xs
xsm
sm
md
lg

อัดกระบวนยุติธรรม3แย่ ประสิทธิภาพแย่-คุกคามสิทธิ-ราคาแพง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้ ( 18 ส.ค.) คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้จัดสัมมนาเรื่อง “ศาลอาญาระหว่างประเทศกับสังคมไทย จากวิวาทะการเมืองสู่นโยบายแห่งรัฐ” โดยนายคณิต ณ นคร ประธานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย กล่าวปาฐกถา ในเรื่องความยุติธรรมสากล หนทางที่ยั่งยืนในการป้องกันความขัดแย้ง ตอนหนึ่งว่า ที่ผ่านมาเราไม่เข้าใจระบบกฎหมาย ทำให้การพัฒนาผิดทิศทางมาตลอด การดำเนินคดีโดยรัฐ หรือ ซีวิวลอว์ กับการดำเนินคดีโดยประชาชน หรือ คอมมอนลอว์ แตกต่างกัน แต่เราเลือกใช้ระบบซีวิวลอว์ ทั้งที่นักกฎหมายไทยส่วนใหญ่เรียนกฎหมายในระบบคอมมอนลอว์ ทำให้ระบบคอมมอนลอว์ เข้ามามีอิทธิพลสูงต่อระบบกฎหมายไทย การพิจารณาคดี และการตีความกฎหมายไขว้เขว โดยเฉพาะการรับฟังพยานหลักฐาน ที่นำหลักในกฎหมายแพ่งมายัดเยียดไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และส่งผลให้การพิจารณาคดีทั้งแพ่ง และอาญา มีความยืดเยื้อ
การปฏิรูปกฎหมาย จึงต้องปฏิรูปทั้งตัวบท และการบังคับใช้ ปัญหายุ่งเหยิงในสังคมไทยเกิดจากนักกฎหมาย ดังนั้นสถาบันการศึกษาต้องทบทวนว่า สอนให้นักเรียนคิดหรือสอนให้ท่องจำธงคำตอบ กระบวนการยุติธรรมที่ไขว้เขวมาตลอดสมควรได้รับการปฏิรูป หากกระบวนการยุติธรรมไม่มีประสิทธิภาพ ปัญหาทุจริตคอร์รัปชัน และการละเมิดสิทธิจะตามมา ประเทศญี่ปุ่นจัดเป็นประเทศที่ประชากรมีความสุขมากที่สุดในโลก เพราะมีกระบวนการยุติธรรมที่มีประสิทธิภาพ อดีตนายกฯ ทานากะ ทุจริตแต่ชนะเลือกตั้งรอบสองคล้ายกับของเรา แต่กระบวนการยุติธรรมของเขากัดไม่ปล่อย ทำให้นายทานากะ ฆ่าตัวตายหนีความผิด และบรรดาลิ่วล้อถูกลงโทษ แตกต่างจากสหรัฐอเมริกา ประเทศที่ประชากรมีความสุขน้อยที่สุดในโลก ซึ่งเลือกที่จะนิรโทษกรรมให้ประธานาธิบดี นิกสัน
" กระบวนการยุติธรรมไทยแย่ไม่ต่ำกว่า 3 ด้าน ประสิทธิภาพแย่ คุกคามสิทธิมาก และมีราคาแพงที่สุด ในภาวะบ้านเมืองเผชิญหน้าข้อหาสมคบกันตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป อัยการช่วยสั่งไม่ฟ้องบ้างได้หรือไม่ เรื่องการปล่อยชั่วคราว กฎหมายกำหนดว่าจะมีหลักประกัน หรือไม่ก็ได้ แต่ของเราเรียกหลักประกันสูง ชาวบ้านต้องไปกู้นอกระบบเอาเงินมาประกันตัว ในด้านงานตรวจสอบความจริงชั้นเจ้าพนักงาน ตำรวจ อัยการ ดีเอสไอ ป.ป.ช. ไม่ร่วมมือกันทำงาน และยังทะเลาะกันเอง อัยการก็ไม่ค่อยทำงาน พฤติกรรมที่น่ารังเกียจของบุคคลในกระบวนการยุติธรรม คือ ไม่กระฉับกระเฉงในการทำงาน ขี้กลัว และ ชอบประจบ ทุกหน่วยงานกินของเก่า ไม่สร้างบุญบารมีเพิ่ม ซึ่งน่ากลัวเพราะของเก่ากำลังจะหมดไป ขณะที่การตรวจสอบความจริงชั้นไต่สวนมูลฟ้องของศาลยังไม่มีประสิทธิภาพ หลายคดีที่พิพากษายกฟ้อง แม้แต่คดียิงกันในผับต่อหน้าคนเยอะแยะ ก็ยกฟ้อง”
สำหรับกฎหมายอาญาระหว่างประเทศ นักกฎหมายของเราไม่ค่อยได้เรียนกัน ศาลคดีอาญาระหว่างประเทศ จึงเป็นความคิดใหม่ในสังคมไทย ที่ผ่านมาเราถูกบีบให้ตั้งกรรมการสอบ เหตุฆ่าตัดตอน 2,500 ศพ ซึ่งผลการตรวจสอบชี้ให้เห็นได้ว่ามีการกระทำความผิดฐานอาชญากรรมต่อมนุษยชาติเกิดขึ้น แต่เรื่องก็เงียบหายไป ที่สุดตนต้องทำงานฟรี เมื่อเราไปลงนามรับรองศาลอาญาระหว่างประเทศ เท่ากับเป็นการรับรู้ และมีหน้าที่ต้องปฏิบัติ โดยการให้สัตยาบันจะเป็นการขจัดการแทรกแซงจากต่างชาติ และป้องกันไม่ให้เราถูกบีบจนต้องเสียอิสรภาพนอกอาณาเขตเหมือนในอดีต
นายคณิต ยังปฏิเสธที่จะให้สัมภาษณ์ว่า คดีการเสียชีวิต 91 ศพ จากการสลายการชุมนุมสามารถยื่นฟ้องต่อศาลอาญาระหว่างประเทศได้หรือไม่ โดยกล่าวเพียงว่า กระบวนการตรวจสอบและดำเนินคดีในประเทศยังไม่เสร็จสิ้น ควรทำให้เสร็จสิ้นก่อน เว้นแต่ไม่มีปัญญาจะทำแล้วจึงให้ต่างประเทศเข้ามาทำ
สำหรับบทบาทของคอป.นั้น อยู่ระหว่างเตรียมเสนอรายงานฉบับที่ 2 ต่อรัฐบาล แต่ตนไม่มีหน้าที่ต้องไปเข้าพบ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี
กำลังโหลดความคิดเห็น