ASTVผู้จัดการรายวัน - ปชป.จับผิด “ดร.ปึ้ง” คืนพาสปอร์ตทักษิณ จี้แก้ปัญหาประชาชนก่อน ด้าน “ปู”ชี้คืนพาสปอร์ต ต้องเป็นไปตามขั้นตอน “ยุทธศักดิ์”อ้าง “เตียบัญ”ต่อสายเร่งถกจีบีซีเขมร “มาร์ค”เตือน “บิ๊กอ๊อด”เจรจา เขมร ต้องยึดประโยชน์ประเทศ “ฮุนเซน”พลิ้วไม่ยกข้อพิพาทชายแดนไทยถกอาเซียนอีก ด้าน “สุกุมล”ลุยงานแรกเคลียร์กัมพูชาขึ้นทะเบียนรำไทย-หนังใหญ่
วานนี้ (11 ส.ค.) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีรมว.ต่างประเทศจะพิจารณากระบวนการคืนพาสปอร์ตให้กับพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นงานชิ้นแรกว่า ขอย้ำว่าต้องปฏิบัติกับคนที่หนีคดีเหมือนกัน กรณีที่ต้องเพิกถอนพาสปอร์ตก็ต้องทำ ถ้าจะต้องคืนก็ต้องคืนให้กับทุกคน และสรุปแล้วที่เข้ามาทำงานจะทำงานให้ใครกันแน่ ประเด็นดังกล่าวเป็นเรื่องเร่งด่วนหรือไม่ เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องที่ควรจะต้องมาก่อนเรื่องอื่น รัฐบาลควรมีนโยบายเพื่อดูแลประชาชนเป็นหลัก
“ขอเรียกร้องว่าถ้าไม่ปฏิบัติอย่างเสมอภาคกัน มีสองมาตรฐานก็จะเป็นปัญหาสำหรับผู้ปฏิบัติแน่นอน และหน่วยงานราชการก็มีหน้าที่ตามคนที่หลบหนีคดีกลับมา”
**ปูชี้คืนพาสปอร์ตเป็นไปตามขั้นตอน
น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีกระทรวงการต่างประเทศจะดำเนินการคืนพาสสปร์อตให้กับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯว่า ตนอยากให้ทุกคนทำงานเพื่อประเทศชาติเป็นหลักใหญ่ อยากให้ทุกอย่างเป็นไปตามขั้นตอน
ส่วนที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ถึงตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศว่าจะเป็นจุดอ่อนของรัฐบาลนั้น น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ มีวิสัยทัศน์และมีความสามารถหลายด้าน วันนี้เราเห็นความสัมพันธ์ระหว่างประเทศชาติเป็นสำคัญ เชื่อว่าจะดำเนินการเรื่องนี้ได้ดี
**“ดร.ปึ้ง”ปัดไม่รู้มี ขรก.ชงเรื่อง
นายสุรพงษ์ โตวิจักษ์ชัยกุล รมว.ต่างประเทศ กล่าวว่า ไม่เป็นความจริง ยังไม่มีการเตรียมคืนพาสปอร์ต เล่มสีแดงให้กับพ.ต.ท.ทักษิณ อย่างที่เป็นข่าว ขอยืนยันว่า ตนเองไม่ได้ให้สัมภาษณ์ และไม่ทราบว่าข่าวออกมาอย่างไร โดยเฉพาะข่าวที่ว่ามีข้าราชการชงเรื่องเอาไว้เตรียมรัฐมนตรีคนใหม่ ซึ่งตนจะเข้ากระทรวงเพื่อพบปะข้าราชการในสัปดาห์หน้า
**'บัวแก้ว'พร้อมชงคืนพาสปอร์ตให้'ทักษิณ'
ก่อนหน้านั้น มีรายงานว่า กรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ ได้มีคำสั่งภายในให้มีการหยิบยกกรณีการคืนหนังสือเดินทาง หรือพาสปอร์ต คืนให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี รวมถึงการจัดเตรียมเอกสารที่เกี่ยวข้องในเรื่องดังกล่าว ขึ้นมาพิจารณาถึงความเป็นไปได้ และศึกษาช่องทางทางกฎหมายในการดำเนินการดังกล่าว เนื่องจากมีแนวโน้มที่รัฐมนตรีต่างประเทศคนใหม่ จะให้มีการดำเนินการเรื่องนี้
ทั้งนี้ กระทรวงการต่างประเทศได้ดำเนินการเพิกถอนพาสปอร์ตของ พ.ต.ท.ทักษิณ มีผลตั้งแต่วันที่ 12 เมษายน 2552 โดยเป็นไปตามระเบียบของกระทรวงการต่างประเทศว่าด้วยการออกหนังสือเดินทาง พ.ศ.2548 การยกเลิกหนังสือเดินทาง ข้อ 23 (7) ซึ่งระบุว่าสามารถยกเลิกและเรียกคืนหนังสือเดินทางได้ โดยมีนายกษิต ภิรมย์ ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศในขณะนั้นเป็นผู้ลงนาม
การยกเลิกพาสปอร์ตของ พ.ต.ท.ทักษิณ ได้อ้างเหตุผลที่ว่า รัฐบาลสามารถยกเลิก หรือถอนหนังสือเดินทางสำหรับบุคคลที่ทำความเสียหายให้กับประเทศได้ ซึ่งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่พัทยา จ.ชลบุรี (กลุ่มเสื้อแดงบุกเข้าโรงแรมรอยัล คลิฟ บีช จนต้องยกเลิกการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนและประเทศคู่เจรจา) เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2552 เป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้รัฐบาลตัดสินใจถอนหนังสือเดินทางของ พ.ต.ท.ทักษิณ
อย่างไรก็ตาม การถอนพาสปอร์ตในครั้งนั้น ไม่ได้กระทบกับความเป็นสัญชาติไทยของ พ.ต.ท.ทักษิณ แต่จะทำให้เดินทางไปประเทศที่สามด้วยหนังสือเดินทางไทยไม่ได้ เว้นแต่สามารถเดินทางกลับประเทศไทยได้เท่านั้น ด้วยการไปขอให้สถานเอกอัครราชทูตหรือสถานกงสุลใหญ่ของไทยในประเทศนั้นๆ ออกเอกสารเดินทางชั่วคราวที่เรียกว่าซีไอให้
***”เตีย บัญ”เร่งบิ๊กอ๊อดเยือนเขมร
วานนี้ (11 ส.ค) พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา รมว.กลาโหม ให้สัมภาษณ์ก่อนประชุมคณะรัฐมนตรี ว่า เมื่อวันพุธที่ 10 ส.ค. หลังจากครม.เข้าเฝ้าถวายสัตย์ปฏิญาณ แล้ว ได้รับเอกสารจากพลเอกเตีย บัญ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหมของกัมพูชา เชิญให้ไปเยือนอย่างเป็นทางการ โดยจะให้การต้อนรับอย่างดียิ่ง
“หลังจากนั้นประมาณ 1 ชั่วโมง พลเอกเตีย บัญ ได้โทรศัพท์หาผม ขอให้ผมรีบจัดการประชุมจีบีซีโดยด่วน ภายในสิ้นเดือนนี้ ซึ่งก็ได้รับปาก และตกลงไปแล้ว โดยแจ้งไปว่า หลังจากแถลงนโยบายเสร็จเรียบร้อยแล้ว ก็พร้อมจะให้จัดการประชุมจีบีซีโดยด่วน เพื่อปัญหาชายแดนไทย-กัมพูชา จะได้เรียบร้อยเสียที” พล.อ.ยุทธศักดิ์ กล่าว
อย่างไรก็ตาม ก่อนจะมีประชุมคณะกรรมการชายแดนระดับภูมิภาคไทย-กัมพูชา (อาร์บีซี) ที่นครราชสีมา ซึ่งกัมพูชาเขาก็ต้องการ อย่างไรก็ตาม ได้ชี้แจงไปว่าทำไมไม่ให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กับสมเด็จฮุนเซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา พบกันก่อน ทาง พลเอกเตีย บัญ บอกว่าไม่ต้อง เพราะสมเด็จฮุน เซน ได้ให้กระทรวงกลาโหมกัมพูชา ประสานกระทวงกลาโหมของไทย ดำเนินการไปก่อนได้เลย เชื่อหลังประชุมทุกอย่างจะดีขึ้น ซึ่งตนจะหารือให้นายกฯ ได้คุยกันด้วย
ผู้สื่อข่าวถามถึงคณะกรรมการจีบีซี ของไทย ต้องมีการปรับเปลี่ยนด้วยหรือไม่ โดยเฉพาะตัวบุคคล พลเอกยุทธศักดิ์ กล่าวว่า จะใช้คนเดิมไปก่อน ส่วนจะประชุมที่กรุงเทพฯหรือกรุงพนมเปญ จะมอบหมายให้กองบัญชาการทหารสูงสุด ซึ่งเป็นเลขาฯ จีบีซี เป็นผู้วางแผนพิจารณา
ต่อข้อถาม จะต้องรอให้รัฐบาลเรียบร้อยก่อนหรือดำเนินการได้เลย รมว.กลาโหม กล่าวว่า การประชุมในระดับภูมิภาคหรืออาร์บีซี สามารถดำเนินการได้เลย เพื่อเตรียมแผนให้ตน และทันทีรัฐบาลแถลงนโยบายเรียบร้อยแล้ว ตนจะประชุมจีบีซีทันที อย่างไรก็ตาม หากการประชุมจีบีซีที่พนมเปญ จะถือโอกาสนี้ไปขอเฝ้ากษัตริย์กัมพูชา และเยี่ยมเยือนสมเด็จฮุนเซน รวมถึง รมว.กลาโหม เป็นการส่วนตัวด้วย
**มาร์คเตือนต้องยึดประโยชน์ประเทศ
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ว่าที่หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่รมว.กลาโหมจะเจรจากับกัมพูชาเกี่ยวกับปัญหาพื้นที่ทับซ้อน จะไม่ใช้ทิศทางเดียวกับรัฐบาลเดิม เพราะทำให้ไม่มีเพื่อนว่า เป็นสิทธิ์ของรัฐบาลจะเลือก แต่หากจะไม่ใช้แนวทางของรัฐบาลเดิมก็คงต้องอธิบาย เพราะแนวทางของรัฐบาลเดิมคือปกป้องผลประโยชน์ของคนไทยและประเทศไทย เราไม่เคยขัดข้องที่จะมีความร่วมมือกัน แต่ต้องชัดเจนว่าสิ่งใดซึ่งมีกลไกการแก้ปัญหาอยู่ก็ให้ตรงนั้นแก้ไขไป เช่นปัญหาเรื่องการจัดทำหลักเขตแดนก็มีข้อตกลงกันอยู่ ควรยึดตามนั้น ไม่ควรใช้เวทีของโลก เช่นเอาสิทธิ์ไปบริหารจัดการพื้นที่ในมรดกโลก หรือใช้เวทีศาลโลก ทั้งนี้ที่ผ่านมารัฐบาลเดิมใช้การพูดคุยทวิภาคีเป็นแนวทางที่ประเทศไทยยืนยันมาตลอด ดังนั้นถ้าใช้แนวทางนี้แก้ปัญหาได้จะเป็นเรื่องทีดี แต่ก่อนที่จะดำเนินการอยากให้ทราบข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับปัญหาข้อพิพาทในพื้นที่ทั้งหมด รวมถึงแง่มุมด้านกฎหมาย ผลกระทบที่เกิดขึ้น ทั้งกรณีศาลโลก และมรดกโลก เพราะถ้าคิดเพียงแต่ทำให้เขาพอใจก็อาจจะกระทบต่อประโยชน์ของประเทศ
เมื่อถามว่ารมว.กลาโหม ระบุว่าการเจรจาเรื่องดังกล่าวควรให้เข้าลักษณะวิน วิน ทั้งสองฝ่ายจะได้แก้ปัญหาได้ ซึ่งมีการเกรงกันว่าจะกระทบอธิปไตยไทย นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ควรหาทางออกที่ทุกฝ่ายได้ประโยชน์ ความจริงพล.อ.ยุทธศักดิ์ คงทราบว่ามีความซับซ้อนในเรื่องการให้กัมพูชาขึ้นทะเบียนมรดกโลกฝ่ายเดียว ถ้าไม่มีตรงนี้มันจะง่าย ทั้งนี้จะต้องดูว่าใครเป็นผู้บริหารจัดการพื้นที่ และต้องไม่ลืมว่าขณะนี้เป็นการขึ้นทะเบียนฝ่ายเดียว ซึ่งสิ่งที่เกรงว่าจะกระทบอธิปไตยนั้นก็ต้องดูว่าการตกลงจะเป็นอย่างไร มีการระบุชัดเจนแค่ไหน เดิมทีกัมพูชาก็ไม่เคยยอมอยู่แล้ว
ผู้สื่อข่าวถามว่า คิดว่าการดำเนินการจะย้อนรอยไปเหมือนรัฐบาลที่เคยผลักดันให้กัมพูชาขึ้นทะเบียนประสาทพระวิหารฝ่ายเดียวหรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ยังไม่ชัดเจน เพราะถ้าบอกว่าจะนำสู่การขึ้นทะเบียนร่วมกันก็ไม่มีปัญหาอะไร ส่วนปัญหาพื้นที่ทับซ้อนที่เกรงกันว่าอาจจะหยิบยกขึ้นมาดำเนินการอีกครั้งนั้น ตนขอให้ข้อคิดว่ารัฐบาลว่า เป็นเรื่องที่ต้องมีการเจรจาต่อรอง ในชั้นนี้ตนคิดว่าเราควรเรียกร้องให้กัมพูชาได้ดำเนินการให้ถูกต้องตามข้อตกลงปี 43 ในพื้นที่บริเวณปราสาทพระวิหารเสียก่อน ถ้าไปรีบคุยเรื่องอื่น อาจจะเป็นเรื่องที่เขามีความกระตือรือร้นที่เขาอยากให้ผลประโยชน์ สุดท้ายเราไม่สามารถเอาสิ่งเหล่านี้ไปเจรจาต่อรองกับเขาได้ ดังนั้นรัฐบาลต้องเอาประโยชน์ของประเทศเป็นหลัก และรัฐบาลก็ควรมีท่าทีที่ชัดเจน เพราะอย่างน้อยกรณีการเจรจาจะต้องมีการนำเรื่องเสนอต่อครม. เพราะครม.ชุดที่แล้วแขวนเรื่องนี้เอาไว้
เมื่อถามว่าที่ผ่านมารัฐบาลเดิมเคยพยายามใช้การประนีประนอมในการเจรจา แต่กัมพูชาก็ไม่ยอม แต่กลับจะมายอมในรัฐบาลนี้ สะท้อนอะไรหรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ตนไม่แน่ใจว่าจะง่ายอย่างนั้น เพราะถ้ากัมพูชายอมให้เราขึ้นทะเบียนร่วมเสียงแต่แรก หรือปรับท่าทีในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ปัญหาหลายอย่างคงไม่เกิด แต่มันค่อนข้างชัดเจนว่าเขาไม่ยอม และท่าทีที่เขาแสดงต่อชาวโลกก็ไม่มีตรงไหนที่เขาบอกว่าจะยอม ส่วนที่กัมพูชาอาจจะอ้างว่าเปลี่ยนรัฐบาลแล้วสามารถคุยกันได้ง่ายกว่านั้น ตนคิดว่าถ้าทำได้ง่ายแล้วไทยไม่เสียผลประโยชน์ตนก็ยินดีด้วย
**ดร.ปึ้งบอกทำให้ 2 คนไทยได้อิสรภาพ
นายสุรพงษ์ โตวิจักษ์ชัยกุล รมว.ต่างประเทศ กล่าวถึงการช่วยเหลือนายวีะระ สมความคิด และนางราตรี พัฒนพงษ์ไพบูลย์ว่า เมื่อตนได้เป็นรมว.ต่างประเทศ รัฐบาลจะทำทุกวิถีทาง เพื่อนำ 2 คนไทยกลับมาประเทศให้ได้ และจะทำงานตามที่ได้รับมอบหมายจากพรรคอย่างเต็มที่
**กัมพูชาตอบรับประชุมอาร์บีซีแล้ว
พ.อ.(พิเศษ)ประวิทย์ หูแก้ว โฆษกกองทัพภาคที่ 2 เปิดเผยถึงแนวทางการเจรจาระหว่างทางกองทัพภาคที่ 2 กับฝ่ายทหารของกัมพูชา กรณีการปรับกำลังทหารของทั้งสองฝ่าย ตามคำสั่งของศาลโลก ว่า ทางกองทัพภาคที่ 2 ได้ประสานไปยังฝ่ายกัมพูชาเพื่อให้เข้าร่วมประชุมกรรมการชายแดนภูมิภาคไทย-กัมพูชา หรือาร์บีซี ระหว่างวันที่ 23 - 25 ส.ค.ที่จังหวัดนครราชสีมา ในการประชุมจะมีการปรึกษาหารือร่วมกันระหว่างฝ่ายไทยและกัมพูชา ในเรื่องของเศรษฐกิจตามแนวชายแดน ไทย - กัมพูชา รวมถึงปัญหาผู้ลักลอบกระทำความผิดในลักษณะต่างๆตามแนวชายแดน ส่วนนี้ฝ่ายไทยมีผู้ว่าราชการจังหวัด จาก 4 จังหวัดชายแดนเข้าร่วมประชุม ทั้งอุบลราชธานี , บุรีรัมย์ , สุรินทร์ และศรีสะเกษ ขณะที่ฝ่ายกัมพูชามีผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรมีชัย และจังหวัดพระวิหาร เข้าร่วมประชุม ส่วนพ.อ.(พิเศษ) ประวิทย์ กล่าวว่า ฝ่ายทหารโดย พล.ท.ธวัชชัย สมุทรสาคร แม่ทัพภาคที่ 2 พร้อมผู้บังคับบัญชาหน่วยทหารในพื้นที่ ก็จะเข้าประชุมร่วมกับ พล.ท.เจียมอน ผู้บัญชาการทหารภูมิภาคที่ 4 ของกัมพูชา
**เขมรกร้าวไม่ยกปมขัดแย้งถกอาเซียน
วันเดียวกัน มีข่าวว่า สมเด็จฮุน เซน นายกรัฐมนตรีของกัมพูชา เปิดเผยว่าจะไม่หยิบยกข้อพิพาทชายแดนกับไทยเข้าสู่ที่ประชุมสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) อีกต่อไป ส่วนการประชุมคณะกรรมการร่วมชายแดนไทย-กัมพูชา (เจบีซี) สามารถจัดขึ้นโดยไม่มีตัวแทนจากอินโดนีเซียได้ แต่ไม่รวมการเจรจาเรื่องเขตปลอดทหารชั่วคราว 17 ตารางกิโลเมตร รอบปราสาทพระวิหาร
**** ยันถึงคิวเขมรต้องมาไทย
มีรายงานข่าวว่า นายฮอง ได้ออกคำเชิญในวันพุธ 10 ส.ค.นี้ เพื่อเชิญให้นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รมว.ต่างประเทศคนใหม่ของรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ไปเยือน และ แสดงความหวังว่าจะสามารถร่วมกันนำสองประเทศก้าวเข้าสู่ยุคใหม่ได้
ในวันเดียวกัน พล.อ.เตีย บัญ ก็ได้เชิญ พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา รมว.กลาโหมคนใหม่ไปพนมเปญอีกคน
เป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่ผู้ดำรงตำแหน่งใหม่จะไปเยือนประเทศเพื่อนบ้านเพื่อแนะนำตัวเองและทำความรู้จักมักคุ้น แต่ก็เป็นวิถีปฏิบัติทางการทูตอันเคร่งครัดอีกเช่น ที่คู่ตำแหน่งในอีกประเทศหนึ่งจะต้องเยือนต่างตอบแทน (Reciprocation) ตามวาระ
ที่ผ่านมา นายกษิต ภิรมย์ อดีต รมว.การต่างประเทศเคยไปเยือนกัมพูชาอย่างเป็นทางการมาแล้ว ตั้งแต่ครั้งเข้ารับตำแหน่งใหม่ๆ และถึงคิวที่นายฮองจะต้องเป็นฝ่ายเยือนตอบ
ไม่ต่างกันกับ พล.อ.ประวิตร วงศ์สุวรรณ ที่ไปเยือนกัมพูชาอย่างเป็นทางการมาแล้วเช่นกัน และ ยังนำคณะไปเจรจาอีกหลายครั้งทั้งในตำแหน่ง รมว.กลาโหม และประธานคณะกรรมการชายแดนของฝ่ายทหาร ขณะที่ฝ่ายกัมพูชาบ่ายเบี่ยงที่จะมาเยือนต่างตอบแทนโดยตลอด อ้างว่าการเจรจากับฝ่ายไทยไม่คืบหน้าบ้าง บ้างก็ว่าบรรยากาศไม่อำนวย และบัดนี้ต่างก็ถึงเวลาที่ฝ่ายกัมพูชาจะต้องเดินทางมาเยือนไทย ตามวิถีปฏิบัติ
*** เขมรเร่งสร้างภาพหลอกประชาคมโลก
มีการวิเคราะห์กันว่า การโหมรณรงค์ "ทอดสะพาน" ของสองรัฐมนตรีคนสำคัญ เป็นความพยายามสร้างภาพทำให้ประชาคมระหว่างประเทศเข้าใจว่า กัมพูชาเป็นฝ่ายรักสันติ ปรารถนาที่จะมีความสัมพันธ์อันดีกับไทย เป็นการณรงค์ต่อเนื่องจากเดือน มิ.ย. หลังจากศาลระหว่างประเทศในกรุงเฮกมีคำสั่งให้สองฝ่ายทหารจากพื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตรรอบๆ ปราสาทพระวิหาร ซึ่งได้กลายเป็นเขตปลอดทหาร เพื่อให้หน่วยสังเกตการณ์ของอาเซียนเข้าประจำการ
เพียงไม่กี่วันหลังจากนั้น นายกรัฐมนตรีกัมพูชาฮุนเซนได้เปิดแถลงข่าวแสดงความยินดีต่อคำสั่งของศาลโลกยกใหญ่ พร้อมโชว์ร่างความตกลงที่ส่งถึงคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติฉบับหนึ่ง ประธานกลุ่มอาเซียนฉบับหนึ่ง และ ส่งถึงรัฐบาลไทยอีกฉบับหนึ่ง เพื่อปฏิบัติตามคำสั่งดังกล่าว
การเสนอตัวเอง หรือ เปิดเผยท่าที่ของตน หรือ "เอ็กโปเซ" (Expose) ในทางการทูตไม่ใช่เรื่องแปลก แต่ถึงขั้นเสนอร่างเอกสารทางการ ยัดใส่มือให้อีกฝ่ายหนึ่งร่วมลงนามและกลายเป็นสัญญาระหว่างประเทศนั้น ต้องถือเป็นการล้ำเส้นอย่างน่ารังเกียจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการกระทำดังกล่าวมีขึ้นขณะที่รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อยู่ระหว่างรักษาการ ซึ่งโดยมารยาทย่อมจะไม่ดำเนินการเรื่องใดๆ ที่จะเป็นความผูกพันระหว่างประเทศ
สิ่งที่ฮุนเซนกระทำ เป็นเสมือนการยัดเยียดให้รัฐบาลชุดใหม่ของไทย ตกเป็นผู้ต้องหาในสายตาของนานาชาติ
**** เคลียร์เขมรขึ้นทะเบียนท่าจีบ-หนังใหญ่
นางสุกุมล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวถึงกรณีที่ทางการกัมพูชาได้ขึ้นทะเบียนรำไทย ท่าจีบไทยและหนังใหญ่ไทยกับยูเนสโก( UNESCO) นั้นว่า ขณะนี้ตนรับทราบรายละเอียดแล้ว โดยได้หารือกับนางโสมสุดา ลียะวณิช อธิบดีกรมศิลปากร ในฐานะกรรมการมรดกโลก พบว่า การจดทะเบียนดังกล่าวเป็นการสงวนไว้ซึ่งวัฒนธรรมที่อยู่ในประเทศ ไม่ใช่เป็นการจดทะเบียนเพื่อจดลิขสิทธิ์ ดังนั้นต้องแยกกัน เพราะถือว่าเป็นการจดเพื่อให้ทราบว่าในประเทศกัมพูชาก็มีวัฒนธรรมการรำ เพื่อสงวนไว้มีการถ่ายทอดให้กับลูกหลาน
“ปัญหานี้ถือเป็นภารกิจแรกที่ต้องเร่งดำเนินการ เพราะประชาชนให้ความสนใจและเป็นวัฒนธรรมไทย หากต่างชาติจะนำไปขึ้นทะเบียน เราก็ต้องปรึกษาหารือ หาทางแก้ไขกันต่อไป”นางสุกุมล กล่าว
นางสุกุมล กล่าวด้วยว่า สิ่งที่จะต้องดำเนินการต่อไปสำหรับประเทศไทย คือ เรื่องกฎหมาย เพราะทางเรายังไม่ได้เข้าไปร่วมภาคีมรดกจับต้องไม่ได้กับทางยูเนสโก เพราะฉะนั้นจะต้องรอข้อมูลจากทางตัวแทนของประเทศไทยที่อยู่ทางยูเนสโกที่ต่างประเทศด้วย และต้องหารือกับนายสุรพงษ์ โตวิจักรชัยกุล รมว.การต่างประเทศ เพื่อความชัดเจนอีกครั้ง
*****ไทยสมควรเข้าร่วมภาคีฯหรือไม่
ด้านนายสมชาย เสียงหลาย ปลัด วธ. กล่าวว่า หลังจากที่มีการนำเสนอข่าวว่ากัมพูชาได้นำรำไทย ท่าจีบไทย และหนังใหญ่ไทยขึ้นทะเบียนกับยูเนสโก ตนได้มอบหมายให้นายอภินันท์ โปษยานนท์ อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) นางโสมสุดา ลียะวณิช อธิบดีกรมศิลปากร ในฐานะคณะกรรมการมรดกโลก ช่วยตรวจสอบเรื่องนี้ โดยให้ทำหนังสือสอบถามข้อเท็จจริงไปยังกระทรวงการต่างประเทศ (กต.) รวมทั้งประสานไปยังผู้แทนถาวรไทยประจำองค์การยูเนสโกช่วยตรวจสอบเรื่องดังกล่าว ทั้งนี้ ทาง สวธ.กำลังดำเนินการร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยคุ้มครองมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ พ.ศ... เพื่อคุ้มครองและยืนยันว่ามรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ อาทิ มวยไทย ท่ารำ เป็นของประเทศไทย ทั้งนี้ความคืบหน้าการผลักดันพ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวได้ดำเนินการร่างเสร็จแล้ว อยู่ระหว่างรับฟังความคิดเห็นในบางมาตรา
นายสมชาย กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ดี ทาง วธ. จะรายงานรายละเอียดของพ.ร.บ.นี้ให้นางสุกุมล รับทราบ เพื่อเสนอให้รัฐบาลเร่งผลักดันกฎหมายนี้ รวมทั้งจะต้องหารือกับรัฐมนตรีว่า วธ. เพื่อเสนอรัฐบาลว่าประเทศไทยสมควรเข้าร่วมเป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้กับยูเนสโกหรือไม่
ผู้สื่อข่าวรายงาน ว่า ในวันจันทร์ที่ 15 ส.ค. นี้ กระทรวงการต่างประเทศจะส่งเจ้าหน้าที่ไปร่วมหารือกับกระทรวงวัฒนธรรม เพื่อหาความชัดเจนในปัญหาที่เกิดขึ้นนี้