คอลัมน์ : บู๊ลิ้ม
โดย : พชร สมุทวณิช
ผมเพิ่งอ่านนิยายจีนกำลังภายในเพื่อจะเตรียมการเขียนถึงในคอลัมน์ “บู๊ลิ้ม” นี้จบไปหนึ่งเรื่อง นั่นก็คือ “ศึกสายเลือด” ของ “เซียงกัวเตี้ย” เรื่องนี้เป็นเรื่องที่มีความซับซ้อนและเกร็ดรายละเอียดที่ต้องทำความเข้าใจมากมาย นิยายจีนกำลังภายในที่เข้าข่าย “แอ็คชั่นผสมดราม่า” มักเป็นเช่นนี้ หลังจากอ่านเรื่องนี้จบ จึงยังไม่อยากจะใช้วิจารณญาณส่วนตัวเขียนถึงในทันที แต่ได้นัดหมายปรมาจารย์นักอ่านนิยายจีนกำลังภายในที่เป็นผู้ใหญ่ที่เคารพ ได้ร่วมวงสนทนาถกเถียงกันเสียก่อนอย่างน้อยหนึ่งรอบ ผมจึงจะเขียนถึงเรื่อง “ศึกสายเลือด” หลังจากนั้น
ช่วงนี้หลายคนบอกว่า ผมมักจะหยิบเอาเรื่องเก่าหาอ่านยากมาเขียนติดๆ เมื่อเป็นเช่นนั้น จึงทำให้ผู้ที่ไม่ได้อ่านนิยายจีนกำลังภายในเรื่องที่ผมเขียนถึง เวลาอ่านคอลัมน์แล้วจะไม่ได้อารมณ์ร่วมไปกับบทความที่ผมชวนพูดคุย แต่บางคนก็บอกว่าไม่เป็นไร เพราะส่วนใหญ่ผมจะหยิบเอาเรื่องที่ผมประทับใจแนวคิดในเรื่องนั้นๆ เอามาเล่าถึง ไม่ได้วิเคราะห์เรื่องราวโดยรวม ไม่ได้เขียนเชิงวิจารณ์หนังสือ
ระหว่างการรอสนทนาจิบน้ำชาถก “ศึกสายเลือด” ของ “เซียงกัวเตี้ย” ก็มีโอกาสหยิบเอานิยายจีนกำลังภายในยอดนิยม “ดาบมังกรหยก” มาอ่านใหม่ เรื่องนี้ผมอ่านเมื่อนานมาแล้ว และยังไม่มีโอกาสหยิบมาอ่านซ้ำเสียที เรื่องราวของ “ดาบมังกรหยก” ที่เป็นภาคต่อจากมังกรหยกภาคแรกและภาคสอง แต่จริงๆ ความเกี่ยวพันระหว่าง “ดาบมังกรหยก” กับ “มังกรหยก” สองภาคแรกก็ไม่ได้ผูกพันกันเท่าไรนัก ใน “ดาบมังกรหยก” นี้ จอมยุทธในสองภาคแรกกลายเป็นแค่ตำนานที่กล่าวขานถึงสำหรับอนุชนรุ่นหลัง
บรรยากาศของเรื่องราว “ดาบมังกรหยก” อยู่ในส่วนท้ายของราชวงศ์หยวนและกำลังก้าวไปสู่ยุคหมิง ส่วนเนื้อหานั้น หัวใจของ “มังกรหยก” แต่เดิมคือเรื่องราวของตัวเอกที่มี “ปณิธานอันยิ่งใหญ่” รวมตลอดถึงความหมายของ “อุดมการณ์รักชาติ” แต่ในภาคของ “ดาบมังกรหยก” นี้ “เตียบ้อกี๋” ตัวเอกหลัก จะไม่ได้โดดเด่นเรื่องการมีอุดมการณ์อันยิ่งใหญ่มากมายอะไรนัก พร้อมกันนั้นก็อาจกล่าวได้ว่า เป็นการใช้แนวทางการเขียนเรื่องราวอีกรูปแบบหนึ่งของ “กิมย้ง” ซึ่งอาจจะอ่านสนุกในเชิง “บู๊ลิ้ม” มากกว่า มีตัวละครหลากหลาย และการต่อสู้เร้าใจมากมาย ในขณะที่ “มังกรหยก” เวอร์ชั่นของ “ก้วยเจ๋ง” นั้นอ่านแล้วจะจิตใจพองโตไปกับปณิธานหาญกล้าของตัวละคร
สำหรับการบรรยายเรื่องราวนั้น เรื่องของ “ดาบมังกรหยก” จะให้ความรู้สึกของความ “สมจริง” ในด้านการดำเนินชีวิตของมนุษย์ปุถุชนที่มีองค์ประกอบผลักดันจากสภาพแวดล้อม นอกจากนั้น ในเรื่องของ “ความรัก” ก็ให้ความรู้สึกสมจริงมากกว่ารูปแบบของเทพนิยายซาบซึ้งกินใจดังที่เราเห็นจาก “เอี้ยก้วย” และ “เซียวเล่งนึ่ง”
มีคำกล่าวว่า “ดาบมังกรหยก” นี้ อาจเรียกได้ว่าเป็นการเปิดเส้นทางการเขียนอีกรูปแบบหนึ่งของ “กิมย้ง” นำทางไปสู่เรื่องราวต่างๆ ต่อมา อย่างเช่น “กระบี่เย้ยยุทธจักร” และ “8 เทพอสูรมังกรฟ้า” คือนอกจากเรื่องของอุดมการณ์รักชาติแล้ว ยังมีจุดเด่นบางประการ เช่น เรื่องขนบธรรมเนียมของคำจำกัดความ “เทพ” และ “มาร” เป็นการลงในแก่นแกนของ “สายเทพ” และ “สายมาร” ไปอีกระดับหนึ่ง
เนื้อหาของ “ดาบมังกรหยก” นั้นแบ่งเป็นสามตอนแบบแยกออกจากกันเป็นเอกเทศ เริ่มจากตอนต้นที่อาจจะเรียกได้ว่าเป็นการเกริ่นนำสู่เรื่อง เป็นเรื่องราวที่เชื่อมต่อกับมังกรหยกภาคสองที่ยังอยู่ในยุคของ “เอี้ยก้วย” โดยเล่าถึงจุดแรกเริ่มของ “เตียกุนป้อ” ลูกศิษย์ของหลวงจีนวัดเส้าหลิน โดยมี “ก๊วยเซียง” เป็นตัวเชื่อมโยง จากนั้นจึงเข้าสู่เรื่องราวอีกเจ็ดแปดสิบปีให้หลังตอนที่ “เตียกุนป้อ” ก้าวขึ้นเป็นปรมาจารย์แห่งสำนักบู๊ตึ้งและใช้ชื่อว่า “เตียซำฮง” ไปแล้ว โดยมีตระกูล “เตียฉุ่ยซัว” ศิษย์อันดับห้า ในเจ็ดจอมยุทธบู๊ตึ๊งเป็นพระเอก จากนั้นจึงเข้าสู่ยุคของตระกูลเตียคนที่สาม “เตียบ้อกี๋” ที่เป็นลูกของ “เตียฉุ่ยซัว” ซึ่งเรื่องราวของ “เตียบ้อกี๋” ถือเป็นเรื่องราวหลักของ “ดาบมังกรหยก”
ผมจำได้ว่าสมัยเด็กๆ ผมเข้าใจว่ามังกรหยกนั้นมี 4 ภาค เนื่องจากสมัยนั้น สำนวนแปลของท่าน “จำลอง พิศนาคะ” ใช้ชื่อเป็นภาคสามและภาคสี่ ยิ่งกว่านั้น หนังทีวีที่ดูตอนเด็กๆ ก็ได้มีการทำหนังใช้ชื่อว่า “ลูกมังกรหยก” อีกต่างหาก
“ดาบมังกรหยก” นั้นถอดความมาจากเรื่อง “อี้เทียนตู้เล้งกี่” ที่แปลว่า “บันทึกอิงฟ้าฆ่ามังกร” ซึ่งก็เป็นการนำมาจากบันทึกประโยคร้อยเรียงที่มีความหมายสะท้อนปณิธานของคนยุคนั้นที่มุ่งมั่นล้มล้างราชวงศ์มองโกล เป็นการเปรียบมองโกลเป็นมังกรที่รอถูกประหารฆ่าล้าง มีหลายสำนวนที่แปลเป็นประโยคความเรียงสละสลวยปานบทกวีในภาษาไทยจากท่านผู้แปล “ดาบมังกรหยก” เรื่องนี้
ท่านอาจารย์ “ว ณ เมืองลุง” แปลไว้ว่า
“เทิดทูนเหนือหล้า ดาบฆ่ามังกร
ประกาศิตทุกชีวิต มิกล้าฝ่าฝืน
อิงฟ้าไม่มา ใครหาญกล้าต่อกร”
ส่วนสำนวนท่านอาจารย์ “น.นพรัตน์” มีดังนี้
“เทิดทูนอยู่เหนือยุทธจักร ดาบวิเศษพิฆาตมังกร
ประกาศิตทั้งไตรภพ มิกล้าไม่สยบนบนอบ
แม้นอิงฟ้าไม่อุบัติ ผู้ใดกล้าไม่สัประยุทธ์”
อย่างไรก็ดี ผมขออนุญาตอธิบายความด้วยการแต่งใหม่เป็นกลอนสี่สุภาพให้เข้าสไตล์ไทยๆ นะครับ
“สถิตย์เทิดทั่วหล้า จอมดาบ
ฆ่ามังกรสยบโลก แทบเท้า
ปวงชนระงมโศก สงัดนิ่ง เศร้าทวี
รอปรากฎอิงฟ้า จึงกล้าผจญศึก”
บันทึกนี้เป็นที่มาสองอาวุธ “กระบี่อิงฟ้า” และ “ดาบฆ่ามังกร” ในเรื่อง “ดาบมังกรหยก” นั่นเอง
ผมคงเขียนถึง “ดาบมังกรหยก” มากกว่าหนึ่งตอนนะครับ ในตอนแรกนี้ เมื่อพูดถึง “เตียซำฮง” ปรมาจารย์วิชาไทเก๊กแห่งสำนักบู๊ตึ๊งแล้ว ผมอดไม่ได้ที่จะพูดถึงหลักวิชาที่ผมชื่นชอบมากตั้งแต่ยังเด็ก นั่นคือเคล็ด “อ่อนสยบแข็ง”
นอกจาก “เตียซำฮง” ที่ปรากฏอยู่ใน “ดาบมังกรหยก” ผมยังจำได้ถึงครั้งยังเด็กๆ ที่มีหนังจีน “ฤทธิ์หมัดสะท้านบู๊ลิ้ม” ที่เป็นเรื่องของปรมาจารย์ “เตียซำฮง” ผู้นี้ ในหนังจะออกเสียงภาษาจีนกลาง “จางซานฟง” ที่ก่อนเปลี่ยนชื่อคือ “จางจินเป่า” แสดงโดย “ว่านจื่อเหลียง” และมีนางเอกที่แสดงโดย “หมี่เซียะ” ยังจำตอนที่ “จางจินเป่า” ฝึกรับเต้าหู้ได้ดี
ในเรื่อง “ดาบมังกรหยก” ช่วงต้นนี้ มีเรื่องราวของ “เตียซำฮง” กับเคล็ดวิชา “อ่อนนุ่มสยบแข็งกร้าว” กล่าวถึงวิถีแห่งเต๋า อ้างอิงคัมภีร์ “เต๋าเต็กเก็ง” ไว้ว่า “ยอมต่ำต้อย จึงรักษาตนไว้ ยอมงอจึงกลับตั้งตรงได้ ว่างเปล่าจึงเติมเต็ม ยอมเก่าจึงใหม่ได้ ผู้มีน้อยจักได้รับ ผู้มีมากกลับถูกลดทอน”
ปรมาจารย์ “เตียซำฮง” ก็หยิบเอาหลักการนี้เปิดโลกสู่วิทยายุทธมุมมองใหม่ และก้าวสู่ความยิ่งใหญ่ของ “บู๊ตึ๊ง” ที่ไม่แพ้ “เส้าหลิน” เลยทีเดียว
อย่างไรก็ดี ในคัมภีร์เต๋าเต็กเก็งนี้ ก็ยังได้กล่าวอีกว่า “คิดหมายหดสิ่งใด ต้องยืดขยายก่อน ปรารถนาอ่อนสิ่งใด ต้องทำให้แข็งก่อน หมายมั่นกำจัดสิ่งใด ต้องยกชูก่อน แม้นคิดครอบครองสิ่งใด ต้องหยิบยื่นให้ก่อน”
จะว่าไปแล้ว หลักการวิถีเต๋าในเรื่องนี้ เรียกได้ว่า ฟังง่ายพอเข้าใจได้ แต่หากจักลึกซึ้งกลับยากเหลือแสน และถึงแม้ทำความเข้าใจ พอเข้าสู่ขั้นตอนการปฏิบัติจริงก็ยิ่งยากขึ้นไปอีก
อย่างไรก็ดี หากพิจารณาแล้วจะเห็นได้ว่า “อ่อนสยบแข็ง” นี้ไม่ใช่เรื่องของการ “มุ่งไปสู่ฝั่งใดฝั่งหนึ่งเพียงอย่างเดียว” หากแต่ต้อง “สร้างสมดุล” ไม่ใช่ว่ามุ่งสู่ความอ่อนแล้วจะเอาชนะความแข็งได้ แต่ต้องเข้าใจทั้งสองด้านให้ถ่องแท้เป็นอันดับแรก ทั้งหมดนี้ก็ดังวิถีของเต๋าคือว่างเปล่าและสมดุล
คำอธิบายเรื่อง “อ่อนนุ่มสยบแข็งกร้าวได้ ต้องสร้างสมดุลก่อน” นี้ จริงๆ แล้วเคยปรากฏครั้งหนึ่งใน “มังกรหยกภาคแรก” ตอนที่ “ก้วยเจ๋ง” ประฝีมือกับซือแป๋ตัวเอง “อั้งฉิกกง” โดยที่ “ก้วยเจ๋ง” ใช้ “เพลงหมัดสูญจำรัส” เข้าต่อต้านสุดยอดแห่งความแข็งกร้าว “สิบแปดฝ่ามือพิชิตมังกร” ของ “อั้งฉิกกง”
ทั้งนี้ ใน “มังกรหยกภาคแรก” นั้น “กิมย้ง” ได้ยกคัมภีร์เต๋าเต็กเก็งมาอ้างถึง “เพลงหมัดสูญจำรัส” เช่นกัน โดยว่าไว้ดังนี้ “สรรพสิ่งในโลกไม่มีใดอ่อนนุ่มกว่าน้ำ การพิชิตสิ่งที่กร้าวแกร่ง ไม่มียิ่งใดกว่าน้ำ ความอ่อนพิชิตความแข็ง ความหยุ่นสะกดแกร่งกร้าว ต่ำใต้ไม่มีผู้ใดไม่ซึมซาบ หากแต่ไม่สามารถปฏิบัติ”
อันเพลงยุทธ “สิบแปดฝ่ามือพิชิตมังกร” นั้น แข็งกร้าวสุดยอดแห่งบู๊ลิ้ม ตามหลักการนั้น อ่อนหยุ่นสามารถพิชิตแข็งกร้าวจริง แต่ต้องดูด้วยว่า “อ่อนหยุ่น” สูงล้ำกว่า “แข็งกร้าว” หรือไม่ ด้านพลังฝีมือของ “อั้งฉิกกง” นั้น เหนือกว่า “ก้วยเจ๋ง” มากนัก ต่อให้ “จิวแป๊ะทง” ผู้บัญญัติ “เพลงหมัดสูญจำรัส” เอง ก็ไม่แน่ว่าจะเอาชัยได้ ดังนั้น “ก้วยเจ๋ง” จึงใช้วิชา “สองมือพันตูกันเอง” มือขวาใช้ออกด้วย “เพลงหมัดสูญจำรัส” ส่วนมือซ้ายใช้ออกด้วย “สิบแปดฝ่ามือพิชิตมังกร”
อ่อนหยุ่นผสมแข็งกร้าว เสริมส่งกันและกัน เปิดเผยชดเชยลอบเร้น กระบวนท่าแข็งกร้าวสุดยอด “สิบแปดฝ่ามือพิชิตมังกร” ของ “อั้งฉิกกง” แม้มีพลังฝีมือที่เหนือกว่ากลับมิอาจทำอะไร “ก้วยเจ๋ง” ได้
อ่อนสยบแข็งจะบังเกิดได้ ย่อมต้องผ่าน “ความพอดีแห่งสมดุล” เป็นเบื้องแรก