ศูนย์ข่าวหาดใหญ่
ภายหลังจากที่โครงการติดตั้งกล้องวงจรกล้องโทรทัศน์วงจรปิด (Close Circuit Television -CCTV ) แบบ ดิจิตอล มูลค่า 969 ล้านบาท ของกระทรวงมหาดไทย ล้มไม่เป็นท่า ตอกย้ำความล้มเหลวประสิทธิภาพในการปราบปราม ป้องกัน และติดตามการก่อเหตุความไม่สงบใน 5 จังหวัดชายแดนใต้ เนื่องจากบริษัท ดิจิตอล รีเสิร์ช แอนด์ คอนซัลติ้ง จำกัด หรือ DRC เป็นผู้รับสัมปทาน ไม่สามารถส่งมอบงานได้ในวันที่ 7 พ.ย. 2551 และชะงักอยู่ช่วงเวลาหนึ่ง ส่งผลให้เงินเบี้ยค่าปรับพุ่งสูงนับร้อยล้านบาท ก่อนจะมีการยกเลิกสัญญาเมื่อวันที่ 7 ก.ย. 2552
ขณะที่กำลังเดินหน้าฟ้องร้องอยู่นั้น ล่าสุดกระทรวงมหาดไทย ได้ผู้รับสัมปทานรายใหม่ คือ บริษัท ไทยทรานส์ มิสชั่น อินดัสทรี จำกัด เดินหน้าโครงการอีกครั้ง และมีความคืบหน้าประมาณ 80% เพื่อลบคำครหาต่อความจริงใจในการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนใต้ ซึ่งแต่ละหน่วยงานล้วนทุ่มงบมหาศาลแต่กลับอ่อนด้อยประสิทธิผล
ความคืบหน้าเรื่องนี้ นายภาณุ อุทัยรัตน์ เลขาธิการคณะกรรมการอำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) และประธานคณะทำงานบูรณาการติดตั้งกล้อง CCTV 5 จชต. เปิดเผย ว่า ผู้รับสัมปทานรายใหม่ได้เซ็นสัญญาทำงานตั้งแต่วันที่ 13 ธ.ค.2553-7 ธ.ค.2554 เพื่อติดตั้งกล้อง CCTV ใน 5 จชต. จำนวน 3,520 จุด รวมมูลค่า 960 ล้านบาท โดยเริ่มที่ จ.นราธิวาส ยะลา ปัตตานี ซึ่งจะสามารถใช้งานได้ทั้ง 100 % ภายในเดือนต.ค.นี้ ก่อนจะขยายไปยังส่วนใน 8 อำเภอของสงขลา ได้แก่ จะนะ นาทวี เทพา สะบ้าย้อย สะเดา นาหม่อม เมืองสงขลา และหาดใหญ่ ตลอดจน อ.เมืองสตูล
อย่างไรก็ตาม การทำงานในครั้งนี้ได้มีการปรับเปลี่ยนรายละเอียดจากผู้รับสัมปทานรายเดิม ซึ่งอยู่ระหว่างการฟ้องร้องและไม่สามารถเคลื่อนย้าย แตะต้อง และใช้ประโยชน์จากความคืบหน้าโครงการเดิมได้เลย จึงต้องมีการดำเนินงานใหม่ทั้งหมด โดยปรับปรุงจุดติดตั้งใหม่ด้วยกล้อง CCTV 3 ชนิด คือ ชนิดหมุนส่าย ก้ม-เงย และซูมอัตโนมัติ ชนิดสี ติดตั้งอยู่กับที่แบบ Day/Night และชนิดสี ติดตั้งอยู่กับที่แบบ Infrared (IR)
โดยมีสถานีติดตั้งเพื่อจัดการสำหรับดูภาพ ควบคุมกล้อง และสลับสัญญาณภาพจำนวน 99 แห่ง ได้แก่ สถานีตำรวจภูธรของแต่ละอำเภอ ที่ว่าการอำเภอ และศาลากลางจังหวัดใน 5 จชต. รวมถึงกองกำลังตำรวจ ทหาร จำนวน 10 แห่ง โดยศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเขต 12 สงขลา เป็นสถานที่ติดตั้งระบบบริหารจัดการเครือข่าย ส่วนการเตรียมความพร้อมด้านบุคลากรนั้น มีการอบรมเจ้าหน้าที่เพื่อใช้งานและบำรุงรักษาระบบจำนวน 420 ราย ซึ่งจะเป็นผู้มอนิเตอร์ภาพความเคลื่อนไหวตลอด 24 ชั่วโมง ด้วยเจ้าหน้าที่จากสถานีตำรวจ 3 นาย และที่ว่าการอำเภอละ 3 คน
จากการติดตามการติดตั้งกล้อง CCTV ในพื้นที่ อ.ยี่งอ จ.นราธิวาส ซึ่งได้รับโควตา 50 ตัว พบว่าการทำงานของบริษัทผู้รับสัมปทานครั้งนี้แม้ว่าจะมีอุปสรรคในด้านการนำเข้าวัสดุและอุปกรณ์ที่ต้องใช้เวลานาน เนื่องจากประเทศญี่ปุ่นเพิ่งประสบภัยสึนามิ แต่ได้มีการวางแผนการทำงานเพื่อให้เสร็จตามสัญญา โดยเริ่มในพื้นที่ซึ่งมีความสุ่มเสี่ยงต่อเหตุร้ายเป็นอันดับแรก และใช้คนในพื้นที่ลงทำงาน พร้อมทั้งเปิดอบรมเจ้าหน้าที่แล้ว 86 คน และอยู่ระหว่างการตรวจสอบการทำงานของกล้องให้สมบูรณ์
ผู้ประกอบการธุรกิจค้าขายรายหนึ่งในตลาดสดยี่งอ เปิดเผยว่า ชาวบ้านมีความคาดหวังจะได้กล้อง CCTV ที่มีประสิทธิภาพเสียที เพื่อสร้างความอุ่นใจ ด้วยภาวะที่ไร้ซึ่งความปลอดภัยนั้นทำให้ประชาชนอพยพทิ้งถิ่นฐานไปแล้วหลายครัวเรือน ประชาชนที่เหลืออยู่นี้ก็เพราะต้องการรักษาบ้านเกิดที่บรรพบุรุษได้บุกเบิกไว้ และอยากให้เมื่อเกิดเหตุร้ายแล้วสามารถใช้กล้องวงจรปิดติดตามคนร้ายได้ จากเดิมที่ติดตั้งแล้วเสีย หรือบางตัวติดตั้งโดยที่ไม่ได้ต่อเชื่อมวงจรอิเล็กทรอนิกส์ก็มี ทำให้ชาวบ้านตั้งชื่อว่า “กล้องโกหก”
อย่างไรก็ตาม หากกระทรวงมหาดไทยตรวจรับโครงการติดตั้ง กล้อง CCTV ชุดนี้เสร็จเรียบร้อยแล้ว ผู้รับจ้างจะรับประกันความชำรุด บกพร่องของงานจ้างที่เกิดขึ้นภายในระยะเวลาไม่น้อยกว่า 1 ปี และหากเกิดจากการใช้งานตามปกติจะต้องเข้ามาซ่อมแซมแก้ไขภายใน 48 ชั่วโมง และซ่อมแซมให้อยู่ในสภาพที่ใช้งานได้ดังเดิมภายใน 72 ชั่วโมง แต่หากไม่สามารถดำเนินการได้ทันภายในเวลาที่กำหนดแล้ว ผู้รับจ้างจะต้องจัดหาอุปกรณ์ที่มีคุณภาพเท่าเทียมกันมาทดแทนจนกว่าจะส่งคืนอุปกรณ์ที่ได้นำไปซ่อมเสร็จแล้ว
นอกจากนี้ ศอ.บต.ได้จัดงบพิเศษอีก 30 ล้านบาท เพื่อการซ่อมแซมดูแลรักษาหลังจากนั้น นั่นจะเป็นอีกหลักประกันหนึ่งว่า เครื่องมือชิ้นนี้จะไม่ถูกปล่อยทิ้งให้กลายเป็นเพียงซากหลอกตาชาวบ้านให้กลุ่มคนร้ายย่ามใจอีกต่อไป