xs
xsm
sm
md
lg

“กองทุนมั่งคั่ง” จะล้วงเงินคลังหลวงที่หลวงตาฝากไว้ คิดดีแล้วหรือ !?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พิชัย นริพทะพันธุ์
ณ บ้านพระอาทิตย์
โดย...ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

ทีมเศรษฐกิจของพรรคเพื่อไทยดำเนินการเชิงรุกอย่างมาก และมีความคิดหลุดกรอบความคิดเดิมๆทางเศรษฐกิจ ซึ่งมีทั้งเรื่องที่น่าสนใจและเรื่องที่น่าเป็นห่วงในเวลาเดียวกัน

นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นผู้ที่ประกาศถึงแนวคิดที่จะนำเงินทุนสำรองระหว่างประเทศเอาไปลงทุนด้านพลังงานและด้านอื่นๆ โดยให้ความเห็นระหว่างวันที่ 15-16 สิงหาคม พ.ศ. 2554 ความตอนหนึ่งว่า:

“รูปแบบของการนำเงินทุนสำรองระหว่างประเทศไปลงทุน จะเป็นรูปแบบที่เรียกว่า การจัดตั้งกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ (Sovereign Wealth Fund) ซึ่งไม่ได้จำกัดการลงทุนอยู่ในการเข้าไปซื้อแหล่งพลังงานในต่างชาติเท่านั้น แต่หมายถึงการกระจายความเสี่ยงถือครองสินทรัพย์ที่ความมั่นคงสูงในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นทองคำ หรือเงินสกุลหยวน ซึ่งจากการที่ศึกษาพบว่าเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ ที่ ธปท. ควรมีไว้เพื่อเป็นหลักประกันความมั่นคง และค่าใช้จ่ายต่างๆของประเทศ ควรมีไว้ให้เพียงพอประมาณ 5-6 เดือนเท่านั้น ที่เหลือควรมีการนำไปลงทุนเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับประเทศมากขึ้นในอนาคต

ประเทศไทยมีเงินสำรองระหว่างประเทศสูงถึง 1.87 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งถือว่ามีความมั่นคงสูงและใช้อย่างไรก็ไม่มีวันหมดสิ้น ควรที่จะมีการนำไปลงทุนเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม ซึ่งการเข้าไปซื้อแหล่งพลังงานในต่างประเทศและทำการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม ให้เพียงพอที่จะเป็นปริมาณสำรองพลังงานในประเทศ ก็เป็นช่องทางหนึ่งที่ควรจะมีการพิจารณา”

จริงอยู่ที่ว่าการทำงานของธนาคารแห่งประเทศไทยที่ผ่านมามีปัญหาและสร้างความเสียหายอยู่ไม่น้อย นับตั้งแต่วิกฤติเศรษฐกิจ พ.ศ. 2540 ซึ่งสะท้อนถึงความอ่อนแอในการกำกับดูแลระบบสถาบันการเงินและการดูแลเรื่องค่าเงินบาทก่อนปี 2540 ที่ปล่อยให้มีเงินกู้นอกประเทศระยะสั้นไหลเข้าประเทศอย่างไร้ขีดจำกัด ลามมาจนถึงความเสื่อมศรัทธาของธนาคารแห่งประเทศไทยในปี 2540 ที่ได้เคยนำทุนสำรองระหว่างประเทศเกือบทั้งหมดไปเล่นพนันปกป้องการโจมตีค่าเงินจนพ่ายแพ้อย่างราบคาบ อีกทั้งในรอบไม่กี่ปีที่ผ่านมาธนาคารแห่งประเทศไทยถือทรัพย์สินเงินสกุลดอลลาร์มากเกินไปจนเกิดการขาดทุนอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราในที่สุด

ตัวเลขที่เป็นสักขีพยานแห่งความล้มเหลวของธนาคารแห่งประเทศไทยยังคงปรากฏให้เห็นเป็นที่ประจักษ์ในฐานะการเงินประจำสัปดาห์ของธนาคารแห่งประเทศไทยในปัจจุบันว่า...

ธนาคารแห่งประเทศไทยขาดทุนสะสมรวม 199,569 ล้านบาท!!!

ด้วยความล้มเหลวและไม่น่าไว้วางใจทั้งนักการเมืองและบทบาทของธนาคารแห่งประเทศไทย เวลาที่ผ่านมาทำให้ภาคประชาชนโดยเฉพาะลูกศิษย์ หลวงตามหาบัว ญาณสัมปัณโณ ต้องออกมาคัดค้านการรวมบัญชีที่รัฐบาลนายชวน หลีกภัยชุดที่ 2 หวังจะนำเงินจากทุนสำรองเงินตรา (คลังหลวง)ซึ่งมีเอาไว้ในการค้ำประกันหนุนหลังค่าเงินของประเทศไปล้างหนี้และความผิดพลาดของรัฐบาลและธนาคารแห่งประเทศไทย และต่อมาภาคประชาชนได้คัดค้านรัฐบาลพลเอกสุรยุทธ์ จุลลานนท์ ในปี 2550 ที่หวังจะแก้ไข พรบ. เงินตรา พ.ศ. 2501 ให้ธนาคารแห่งประเทศไทยนำเงินคลังหลวงไปลงทุนสินทรัพย์เอกชนได้

ความจริงแล้วไม่ได้แปลว่าทุนสำรองเงินตรา จะจำกัดให้ถือเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐอเมริกาแต่เพียงอย่างเดียว เพราะ พ.ร.บ.เงินตรา พ.ศ. 2501 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2521 ได้กำหนดเอาไว้ในมาตรา 30 ว่าให้สินทรัพย์ต่อไปนี้เป็นสิ่งอันชอบด้วยกฎหมายที่จะประกอบขึ้นเป็นทุนสำรองเงินตรา ได้แก่


(1)ทองคำ

(2)เงินตราต่างประเทศอันเป็นเงินตราที่พึงเปลี่ยนได้ หรือเงินตราต่างประเทศอื่นใดที่กำหนดโดยกฎกระทรวง ทั้งนี้ต้องเป็นรูปเงินฝากในธนาคารนอกราชอาณาจักรหรือในสถาบันการเงินระหว่างประเทศ

(3)หลักทรัพย์ต่างประเทศที่จะมีการชำระหนี้เงินตราต่างประเทศที่ระบุไว้ใน (2)


(4)ทองคำ สินทรัพย์ต่างประเทศ และสิทธิพิเศษถอนเงิน ทั่งนี้นำส่งสมทบกองทุนการเงิน

(5)ใบสำคัญสิทธิซื้อส่วนสำรอง

(6)ใบสำคัญสิทธิพิเศษถอนเงิน

(7)หลักทรัพย์รัฐบาลไทยที่จะมีการชำระหนี้เป็นเงินตราต่างประเทศที่ระบุไว้ใน (2) หรือเป็นบาท


(8)ตั๋วเงินในประเทศที่ธนาคารแห่งประเทศไทยพึงซื้อหรือรับช่วง ซื้อลดได้ แต่ต้องมีค่ารวมกันไม่เกินร้อยละยี่สิบของจำนวนธนบัตรออกใช้

สินทรัพย์ตาม (1) (2) (3) (4) (5) และ (6) นั้นธนาคารแห่งประเทศไทยจะต้องจัดดำรงไว้ให้มีค่ารวมกันทั้งสิ้นไม่ต่ำกว่าร้อยละหกสิบของจำนวนธนบัตรออกใช้

ในบรรดาสินทรัพย์เหล่านี้ หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน ได้ให้ความสำคัญกับการบริจาคทองคำจากประชาชนเข้าทุนสำรองเงินตรามากที่สุด โดยได้เคยเทศน์เอาไว้ความตอนหนึ่งว่า:

“ทองคำเป็นสิ่งที่ต้องการมากที่สุดเพื่อเป็นหลักสมบัติประกันชาติไทยของเราเมื่อมีทองคำมากแล้ว การพิมพ์ธนบัตรเพิ่มเติมใช้อีกก็ยังได้อีก ตามปริมาณของทองคำที่มีมากน้อยในคลัง นี่ยังมีส่วนได้อีกนะ เราจึงต้องเสาะแสวงหาทองคำมากที่สุดเป็นอันดับหนึ่งเลย ให้เป็นอันดับหนึ่ง เรียกว่าทองคำนี้เป็นสมบัติคงคลังว่างั้นเถอะ ให้เหลืองอร่ามอยู่ในคลังหลวงของเราแล้วสง่างามมองอาจกล้าหาญ ถ้ามีทองคำอยู่ในคลัง ถ้าไม่มีนี้ไม่องอาจนะ ถ้ามีทองคำคงคลังแล้วก็แน่นหนามั่นคง”

ถึงขนาดหลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน ได้จัดทำพินัยกรรมเอาไว้เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ.2543 (ขณะนั้นทองคำตลาดโลกราคา 275 ดอลลาร์สหรัฐต่อทรอยเอานซ์ ปัจจุบันราคา 1,789 ดอลลาร์สหรัฐต่อทรอยเอานซ์ หรือเพิ่มขึ้นเป็น 6.5 เท่าตัว) ความตอนหนึ่งว่า:


“ 1.บรรดาทรัพย์สินที่มีอยู่แล้วในขณะที่ข้าพเจ้ามรณภาพ และบรรดาทรัพย์สินต่างๆ ที่จะได้รับบริจากในงานศพของข้าพเจ้าให้จัดการดังนี้

1.1 ส่วนที่เป็นทองคำให้หลอมเป็นแท่ง

1.2 ส่วนที่เป็นเงินไม่ว่าจะเป็นสกุลใดให้นำเข้าซื้อทองคำแท่ง


ให้นำทองคำแท่งทั้งข้อ 1.1 และ 1.2 ไปมอบให้ธนาคารแห่งประเทศไทย โดยข้าพเจ้าไม่มีเจตนาที่ใช้บุคคลใดหรือคณะบุคคลใดนำไปใช้งานอันใด นอกจากเป็นเงินทุนสำรองของประเทศ”

ซึ่งถ้าธนาคารแห่งประเทศไทยยึดแนวทางของหลวงตาที่ได้เทศน์ชี้ทางสว่างมานานกว่า 10 ปีที่แล้ว ป่านนี้ประเทศไทยคงมั่งคั่งที่สุดมากกว่านี้หลายเท่านัก

แต่ในความเป็นจริงแม้แต่สินทรัพย์ที่เป็นอยู่ 8 ประการนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทยเพิ่งจะเริ่มสะสมทองคำเมื่อไม่นานมานี้เอง แสดงให้เห็นว่าธนาคารแห่งประเทศไทยยังล่าช้าจัดการบริหารได้ไม่ดีพอ แล้วใครจะไปไว้ใจในเรื่องการขยายขอบเขตให้ไปถือสินทรัพย์ของเอกชน หรือสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงมากกว่านี้ได้?

จะว่าไปแล้วหากปี 2550 มีการแก้ไข พรบ. เงินตรา ให้ธนาคารแห่งประเทศไทยขยายขอบเขตการลงทุนในทุนสำรองเงินตรามากกว่านี้ เราคงขาดทุนเจ๊งมากกว่านี้ไปแล้ว ด้วยความล่มสลายและถดถอยของตราสารหนี้ทั้งในสหรัฐอเมริกาและยุโรป

และเมื่อดูเช่นนี้ก็แสดงให้เห็นว่าสิ่งที่นายพิชัย นริพทะพันธุ์ ได้แนะนำว่า กองทุนมั่งคั่งนั้น จะลงทุนในทองคำ หรือ เงินสกุลหยวน แท้ที่จริงเป็นสิ่งที่ธนาคารแห่งประเทศไทยสามารถทำได้อยู่แล้วตามขอบเขตของ พ.ร.บ.เงินตรา พ.ศ. 2501 (แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2521) มาตรา 30 โดยไม่ต้องมีการตั้งกองทุนใดๆ ทั้งสิ้น เหลือเพียงแต่ว่าเราได้คนบริหารธนาคารแห่งประเทศไทยที่มีความสามารถ โปร่งใส และกล้าตัดสินใจหรือไม่เท่านั้น !?

ส่วนเรื่องน้ำมันและแหล่งพลังงานนั้นถือเป็นเรื่องที่สำคัญและเป็นยุทธศาสตร์ของโลกไปแล้ว แต่เรื่องน้ำมันและแหล่งพลังงานไม่น่าจะใช่วัตถุประสงค์และความเชี่ยวชาญของธนาคารแห่งประเทศไทย แต่น่าจะเป็นเรื่องของรัฐบาล กระทรวงพลังงาน และกระทรวงการคลังมากกว่า

ซึ่งก็ต้องตอบคำถามว่าแล้วเราจะมี ปตท. และ ปตท.สผ.ซึ่งกำลังสำรวจขุดเจาะพลังงานต่างประเทศไปเพื่ออะไร? และถ้าจะอ้างว่าว่า ปตท. และ ปตท.สผ. ไม่ใช่ของรัฐบาลทั้งหมด ก็ยิ่งต้องตอบคำถามให้ได้ว่าที่ผ่านมาเราจะไปแปรรูปรัฐวิสาหกิจเหล่านี้ไปทำไม? และทำไม่ไม่หาทางเอา ปตท. และ ปตท.สผ.กลับคืนมาเป็นของรัฐเหมือนเดิม

ยกเว้นเสียแต่ว่ารัฐบาลอยากจะจัดตั้ง “กองทุนมั่งคั่งแห่งชาติ” อย่างมากจนขัดขวางไม่ได้ รัฐบาลก็ควรไปดำเนินการโดยให้กระทรวงการคลังและกระทรวงพลังงานจัดตั้งกองทุนนี้เสียเอง แล้วรัฐบาลไทยระดมทุนออกพันธบัตรรัฐบาลไทยเป็นเงินบาทกู้ระยะยาว เพื่อส่งออกทุนเป็นดอลลาร์ไปซื้อแหล่งพลังงานในประเทศอื่น ซึ่งถ้าธนาคารแห่งประเทศไทยมีความสนใจก็จะสามารถแปลงสินทรัพย์ในส่วนที่เป็นดอลลาร์สหรัฐในทุนสำรองระหว่างประเทศไปลงทุนพันธบัตรรัฐบาลไทยได้ตาม พรบ.เงินตรา พ.ศ. 2501 มาตรา 30 (7)

ส่วนจะถึงขั้นที่กระทรวงพลังงานจะเสนอแก้ไข พรบ.เงินตรา พ.ศ. 2501 เพื่อหวังแปลงร่างให้ธนาคารแห่งประเทศไทยไปลงทุนเป็นเจ้าของกองทุนมั่งคั่งแห่งชาติ โดยล้วงเงินจากทุนสำรองเงินตราไปลงทุนทางพลังงานนั้น คงต้องเผชิญหน้ากับลูกศิษย์ของหลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน เป็นแน่ !

หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน
ซึ่งนอกจากจะทำนายคาดการณ์ล่วงหน้าเรื่องทองคำอย่างแม่นยำที่สุดยิ่งกว่านักวิชาการและนักการเงินคนใดแล้ว หลวงตาฯยังได้แสดงธรรมเกี่ยวกับเงินและทองคำที่บริจาคเข้าคลังหลวงเอาไว้ความตอนหนึ่งว่า:

“เงินนี้เป็นเงินพระนะ ไม่ได้เหมือนเงินธรรมดาของคนทั่วๆไป นี้รวมเข้ามาให้เราแล้ว กลายเป็นเงินพระไปแล้ว เป็นเงินสงฆ์ด้วย เพราะฉะนั้นใครจึงมาทำสุ่มสี่สุ่มห้าไม่ได้ ตกนรกไม่มีวันขึ้นเลย เรื่องนี้กรรมหนักนะ เพราะมหากุศลของชาตินี่นะ จะทำเล่นๆได้เหรอ จมอย่างไม่มีวันฟื้นเลย หมดทางเลยว่างั้นเถอะน่า ถ้าใครมาแต่มายุ่งกับเงินเหล่านี้ เพราะมันบาปหนัก กรรมหนักจริงๆไม่ใช่ธรรมดา ไม่ได้เหมือนเงินทั่วๆ ไป สงฆ์ยกให้เพื่อชาติ นั่นมีแต่เรื่องใหญ่ๆ ทั้งนั้น ฉะนั้นจึงได้เตือนไว้ให้ทราบทุกคน อย่ามาทำสุ่มสี่สุ่มห้าไม่ได้นะ”

กำลังโหลดความคิดเห็น