ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ต้องแสดงความยินดีกับ “ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล” อดีตนักเรียนทุนแบงก์ชาติรุ่น 10 ที่สามารถก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้สำเร็จ
ก่อนหน้านี้มีเพียง ดร.ชัยวัฒน์ วิบูลย์สวัสดิ์ นักเรียนทุนแบงก์ชาติ ที่ทำหน้าที่รมว.คลัง สั้นๆในช่วงรัฐบาล พล.อ.ชวลิต และ ดร.พิสิฐ ลี้อาธรรม นักเรียนทุนแบงก์ชาติรุ่น 11 เท่านั้น ที่ทำหน้ารมช.คลัง ในรัฐบาลประชาธิปัตย์
จนดูเหมือนว่า มืออาชีพทางการเงินเหล่านี้กำลังได้รับการยอมรับในฐานะมืออาชีพทางเศรษฐกิจ
ต่างกับนักเรียนทุนแบงก์ชาติรุ่น 2 จาก MIT อย่าง ดร.โอฬาร ไชยประวัติ แม้จะประกาศตัวชํดเจนว่า เป็นขุนพลเศรษฐกิจของพรรคเพื่อไทย แต่ท้ายที่สุด ก็ไม่ได้นั่งเก้าอี้ รมว.คลังเสียที
ปล่อยให้รุ่นน้องอย่างธีระชัย ก้าวข้ามหัวไปเป็นเสนาบดีกระทรวงการคลัง
ด้วยแรงสนับสนุนอย่างสุดกำลังจาก “วิจิตร สุพินิจ” พี่ใหญ่ของนักเรียนทุนแบงก์ชาติ เพราะเป็นนักเรียนทุนรุ่นแรกของวังบางขุนพรหมแห่งนี้
คนที่ถูกพนักงาน ก.ล.ต.แต่งชุดดำไล่ออกจากตำแหน่งประธาน ก.ล.ต. เพราะพัวพันกับการเทคโอเวอร์แบบไม่เป็นมิตร บริษัทโทรีเซนไทย เอเยนต์ซี่ส์ จำกัด (มหาชน) (TTA) โดยการร่วมมือกับกลุ่ม นายบี เตชะอุบล และนายวีระ มานะคงตรีชีพ
นั่นทำให้ “ธีระชัย” ทำงานที่ ก.ล.ต. ภายใต้การไม่ยอมรับจากพนักงานจำนวนมากพอสมควร
แต่ความอดทนดังกล่าว ไม่สามารถแสดงออกได้อย่างชัดเจนเหมือนกรณีของวิจิตร
วิจิตร เคยนั่งเก้าอี้ผู้ว่าการแบงก์ชาติ และทีมเศรษฐกิจของพรรคไทยรักไทย และผลักดันให้ธีระชัย เข้ามาทำหน้าที่เลขาธิการ ก.ล.ต.
ก่อนจะได้รับการตอบแทนจากธีระชัย ให้เป็นประธานคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ และเมื่อพ้นจากตำแหน่งประธานคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์
วิจิตร ก็ถูกเสนอชื่อเป็น ประธาน ก.ล.ต.
นั่นจึงทำให้วิถีทางการทำงานของ ธีระชัย ถูกตั้งคำถามในความเป็นมืออาชีพ !!
ธีระชัย จึงตอบโต้ กรณ์ จาติกวณิช แบบแดกดัน ผ่านเฟซบุ๊ก Thirachai Phuvanatnaranubala กรณีที่ กรณ์ ระบุว่าการทำงานของธีระชัย เกี่ยวกับการตรวจสอบกรณี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ให้การเท็จเกี่ยวกับการปกปิดการถือหุ้นชินคอร์ป เป็นการทำงานเพื่อหวังผลตอบแทนผ่านเฟซบุ๊กว่า
" หากผมมีการฝืนหรือบังคับใจเจ้าหน้าที่ คงจะมีใครไปฟ้องสื่อมวลชนไปแล้วละครับ แต่ที่สำคัญ จะเป็นการไม่ให้เกียรติคุณนวพร เรืองสกุล ซึ่งเป็นบุคคลที่นายกรณ์ จาติกวณิช อดีตรัฐมนตรีคลังได้เลือกเฟ้นด้วยตนเอง และคัดหามากับมือ ให้เป็นประธาน ก.ล.ต. เรียกว่าเป็นบุคคลที่ท่านคัดแล้วคัดอีก อีกทั้งนายกรณ์ ยังเคยออกมาพูดผ่านสื่อรับรองสรรพคุณของคุณนวพร เป็นพิเศษด้วย ซึ่งผมก็เห็นด้วยเป็นอย่างยิ่งว่าคุณนวพร เป็นผู้ที่เที่ยงธรรมและมีความรู้ความสามารถ”
“ นอกจากนี้ยังจะเป็นการไม่ให้เกียรติ ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ซึ่งเป็นบุคคลที่นายกรณ์ ได้เลือกเฟ้นและแต่งตั้งเป็นผู้ว่าการแบงก์ชาติด้วยตัวเอง ซึ่ง ดร.ประสาร นี้ ท่านก็เป็นหนึ่งในบอร์ด ก.ล.ต.อีกด้วย และยังจะเป็นการไม่ให้เกียรติคุณอารีพงศ์ ปลัดกระทรวงการคลัง ซึ่งก็เป็นผู้ที่ท่านคัดเลือกเองอีกเช่นกัน และท่านก็เป็นหนึ่งในบอร์ด ก.ล.ต.ด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ ยังมีปลัดกระทรวงพาณิชย์ และอดีตปลัดกระทรวงการคลัง พร้อมด้วยอดีตคณบดีคณะกฎหมาย ม.ธรรมศาสตร์ และอดีตผู้ว่าการ สตง. ที่นั่งอยู่ในบอร์ด ก.ล.ต.อีกด้วย "
ถ้อยคำประชดประชันบนความเก็บกด ภายใต้การทำงานกับ กรณ์ จาติกวณิช ถูกระบายผ่านเฟสบุ๊ก จนต้องถึง นวพร เรืองสกุล ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล อารีพงศ์ ภู่ชะอุ่ม ปลัดกระทรวงการคลัง
คนเหล่านี้ คือ บุคคลที่ นายกรณ์ คัดสรร และแต่งตั้งให้เป็นผู้นำในแต่ละองค์กร
นอกจากนั้น ธีระชัย ยังเคยชี้แจงผ่านเฟซบุ๊ก Thirachai Phuvanatnaranubala กรณีที่กรณ์ จาติกวณิช รมว.คลังในขณะนั้น ระบุว่า การทำงานของนายธีระชัย อาจเข้าข่ายการปฏิบัติหน้าที่มิชอบ กรณีน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ให้การเท็จเกี่ยวกับการปกปิดการถือหุ้นชินคอร์ป ว่า วันนี้มีข่าวหนังสือพิมพ์หลายฉบับว่า รมว.คลัง แถลงเคยทำจดหมายมาถึง ก.ล.ต. แต่ทาง ก.ล.ต.ยังไม่มีรายงานคำตอบมา ถือว่าละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ตนจึงให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบอย่างละเอียด แต่พบเพียงจดหมายฉบับเดียว
" ก่อนหน้านี้ ท่านเคยทำจดหมายมาในฐานะฝ่ายค้าน ซึ่ง ก.ล.ต.ก็ตอบไปแล้ว ครั้งนี้ท่านก็ทำจดหมายมา และก็เป็นเหตุให้ ก.ล.ต. แถลงข่าวพร้อมกับตอบจดหมายไป พวกเราค้นกันทั้งออฟฟิศ ตั้งแต่ท่านเป็นรัฐมนตรี ก็มีจดหมายฉบับเดียวนี้แหละครับ ยืนยันว่าไม่มีการละเว้น เมื่อมีจดหมายมาก็ตอบไปทุกครั้ง" ธีระชัย ชี้แจง
แม้กระทั่งการตรวจสอบอันครึกโครม เกี่ยวกับการขายหุ้นชินคอร์ป ให้กองทุนเทมาเส็ก ของทักษิณ ชินวัตร
ธีระชัย ยังยืนยัน "การตรวจสอบในส่วนของ พ.ต.ท.ทักษิณ และนางสาวพิณทองทา สำนักงาน ก.ล.ต.ไม่พบความผิดในการทำผิดระเบียบเรื่องการรายงานการถือครองหุ้น รวมทั้งการทำคำเสนอซื้อหุ้นทั้งหมด"
แต่ท้ายที่สุด ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีคำพิพากษาว่า หุ้นจำนวนดังกล่าวยังเป็นของทักษิณ โดยใช้นอมินีถือครองหุ้นแทน
ธีระชัย ยังให้สำนักงานกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ออกแถลงการณ์ อธิบายการเคลื่อนไหวของเครือข่ายพลเมืองคัดค้านนิรโทษกรรมคอร์รัปชั่นทักษิณ (คนท.) ซึ่งเรียกร้องหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงสำนักงานกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ( ก.ล.ต.) ให้ดำเนินการกับ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ให้เป็นไปตามผลของคำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองนั้น
ก.ล.ต. ได้ตรวจสอบข้อมูลโดยละเอียดแล้ว ขอเรียนว่า ก.ล.ต. ได้ดำเนินการในเรื่องที่อยู่ในขอบเขตอำนาจหน้าที่แล้ว ดังมีรายละเอียดต่อไปนี้ ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับ ก.ล.ต. มี 2 ประเด็น คือ
1. ประเด็นที่สืบเนื่องจากการที่ศาลฎีกาฯ ได้วินิจฉัยว่า การถือหุ้นในบริษัทชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ของบุคคล 4 ราย ( ซึ่งรวมถึงนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ) และของบริษัทแอมเพิลริช อินเวสต์เมนท์ จำกัด เป็นการถือหุ้นแทน พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และคุณหญิงพจมาน ณ ป้อมเพ็ชร (ชินวัตร) ดังนั้น บุคคลที่ถือหุ้นแทนดังกล่าว จะถือว่ามีการรายงานการซื้อขายหลักทรัพย์อันเป็นเท็จหรือไม่
ประเด็นที่ 1 กรณีการรายงานการซื้อขายหุ้นชินคอร์ปฯ เป็นกรณีที่ พ.ต.ท.ทักษิณได้รายงานการขายหุ้นให้แก่บุคคลทั้ง 4 ราย และบริษัทแอมเพิลริชฯ ในปี 2543 ซึ่งศาลได้วินิจฉัยเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2553 ว่า ไม่ใช่การขายจริง ในเรื่องนี้ ก.ล.ต. ได้กล่าวโทษพ.ต.ท. ทักษิณ และคุณหญิงพจมาน ต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษแล้ว ตั้งแต่วันที่ 28 เมษายน 2553 (ข่าว ก.ล.ต. ฉบับที่ 24/2553) ในข้อหาว่า ไม่รายงานการเปลี่ยนแปลงการถือหลักทรัพย์ตามมาตรา 246 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์ฯ ซึ่งได้ครอบคลุมถึงการรายงานอันเป็นเท็จทั้งในปี 2543 - 2544 และการขายในปี 2549 ด้วย
ทั้งนี้ ก.ล.ต.ได้รับหนังสือจากกรมสอบสวนคดีพิเศษ ลงวันที่ 21 ตุลาคม 2553 แจ้งว่ากรมสอบสวนคดีพิเศษเห็นควรสั่งไม่ฟ้อง พ.ต.ท.ทักษิณ และคุณหญิงพจมาน ในกรณีการรายงานการถือหลักทรัพย์อันเป็นเท็จในปี 2543 และต่อมาพนักงานอัยการ ก็มีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องบุคคลทั้งสองในกรณีดังกล่าวแล้วเช่นกัน และในประเด็นที่ว่า นางสาวยิ่งลักษณ์ซึ่งศาลฎีกาฯ วินิจฉัยว่าถือหุ้นแทน พ.ต.ท.ทักษิณ และคุณหญิงพจมาน จะมีหน้าที่ประการใดตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์ฯ หรือไม่นั้น เนื่องจากนางสาวยิ่งลักษณ์ มีจำนวนหุ้นที่เกี่ยวข้องต่ำกว่าร้อยละ 5 จึงไม่มีหน้าที่ต้องยื่นรายงานใดๆ ตามพระราชบัญญัติดังกล่าว
การกล่าวโทษดังกล่าว ก.ล.ต. ดำเนินการภายหลังจากที่มีคำพิพากษาของศาลฎีกาฯ โดย ก.ล.ต. ก็ได้ส่งพยานหลักฐานทั้งหมดให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ และคณะกรรมการป.ป.ช. เพื่อพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไปแล้ว ดังนั้นสำหรับด้าน ก.ล.ต. จึงถือได้ว่าได้ปฏิบัติหน้าที่ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับพระราชบัญญัติหลักทรัพย์ฯ ครบถ้วนแล้ว
2. ประเด็นที่สืบเนื่องจากนางสาวยิ่งลักษณ์ ได้ชี้แจงต่อ ก.ล.ต. เมื่อเดือนมีนาคม 2549 ว่าครอบครัวชินวัตรไม่มีความเกี่ยวข้องกับกองทุน 2 แห่ง หรือเกี่ยวข้องกับบริษัทวินมาร์ค จำกัด ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัท เอสซี แอสเสท จำกัด (มหาชน) และบริษัทชิน คอร์ปฯ ด้วย แต่ปรากฏจากผลการตรวจสอบของ ก.ล.ต.พบหลักฐานที่แสดงว่า เจ้าของที่แท้จริงคือ พ.ต.ท. ทักษิณ และคุณหญิงพจมาน ดังนั้น คำชี้แจงดังกล่าวจะถือว่าเข้าข่ายมีความผิดตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 หรือไม่
ก.ล.ต. อธิบายประเด็นที่ 2 นี้ว่า กรณีที่นางสาวยิ่งลักษณ์ ชี้แจงว่า ครอบครัวชินวัตรไม่เกี่ยวข้องกับการถือหุ้นในกองทุน 2 แห่ง และบริษัทวินมาร์ค โดยขัดต่อพยานหลักฐานที่ ก.ล.ต. ได้จากการตรวจสอบนั้น ก.ล.ต. ไม่สามารถดำเนินการต่อได้ เนื่องจาก (ก) ไม่เข้าองค์ประกอบความผิดตามมาตรา 238 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์ฯ ที่ครอบคลุมเฉพาะการแจ้งข้อความอันเป็นเท็จ โดยเจตนาให้ผู้อื่นสำคัญผิดในข้อเท็จจริงเกี่ยวกับฐานะการเงิน ผลการดำเนินงาน หรือเกี่ยวกับราคาซื้อขายหลักทรัพย์
แต่ข้อเท็จจริงกรณีนี้เป็นเรื่องเฉพาะที่เกี่ยวกับการถือหุ้น มิใช่ข้อเท็จจริงที่เกี่ยวกับบริษัทหรือราคาซื้อขาย จึงไม่เข้าลักษณะความผิดที่กฎหมายหลักทรัพย์กำหนดไว้ และ (ข) การชี้แจงดังกล่าวเกิดขึ้นในขั้นตอนทั่วไปที่ ก.ล.ต. สอบถามมิใช่การชี้แจงต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติหลักทรัพย์ฯ จึงไม่ใช่ความผิดที่ ก.ล.ต. จะใช้อำนาจกฎหมายดำเนินการได้ตามมาตรา 302 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์ฯ
ด้วยข้อเท็จจริงข้างต้น ก.ล.ต. จึงเห็นว่าได้ดำเนินการในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับคำพิพากษาศาลฎีกาฯ หรือการถือหุ้นของครอบครัวชินวัตรในบริษัทชิน คอร์ปฯ และบริษัทเอสซี แอสเสทฯ ตามอำนาจหน้าที่แล้ว และได้รายงานการดำเนินการให้คณะกรรมการ ก.ล.ต. ทราบในการประชุม เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2553 ด้วย
ดังนั้น โดยสรุปแล้ว สำนึกในหน้าที่เลขาธิการ ก.ล.ต.ของธีระชัย ครบถ้วนสมบูรณ์แล้ว
แล้วอย่างนี้ คนไทยจะคาดหวังกับสำนึกหน้าที่ในตำแหน่ง รมว.คลัง ได้อย่างไร ??