xs
xsm
sm
md
lg

"ปู"ปัด"แม้ว"ไปส่วนตัวถกพลังงานเขมรปชป.จับตารบ.ช่วยขอวีซ่า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


"ยิ่งลักษณ์"อ้าง"แม้ว"ไปเขมรเจรจาธุรกิจพลังงานเป็นเรื่องส่วนตัว ไม่เกี่ยวรัฐบาล "สุรพงษ์"มอบนโยบายขรก. ย้ำสานสัมพันธ์เพื่อนบ้านด้วยหลักสันติวิธี ปัดไทยขอญี่ปุ่นอนุมัติวีซ่า"แม้ว" อ้างหากล่าตัว"แม้ว"ง่าย รัฐบาลอภิสิทธิ์ จับไปนานแล้ว ส่วนการช่วยเหลือ “วีระ-ราตรี” รอถกเขมรก่อน รมว.กลาโหมปัดไม่ทราบข่าว"แม้ว" คุยผลประโยชน์แหล่งน้ำมันกัมพูชา อ้างไม่ใช่หน้าที่ ด้าน" อภิสิทธิ์ " สั่งทีมกฎหมายเดินหน้าเอาผิดคนช่วยทักษิณเข้าญี่ปุ่น จี้รัฐบาลรักษาผลประโยชน์ชาติ กรณี"แม้ว"ไปเจรจาเรื่องพลังงานในกัมพูชา

น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่มีข่าวว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร จะนำนักธุรกิจต่างประเทศ เดินทางไปพบ สมเด็จฮุนเซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา เพื่อเจรจาธุรกิจเกี่ยวกับด้านพลังงานในช่วงสุดสัปดาห์นี้ ว่า เป็นการเดินทางมาเจรจาเรื่องส่วนตัว เมื่อถามว่า เป็นการเดินทางไปในนามรัฐบาลหรือไม่ นายกฯ กล่าวปฏิเสธว่าไม่ใช่ คงไปเรื่องส่วนตัว

** กต.ย้ำสัมพันธ์เพื่อนบ้านด้วยสันติวิธี

เมื่อเวลา 15.30 น.วานนี้ (17 ส.ค.) นายสุรพษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รมว.ต่างประเทศ แถลงข่าวภายหลังมอบนโยบายการทำงานต่อข้าราชการกระทรวงการต่างประเทศ ว่า ด้วยความสำนึกต่อพระมหากรุณาธิคุณ ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงโปรดเกล้าฯ ให้ได้ดำรงตำแหน่ง รมว.ต่างประเทศ คนที่ 46 และยินดีที่ได้ทำงานที่มีความสำคัญต่อประเทศในยุคโลกาภิวัฒน์ ที่มีการเปลี่ยนแปลง ซึ่งนโยบายของกระทรวงต้องให้ทันต่อเหตุการณ์

นายสุรพงษ์ กล่าวว่า การบรรยายสรุปจากปลัดกระทรวง และอธิบดีกรมต่างๆ ในเรื่องแผนงานเร่งด่วนสำคัญ อาทิ ไทย-กัมพูชา การทำงานเชิงรุกด้านเศรษฐกิจ ส่งเสริมการคุ้มครองคนไทยในต่างประเทศ และการส่งเสริมภาพลักษณ์ของประเทศ

เนื่องจากรัฐบาลยังไม่ได้แถลงนโยบาย ตนจึงมอบนโยบายในหลักการเบื้องต้นให้ข้าราชการกระทรวงต่างประเทศ อาทิ การดำเนินนโยบายต่างประเทศอย่างเป็นมิตร โดยเฉพาะการเสริมสร้างความสัมพันธ์ประเทศเพื่อนบ้านไทย- กัมพูชา โดยหลักสันติวิธี และยึดประโยชน์ร่วมกัน รวมถึงการปกป้องอธิปไตยของประเทศ

นายสุรพงษ์ กล่าวว่า การก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ในการร่วมมือภาครัฐ โดยให้ประชาชนเป็นศูนย์กลาง ส่งเสริมการค้า การลงทุน การท่องเที่ยว แสวงหาแนวคิดใหม่ เพื่อรับมือกับเศรษฐกิจโลกที่ถดถอย การส่งเสริมคุ้มครองคนไทยในต่างประเทศ ซึ่งการเมืองสามารถส่งผลกระทบต่อบุคคล และไม่ใช่เรื่องประชาชนอย่างเดียว แต่เข้าถึงทุกระดับ ส่วนการสร้างภาพลักษณ์ให้ประเทศ ให้ทุกฝ่ายยอมรับไทยในเวทีต่างประเทศ ส่งเสริมการค้า และการลงทุนต่างประเทศ

ผู้สื่อข่าวถามว่าจะดำเนินการเรื่อง MOU 44 อย่างไร นายสุรพงษ์ กล่าวว่า กรณีไทย-กัมพูชา จะมีการประชุม 2 เรื่อง โดยมีเรื่องมรดกโลกด้วย เนื่องจากนายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้ตนสรุปเรื่องให้รอบคอบ และเสนอต่อครม. โดยหลังจากแถลงนโยบายแล้ว จะดำเนินการเรื่องนี้เป็นวาระแรก ในวันที่ 18 ส.ค. ทางกระทรวงการต่างประเทศ เสนอเรื่องมา ต้องขอดูรายละเอียดก่อนแต่มั่นใจว่าจะทำให้ดีที่สุด

**"ปึ้ง"อ้างไม่รู้เรื่อง"แม้ว"จะไปเขมร

เมื่อถามว่า กระทรวงการต่างประเทศ มีแนวทางอย่างไรในการดำเนินการกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เนื่องจากในวันที่ 19 -21 ส.ค.นี้ พ.ต.ท.ทักษิณ จะเดินทางไปกัมพูชา นายสุรพงษ์ กล่าวว่า ตนไม่ทราบเรื่องการเดินทางของพ.ต.ท.ทักษิณ ที่จะไปกัมพูชา มีแต่ได้ยินจากเพื่อนส.ส.พูดกัน และยังไม่ได้ตรวจสอบ

นายสุรพงษ์ กล่าวถึงกรณีที่ญี่ปุ่นระบุว่ารัฐบาลไทยเป็นคนร้องขอให้ออกวีซ่าให้พ.ต.ท.ทักษิณ ว่า การที่ญี่ปุ่นอนุมติวีซ่าให้พ.ต.ท.ทักษิณ ข้อเท็จจริงตนได้แถลงไปแล้ว ทั้งนี้ ทูตญี่ปุ่นสนิทกับนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี และอยากทำความรู้จักตน และในวันที่พบกัน ตนยังไม่ได้เข้ามาทำงานในกระทรวง จึงไปพบกันที่พรรคเพื่อไทย พูดคุยตามปกติเพื่อสร้างความคุ้นเคย และในตอนท้ายก่อนจบ ทูตญี่ปุ่นได้สอบถามถึงนโยบายรัฐบาลชุดนี้ว่าจะมีนโยบายเหมือนรัฐบาลชุดที่แล้วหรือไม่ ซึ่งเรายืนยันไม่มีนโยบายเช่นนั้น เพราะเป็นรัฐบาลใหม่ และท่านก็เล่าให้ฟังว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ร้องขอวีซ่า แต่จากประเทศใดนั้น ไม่ได้มีการบอก

" ส่วนที่ร้องขอนั้น ไม่ได้เป็นการร้องขอ เพราะพ.ต.ท.ทักษิณขอจากที่ไหนไม่ทราบ เท่าที่ทูตญี่ป่นแจ้งให้ทราบ การเดินทางไปของพ.ต.ท.ทักษิณนั้น ต้องการจะไปดูเรื่องสึนามิ ทั้งนี้ การขอวีซ่าเข้าประเทศใดนั้น เป็นสิ่งที่ผมไม่มีความสามารถไปให้ประเทศนั้นๆ ออกวีซ่าได้ ส่วนเรื่องพาสปอร์ตแดง ยืนยันว่าไม่มีการพูดคุยกันในเรื่องนี้ และไม่ต้องห่วง ยืนยันว่า จะทำทุกอย่างตามขั้นตอนกฎหมาย และรัฐบาลก็ไม่มีนโยบายในเรื่องดังกล่าว" นายสุรพงษ์ กล่าว

เมื่อถามว่า พ.ต.ท.ทักษิณ มีส่วนเกี่ยวข้องในการคัดเลือกท่านเข้าสู่ตำแหน่งรมว.ต่างประเทศ หรือไม่ และด้วยสาเหตุอะไร จึงถูกคัดเลือกมา นายสุรพงษ์ กล่าวว่า เป็นการคัดเลือกกันของนายกรัฐมนตรี และกรรมการบริหารพรรค ซึ่งตนเคยทำการค้า และรัฐบาลพรรคเพื่อไทยนั้น เน้นนโยบายด้านการค้า ซึ่งจะเป็นมิติใหม่ของกระทรวงการต่างประเทศ ยอมรับว่างานที่ได้รับมอบหมายมานั้นหนัก แต่ตนไม่หนักใจ รวมทั้งตนเป็นรัฐมนตรีที่แย่ที่สุดในประเทศไทย ก็คงไม่มีอะไรแย่กว่านี้แล้ว แต่ตนจะทำให้ดีที่สุด เพื่อพิสูจน์ตัวเอง

** อ้างไม่รู้ขั้นตอนล่าตัว"แม้ว"

เมื่อถามว่า จะมีการประสานงานไปยังญี่ปุ่น เพื่อออกหมายจับ พ.ต.ท.ทักษิณ หรือไม่ นายสุรพงษ์ กล่าวว่า ตนคงไปสั่งทางญี่ปุ่นไม่ได้ อย่างไรก็ตาม หากเรื่องนี้ทำได้ รัฐบาลชุดที่แล้ว ก็คงทำสำเร็จแล้ว รวมทั้งก็คงให้สถานทูตรายงานที่อยู่ของ พ.ต.ท.ทักษิณไปแล้ว ซึ่งตนก็ไม่รู้ขั้นตอนในการดำเนินการทางกฎหมาย ว่าต้องดำเนินการอย่างไรบ้าง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีกี่หน่วยงาน อย่างไรก็ตาม หากดำเนินงานได้ง่าย นายกษิต ภิรมย์ อดีตรมว.ต่างประเทศ คงทำได้แล้ว

เมื่อถามว่า ขณะนี้ พ.ต.ท.ทักษิณ ยังไม่ได้รับโทษ กระทรวงการต่างประเทศจะดำเนินการอย่างไร นายสุรพงษ์ กล่าวว่า ตนยึดกฎหมายเป็นหลัก จะดำเนินการอย่างไรนั้นต้องเอาหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาหารือ โดยสิ่งที่ตนไม่สบายใจคือ มีข่าวว่ามีการเอาชื่อ พ.ต.ท.ทักษิณออกจากลิสต์ของอินเตอร์โพล และเมื่อตนสอบถามไป ก็ได้รับคำตอบว่า ไม่เคยมีชื่อของพ.ต.ท.ทักษิณเลย

เมื่อถามต่อว่า ทางอัยการสูงสุดระบุว่า ให้กระทรวงการต่างประเทศรายงานที่อยู่ของ พ.ต.ท.ทักษิณ นายสุรพงษ์ กล่าว หากอย่างนั้นให้อัยการสูงสุดทำหนังสือมาสอบถามเพราะตนไม่สามารถไปทำอะไรเกินกว่าหน่วยงานที่เขาติดตามอยู่ ขอยืนยันว่า รัฐบาลชุดนี้ไม่ได้ทำเพื่อ พ.ต.ท.ทักษิณ ส่วนเรื่องการแก้ปัญหาปากท้องนั้น ทันทีที่รัฐบาลแถลงนโยบายเสร็จก็ดำเนินการทันที

นายสุรพงษ์ ยังกล่าวถึงเรื่องการเดินทางไปต่างประเทศ ว่า จะเดินทางไปประเทศในอาเซียนก่อนแน่นอน แต่เป็นที่ใดยังไม่ทราบ

ส่วนกรณีนายวีระ สมความคิด และนางราตรี พิพัฒนาไพบูรณ์ ที่ถูกกุมขังอยู่ในประเทศกัมพูชา ตนยืนยันว่า จะช่วยเหลือทุกคนที่เป็นคนไทย และหากตนเดินทางไปกัมพูชาก็จะคุยกับทางรัฐบาลกัมพูชาให้

** กลาโหมไม่ยุ่งเรื่องพลังงาน

ด้านพล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา รมว.กลาโหม กล่าวถึงกรณีที่พ.ต.ท.ทักษิณ จะเดินทางไปกัมพูชา เพื่อหารือผลประโยชน์แหล่งน้ำมัน ว่า ไม่ทราบเรื่องนี้เลย ถ้าทราบก็ทราบจากสื่อมวลชน

เมื่อถามว่าขณะนี้ พ.ต.ท.ทักษิณ มีสถานะอะไรที่จะไปเจรจาแทนรัฐบาล รมว.กลาโหม กล่าวว่า ต้องถามท่านนายกฯ เมื่อถามย้ำว่าในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของครม. คิดว่า สถานะพ.ต.ท.ทักษิณ คืออะไร รมว.กลาโหม กล่าวว่า ถามท่านนายกฯ ดีกว่า เพราะตนไม่เกี่ยวข้องกับทางนี้

ส่วนที่ตนจะเดินทางไปดูสถานการณ์ชายแดนไทย-กัมพูชาในวันศุกร์นี้ คือ จะเดินทางไปพร้อมกับพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. เพื่อดูเรื่องพื้นที่ของกองทัพภาคที่ 2 ในเขตประเทศไทยเท่านั้น

เมื่อถามว่า กระแสข่าวที่ระบุว่าพ.ต.ท.ทักษิณ จะพานักธุรกิจไปกัมพูชา เพื่อพูดคุยการลงทุนในเรื่องน้ำมัน รมว.กลาโหม กล่าวปฏิเสธว่า ไม่ทราบเลย

** ย้ำเรื่องเขตแดนไม่ให้เสียเปรียบ

ผู้สื่อข่าวถามว่า เรื่องผลประโยชน์ทางทะเล เป็นเรื่องที่รัฐบาลต่อรัฐบาลต้องเจรจากัน ใช่หรือไม่ รมว.กลาโหม กล่าวว่า คงคุยหลังจากนี้ แต่ขณะนี้ตนไม่ทราบเพราะเป็นเรื่องของกระทรวงอื่น อีกทั้งยังเป็นเรื่องของผลประโยชน์ ตนดูในเรื่องของความมั่นคง ปัญหาชายแดน แต่ในเรื่องของเศรษฐกิจ ที่จะไปเจรจากัน ตนขออนุญาตไม่ตอบ

เมื่อถามว่า ผลประโยชน์ทางทะเลจะเกิดขึ้นได้ ก็ต่อเมื่อมีเขตแดนทางทะเลที่ชัดเจน ซึ่งเกี่ยวกับทางกระทรวงกลาโหม ที่ดูแลทางด้านความมั่นคง รมว.กลาโหม กล่าวว่า ถ้าเรื่องนี้เกี่ยวกับทางกระทรวงกลาโหม ตนจะเข้าไปดู อย่างไรก็ตาม เราจะไม่ทำให้เสียเปรียบในเรื่องอาณาเขตทางทะเล แต่ในเรื่องผลประโยชน์ระหว่างชาติ จะเป็นเรื่องของกระทรวงอื่นที่ดูแลในเรื่องเศรษฐกิจ

เมื่อถามว่า เป็นหน้าที่ของรัฐมนตรี ที่ต้องรับผิดชอบร่วมกัน ใช่หรือไม่ รมว.กลาโหม กล่าวว่า ต้องนำเรื่องเข้ามาใน ครม.ในภายหลัง ซึ่งขณะนี้เป็นเรื่องของแต่ละกระทรวงต้องดูแลไปก่อน ส่วนเรื่องของการแบ่งอาณาเขตที่ชัดเจน เมื่อถึงเวลาค่อยว่ากัน ซึ่งเราจะเริ่มคุยเรื่องอาณาเขตระหว่าง ไทย-กัมพูชา กันตั้งแต่อาทิตย์หน้าเป็นต้นไป และวันนี้ (17 ส.ค.) ตนจะตอบจดหมาย พล.อ.เตีย บัน รองนายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหมกัมพูชา ที่เขียนมาถึง เป็นฉบับที่ 2

เมื่อถามว่า นโยบายของรัฐบาลควรจะแก้ไขปัญหาข้อพิพาททางบกให้เสร็จสิ้นเสียก่อน จึงจะเดินหน้าไปสู่ทางทะเล ใช่หรือไม่ พล.อ.ยุทธศักดิ์ กล่าวว่า ใช่ และเวลา 10.00 น. วันที่ 17 ส.ค. ทางกระทรวงการต่างประเทศ และกองทัพไทย รวมถึงเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เรื่องเขตแดน จะชี้แจงรายละเอียดให้ตนทราบ เพื่อจะตีกรอบให้ข้อมูล ในเรื่องปัญหาเขตแดนไทยกัมพูชา

เมื่อถามว่า ทำอย่างไรให้ประชาชนมั่นใจในการพูดคุยระหว่างไทย-กัมพูชา ว่าไม่ได้เกิดขึ้นโดยมีการแลกผลประโยชน์บางเรื่องให้กับกัมพูชา รมว.กลาโหม กล่าวด้วยน้ำเสียงมั่นใจว่า ไม่มี ของตนไม่มี เพราะผลประโยชน์จะเกิดอยู่กับประเทศชาติให้กับประชาชนทุกข้อตกลงของตนจะต้องเป็นที่พอใจของประชาชนทั้งประเทศ ตนจะไม่ตกลงก่อนความรู้สึกของประชาชน อะไรที่เป็นข้อตกลงจะไม่ตกลงใจด้วยตนเอง ซึ่งการประชุมของตน จะเป็นการประชุมวิสามัญก่อน และเมื่อทางรัฐบาล และประชาชนเห็นว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้ว เราจะไปประชุม อย่างเป็นทางการเป็นสามัญอีกครั้งหนึ่ง เพราะฉะนั้นทุกคนต้องรู้ว่าภายใต้การดำเนินการที่ตนรับผิดชอบ ไม่มีผลประโยชน์อะไรที่แอบแฝง

** เล็งเอาผิด"ปู-ปึ้ง" ช่วยแม้วเข้าญี่ปุ่น

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ที่ประชุมคณะการบริหารพรรคได้ มอบหมายให้นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ และนายวิรัตน์ กัลยาศิริ ในฐานะทีมกฎหมายพรรค พิจารณาในรายละเอียดเพื่อดำเนินการร้องทุกข์ผู้เกี่ยวข้อง จากกรณีที่มีการดำเนินการร้องขอวีซ่าให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เข้าประเทศญี่ปุ่น เพราะการกระทำดังกล่าวถือว่าเข้าข่ายละเว้นการปฏิบัติตามกฎหมาย ของบุคคลที่เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งมีหน้าที่ทำตามที่กระบวนการยุติธรรมต้องการ อีกทั้งเป็นผู้รู้ที่อยู่ที่ชัดเจน แต่ยังมาสนับสนุนให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ให้ได้รับการช่วยเหลือ คาดว่าจะแถลงข่าวได้ในวันนี้

ส่วนคนในข่ายที่จะถูกดำเนินการ จะมีนายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รมว.ต่างประเทศ ด้วยหรือไม่นั้น ก็คงมีหลายคน ซึ่งต้องดูว่าแต่ละคนเกี่ยวพันกันอย่างไร ส่วนตัวผู้นำรัฐบาลจะเกี่ยวด้วยหรือไม่ก็ต้องดูหลักฐานหรือข้อเท็จจริง

เมื่อถามว่าการที่โฆษกรัฐบาลญี่ปุ่น ระบุว่า การขอวีซ่าให้ พ.ต.ท.ทักษิณ เข้าประเทศญี่ปุ้นได้นั้น ทำในนามรัฐบาลไทย นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า คำว่ารัฐบาล ต้องดูว่าใครเป็นตัวแทน และถ้าตรวจสอบแล้วพบว่า มีการกระทำความผิด ก็ต้องดำเนินการตามกฎหมาย ซึ่งเรื่องนี้ได้มอบหมายให้นายนิพิฐฏ์ อินทรสมบัติ ส.ส.พัทลุง และคณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคประชาธิปีตย์ ติดตามอยู่ ทั้งนี้ การไปยื่นกล่าวโทษนั้นมีหลายช่องทาง ส่วนจะนำไปสู่การถอดถอนรัฐมนตรีด้วยหรือไม่นั้นฝ่าย กฎหมายจะเป็นผู้ชี้แจง

ส่วนที่พ.ต.ท.ทักษิณ จะเดินทางไปกัมพูชา เพื่อเจรจาธุรกิจน้ำมันนั้น นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า พ.ต.ท.ทักษิณไปเจรจาธุรกิจตัวเอง แต่เรายืนยันว่ารัฐบาลมีหน้าที่ในการปกป้องผลประโยชน์สูงสุดของตัวเอง การเจรจากับกัมพูชาไม่ว่าจะเป็นปัญหาทั้งทางบก และทางทะเลต้องดูภาพรวม และไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน อยากให้รัฐบาลได้ตระหนักถึงเรื่องนี้ เพราะที่ผ่านมาถูกครหามาตลอดว่าผลประโยชน์ทางทะเลไปเกี่ยวพันกับผลประโยชน์ทางธุรกิจของคนที่เกี่ยวข้องกับรัฐบาล ดังนั้น รัฐบาลยิ่งต้องแสดงความชัดเจนว่า การเจรจาในทุกเรื่องเป็นไปเพื่อประโยชน์ของประเทศโดยส่วนรวม.
กำลังโหลดความคิดเห็น