xs
xsm
sm
md
lg

“มาร์ค” แย้มซักนโยบายรัฐจี้ทำตามหาเสียง ขู่ฟันรัฐช่วย “นช.แม้ว” เข้ายุ่น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ว่าที่ หน.ปชป.สั่ง ส.ส.แสดงความจำนงซักฟอกนโยบายรัฐ เน้นซักตามที่หาเสียงทำได้หรือไม่ หรือเอื้อประโยชน์ให้ “นช.แม้ว” จี้ “ยิ่งลักษณ์” แจงเอง คาด “สมศักดิ์” บอกแก้ รธน.เฉพาะ ม.291 คงแค่จ่อยกร่างใหม่ ลั่นค้านนิรโทษ เผยที่ประชุม ปชป.ให้ “นิพิฏฐ์-วิรัตน์” ชงฟันรัฐละเว้นปฏิบัติหน้าที่ ช่วยนายใหญ่เข้ายุ่น จี้รัฐแสดงความชัดเจนเจรจาเขมรต้องไม่มีประโยชน์ทับซ้อน ชี้ คนรู้นานแล้ว “ทักษิณ” ตั้ง ครม.



 คลิกที่นี่ เพื่อฟัง นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ให้สัมภาษณ์  

วันนี้ (17 ส.ค.) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ว่าที่หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ ว่า พรรคได้เตรียมการอยู่ 3 เรื่อง คือ เรื่องการอภิปรายนโยบายรัฐบาลที่จะมีขึ้นในสัปดาห์หน้า โดยฝ่ายค้านจะเตรียมตัวในวันศุกร์ถึงวันอาทิตย์ให้ ส.ส.แสดงความจำนงว่าจะอภิปรายในแต่ละด้าน โดยเฉพาะการจัดลำดับความสำคัญนโยบายเร่งด่วนกับนโยบาย 3-4 ปี ที่จะต้องเชื่อมโยงกับความคาดหวังกับประชาชน ซึ่งจะเป็นจุดสำคัญที่จะมีการวิเคราะห์และอภิปราย โดยทางพรรคประชาธิปัตย์มีความพร้อมในการจัดเตรียมระบบที่จะอภิปราย

นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ส่วนกรอบการอภิปรายจะถือเอาคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้กับประชาชนว่าได้มีการดำเนินการอย่างไรหรือไม่ รวมทั้งดูความเหมาะสมในนโยบายด้านอื่นๆ ที่อาจจะไปเกี่ยวพันกับนโยบายที่พรรคประชาธิปัตย์เคยผลักดันหรือไม่ ในเบื้องต้นที่ต้องพูดก่อนแถลงนโยบาย รวมถึงการดำเนินการเอื้อประโยชน์ให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ผู้ต้องหาก่อการร้าย ซึ่งถือว่าอยู่ในความสนใจของประชาชน

“อยากให้ผู้นำรัฐบาลเป็นผู้ตอบ เพราะนโยบายหลายเรื่องไม่ได้อยู่ที่กระทรวงใดกระทรวงหนึ่ง เพราะเรื่องที่ตัดสินใจส่วนใหญ่คาบเกี่ยวหลายกระทรวง รัฐบาลจึงต้องมีท่าทีที่ชัดเจน ส่วนจะโยนให้รองนายกฯ หรือ รมต.คนอื่นตอบแทนนั้น ก็คงจะไปบังคับนายกฯ ไม่ได้ แต่ก็คิดว่าคนเป็นหัวหน้ารัฐบาลควรสร้างความมั่นใจในแง่ของทิศทางด้วยการตอบคำถามด้วยตัวเอง”

ส่วนที่มีการระบุว่า จะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ตอนหาเสียงบอกไม่ใช่เรื่องเร่งด่วน และพรรคเพื่อไทยพูดว่าจะต้องมีการทำประชามติ 2 รอบด้วยซ้ำไป ก็ควรจะต้องมีการสอบถามกัน การที่นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาฯ ออกมาคาดว่าจะต้องทำให้เสร็จภายใน 3 เดือน โดยเฉพาะมาตรา 291 นั้น คงไม่ได้หมายความว่าแก้ไขในสาระ น่าจะหมายถึงเป็นการเริ่มต้นกระบวนการที่จะมีการแก้ไขยกร่างกันอีกรอบ

เมื่อถามว่า สิ่งที่ นายสมศักดิ์ ระบุ คือ แก้เฉพาะ 291 และคงไว้ในหมวดที่ 1-2 ของรัฐธรรมนูญปี 50 แล้วเอารัฐธรรมนูญปี 40 มาสวมนั้น นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ถ้าอย่างนั้นคงไม่ใช่การแก้ไขมาตรา 291 ถ้าอย่างนั้นก็คือการแก้ทั้งฉบับยกเว้นหมวดที่ 1-2 ตอนนี้ยังไม่มีความชัดเจน และเข้าใจว่านายกฯ พูดทำนองว่าต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วม เมื่อถามว่า ขั้นตอนสุดท้ายเกรงว่าจะนำไปสู่การนิรโทษกรรมให้ พ.ต.ท.ทักษิณ หรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ไม่สามารถตอบได้ว่าจะมีผลหรือไม่ เพราะยังไม่ทราบว่าตัวร่างเป็นอย่างไร แต่ยืนยันว่าถ้าจะแก้รัฐธรรมนูญเราจะคัดค้านถึงที่สุด

นายอภิสิทธิ์ ยังกล่าวว่า ที่ประชุมคณะการบริหารพรรคได้ มอบหมายให้ นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ และ นายวิรัตน์ กัลยาศิริ ในฐานะทีมกฎหมายพรรคประชาธิปัตย์ไปพิจารณาในรายละเอียดเพื่อดำเนินการร้องทุกข์ผู้เกี่ยวข้องจากกรณีที่มีการดำเนินการร้องขอวีซ่าให้ พ.ต.ท.ทักษิณ เข้าประเทศญี่ปุ่น เพราะการกระทำดังกล่าวถือว่าเข้าข่ายละเว้นการปฏิบัติตามกฎหมายของบุคคลที่เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งมีหน้าที่ทำตามที่กระบวนการยุติธรรมต้องการ อีกทั้งเป็นผู้รู้ที่อยู่ที่ชัดเจน แต่ยังมาสนับสนุนให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ให้ได้รับการช่วยเหลือ คาดว่าจะแถลงข่าวได้ในวันพรุ่งนี้ ส่วนคนในข่ายจะมี นายสุรพงษ์ โตวิจักษ์ชัยกุล รมว.การต่างประเทศ ด้วยหรือไม่นั้น ก็คงมีหลายคน ซึ่งต้องดูว่าแต่ละคนเกี่ยวพันกันอย่างไร ส่วนตัวผู้นำรัฐบาลจะเกี่ยวด้วยหรือไม่ก็ต้องดูหลักฐานหรือข้อเท็จจริง

เมื่อถามว่า การที่โฆษกรัฐบาลญี่ปุ่นระบุว่า การขอวีซ่าให้ พ.ต.ท.ทักษิณ เข้าประเทศญี่ปุ่นได้นั้น ทำในนามรัฐบาลไทย นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า คำว่ารัฐบาลต้องดูว่าใครเป็นตัวแทน และถ้าตรวจสอบแล้วพบว่ามีการกระทำความผิดก็ต้องดำเนินการตามกฎหมาย ซึ่งเรื่องนี้ได้มอบหมายให้นายนิพิฏฐ์ และคณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคประชาธิปีตย์ ติดตามอยู่ ทั้งนี้ การไปยื่นกล่าวโทษนั้นมีหลายช่องทาง ส่วนจะนำไปสู่การถอดถอนรัฐมนตรีด้วยหรือไม่นั้นฝ่ายกฎหมายจะเป็นผู้ชี้แจง

ส่วนที่ พ.ต.ท.ทักษิณ จะเดินทางไปกัมพูชาเพื่อไปเจรจาธุรกิจน้ำมันนั้น นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ไปเจรจาธุรกิจตัวเอง แต่เรายืนยันว่า รัฐบาลมีหน้าที่ในการปกป้องผลประโยชน์สูงสุดของตัวเอง การเจรจากับกัมพูชาไม่ว่าจะเป็นปัญหาทั้งทางบกและทางทะเลต้องดูภาพรวม และไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน อยากให้รัฐบาลได้ตระหนักถึงเรื่องนี้ เพราะที่ผ่านมาถูกครหามาตลอดว่าผลประโยชน์ทางทะเลไปเกี่ยวพันกับผลประโยชน์ทางธุรกิจของคนที่เกี่ยวข้องกับรัฐบาล ดังนั้น รัฐบาลยิ่งต้องแสดงความชัดเจนว่าการเจรจาในทุกเรื่องเป็นไปเพื่อประโยชน์ของประเทศโดยส่วนรวม ส่วน พ.ต.ท.ทักษิณ จะเป็นภาพตัวแทนรัฐบาลหรือไม่นั้น ตนไม่ทราบแต่อาจจะเป็นเรื่องการเตรียมทำธุรกิจ แต่รัฐบาลขณะนี้กำลังพูดเรื่องถอนทหาร ทางทะเลอาจมีการหยิบพูดขึ้นมาบ้าง แต่ก็ต้องเป็นมติ ครม.เพราะถ้าทำตามกรอบเดิมเรื่องนี้ถูกแขวนเอาไว้ ส่วนจะมีการจบปัญหาทางบกด้วยการเอาผลประโยชน์ทางทะเลหรือไม่นั้น ตนคิดว่าไม่ควรเป็นเช่นนั้น รัฐบาลควรปกป้องประโยชน์ประเทศ และใช้เรื่องความต้องการทางทะเลของกัมพูชาให้เป็นประโยชน์กับไทย

นายอภิสิทธิ์ กล่าวต่อว่า ส่วนเรื่องการย้ายฐานการผลิตมาไทย เรื่องนี้มีการทำมานานแล้ว พ.ต.ท.ทักษิณ คงไม่ทราบว่าเราได้พูดคุย มีทั้งเอสเอ็มอี เรื่องต่างๆ ไม่ใช่เรื่องใหม่ เป็นเรื่องที่รัฐบาลเคยทำมาแล้ว

“เป็นการประชาสัมพันธ์ตัวเขา ส่วนจะคาดหวังว่า ทำเพื่อประเทศชาติได้แค่ไหนรัฐบาลก็ต้องติดตาม ตรวจสอบ ส่วนที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ไปบอกกับสื่อว่ามีส่วนในการตั้งครม. ก็เป็นเรื่องที่รู้กันแต่ต้น และเป็นการแสดงอำนาจของตัวเอง ซึ่งจะส่งผลต่อภาวะผู้นำของนายกฯ หรือนั้น ก็เป็นที่เข้าใจของประชาชนอยู่แล้วว่า พ.ต.ท.ทักษิณ จะมีบทบาทแบบนี้ แต่ก็อยากจะย้ำว่าคนที่รับผิดชอบต้องเป็นคนตัดสินใจทุกเรื่อง”



กำลังโหลดความคิดเห็น