xs
xsm
sm
md
lg

คลังคงเป้าจีดีพี4.5% ไม่ขวางขึ้นค่าแรง-บาทแข็ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สศค.เผย จีดีพีไตรมาส 2 ขยายตัว 3.6% จากจำนวนนักท่องเที่ยวที่พุ่งสูงถึง 4.4 ล้านคน จากความสงบทางการเมือง คาดทั้งปี 54 ยังอยู่ในประมาณการเดิม 4-5% ยันปรับค่าแรง 300 บาท จะไม่กดดันให้เฟ้อเร่งตัวขึ้น เหตุยังมีกำลังการผลิตเหลือ ชี้บาทแข็งยังไม่กระทบความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

นายนริศ ชัยสูตร ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า เศรษฐกิจของไทยเดือนมิถุนายนและไตรมาส 2 ปี 54 ยังขยายตัวได้ต่อเนื่องทั้งความต้องการซื้อในประเทศและการส่งออก ทำให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ไตรมาส ขยายตัวได้ 3.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนและขยายตัวเพิ่มขึ้น 0.4% จากไตรมาสแรกปีนี้ โดยปัจจัยหลักที่ทำจีดีพีเติบโตขึ้นมาจากจำนวนนักท่องเที่ยวไตรมาส 2 ที่สูงถึง 4.4 ล้านคนขยายตัว 50.1% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนหนึ่งมาจากฐานที่ต่ำ จากปัญหาความไม่สงบทางการเมืองในช่วงเดือนพฤษภาคมปีที่แล้ว ทำให้นักท่องเที่ยวเดินทางมาท่องเที่ยวไทยลดลง

นอกจากนั้นในภาคการเงินของระบบธนาคารพาณิชย์ยังขยายตัวได้ดี โดยจะเห็นจากสินเชื่อที่ขยายตัวได้ถึง 14% ภาคการเกษตรเอง แม้ว่าจะชะลอลงบ้าง แต่ก็ยังขยายตัวได้ 6% จากไตรมาสแรก และคาดว่าในช่วงครึ่งหลังของปี จีดีพีจะขยายตัวประมาณ 5% โดยมีแรงขับเคลื่อนหลักที่สำคัญจากภาคการบริโภคในประเทศที่จะได้รับการกระตุ้นจากนโยบายรัฐบาล การลงทุนในประเทศและการส่งออก ซึ่งจะทำให้อัตราการขยายตัวของจีดีพีปีนี้ ยังเป็นไปตามประมาณการของ สศค.ที่คาดว่าจะขยายตัวได้ 4-5%

สำหรับเศรษฐกิจเดือนมิถุนายนนายนริศกล่าวว่า ยังคงขยายตัวต่อเนื่อง โดยเฉพาะการส่งออกที่ยังคงขยายตัวในในระดับสูง สะท้อนจากมูลค่าการส่งออกในรูปดอลลาร์สหรัฐที่สูงถึง 2.11 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐขยายตัว 16.8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน โดยเป็นการขยายตัวได้ดีของหมวดอุตสาหกรรมเกษตรและสินค้าเกษตร ขณะที่หมวดยานพาหนะยังกลับมาขยายตัวเป็นบวก จากที่หดตัวติดต่อกัน 2 เดือน โดยเป็นการขยายตัวแทบทุกตลาด โดยเฉพาะจีนและญี่ปุ่น ขณะที่อุปสงค์ในประเทศยังขยายตัวได้ดี โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชน สะท้อนจากภาษีมูลค่าเพิ่มที่ขยายตัว 12%

"การส่งออกที่ขยายตัวได้ดีกว่าที่คาดการณ์ไว้ จากได้รับแรงส่งจากเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าหลัก เช่น จีน และญี่ปุ่น ขณะที่การใช้จ่ายในประเทศยังคงขยายตัวได้ต่อเนื่อง แม้ได้รับผลกระทบจากข้อจำกัดของการผลิตรถยนต์ แต่จะมีแนวโน้มกลับมาขยายตัวได้ดีในช่วงที่เหลือของปี และมองว่า เศรษฐกิจไทยขณะนี้ไม่ได้ร้อนแรงเกินไป โดยจะเห็นได้จากอัตราการใช้กำลังการผลิตยังอยู่ระดับต่ำกว่า 60% ซึ่งยังสามารถขยายกำลังการผลิตได้อีกมากโดยไม่ได้เป็นแรงกดดันต่อเงินเฟ้อ ขณะที่ภาคแรงงานยังมีปัญหาขาดแคลน และมีการหมุนเวียนตามฤดูกาลของแรงงานภาคเกษตร และอุตสาหกรรม" นายนริศ กล่าว

นายนริศกล่าวนโยบายการปรับขึ้นค่าแรงงานขั้นต่ำเป็น 300 บาทว่า จากการศึกษาของ สศค. โดยประเมินแรงงานในเขต กทม. หากมีการปรับขึ้นค่าแรงจาก 215 บาท จะเป็นการปรับขึ้น 40% มีแรงงานไทยที่เข้าข่ายจำนวน 5.4 ล้านคน คิดเป็น 8.5% ของประชากรทั้งหมด และจะมีผลให้การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวได้ 2% ซึ่งจะไม่ได้มีผลกระทบต่อการเร่งตัวของเงินเฟ้อมากนัก รวมถึงไม่กระทบต่อการลงทุนภาคเอกชน เนื่องจากเชื่อว่ารัฐบาลจะมีมาตรการออกมาชดเชยด้วยการปรับลดภาษีเงินได้นิติบุคคล จาก 30% เหลือ 23% เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระต้นทุนให้ผู้ประกอบการ และยังมีมาตรการเสริมอื่นๆ เช่น สินเชื่อเสริมสภาพคล่องของสถาบันการเงินรัฐ และในระยะยาวการที่ประชาชนมีกำลังซื้อมากขึ้นจะทำให้เกิดการผลิตสินค้ามากขึ้นตามไปด้วย

ส่วนผลกระทบต่อความสามารถการแข่งขันด้านราคาของภาคเอกชนไทย จากการแข็งค่าของเงินบาท นายนริศกล่าวว่า ขณะนี้ไทยยังมีความได้เปรียบประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งในเดือนกรกฎคาม จะเห็นว่า ค่าเงินบาทแข็งค่าประมาณ 3.2% สูงกว่าประเทศอื่นๆในภูมิภาค แต่หากประเมินตั้งแต่ต้นปี ซึ่งค่าเงินบาทค่อนข้างมีเสถียรภาพจนถึงปัจจุบัน เงินบาทแข็งค่าเพียง 1.4% ขณะที่เกาหลีใต้ เงินวอนแข็งค่า 6.4% ดอลลาร์สิงคโปร์ แข็งค่า 6.2% ริงกิตของมาเลเซียแข็งค่า 3.4% ดังนั้นสะท้อนความสามารถการแข่งขันของไทยยังดีอยู่
กำลังโหลดความคิดเห็น