xs
xsm
sm
md
lg

เสื้อแดง, ทักษิณ, อำมาตย์ ใครถูกหลอก !?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ณ บ้านพระอาทิตย์
โดย...ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

คณะรัฐมนตรีของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก็ได้เฉลยออกมาให้ทราบโดยทั่วกันแล้ว ก็คงจะพอทำให้เห็นสัญญาณบางบางการที่สำคัญอยู่หลายประการ

ประการแรก ฝ่ายทักษิณ “ในเวลานี้” ยังไม่พร้อมเผชิญหน้ากับ “ความเสี่ยงภายนอกพรรค” ที่อาจทำให้เกิดความสั่นคลอนในอำนาจของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ โดยสัญญาณที่ชัดที่สุดก็คือ โดยเฉพาะอย่างยิ่งไม่ปรากฏแกนนำคนเสื้อแดงที่มีพฤติกรรมจาบจ้วงสถาบันมามีตำแหน่งบริหารในคณะรัฐมนตรี เพื่อชูกระแสภาพปรองดองมาเป็นหลักสำคัญ

แสดงให้เห็นได้ว่า “ทักษิณ” คือกระแสหลักของพรรคเพื่อไทย โดยไม่แยแสจำนวน
สัดส่วนของ ส.ส. หรืออำนาจต่อรองของกลุ่มคนเสื้อแดง คนเสื้อแดงไม่ได้รัฐมนตรีแม้แต่คนเดียว เตรียมทหารรุ่น 10 อกหักเป็นจำนวนมาก ส.ส.อีสานมีกว่า 100 คน ได้รัฐมนตรี 4 คน คิดเป็นสัดส่วนประมาณ ส.ส.อีสานเพื่อไทย 21 คน ได้รัฐมนตรีเพียงแค่ 1 คน ในขณะที่ พรรคชาติไทยพัฒนาซึ่งอยู่นอกพรรคได้โควตารัฐมนตรีในอัตราสัดส่วน ส.ส. 5.3 คน ได้รัฐมนตรี 1 คน

แสดงให้เห็นว่า การจัดคณะรัฐมนตรีครั้งนี้ ยิ่งลักษณ์ สนใจการปรองดองและประนีประนอมนอกพรรคมากกว่าในพรรค และอาจถือว่าปัญหาภายนอกพรรคนั้นมีความเสี่ยงสูงกว่าภายในพรรค

รัฐบาลยิ่งลักษณ์ มี ส.ส. อยู่ในมือถึง 300 เสียง ในขณะที่ฝ่ายค้านมีน้อยกว่าร้อยที่นั่ง ต่อให้อภิปรายเก่งแค่ไหน หลักฐานดีเพียงใด ก็ยากที่จะสั่งคลอนอำนาจของรัฐบาลชุดนี้ได้ แต่การที่จัด คณะรัฐมนตรีเช่นนี้ก็แสดงให้เห็นว่า “ความเสี่ยงนอกพรรค” นั้นไม่ใช่ฝ่ายค้านที่นำโดยประชาธิปัตย์แต่น่าจะเป็น “ความเสี่ยงนอกรัฐสภา”

ความเสี่ยงที่อยู่นอกรัฐสภาที่สำคัญที่สุดมี 3 ประการ คือ

1.ประชาชนลุกฮือขึ้นมาต่อต้าน
2.ทหารออกมารัฐประหาร หรือใช้อำนาจพิเศษเปลี่ยนขั้วแยกนักการเมืองงูเห่า
ออกจากพรรคเพื่อไทย และ
3.ตุลาการพิพากษาความผิดฝ่ายการเมือง

โดยความเสี่ยง 3 ประการนี้ มีเงื่อนไข “ประชาชนลุกฮือ”เป็นความเสี่ยงที่เป็น “เงื่อนไข”
ส่วน “รัฐประหาร” และ “คำพิพากษาของตุลาการ” เป็นความเสี่ยงที่เป็น “บทปฏิบัติการ” ที่ทำให้สูญเสียอำนาจ

ส่วนเรื่องภายในพรรค “ทักษิณ” ที่อยู่เบื้องหลัง “ยิ่งลักษณ์” น่าจะสามารถบริหารการจัดสรรผลประโยชน์ ทั้งการจัดสรรตำแหน่ง อำนาจ ธุรกิจ ผลประโยชน์ ภายในพรรค ได้ตามความถนัดของตัวเองมาหลายยุคหลายสมัย

สังเกตได้จากการวางตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมที่พรรคเพื่อไทยได้มอบให้กับ พล.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา ก็คือการส่งสัญญาณประนีประนอมกับเหล่าทัพในเวลานี้อย่างชัดเจน โดยการประกาศว่าจะไม่มีการโยกย้าย ผบ.เหล่าทัพ ในเดือนตุลาคมที่กำลังจะมาถึงนี้ และมีเป้าหมายที่จะเข้าพบพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษอีกด้วย

แน่นอนที่สุดกระแสการปลุกระดมมวลชนของแกนนำคนเสื้อแดงบางคนให้มวลชนคนเสื้อแดงเกลียดชังอำมาตย์ หรือการสร้างความเคียดแค้นอย่างหนักหน่วงว่าทหารฆ่าคนเสื้อแดง เมื่อได้เห็นสัญญาณ “การปรองดอง”และ “จับมือ”กับกลุ่มที่คนเสื้อแดงเรียกว่า “อำมาตย์”ทำให้เกิดคำถามและกระแสวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวางว่า...

“มวลชนคนเสื้อแดงถูกหลอก”!?

เพราะเป้าหมายที่แท้จริงซึ่งซ่อนอยู่เบื้องหลังรัฐบาลของน.ส. ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก็คือ ทำทุกวิถีทางเพื่อให้ “ทักษิณ” กลับบ้านได้โดยไม่ต้องติดคุกตารางเป็นเรื่องหลัก จริงหรือไม่?

และการที่จะเอาทักษิณกลับบ้านได้นั้น รัฐบาลยิ่งลักษณ์ก็คงหาหนทางใช้เสียงในสภาผู้แทนราษฎรที่มีมากอย่างท่วมท้นในการออกกฎหมายที่ยกเลิกผลพวงทั้งหมดที่ได้มาจากการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 จริงหรือไม่?

เพียงแต่ว่าการกระทำเช่นนั้นได้มีความเสี่ยงสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยามที่รัฐบาลพรรคเพื่อไทยยังกระชับอำนาจได้ไม่ได้หมด การส่งสัญญาณประนีประนอมนั้นและลดทอนพลังอำนาจคนเสื้อแดงจึงอาจมองได้ว่าเป็น “ภาพที่แท้จริง” หรือ “ภาพลวงตา” ก็ได้

ไม่มีใครรู้ว่าความจริงเป็นอย่างไรกันแน่ว่า “มวลชนเสื้อแดงถูกหลอก”เพราะถูกทอดทิ้งไม่เหลียวแลอันเนื่องมาจาก “ทักษิณจับมือกับอำมาตย์”แล้ว หรือ “อำมาตย์ถูกทักษิณหลอก”เพราะต้องการให้ตายใจเพื่อกระชับอำนาจให้หมดเสียก่อนจึงเข้าตลบหลังในภายหลัง หรือ “ทักษิณและเสื้อแดงถูกอำมาตย์หลอกให้แตกกันเอง” ทั้งหมดนี้จะรู้ความจริงได้ก็ต่อเมื่อรัฐบาลยิ่งลักษณ์ได้โยกย้ายข้าราชการกระชับอำนาจได้หมดแล้ว

การโยกย้ายข้าราชการประจำปีที่กำลังจะมาถึงก่อน 1 ตุลาคม 2554 เชื่อได้ว่าจะมีการกระชับอำนาจของพรรคเพื่อไทยรอบแรก โดยเฉพาะเป้าหมายสำคัญอย่าง ตำแหน่งอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ทันทีที่กระชับอำนาจเหล่านี้ได้ก็จะทำให้การควบคุม “ความเสี่ยงนอกสภา” ได้ง่ายขึ้น

และต้องไม่ลืมนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ที่เดิมมีสายสัมพันธ์และเครือข่ายกว้างขวางมากในตุลาการอยู่แล้ว และยังมีอดีตผู้พิพากษามาอยู่ในพรรคเพื่อไทยและแนวร่วมกับพรรคเพื่อไทยก็ไม่ใช่น้อย ก็อาจจะสามารถทำให้รัฐบาลยิ่งลักษณ์อาจจะลดความเสี่ยงจากตุลาการได้มากขึ้นหลังจากพรรคเพื่อไทยกระชับอำนาจและงบประมาณอยู่ในมือ

คงเหลือแต่ความเสี่ยงด้านการทหารเท่านั้น ที่อย่างไรเสียถ้าไม่จับมือตกลงประนีประนอมสมประโยชน์กันได้ลงตัว ก็ต้องมีการโยกย้ายเพื่อลดความเสี่ยงลงในอนาคต

กระทรวงกลาโหมนั้นมีความพิเศษและเป็นจุดชี้ขาด การโยกย้ายในระดับนายพลนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะต้องอยู่ภายใต้ พรบ.จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม พ.ศ. 2551 ซึ่งกำหนดให้ อยู่ภายใต้คณะกรรมการตามมาตรา 25 อันประกอบไปด้วย 6 คน 1. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเป็นประธาน 2.รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม (ถ้ามี) 3. ผู้บัญชาการทหารสูงสุด 4. ผู้บัญชาการทหารบก 5.ผู้บัญชาการทหารเรือ และ 6. ผู้บัญชาการทหารอากาศ เป็นกรรมการ 7. ปลัดกระทรวงกลาโหมเป็นกรรมการและเลขานุการ

แต่ในความเป็นจริงเมื่อไม่มีรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหมจึงทำให้คณะกรรมการเหลือ 6 คน พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา จึงพูดไม่ผิดนักว่าจะไม่มีการโยกย้าย ผบ.เหล่าทัพ “ในคราวนี้” เพราะการโยกย้ายระดับนายพลครั้งนี้ยังอยู่ภายใต้คณะกรรมการชุดเดิมอยู่โดย พล.อ.ยุทธศักดิ์ กล่าวเอาไว้ความตอนหนึ่งว่า:

“คงไม่มีการโยกย้ายผบ.เหล่าทัพที่เป็นอยู่ การปรับย้ายคราวนี้ต้องเปลี่ยน 3 ผู้นำหลักทั้งปลัดกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการทหารสูงสุด และผู้บัญชาการทหารเรือ การที่ใครจะขึ้นมาเป็นผู้นำได้ต้องคุยกันทุกคน และมีความเห็นชอบ รวมถึงคนที่ขึ้นมาต้องทำงานร่วมกันได้”

การปรับ 3 ตำแหน่งที่กำลังจะเกษียณไปนั้น ก็คือการกระชับอำนาจชั้นที่ 1 เพื่อให้คณะกรรมการที่จะโยกย้ายระดับนายพลนั้น มี 3 เสียง + รัฐมนตรีว่ากากระทรวงกลาโหม กลายการกระชับอำนาจ 4 ใน 6 เสียง ที่จะเกิดขึ้นมาจากการตัดสินใจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมให้กลายเป็นเสียงส่วนใหญ่ จึงจะสามารถดูต่อไปหลังปี 2555 ว่า พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา จะกระชับอำนาจในชั้นที่ 2 อย่างไร?

เมื่อนักข่าวถามว่า จะให้ความเป็นธรรมอย่างไรเพราะที่ผ่านมา มีการแบ่งขั้ว บูรพาพยัคฆ์ และ วงศ์เทวัญ ?

พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา กล่าวตอบว่า:

“ก็ต้องบอกเขาว่าตอนนี้ไม่ได้ เมื่อเป็นผู้ใหญ่กันแล้ว ต้องเห็นทุกคนเป็นลูกน้อง ผบ.เหล่าทัพหมด ไม่อย่างนั้นจะเกิดทหารแตงโมเพิ่มขึ้นอีก เกิดความน้อยเนื้อต่ำใจ”

นี่คือความเก๋าเกมของ พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา ที่แม้ยังไม่ทันจะมีอำนาจ สัญญาณเล็กๆเพียงแค่นี้ก็สามารถกระชับอำนาจสร้างความหวังให้กับทหารในกองทัพที่ไม่ใช่บูรพาพยัคฆ์เป็นจำนวนมาก

คงเหลืออยู่ประเด็นเดียวคือ ที่เป็นความเสี่ยงอยู่นอกสภา ก็คือการลุกฮือของประชาชน ซึ่งวันนี้แม้ว่าพรรคเพื่อไทยจะมีมวลชนคนเสื้อแดงเป็นหลักประกันในการเผชิญหน้ากับคนทุกกลุ่ม แต่ในยามที่พรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาลก็คงจะใช้บริการคนเสื้อแดงให้น้อยลง เพราะถ้าหากมีการเผชิญหน้ากันเมื่อไหร่ หากมีการปะทะกันหรือมีการสูญเสียอาจมีความเสี่ยงจนถึงขั้นไม่มีแผ่นดินจะอยู่ได้ ดังนั้นต่อให้มีมวลชนเสื้อแดงมากแต่ในยามที่เป็นรัฐบาลก็ยากที่จะนำมาใช้ให้เป็นประโยชน์ได้ (เหมือนที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในสมัยรัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช)

แต่ปัญหาที่จะทำให้ประชาชนออกมาลุกฮืออาจไม่ใช่ปัญหาเรื่องการทุจริตคอร์รัปชั่น หรือ ต่อการนโยบายทางการเมืองของพรรคเพื่อไทยแต่เพียงอย่างเดียว แต่น่าจะเป็นความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจด้วย เพราะหากรัฐบาลดำเนินนโยบายผิดพลาด เงินเฟ้อทะยาน ข้าวยากหมากแพง เงินบาทถูกเก็งกำไรแข็งค่าและผันผวนจนธุรกิจส่งออกทรุดจนมีการปิดกิจการ แรงงานต่างด้าวไหลทะลักมาแย่งงานแรงงานไทย คนไทยตกงานมากขึ้น หรือตรงกันข้ามคือประชาชนถูกหลอก เพราะรัฐบาลพรรคเพื่อไทยทำตามสัญญาที่ให้ไว้กับประชาชนไม่ได้ ก็จะกลายเป็นความเสื่อมถอยของพรรคเพื่อไทยเช่นกัน โดยเฉพาะปัญหาเศรษฐกิจถ้าเกิดวิกฤติคนเดือดร้อนไม่มีแบ่งแยกสีแน่นอน

ความจริงเป็นเช่นไร ให้เวลาอีกไม่เกิน 6 เดือนคงได้รู้กัน !?
กำลังโหลดความคิดเห็น