xs
xsm
sm
md
lg

นักเศรษฐศาสตร์เตือนวิกฤตหนี้สหรัฐฯ ป่วนโลก! ปัดฝุ่นกองทุนมั่งคั่งฯ รับมือ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


นักเศรษฐศาสตร์ เตือนความเสี่ยง “สหรัฐฯ” ผิดชำระหนี้ กระทบ “ดอลลาร์-บาท” ตลาดเงิน-หุ้นทั่วโลก ปั่นป่วนแน่ แนะ ธปท.ปรับสัดส่วนตะกร้าเงินด่วน ลดน้ำหนักถือครองดอลลาร์ หันไปเพิ่มสัดส่วนถือครองสินทรัพย์อื่น ทั้งทองคำ-น้ำมัน และไม่ควรใช้วิธีแทรกแซง “บาทอ่อน” เพราะช่วยส่งออกเพียงกลุ่มเดียว “คลัง” ปัดฝุ่นกองทุนมั่งคั่งแห่งชาติ รับมือ ศก.โลกป่วน

ศาสตราจารย์ดอกเตอร์ (ศ.ดร.) ตีรณ พงศ์มฆพัฒน์ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวแสดงความเป็นห่วงการแก้ปัญหาหนี้ในสหรัฐอเมริกา โดยมองว่า หากเกิดการผิดชำระหนี้เกิดขึ้น จะส่งผลให้ค่าเงินดอลล่าร์ รวมทั้งพันธบัตร (บอนด์) จะถูกลดความน่าเชื่อถือลงไป ซึ่งจะส่งผลต่อตลาดการเงิน ดัชนีอุตสาหกรรมดาวโจนส์ และตลาดหุ้นทั่วโลก

ปัจจุบัน รัฐบาลสหรัฐฯ โดยการนำของประธานาธิบดี บารัค โอบามา อยู่ระหว่างการหาทางประนีประนอมเพื่อให้บรรลุข้อตกลงผ่านร่างกฎหมายเพื่อขยายเพดานชำระหนี้ เพื่อมิให้เกิดผิดนัดชำระหนี้เกิดขึ้น

ศ.ดร.ตีรณ กล่าวแนะนำว่า สำหรับประเทศไทย สิ่งที่ควรทำ คือ ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ควรปรับสูตรตะกร้าเงินใหม่ โดยลดน้ำหนักค่าเงินสกุลดอลล่าร์ และบอนด์ของสหรัฐฯ ลงไป รวมทั้งค่าเงินสกุลอื่นๆ ที่อิงกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ในขณะเดียวกัน ธปท.น่าจะเพิ่มน้ำหนักกับค่าเงินกับสกุลเงินที่อื่นที่อิงค่าเงินดอลลาร์น้อย เช่น ค่าเงินรัสเซีย ยูโร และแคนาดา ซึ่งควรที่จะมีความกล้า ไปถือครองสินทรัพย์อื่นๆ เช่น ถือครองในทองคำ น้ำมัน และโลหะมีค่าชนิดอื่นๆ แทน

ศ.ดร.ตีรณ กล่าวเสริมว่า ธปท.ไม่ควรให้ความสำคัญกับเรื่องอัตราแลกเปลี่ยน หรือการใช้นโยบายบาทอ่อนเพื่อส่งเสริมการส่งออกมากเกินไป เพราะอัตราแลกเปลี่ยน มีผลต่อการส่งออกระยะสั้นเท่านั้น แต่ในระยะยาวควรใช้มาตรการให้ผู้ส่งออกไป ปรับปรุบคุณภาพสินค้า เพื่อส่งสริมการส่งออก มากกว่าการใช้บาทอ่อนอย่างเดียว

**คลังแนะตั้งกองทุนเลียนแบบเทมาเส็ก

นายนริศ ชัยสูตร ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่า กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดตั้งกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ (Sovereign Wealth Fund : SWF) โดยหลักการเรื่องการจัดตั้งกองทุนนี้ ถือว่าสำคัญ เพราะจะเป็นเครื่องมือสำคัญในการบริหารจัดการการลงทุนภาครัฐ ทั้งยังเป็นกลไกการรับมือความผันผวนทางเศรษฐกิจด้วย

ทั้งนี้ รัฐบาลใหม่มีนโยบายให้ตั้งกองทุน SWF เพื่อบริหารเงินทุนของประเทศ เหมือนกับกองทุนเทมาเส็กของประเทศสิงคโปร์ ดังนั้น คลังจึงต้องศึกษาความพร้อมเพื่อเสนอให้รัฐบาลตัดสินใจว่าจะดำเนินการหรือไม่

อย่างไรก็ดี การจัดตั้งกองทุน SWF ก็มีผลกระทบในหลายด้านด้วย จึงจำเป็นต้องมีการศึกษารายละเอียด เช่น การบริหารความเสี่ยง ความโปร่งใส ธรรมาภิบาล และความพร้อมของบุคลากร เป็นต้น

“แม้ว่า ประเทศไทยยังไม่มี SWF ในเร็ววันนี้ แต่ประเทศไทยควรจะมีการเตรียมความพร้อมของประเทศในฐานะผู้รับเงินลงทุนจาก SWF จากต่างประเทศ ที่มีการจัดตั้งกองทุนนี้จำนวนมาก ซึ่งการตั้งกองทุน SWF จะเป็นกองทุนเพื่อการลงทุนของรัฐบาลที่มีทุนเป็นสินทรัพย์ต่างประเทศ และมีการบริหารจัดการแยกจากสินทรัพย์อื่นๆ ของประเทศ โดยแหล่งที่มาของเงินทุนอาจมาจากเงินสำรองระหว่างประเทศ หรือรายได้ของภาครัฐ”

สำหรับกองทุน SWF นี้ เริ่มมีการตั้งกันมากว่า 50 ปีแล้ว โดยก่อตั้งครั้งแรกในประเทศคูเวต แต่เริ่มเป็นที่รู้จักและได้รับความสนใจมากขึ้น หลังจากที่สถาบันการเงินชั้นนำในสหรัฐได้รับผลกระทบจากปัญหาปัญหาหนี้ภาคอสังหาริมทรัพย์ (ซับไพรม์) ทำให้ต้องเพิ่มทุนเพื่อให้ธุรกิจสามารถดำเนินต่อไปได้ ซึ่งผู้ที่เข้าช่วยในการซื้อหุ้นหรือเพิ่มทุนให้กับสถาบันการเงินเหล่านี้ เป็นกองทุน SWF ของประเทศในแถบอาหรับและอาเซียน

“การตั้งกองทุน SWF คือ การบริหารจัดการเงินทุนให้ได้รับผลตอบแทนในอัตราที่สูงขึ้น โดยเฉพาะในกรณีที่เงินทุนสำรองระหว่างประเทศมีมากเกินความจำเป็นที่จะใช้ในการรักษาเสถียรภาพของค่าเงิน นอกจากนี้ SWF ยังใช้เป็นทางเลือกในการบริหารอัตราแลกเปลี่ยนทางอ้อมเพื่อไม่ให้ค่าเงินของตนแข็งค่าจนเกินไปอีกด้วย”

ปัจจุบันทั่วโลกมีกองทุน SWF รวมจำนวน 49 กองทุน มีมูลค่าสินทรัพย์รวมประมาณ 4.2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ นอร์เวย์ ซาอุดีอาระเบีย จีน สิงคโปร์ คูเวต และรัสเซีย ซึ่งเรียงตามลำดับประเทศที่มีขนาดสินทรัพย์ในกองทุน SWF ที่ใหญ่ที่สุด ส่วนในอาเซียนปัจจุบันมี 4 ประเทศ ที่ได้มีการตั้ง SWF แล้ว ได้แก่ สิงคโปร์ มาเลเซีย เวียดนาม และอินโดนีเซีย
กำลังโหลดความคิดเห็น