xs
xsm
sm
md
lg

ทักษิณคิด... เพื่อไทยถม...(ทะเล)

เผยแพร่:   โดย: บรรจง นะแส


พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีลี้ภัยหนีคุกไปใช้ชีวิตอยู่ที่ดูไบเป็นส่วนใหญ่ ทำให้ท่านคงหลงใหลโครงการขนาดใหญ่ของดูไบ ที่เรียกกันว่า “The Palm”  ที่มีการถมทะเลสร้างเกาะภายใต้การบริหารของ “ชีค โมฮาเหม็ด” ที่พลิกโฉมให้ The Palm เป็นศูนย์กลางการเงินและแหล่งท่องเที่ยวสำคัญแห่งหนึ่งของโลก โดยสร้างเกาะถมทะเลแล้วอัดฉีดเงินมหาศาลเข้าสู่ภาคอสังหาริมทรัพย์ สาธารณูปโภค พร้อมยกเว้นภาษี ทำให้ The Palm กลายเป็นที่พักผ่อนสำหรับคนดังและมหาเศรษฐี ท่านเลยประกาศเป็นนโยบายให้พรรคเพื่อไทยไปใช้ในการหาเสียงที่ผ่านมา ว่าถ้าพรรคเพื่อไทยได้เป็นรัฐบาล จะจัดให้มีการถมทะเลในประเทศไทยบริเวณอ่าวไทย ด้วยเงินลงทุน 1.8 ล้านล้านบาท และหากโครงการนี้สำเร็จจะทำให้รัฐมีกำไร 2 ล้านล้านบาท

ตอนที่นายปลอดประสพ สุรัสวดี ออกมาพูดเรื่องนี้ ผู้คนในสังคมไม่ค่อยให้ความสำคัญนักเพราะนายปลอดประสพ ไม่ได้มีน้ำหนักของคำพูดในนามของพรรคแต่อย่างใด แต่หลังจากที่ ดร.สุชาติ ธาดาธำรงเวช กรรมการบริหารพรรคเพื่อไทยที่ถือว่าเป็นมันสมองเป็นผู้มีความรู้ เป็นผู้ที่ได้รับความเชื่อถือจากผู้คนในสังคมออกมาพูดถึงเรื่องนี้อย่างจริงๆ จังๆ พร้อมทั้งแจงรายละเอียดอย่างถี่ยิบของโครงการถมทะเลในรายการข่าวข้น คนข่าว เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2554 ซึ่งเป็นช่วงของการรณรงค์หาเสียงเพื่อการเลือกตั้ง ท่านยืนยันว่าพรรคเพื่อไทยจะทำโครงการนี้เพราะ “การถมทะเลจากปากอ่าวออกไป 10 กิโลเมตร พร้อมกับสร้างเขื่อนกันน้ำทะเลเป็นแนวยาวเพื่อป้องกันและรักษาระดับน้ำทะเล ไม่ให้เข้ามาท่วมกรุงเทพฯ สอง-การถมทะเลจากเมืองปากน้ำ จ.สมุทรปราการ ไปจนถึงจังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งจะทำให้ได้ที่ดินเพิ่มขึ้นรวมประมาณ 3 แสนไร่ แผ่นดินงอกใหม่นี้จะถูกสร้างเป็นเมืองใหม่โดยแบ่งเป็นพื้นที่สาธารณะ 2 แสนไร่ อีก 1 แสนไร่ จะนำไปขายให้กับเอกชนที่จะเข้ามาลงทุน โดยกะว่าจะฟันกำไรถึงไร่ละ 20 ล้าน รวมแสนไร่ก็เป็นเงินมหาศาลถึง 2 ล้านล้านบาท “       

   “เมืองใหม่แห่งนี้ ถูกวางไว้ว่าจะเป็นแหล่งศูนย์กลางธุรกิจแห่งอนาคต ไม่ว่าจะเป็นศูนย์กลางทางการเงิน ศูนย์ธุรกิจทางไอที คล้ายกับซิลิคอนวัลเลย์ ศูนย์กลางการรักษาพยาบาล ศูนย์กลางการเป็นสำนักงานใหญ่ของบริษัทข้ามชาติในภูมิภาคนี้ ทำให้ประชากรมีงานทำไม่ต่ำกว่า 100,000 อัตรา โดยมีระบบการคมนาคมที่สะดวกรองรับ เช่น รถไฟฟ้า และรถไฟความเร็วสูงเชื่อมต่อกับกรุงเทพฯ ได้สะดวกและภายในระยะเวลาอันสั้น โมเดลการสร้างเมืองใหม่นี้จะคล้ายๆ เมือง Putrajaya และ Cyberjaya ของมาเลเซีย “การอ้างถึงโครงการที่จะส่งผลต่อการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพฯ และการยกเอาผลกำไรจากการดำเนินโครงการด้วยเม็ดเงินจำนวน 2 ล้านล้านบาทดูจะทำให้ผู้คนในสังคมตาโตพอที่จะเออออห่อหมกไปกับโครงการนี้ได้อย่างง่ายดาย

การถมทะเลไม่ใช่เรื่องใหม่ การถมทะเล (Land Reclamation) ความหมายเฉพาะของคำคำนี้ คือ “การดำเนินการเพื่อให้มีที่ดินขึ้นในพื้นที่ที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นผืนน้ำ และไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ให้กลายเป็นที่ดินที่สามารถใช้ประโยชน์ได้”  ซึ่งมีทั้งการถมพื้นที่ชายฝั่งยื่นออกไปในทะเลและการสร้างเป็นเกาะเทียมขึ้นมา คำถามจึงมีว่าพื้นที่ชายฝั่งของ 3 จังหวัดคือสมุทรปราการ สมุทรสาคร และสมุทรสงครามนั้น เป็นพื้นที่ที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์จริงละหรือ ในเมื่อพื้นที่ดังกล่าวเป็นแหล่งทำมาหากินของพี่น้องชาวประมง เป็นแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์น้ำวัยอ่อนนานาชนิดที่เป็นส่วนหนึ่งของความอุดมสมบูรณ์ของพันธุ์สัตว์น้ำในอ่าวไทย

ยังไม่นับรวมถึงสภาพทางธรณีวิทยาที่พื้นที่บริเวณนั้นเป็นดินโคลนปากแม่น้ำการทรุดตัวของพื้นผิวดินเป็นไปได้ง่าย สภาพของพื้นที่จังหวัดแถบนั้นเป็นที่ราบการจะหาดินจากที่ไหนมาถมทะเล (สิงคโปร์ถมทะเลโดยใช้ที่ดินจากเกาะภูเขาไฟจากอินโดนีเซีย) และจริงหรือที่การถมทะเลแล้วจะแก้ไขปัญหาน้ำท่วมและสร้างรายได้มหาศาลจากโครงการดังกล่าวได้??? ถมแล้วจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของกระแสน้ำแน่นอนจะส่งผลให้เกิดการกัดเซาะในพื้นที่อื่นๆขยายตัวต่อเนื่องไปเรื่อยๆ จะแก้ไขปัญหานี้อย่างไร???

การถมทะเลเพื่อเพิ่มปริมาณที่ดินกรณีของประเทศสิงคโปร์ ซึ่งส่งผลกระทบต่อชายฝั่งของมาเลย์ สิงคโปร์ต้องยอมจ่ายค่าก่อสร้างและบำรุงรักษาเขื่อนกันกระแสน้ำให้แก่มาเลเซียเป็นเงิน 182,300 เหรียญสหรัฐ และจ่ายค่าเสียหายให้แก่ชาวประมงมาเลเซียเป็นเงิน 98,550 เหรียญสหรัฐ รวมทั้งต้องแก้ไขแบบก่อสร้างของตนเพื่อลดความเสียหาย

ประเทศของเรายังไม่มีกฎหมายที่จะปกป้องและรักษาสิทธิ์ของประชาชนต่อผลกระทบอันเกิดจากโครงการขนาดใหญ่ที่เป็นนโยบายของรัฐ ก่อนที่จะเดินหน้าโครงการใดๆ ก็ถือว่าเป็นสิทธิของพวกท่านที่ได้ประกาศเอาไว้เป็นนโยบายตอนหาเสียงและชนะการเลือกตั้งมา อยากเตือนว่าอย่าลืมไปแก้ไขกฎหมายผังเมือง กฎหมายกรมเจ้าท่า กฎหมายที่ดิน และการทำรายงานประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) การรับฟังความเห็นของผู้มีส่วนได้เสีย และต้องให้องค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพให้ความเห็นก่อนดำเนิน โครงการ ตามมาตรา 67 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญฯ 2550 อย่าเผลอคิดไปว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร คิดอะไรแล้วถูกหมดก็แล้วกัน.
กำลังโหลดความคิดเห็น