xs
xsm
sm
md
lg

มติชนกับการสอบสื่อ (อีกครั้ง)

เผยแพร่:   โดย: สุรวิชช์ วีรวรรณ

ตั้งแต่มีเหตุการณ์กล่าวหาพรรคการเมืองจ่ายส่วยหนังสือพิมพ์ ผมเขียนเรื่องนี้มาแล้ว 2 ตอน เมื่อย้อนอ่านบทความของตัวเองทั้งสองตอน ต้องยอมรับว่า ผมยังไม่ได้ฟันธงเลยครับว่า ผู้สื่อข่าวที่ถูกกล่าวหารับส่วยจริงหรือเปล่า

บทความทั้งสองครั้งผมเพียงแต่บอกว่า ผลสอบกรณีพรรคเพื่อไทยจ่ายส่วยนักข่าวออกมาแล้ว ต้องยอมรับว่าในเงื่อนไขที่จำกัดนั้น คณะกรรมการที่ตั้งขึ้นมาสอบสวนทำงานได้ดีพอสมควร แม้ว่า ผลจะออกมาว่า เนื้อหาในอีเมลน่าจะจริง แต่ไม่มีคนผิด ซึ่งถึงวันนี้ผมก็ยังยืนยันเช่นนั้น

ผมยอมรับครับว่า คนของมติชนส่วนใหญ่ที่ถูกกล่าวหารู้จักมักคุ้นเคยกินเยี่ยวเที่ยวนอนด้วยกันมาก่อน ผมจึงออกจะเกรงใจเพื่อนไม่กล้าฟันธงว่าใครผิด ผมจึงเน้นที่จะพูดในเชิงหลักการเสียมากกว่า

หรือถ้าจะว่าไป ผมเพียงแต่หยิบยกเอาปรากฏการณ์ กระบวนการ และวิธีการที่เกิดขึ้นมาพูดถึงความเป็นเหตุเป็นผลเสียมากกว่า

เราปฏิเสธไม่ได้ว่า การแสดงออกของเครือมติชนนั้น เป็นการยืนยันว่า ไม่เคารพต่อหลักการตรวจสอบกันเองของคนหนังสือพิมพ์ที่องค์กรมติชนเองเป็นผู้ร่วมก่อตั้ง และร่วมกันให้คำปฏิญาณที่จะรักษาหลักการนี้ร่วมกันเอาไว้ พูดตรงๆ ก็คือว่า ไม่ให้เกียรติสภาการหนังสือพิมพ์ และไม่ให้เกียรติต่อคณะอนุกรรมการฯ ที่ตั้งขึ้นโดยกรรมการสภาการหนังสือพิมพ์ที่มีคุณสมหมาย ปาริจฉัตต์ ร่วมเป็นกรรมการอยู่ด้วย

แม้ตอนหลังคุณสมหมายจะประกาศลาออกพร้อมกับข้ออ้างว่า ไม่เห็นด้วยกับกระบวนการสอบสวน ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องมาทีหลัง แต่คุณสมหมายก็ไม่ได้ไม่เห็นด้วยกับการตั้งคณะอนุกรรมการสอบสวนมาตั้งแต่ต้น คำถามก็คือว่า ทำไมคุณสมหมายจึงไม่ให้สมาชิกในเครือของตัวเองที่เป็นภาคีต่อสภาการหนังสือพิมพ์ภายใต้ปฏิญาณที่ร่วมก่อตั้งกันขึ้นมา มาให้คำชี้แจงต่ออนุกรรมการฯ ที่ตัวเองก็เห็นชอบและพึงต้องปฏิบัติโดยหลักการในตอนต้น แต่กลับปล่อยให้ตอบจดหมายมาแบบตอกกลับไม่ไว้หน้าอนุกรรมการฯ ชุดนี้

สรกล อดุลยานนท์ หรือหนุ่มเมืองจันท์ และเป็นผู้เขียนหนังสือขายดีชื่อ “ทักษิณ ชินวัตร อัศวินคลื่นลูกที่สาม” บอกว่า อีเมลของนายวิมนั้นเป็นเรื่องการเอาผลงานเข้าตัว และอ้าง “รายจ่าย” เพื่อสร้าง “รายได้” ส่วนตัว

ประเด็นสำคัญตรงนี้คือ ยอมรับกันทุกฝ่ายใช่ไหมว่าอีเมลของวิมเป็นของจริง ถ้าวิเคราะห์เรื่องอื่นได้ร้อยแปด วิเคราะห์เรื่องนี้ไม่ได้ก็บ้าแล้ว

ดังนั้น ถ้าข้ออ้างของสรกลเป็นเรื่องจริง คำถามก็คือว่า ทำไมเครือมติชนจึงไม่มีปฏิกิริยาต่อนายวิม เพราะการกระทำเช่นนั้นคนที่ทำให้เครือมติชนเสียหายคือนายวิม ไม่ใช่อนุกรรมการฯ ผมยังไม่ได้ยินน้ำเสียงตำหนินายวิมจากคนในเครือมติชนเลย เพราะถ้าเป็นอย่างนั้นจริง เครือมติชนต้องออกมาคัดค้านเป็นค่ายแรกเลยครับว่า ไม่เห็นด้วยที่พรรคเพื่อไทยตั้งนายวิมซึ่งมีพฤติกรรมดังกล่าวมาเป็นเลขานุการรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีที่ควบคุมดูแลสื่อภาครัฐ ผมก็ยังเห็นเครือมติชนนำเสนอข่าวนายวิมกับบทบาทในตำแหน่งนี้เป็นปกติ

สรกลยังบอกว่า คนที่ถูกกล่าวหาไม่มีอำนาจมากขนาดกำหนดภาพ และข่าวใน “มติชน” และ “ข่าวสด” เรื่องนี้อาจจะจริงหรือไม่จริงผมไม่รู้หรือพูดง่ายๆ ว่าคนนอกเขาไม่รู้หรอกครับ เอาเป็นว่าตรงนี้ผมไม่กล่าวหาใคร ว่ากันด้วยข้อเท็จจริง ถ้าเราไม่แกล้งอินโนเซนต์เราก็ต้องรู้ว่า สำหรับนักการเมืองเราต้องยอมรับความจริงว่า เขาสามารถติดต่อใครได้ในสื่อแต่ละค่าย เขารู้จักใครก็ไปทางนั้น ส่วนจะหวังสัมฤทธิผลหรือแค่ผูกไมตรีนั้นเป็นเรื่องหนึ่ง

ผมจึงคิดว่าข้ออ้างแบบนี้สามารถอ้างอิงได้ แต่ไม่มีน้ำหนัก

ส่วนที่ว่า อนุกรรมการฯ ชุดนี้สอบ “เลยธง” ไปหรือไม่นั้น ผมก็ได้กล่าวไว้แล้วตามหลักการที่ว่า “หากไม่ “แหย่ง” ลงไปอย่างลึกซึ้งถึงรากฐานอันเป็น “ภูมิหลัง” ก็ยากเป็นอย่างยิ่งที่จะทำความเข้าใจใน “บทสรุป” อันปรากฏต่อสาธารณะ” ซึ่งเป็นข้ออ้างของมติชนในการขุดคุ้ยปูมหลังของหมอวิชัยซึ่งผมว่าเป็นเรื่องที่ “เหาะเหินเกินลงกา” มากไป

หลายคนก็ออกจะเบลอๆ นะครับ เช่น นฤตย์ เสกธีระ บรรณาธิการบริหารของมติชน ที่ตั้งคำถามว่า ทำไมอนุกรรมการฯ สอบสื่อจึงสรุปผลว่า มติชนเอนเอียงเข้าข้างพรรคเพื่อไทย ส่วนเดลินิวส์ คมชัดลึก จึงไม่สรุป ประเด็นก็คือว่า ถ้าอนุกรรมการฯ เขาได้รับการร้องเรียนว่า พรรคประชาธิปัตย์บริหารจัดการสื่อแบบอีเมลของนายวิมแล้วมีคนตั้งเรื่องมา ถ้าอนุกรรมการฯ สอบแล้วไม่สรุปผลนี่สิครับถึงเป็นเรื่องแปลกและมีปัญหา

ความจริงแล้วมีน้ำเสียงทำนองนี้เหมือนกันนะครับว่า ทำไมสอบเฉพาะ 3-4 ฉบับนี้ ทำไมไม่สอบไทยโพสต์ ผู้จัดการ แนวหน้า ฯลฯ ด้วย คำถามก็คือว่าแล้วสอบเรื่องอะไรล่ะครับ ไม่มีใครเขาห้ามเรื่องเอนเอียงไปข้างไหนนี่ครับ ค่ายผู้จัดการนั้นเอียงแน่ครับ ไม่ยึดถือคัมภีร์ที่สอนกันมาผิดๆ ว่า “สื่อต้องเป็นกลาง”เพราะเราไม่เป็นกลางระหว่างผิดกับถูก ไทยโพสต์กับแนวหน้านั้นเชียร์ประชาธิปัตย์แน่ก็เป็นสิทธิของเขา ส่วนเครือเนชั่นเข้าไหนเฮนั่นก็ไม่มีใครเขาว่ากัน

คนอื่นก็ไม่ค่อยมีน้ำหนัก ประเภทว่า เป็นหมอแล้วมารู้ดีกว่าหนังสือพิมพ์ได้อย่างไร ต่อไปเวลาเราไปวิจารณ์อาชีพอื่นเขาก็จะย้อนเอาได้ว่า เป็นนักหนังสือพิมพ์มารู้กว่าพวกกูได้อย่างไร

น่าสนใจมากที่สุดคืองานเขียนของ ปราปต์ บุนปาน ซึ่งเป็นคนเดียวที่ผมไม่รู้จัก แต่ตามอ่านงานของปราปต์หลายชิ้น ผมคิดว่าเป็นคนที่เขียนหนังสือด้วยหลักการของเหตุและผลมากที่สุดในเครือ ไม่เหมือนคนอื่นซึ่งส่วนใหญ่ติดสำบัดสำนวนโวหารชักแม่น้ำท่องคัมภีร์

บทความของปราปต์เรื่อง “ความเป็นกลาง” ชิ้นล่าสุดนั้น ใกล้เคียงกับจุดยืนที่เครือผู้จัดการยึดถือมากที่สุด ซึ่งสะท้อนว่า ปราปต์เองก็ไม่ยอมรับนิยามเรื่อง “ความเป็นกลาง” ที่มักจะกล่าวอ้างกันอย่างพร่ำเพรื่อว่าสื่อต้องเป็นกลาง แน่นอนปราปต์อ้างว่า ทำไมต้องเป็นกลางเพื่อลอยตัวอยู่เหนือความขัดแย้ง หรือเป็นกลางระหว่างผิดกับถูก

ในบทความชิ้นนี้ปราปต์ประกาศเลยครับว่า ถ้าสื่อต้องเลือกข้างจะเลือกยืนข้างใคร จะยืนหยัดสอพลอ “ประชาชน” เสียงข้างมาก หรือ สอพลอใครอื่น?

ซึ่งถอดความได้ว่า ปราปต์ยืนยันว่า เขาไม่เป็นกลางถ้าเขายืนข้างประชาชนเสียงข้างมากเลือกมา (พรรคเพื่อไทย?) เขาจะผิดตรงไหน แต่คำว่า “สอพลอใครอื่น” สารภาพตรงๆ ครับว่า ผมไม่กล้าเดา

ส่วนหลักการยืนข้างประชาชนเสียงข้างมากก็ฟังดูดีครับ แต่ไม่ถูกต้อง เพราะไม่สามารถอธิบายได้เสมอไปว่า เสียงข้างมากต้องถูก ถ้าเราลงเรือสำเภาไป 200 คน คนส่วนใหญ่ในนั้นข่มขืนผู้ร่วมทางคนหนึ่ง ตรงนี้ก็คงไม่ถูกแค่อาจช่วยให้เราเอาตัวรอดจากการถูกฆ่าได้ถ้าไปขัดขวาง และรัฐนาวาไทยก็คงเหมือนกัน

ส่วนที่ปราปต์พูดเรื่องรังเกียจการฉีกรัฐธรรมนูญ รัฐประหาร 19 กันยานั้น ผมคิดว่าปราปต์อาจจะไม่พูดถึงเรื่องนี้ ถ้ากลับไปย้อนทบทวนบทบาทของขรรค์ชัย บุนปาน และเครือมติชน เมื่อเกิดรัฐประหาร รสช.ตอนนั้นนิธิ เอียวศรีวงศ์ ต้องระเห็จมาขอเขียนหนังสือที่ผู้จัดการเลยเชียวครับ
กำลังโหลดความคิดเห็น