณีของ “ดาบมังกรหยก” นี้จะเห็นได้ว่า ฝ่าย “มาร” นั้น แย่งชิง “ดาบฆ่ามังกร” กันแบบทื่อๆ ซื่อๆ ดังที่ “เจี่ยซุ่น” กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า “ผู้มีฝีมือดีกว่าย่อมได้ครอบครองดาบ” แต่ในขณะที่ฝ่าย “เทพ” ผู้ไล่ล่าดาบ ไม่ลังเลที่จะใช่เล่ห์เหลี่ยมกลอุบายในการช่วงชิง
กรณีของ “แม่ชีง้อไบ๊” เห็นได้ชัดเจนที่เจ้าสำนักคนก่อน สั่งเสียให้ “จิวจี้เยียก” หาทางใช้เล่ห์กลอุบายเพื่อช่วงชิงดาบที่ซุกซ่อนความลับ โดยฝ่ายแม่ชีมี “กระบี่อิงฟ้า” ที่เป็น “กุญแจ” อยู่แล้วที่จะจัดการเปิดดาบอันเป็น “ที่ซ่อน” โดยมุ่งหวังที่เพียงกู้ชื่อเสียงเกียรติภูมิของสำนักตัวเองเป็นหัวใจหลัก
ในขณะที่ “เม้งก่า” แม้ถูกตราหน้าว่าเป็นค่ายนิกาย “มาร” กลับมีปณิธานในการขับไล่มองโกลให้พ้นจากประเทศ
มีฉากที่ผมประทับใจในตอนที่ “ห้าผู้พเนจร” ในนิกาย “เม้งก่า” ที่แยกตัวออกมาเพื่อไม่ต้องการร่วมวงช่วงชิงอำนาจในนิกายเจรจาเพื่อที่จะขึ้นยอดเขากวงเม้งเต้งเพื่อช่วงเหลือกรณีค่ายธรรมมะเตรียมบุกขึ้นล้มล้างอธรรม
หลวงจีนถุงผ้า กล่าวกับ เจียวเตียง ว่า...
“ครั้งกระโน้นเพราะเรื่องช่วงชิงตำแหน่งก้าจู้ (ประมุข) ทั้งหมดต้องแตกหัก กลับกลายเป็นศัตรู มาตรว่าเอี้ยเซียวมีจิตใจคับแคบ แต่เมื่อแยกแยะโดยละเอียด ห้าผู้พเนจรก็มีส่วนไม่ถูกต้อง...”
“เหลวไหล พวกเราทั้งห้าไม่คิดเป็นก่าจู้ มีอันใดผิดไป”
“ความผิดถูกที่ผ่านมา ต่อให้เถียงหกเดือนหนึ่งปีก็ไม่จบ เราถามท่าน ท่านใช่เป็นศิษย์นิกายเม้งก่าหรือไม่ วันนี้นิกายเราประสบภัยกรายกล้ำ หากพวกเรานิ่งดูดายไม่เกี่ยวข้อง ตายไปก็ไม่อาจพบเทพเม้งจุน เราเตรียมพลีชีพเพื่อนิกายบนยอดเขากวงเม้งเต้ง ท่านตระเตรียมเก็บศพพวกเราเถอะ”
จิวเตียงกระโดดปราดตบหน้าหลวงจีนถุงผ้าอย่างหนักหน่วงจนฟันหลุดมาหลายซี่ ทั้งหมดรวมทั้งเจียวเตียงถึงกับใจหายวาบแตกตะลึงลาน เนื่องเพราะวิทยายุทธทั้งสองพอๆ กัน แค่เพียงหลบหลีกหรือปิดป้องรับรองจิวเตียงไม่มีทางตบถูก จิวเตียงถึงกับลำบากใจสาหัสเพราะทั้งสองเป็นเพื่อนกัน
“หลวงจีนถุงผ้า ท่านตบตอบโต้มา ท่านไม่ตอบโต้ ไม่นับเป็นผู้คน”
“เรามีเรี่ยวแรง จะอดออมไว้ตบตีศัตรู ตบตีพวกเดียวกันทำอะไร”
จิวเตียงถึงกับเดือดดาลเป็นการใหญ่ ตวัดมือตบหน้าตัวเองอย่างหนักหน่วง จนฟันหักออกมาหลายซี่
“ท่านทำอะไร”
“เราไม่สมควรตบท่าน เรียกให้ตอบโต้ ท่านก็ไม่ตอบโต้ เราได้แต่ลงมือต่อตัวเอง”
“จิวเตียง เราท่านเป็นพี่น้อง พวกเรากำลังจะต่อสู้จนตัวตาย ท่านตบเราหนึ่งครั้งนับเป็นอย่างไรได้”
เมื่อได้ฟังดังนั้น เจียวเตียงถึงกับเปล่งเสียงร่ำไห้ออกมา กล่าวว่า “เราก็จะขึ้นสู่ยอดเขากวงเม้งเต้ง”
“เตียบ้อกี๋” ที่โดนจับอยู่ในถุงผ้าพลังจักรวาลของหลวงจีนถุงผ้า ถึงกับนึกขึ้นในใจว่า “คนทั้งห้ามีฝีมือสูงเยี่ยม นั่นไม่ต้องกล่าวถึง ที่หายากยิ่งคือ ทั้งหมดถือคุณธรรมธัมมะ ในนิกายเม้งก้ามียอดคนอยู่ไม่น้อย หรือว่าทุกผู้คนล้วนเป็นชนชาวอธรรม?”
ซึ่งประเด็นปัญหานี้ “เตียซำฮง” ได้เคยกล่าวไว้กับ “เตียฉุ่ยซัว” บิดาของเตียบ้อกี๋ในตอนที่เขาสารภาพว่าตกแต่งภรรยาที่เป็นธิดาของหัวหน้านิกายเหยี่ยวฟ้าที่เป็นค่ายพรรคอธรรม แม้จะเป็นต่างกรรมต่างวาระ ก็ถือได้ว่าเป็นการตอบข้อข้องใจของ “เตียบ้อกี๋” สำหรับข้อสงสัยนี้ได้เป็นอย่างดี
“นั่นเป็นไรไป ขอเพียงนางมีความประพฤติไม่เลวก็ใช้ได้แล้ว ต่อให้นางมีความประพฤติไม่ดี เมื่อขึ้นเข้าบู๊ตึ้งของพวกเรา หรือไม่สามารถเกลี้ยกล่อมกลับกลายนาง คนเราไม่สมควรมีจิตใจคับแคบเกินไป อย่าได้อวดตนว่าเป็นสำนักมาตรฐาน ดูแคลนผู้อื่นร่ำไป คำว่าธรรมมะอธรรม ความจริงยากแยกแยะ หากแม้นศิษย์ฝ่ายธรรมมะประพฤติไม่เที่ยงตรง ถือเป็นชนชาวอธรรม ส่วนชาวที่ถูกตราหน้าว่าเป็นฝ่ายอธรรมขอเพียงมีจิตใจมุ่งความดี ก็นับเป็นวิญญูชนอันเที่ยงธรรม”