“ธีระชัย” เดินหน้าขยี้ “ประสาร” มอบการบ้านโหด 4 เรื่อง จี้เคาะกรอบเงินเฟ้อปี 55 แคบลง แยกทุนสำรองฯ บางส่วน ตั้งกองทุนมั่งคั่ง เร่งลดภาระหนี้กองทุนฟื้นฟูฯ และโยกงานกำกับตั๋วบีอีไปให้ ก.ล.ต.ขีดเส้นคำตอบภายใน 1 เดือน
นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวภายหลังหารือกับนายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) โดยระบุว่า ตนเองได้สั่งให้ผู้ว่าการ ธปท.ดำเนินการใน 4 เรื่องสำคัญ พร้อมกำชับให้หาข้อสรุปกลับมารายงานในเดือนหน้า
โดยเรื่องที่ 1 ตนเองได้ขอให้ ธปท.ไปศึกษาการตั้งกองทุนความมั่งคั่ง โดยให้นำเงินทุนสำรองระหว่างประเทศส่วนหนึ่งออกมาจัดตั้ง ให้มีการแยกบัญชีต่างหาก ซึ่งอาจจะต้องมีการแก้กฎหมายเพื่อให้นำเงินทุนสำรองออกมาใช้
สำหรับการตั้งกองทุนมั่งคั่ง จะเป็นการบริการร่วมกันระหว่างรัฐบาลกับ ธปท.โดยต้องมีข้อตกลงว่า กำไรจะนำไปทำอะไร และขาดทุนใครจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบ
นอกจากนี้ การตั้งกองทุนมั่งคั่ง ต้องการให้ไปลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในประเทศเอเชีย ส่วนขนาดกองทุนจะเป็นอย่างไร จะลงทุนรูปแบบไหน สัดส่วรเท่าไร ได้ให้ ธปท.ไปศึกษา
นายธีระชัย กล่าวว่า การบริหารเงินทุนสำรองของ ธปท.ปัจจุบันได้รับผลตอบแทนน้อย และไปลงทุนในสกุลที่มีแนวโน้มการพิมพ์เงินออกมาจำนวนมากอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะทำให้มูลค่าสกุลดังกล่าวลดลง ดังนั้น การบริหารจึงต้องคำนึงถึงผลตอบแทน ดูวิธีการบริหารใหม่ให้มีความสมทั้งในแง่ของความปลอดภัย ผลตอบแทน และความถูกต้องในเชิงวิชาการ
เรื่องที่ 2 ให้หาแนวทางการแก้ไขหนี้กองทุนเพื่อการพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) ที่เดิมมีจำนวน 1.1 ล้านล้านบาท แต่ ธปท.ชำระหนี้เงินต้นได้เพียง 1.6 แสนล้านบาท ขณะที่คลังชำระดอกเบี้ยไป 6.7 แสนล้านบาท มีเงินต้นที่เหลืออีก 1.1 ล้านล้านบาท ที่ ธปท.ยังชำระไม่ได้และเป็นภาระกับงบประมาณ
เรื่องที่ 3 ต้องการให้ ธปท.เข้าไปกำกับการดูการออกตั๋วสัญญาใช่เงินระยะสั้น (ตั๋วบีอี) ของธนาคารพาณิชย์ ที่มีการขยายตัวจำนวนมาก เพื่อให้แน่ใจว่าจะไม่มีปัญหาทำให้เกิดความเสียหายและมาเป็นภาระทางการคลัง โดยในเรื่องนี้ได้ นายนริศ ชัยสูตร ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เป็นประธานคณะทำงานหารือกับ ธปท.สถาบันคุ่มครองเงินฝาก และ คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) โดยส่วนตัวแล้ว ต้องการให้โอนการกำกับดูแลตั๋วบีอีไปไว้ที่ ก.ล.ต.
เรื่องที่ 4 ขอให้ ธปท.ทบทวนกรอบเงินเฟ้อที่ประกาศใช้ใหม่ปี 2555 โดยให้คำถึงปัจจัยภาวะเศรษฐกิจในและนอกประเทศ รวมถึงแนวนโยบายของรัฐบาลที่ต้องดำเนินการ และค่อยมาดูว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวเท่าไร เงินเฟ้อจะอยู่ระดับไหน ถึงค่อยกำหนดกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ
สำหรับกรอบเงินเฟ้อที่ใช้อยู่ในปัจจุบันที่ 0.5-3.0% ต่อปี ถือว่ากว่างเกินไป ทำให้ ธปท.ไม่ค่อยกังวลดูแลเงินเฟ้อตอนที่อยู่ในระดับต่ำ ได้มอบให้ สศค.และ ธปท.ไปศึกษาใหม่อีกครั้ง เพื่อให้มีความท้าทายในการบริหารเงินเฟ้อมากขึ้น