xs
xsm
sm
md
lg

ภาคประชาชน 5 จชต.นำเยาวชนเรียนรู้ประวัติศาสตร์ 7 ปี กรือเซะ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ปัตตานี - ภาคประชาชนในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนใต้ นำเยาวชนเข้ามาเรียนรู้ประวัติศาสตร์ครบรอบ 7 ปี เหตุความรุนแรงมัสยิดกรือเซะ พร้อมเรียกร้องให้รัฐเข้ามาเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบ

วันนี้ (28 เม.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่าบรรยากาศทั่วไปในบริเวณมัสยิดกรือเซะ ม.3 ต.ตันหยงลุโละ อ.เมือง จ.ปัตตานี เป็นไปตามปกติ มัสยิดยังคงใช้เป็นที่ประกอบพิธีละหมาดของพี่น้องมุสลิมในพื้นที่ โดยไม่ได้มีการจัดวางกำลังเจ้าหน้าที่ ตำรวจ ทหาร และฝ่ายปกครองเพิ่มขึ้นเป็นพิเศษแต่อย่างใด แต่ด้วยความไม่ประมาท เจ้าหน้าที่ยังคงมีการจัดกำลังออกลาดตระเวนโดยรอบมัสยิดเป็นไปตามปกติ

ในขณะเดียวกัน ได้มีตัวแทนองค์กรภาคประชาชน นิสิตนักศึกษาในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ นำเยาวชนในพื้นที่ อำเภอยะหาจำนวน 460 คน เพื่อเข้ามาเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์ของการใช้กำลังจับอาวุธต่อสู้กัน ระหว่างเจ้าหน้าที่กับผู้ก่อความไม่สงบในพื้นที่ เมื่อวันที่ 28 เมษายน พ.ศ.2547 เป็นเหตุให้เกิดการสูญเสียทั้ง 2 ฝ่ายเป็นจำนวนมาก

โดยเฉพาะเหตุการณ์ที่มัสยิดกรือเซะ มีประชาชนที่ถูกอ้างว่าเป็นผู้ก่อความไม่สงบ ถูกเจ้าหน้าที่ยิงเพื่อวิสามัญเสียชีวิต 43 คน นอกจากนั้น มัสยิดกรือเซะก็ถูกคมกระสุนยิงจนได้รับได้รับความเสียหาย ซึ่งปัจจุบันกรมศิลปากรได้มีการบูรณะซ่อมแซมในส่วนที่ได้รับความเสียหายเรียบร้อย

ส่วนเยาวชนที่เดินทางมาเรียนรู้ประวัติศาสตร์มัสยิดกรือเซะในครั้งนี้ เป็นเยาวชนที่เข้าค่ายช่วงภาคฤดูร้อน ภายใต้โครงการ YICE บูรณาการคนหนุ่มสาวเพื่อศักยภาพชุมนุมชน โดยมีการตระเวนจัดค่ายดังกล่าวในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนใต้ ซึ่งจะมีเยาวชนเข้าโครงการจังหวัดละไม่ต่ำกว่า 460 คน ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากมูลนิธิเอเชีย และเงินจากการบริจาคใส่กล่อง ที่มาจากพี่น้องในกรุงเทพมหานครและพี่น้องในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนใต้

นายอาเต็ฟ โซ๊ะโก ผู้ประสานงานโครงการก่อตั้งสมาคมยุวชนเพื่อการพัฒนา กล่าวว่า วันนี้เราได้พาน้องๆ มา เพราะอยากให้น้องๆ ที่ยังเป็นเด็กตัวเล็กได้รู้ถึงประวัติศาสตร์ รู้ถึงความเป็นมาของตัวเองว่าเป็นอย่างไรบ้าง และที่นี่เป็นสัญลักษณ์ทางประวัติศาสตร์ที่ยังคงมีอยู่ และจะเป็นภูมิคุ้มกัน เราควรจะเป็นผู้ถ่ายทอดประวัติศาสตร์ แทนที่จะเป็นการถ่ายทอดจากกลุ่มคนผู้ที่ไม่หวังดี เพราะจะนำสู่ความแตกแยกที่มีอยู่แล้วของพื้นที่จากชายแดนภาคใต้ เช่น ความคิดเก่าๆ ของรัฐไทยในอดีตที่พยายามปกปิดประวัติศาสตร์ของที่นี่ ในเมื่อมีการปิดประวัติศาสตร์ก็จะมีกลุ่มคนนำประวัติศาสตร์ซึ่งอาจจะผิดหรือถูกบ้าง จนทำให้สังคมที่นี่แตกแยก

แต่ถ้าเรามีการเปิดประวัติศาสตร์ใช้ประวัติศาสตร์ที่ถูกต้อง ก็นำสู่การเรียนรู้ว่าแต่ก่อนปัตตานีเป็นดินแดนสังคมพาหุวัฒนธรรม นำมาสร้างเป็นภูมิคุ้มกันให้สามารถอยู่ได้รวมกันในสังคมชายแดนใต้

วันนี้เราได้สะท้อนให้น้องๆ รู้ในกรณี 28 เมษายน 47 ว่า เป็นวันที่คนมลายูมุสลิมสูญเสีย เนื่องจากเป็นการต่อสู้กัน ซึ่งตอนที่ต่อสู้กันนั้นเป็นเพราะเกิดความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และยังได้บอกน้องๆ ให้นำไปศึกษาในข้อเท็จจริงกันเองโดยไม่ต้องไปฟังฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด เพราะข้อเท็จจริงนั้นมันมีหลายส่วนที่ต้องรับรู้

การครบรอบ 7 ปีของการสูญเสียที่มัสยิดกรือเซะอยากให้รัฐบาลให้ความชัดเจนในเรื่องของคดีความ และการเยียวยาที่หลายๆ คนที่ต้องได้รับจาการสูญเสียจากกรณีที่มัสยิดกรือเซะยังคงไม่ได้รับการเยียวยาเท่าที่ควร ซึ่งมันเป็นการสะท้อนถึงเหตุการณ์อื่นๆ ที่เกิดขึ้นนอกจากเหตุการณ์ที่มัสยิดกรือเซะ ที่ยังคงไม่ได้รับการเยียวยาเท่าที่ควรเช่นกัน


กำลังโหลดความคิดเห็น