ศูนย์ข่าวหาดใหญ่...รายงาน
เงินภาษีกว่า 1 แสนล้านบาท และกำลังพลนับหมื่นนายที่รัฐบาลจัดสรรเพื่อแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้มาร่วม 7 ปียังไม่สามารถเห็นการแก้ไขปัญหาที่เป็นรูปธรรม อีกทั้งยังไม่สามารถค้นพบต้นตอปัญหาที่แท้จริงด้วย !!
ขณะที่ทุกชีวิตในพื้นที่ชายแดนใต้ยังต้องดำเนินด้วยความระมัดระวังตัว เพราะที่ผ่านมามีเจ้าหน้าที่รัฐทั้งทหาร ตำรวจและฝ่ายปกครองจำนวนมากที่ได้สละชีวิตเพื่อดูแลความปลอดภัยให้กับสังคม อีกทั้งภาคประชาชนเองก็ได้รับผลกระทบทั้งชีวิตและทรัพย์สินอย่างมหาศาล ส่วนคนที่ยังต้องอยู่ในพื้นที่นอกจากจะเอาชีวิตแขวนไว้บนเส้นด้ายแล้ว ยังต้องดิ้นรนเพื่อความอยู่รอดในยุคข้าวของแพงอีกด้วย
เช่นเดียวกับเหตุการณ์ระเบิดใจกลางเมืองยะลาถึง 3 ครั้ง กล่าวคือในวันที่ 13 ก.พ.ที่ผ่านมาเกิดเหตุคาร์บอมบ์ย่านธุรกิจกลางเมืองยะลา มีผู้บาดเจ็บ 18 คน และเกิดเพลิงไหม้อาคารเก่ากว่า 10 คูหา คล้อยหลังเพียงวันที่ 21 ก.พ.เกิดเหตุ จยย.บอมบ์ใกล้ห้างสรรพสินค้าซุปเปอร์ดีพาร์ทเม้นท์สโตร์ มีผู้เสียชีวิต 1 ราย และบาดเจ็บอัก 14 คน จนกระทั่งล่าสุด 18 เม.ย.ที่เพิ่งผ่านมานี้เอง เกิดเหตุคาร์บอมบ์ปากทางเข้าสำนักงานแขวงการทาง เขตรอยต่อพื้นที่โซนไข่แดงของเมืองยะลา ซึ่งมีทหารพรานเสียชีวิต 1 นาย และมีผู้บาดเจ็บทั้งทหารและประชาชนอีก 23 ราย
แม้การเกิดเหตุแต่ละครั้งจะมีการอ้างว่า ได้มีการแจ้งเตือนมาก่อนตลอด แต่รัฐก็ยังช้าไปหลายก้าวจนเกิดเหตุซ้ำแล้วซ้ำอีก ?!
ขณะเดียวกันการข่าวแจ้งว่า ในขณะนี้ยังมีรถจักรยานยนต์และรถยนต์ที่เตรียมไว้ประกอบระเบิดอีก 4-7 คัน หลังจากมีกลุ่มแนวร่วมนับร้อยคนที่ผ่านการฝึกจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาแฝงตัวในพื้นที่ เพื่อเตรียมก่อเหตุในวันที่ 28 เม.ย.นี้ อันเป็นวันครบรอบ 7 ปีของเหตุการณ์ “กรือเซะ ซึ่งกลายเป็นห้วงเวลาที่เหมือนคนในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ต้องคำสาปให้หวั่นไหวกันครั้งใหญ่อีกครั้งหนึ่ง
ในห้วงเวลาเหตุการณ์กรือเซะเวียนมาบรรจบครบรอบ 7 ปี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ก็ออกมาเตือนกำลังพลนับหมื่นนาย ที่ถูกส่งไปตรึงกำลังในพื้นที่สำคัญไว้ รวมถึงประชาชนที่ใช้ชีวิตอยู่อย่างหวาดหวั่น ให้มีความระมัดระวังตัวยิ่งขึ้น
ก่อนจะมีการส่งรายงานไปยังนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ให้ตื่นจากการหลับใหลจากการแก้ปัญหาความไม่สงบ และออกมาสัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวว่า เบื้องหลังความรุนแรงนั้นเกี่ยวโยงกับผลประโยชน์ของยาเสพติดและการค้าของเถื่อน ซึ่งหมายถึงน้ำมันเถื่อนข้ามชาติที่ทะลักเข้าชายแดนไทยวันละนับล้านลิตร จึงเกิดการผสมโรงของวงจรอุบาทว์ที่ใช้สนับสนุนการก่อเหตุความไม่สงบ เพื่อเบี่ยงเบนความสนใจและกำลังเจ้าหน้าที่ให้มุ่งกับปัญหาแบ่งแยกดินแดนนั่นเอง
ทั้งนี้ เหตุความรุนแรงที่เกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่องนั้น คนในปลายด้ามขวานได้กลายเป็นหนูทดลองยามาแล้วหลายระลอก ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลกุมเสียงข้างมากอย่างเช่น พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร แต่นั่นเป็นสาเหตุให้แผลพุพองอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน หรือสมัย พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ซึ่งออกมาด้วยความสุภาพกล่าวขอโทษพี่น้องชายแดนใต้ และยกการสมานฉันท์เป็นแนวทางคลี่คลาย
แม้ต้องเจอปัญหาการเมืองปลดรัฐบาลหุ่นเชิดมาอีก 2 คนคือ รัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช กับรัฐบาลนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ แต่การเปลี่ยนสู่รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นั้นเป็นเหมือนความหวังครั้งใหม่ที่จะเห็นหัวหน้ารัฐบาลที่เป็นคนหนุ่มไฟแรง มีการศึกษาและมีประวัติดีจะมาช่วยแก้ปัญหา
ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์เองก็กล้าประกาศนโยบายอย่างโอ้อวดว่า “99 วันดับไฟใต้” หลังจากที่โจมตีการทำงานของรัฐบาลทักษิณที่ยุบองค์กรอันเป็นกลไกสำคัญมากในโครงสร้างอำนาจรัฐที่กำกับดูแลพื้นที่อยู่คือ “ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.)” กับ “กองบัญชาการผสมพลเรือน ตำรวจ ทหาร ที่ 43 (พตท.43)”
แต่เวลาได้เลยล่วงมาจวนเจียนจะยุบสภาเลือกตั้งใหม่ในเดือนพฤษภาคม 2554 อยู่รอมร่อนี้ ก็ยังไม่มีผลงานเป็นชิ้นเป็นอันที่สะกิดใจฐานเสียงในพื้นที่ นอกจากปล่อยให้ทั้งท้องถิ่น ทหาร ตำรวจ และประชาชนอยู่อย่างเอาชีวิตเข้าแลกรายวันเสียมากกว่า !!
เรื่องนี้มีข้อคิดเห็นที่น่าสนใจจาก ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี ผู้อำนวยการสถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ และศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มอ.) วิทยาเขตปัตตานี ซึ่งได้กล่าวกับทีมข่าวของ “ศูนย์ข่าวASTVผู้จัดการหาดใหญ่” ในช่วงสัปดาห์นี้ว่า เป็นที่น่าสังเกตว่าหลังจากปี 2551 เป็นต้นมานั้น เหตุการณ์ที่เคยลดลงกลับมีเพิ่มขึ้นในแง่ของความรุนแรง
ผศ.ดร.ศรีสมภพ กล่าวว่า โดยเฉพาะช่วงปลายปี 2553-2554 ในช่วงหลังนั้นกลุ่มก่อความไม่สงบมีการวางแผนโจมตีเฉพาะจุดเพิ่มขึ้น ซึ่งยังทำให้จำนวนผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตยังคงที่นับตั้งแต่ปีแรกประมาณ 2-3 คน/ครั้ง
สำหรับการแก้ปัญหาที่ผ่านมานั้น ผศ.ดร.ศรีสมภพมองว่า การเน้นด้านความมั่นคง ซึ่งต้องใช้งบประมาณมากเพียงไร แต่ที่ผ่านๆ มาเป็นการใช้งบประมาณแบบไม่เข้าเป้า และยังมีการรั่วไหลที่ตรวจสอบไม่ได้ ดังนั้นจึงต้องปรับให้เพิ่มบทบาททางการเมืองและเพื่อพัฒนาด้านอื่นๆ ควบคู่ไปด้วย ทั้งทางด้านการศึกษา เศรษฐกิจ และกระบวนการยุติธรรม
ผู้อำนวยการสถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ชี้ด้วยว่า โดยเฉพาะเป้าหมายในระยะกลางช่วง 3-5 ปี ควรจะต้องมีการปรับลดเงื่อนไขความรุนแรงโดยวิธีการอื่น เช่น การหาทางพูดคุยกับแกนนำกลุ่มก่อเหตุควบคู่ไปด้วย
“หากรัฐบาลยังมีปัญหาการเมืองส่วนกลาง จนละเลยนโยบายที่จะดับไฟใต้แล้ว จะทำให้ผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เกิดความไม่เข้าใจ และเกิดข้อผิดพลาดได้ง่าย ดังที่จะเห็นว่าการก่อเหตุในหลายๆ ครั้งเป็นการตอบโต้เจ้าหน้าที่เฉพาะจุด เพราะการควบคุมนโยบายเบื้องบนไม่ดีพอ” ผศ.ดร.ศรีสมภพทิ้งท้าย
ดังนี้ แล้วจึงเป็นที่วาดหวังว่า “รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” ที่มี “พรรคประชาธิปัตย์” ที่เคยเป็นขวัญใจของชาวใต้เป็นแก่นแกนในกลไกอำนาจรัฐ จะถือโอกาสในเหลือเวลาน้อยนิดห้วงนี้พลิกวิกฤตสร้างผลงานการดับไฟในวาระสุดท้ายก่อนยุบสภาเลือกตั้งใหม่ ?!
โดยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และพลพรรคประชาธิปัตย์ ต้องกล้าที่จะลุกขึ้นมาแสดงความจริงใจในการทำงานให้ปรากฏให้เห็นเสียที และต้องมีการสั่งการเพื่อนำไปสู่การดับไฟใต้อย่างแท้จริง ?!?!
พรุ่งนี้อ่านต่อ..สัญญาณจาก “กองทัพ”กับบทเรียนที่ไม่เคยมีบทสรุป