ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ - เสร็จสิ้นเรียบร้อยโรงเรียนประชาธิปัตย์ไปเรียบร้อยแล้ว สำหรับการผ่าตัดครั้งใหญ่ที่ดูเหมือนจะเป็นธรรมเนียมปฏิบัติไปแล้วหากปรากฏผลการเลือกตั้งออกมาว่าพรรคประชาธิปัตย์ไม่ได้เป็นฝ่ายกำชัยในสนามเลือกตั้ง
ทั้งนี้ หลังการแย่งชิงนำกันอย่างฝุ่นตลบภายในพรรคกันอยู่ยกใหญ่ มาถึงขณะนี้ประชาชนก็ได้เห็นหน้าค่าตาของคณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ทั้ง 19 คน รวมไปถึงตำแหน่งหัวหน้าและเลขาธิการพรรค
สำหรับตำแหน่งที่สำคัญคือหัวหน้าพรรค ชื่อของ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรค ที่มีชื่อนอนมาตั้งแต่โค้งแรกจนมาถึงโค้งสุดท้าย ก็ยังได้รับความไว้วางใจจากคนในพรรคประชาธิปัตย์อย่างท่วมท้น ให้กลับมารับตำแหน่งผู้นำพรรคอีกรอบ
ขณะที่ตำแหน่งเลขาธิการพรรค นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน ส.ส.ประจวบคีรีขันธ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้แหกด่านอรหันต์ เข้ามานั่งในตำแหน่งแม่บ้านพรรคท่ามกลางเสียงวิพากษ์จารณ์ดังขรม
ส่วนตำแหน่งอื่นๆ มี นายกรณ์ จาติกวณิช รองหัวหน้าพรรคภาค กทม. นายอลงกรณ์ พลบุตร รองหัวหน้าพรรคภาคกลาง นายถาวร เสนเนียม รองหัวหน้าพรรคภาคใต้ นางศิริวรรณ ปราศจากศัตรู เป็นรองหัวหน้าพรรคภาคเหนือ นายอิสสระ สมชัย รองหัวหน้าพรรคภาคอีสาน คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช เป็นประธานส.ส. นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฐ์ เป็นประธานวิปฝ่ายค้าน นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน คุมนโยบายและยุทธศาสตร์พรรค
แต่กว่าจะมาลงตัวเป็นแบบนี้ได้ ก็ใช่ว่าพรรคประชาธิปัตย์จะเดินมาสะดวกโยธินเสียเมื่อไหร่ และก็ดูเหมือนจะตรงกับที่หลายฝ่ายคาดการณ์ไว้ว่าการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ของประชาธิปัตย์ จะเกิดแรงกระเพื่อมภายในพรรคอย่างแน่นอน
ยิ่งเมื่อดูผลคะแนนของคณะกรรมการบริหารพรรคที่ผ่านมา คนที่หวาดเสียว เสียวไส้ที่สุดก็ยังตกเป็นของเก้าอี้เจ้าปัญหาอย่างแม่บ้านพรรค ก็คือ "เสี่ยต่อ" เฉลิมชัย ศรีอ่อน ที่ปรากฏเสียงสนับสนุนออกมาได้เพียง 72.89% จากผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 328 คน กล่าวคือมีเสียง"โนโหวต" หรือไม่เอานายเฉลิมชัยปาเข้าไปถึง 30 เปอร์เซ็นต์เลยทีเดียว เพราะเมื่อดูคะแนนของคนอื่นๆ แล้วก็เข้าขั้นหายห่วง ทั้ง อภิสิทธิ์ อภิรักษ์ โกษะโยธิน จุติ ไกรฤกษ์ ชำนิ ศักดิเศรษฐ์ ที่ได้คะแนนเกิน 90% ทุกคน
เรียกว่าทำเอา"เสี่ยต่อ" หน้าเสียไปไม่น้อยเหมือนกันในช่วงลงคะแนนโหวตตำแหน่งแม่บ้านพรรคประชาธิปัตย์ เจอแบบนี้ไม่ให้หน้าเสียก็ดูกระไรอยู่ เนื่องจากก่อนนี้นายเฉลิมชัย เมื่อเห็นสัญญาณรำไรว่าจะได้ขึ้นไปนั่งตำแหน่งแม่บ้านประชาธิปัตย์ ก็ได้มีความพยายามการเดินเกมให้ ส.ส.ภาคกลางในกลุ่มออกไปทำความเข้าใจกับ ส.ส.ในแต่ละสาย ถึงวิธีการทำงาน อุดมการณ์ ประมาณว่าหากได้เป็นเลขาธิการพรรคคนใหม่ เพราะถ้าต้องการจะปฏิรูปพรรคจริงๆ ก็ควรจะเปิดใจให้โอกาสเลือกนายเฉลิมชัย เพื่อไม่ยึดติดกับวิธีการเดิมๆ ลองเปลี่ยนสไตล์ดูบ้างพรรคอาจจะดีขึ้น
ว่ากันว่ากว่าโฉมหน้าในตำแหน่งต่างๆ จะออกมาแบบนี้ ก็เกิดปรากฎการณ์ ชิงนำประลองกำลังกันของ 2 กลุ่มอำนาจในพรรคประชาธิปัตย์ คือแก๊งไอติม ซึ่งประกอบไปด้วยคนข้างกายนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ไม่ว่าจะเป็นนายกรณ์ จาติกวนิช นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย นายกอรปศักดิ์ สภาวสุ ชนกับกลุ่มอำนาจเก่าของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตเลขาธิการพรรค เนื่องจากเดิมทีนายสุเทพ มีความพยายามผลักดัน นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน หรือนายจุติ ไกรฤกษ์ เข้ามาให้นั่งตำแหน่งแม่บ้านพรรค แต่สุดท้ายมีอันต้องหลุดตำแหน่งไปในท้ายที่สุด
จากจุดนี้ก็คงจะพอกล่าวได้ว่า เสียงไม่เอานายเฉลิมชัย ก็คงไม่ใช่อื่นไกลนอกเสียจากเสียงจากกลุ่มอำนาจเก่าของนายสุเทพ นั่นเอง
โดยที่ผ่านมาในช่วงประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาล วงผู้อาวุโสของพรรคก็ได้จับกลุ่มวิพากษ์วิจารณ์มาโดยตลอดว่าในการตัดสินใจรวมถึงวางยุทธศาสตร์สำคัญๆ ของพรรค ได้ถูกผูกขาดโดยกลุ่มของสุเทพ เกือบทุกครั้งครา จนกลบเสียงของอาวุโสของพรรคไปโดยปริยาย
ขณะเดียวกันหลายฝ่ายอาจสงสัยว่าสูตรผสมใหม่ล่าสุด "อภิสิทธิ์"และ"เฉลิมชัย" จะทำงานร่วมกันได้หรือไม่ แต่ในความเป็นจริงแล้วนายเฉลิมชัยถือว่าเป็นสายตรงนายอภิสิทธิ์ ในกลุ่มของนายชวน หลีกภัย ประธานสภาที่ปรึกษา และนายบัญญัติ บรรทัดฐาน กรรมการสภาที่ปรึกษา เช่นกัน ซึ่งที่ผ่านมาก็ทำงานเข้ากันได้อย่างดี กล่าวคือขณะที่ประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาลและนายเฉลิมชัยเป็น รมว.แรงงาน ก็ทำงานสนองนโยบายของนายอภิสิทธิ์เป็นอย่างดีไม่มีปัญหาอะไร
กล่าวสำหรับแม่บ้านพรรคป้ายแดงยี่ห้อ "เฉลิมชัย" เติบโตทางการเมืองมาจากประจวบคีรีขันธ์ โดยเริ่มยึดท้องถิ่นก่อนขยับเข้าสู่ระดับชาติ จวบจนถึงการเลือกตั้งปี 2544 สามารถหักโคน ขาใหญ่เจ้าพ่อประจวบฯ อย่าง วิเศษ ใจใหญ่, สำเภา ประจวบเหมาะ และ อุดมศักดิ์ ทั่งทอง ได้เบ็ดเสร็จเด็ดขาด เรียกว่าวันนี้มีแต่คนวิ่งเข้าหา "บ้านใหญ่ปราณบุรี" ซึ่งเป็นฐานของเฉลิมชัย และ ธันยวีร์ ศรีอ่อน ศรีภรรยา ก็ยังเป็นนายกเทศมนตรีตำบลปราณบุรี
ส่วนเครื่องหมายการค้า ของเฉลิมชัย ก็มีทั้งเป็นประเภทใจนักเลง มือถึงพึ่งได้ มีเครือข่ายธุรกิจ มีกำลัง ส.ส.ในมือพอประมาณ เคยก่อตั้งกลุ่ม 40 ส.ส.เมื่อตอนตั้งรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ใหม่ๆ เพื่อต่อรองเก้าอี้จากนายสุเทพมาแล้ว
หากถามว่าทำไมตำแหน่งแม่บ้านพรรคต้องเป็นเฉลิมชัย
หากพิเคราะห์ดูแล้วชื่อของ เสี่ยต่อ น่าจะตอบโจทย์ ในการปรับยุทธศาสตร์ระยะสั้นของพรรคได้เป็นอย่างดี โดยความเหมาะสมอย่างหนึ่งของนายเฉลิมชัย คือการเป็น ส.ส.ประจวบคีรีขันธ์ ถึงแม้จะอยู่ติดภาคใต้ แต่ก็ยังอยู่ในภาคกลาง จึงมีศักยภาพที่จะขยายฐานในภาคกลางได้อีกมาก จากที่มี ส.ส.อยู่แล้วจำนวนหนึ่ง นั่นเป็นโจทย์ใหญ่ที่สุดที่พรรคประชาธิปัตย์มอบภารกิจให้นายเฉลิมชัย
ภารกิจก็คือเน้นมุ่งเจาะพื้นที่ภาคกลางที่มีเก้าอี้ ส.ส.ได้ 96 ที่นั่ง โดยครั้งที่ผ่านมา พรรคสะตอคว้ามาได้ 25 ที่นั่ง ทางพรรคเพื่อไทย 41 ที่นั่ง, ภูมิใจไทย 12 ที่นั่ง, ชาติไทยพัฒนา 10 ที่นั่งและพลังชล 6 ที่นั่ง ขณะเดียวกันหากดูผลเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา ในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ภายใต้การนำของเฉลิมชัย ก็ปรากฏว่า เขต 1 นายมนตรี ปาน้อยนนท์ (ปชป.) 57,917 คะแนน ชนะ นายอภิวัฒน์ กำบัง (พท.) 15,552 คะแนน เขต 2 นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน (ปชป.) 41,431 คะแนน ชนะนายพรเทพ วิสุทธิ์วัฒนศักดิ์ (พท.) 31,419 คะแนนและเขต 3 นายประมวล พงศ์ถาวราเดช (ปชป.) 57,135 คะแนนชนะนายวนิชย์ ปักกิ่งเมือง (พท.) 13,086 คะแนน
ดูจากคะแนนก็เรียกว่าขาดลอยเลยทีเดียว และจากนี้ประชาธิปัตย์ก็คงจะหวังผล ภายใต้การนำของ "เฉลิมชัย" ต้นตำรับ "ประจวบโมเดล" โดยการทุ่มสรรพกำลังทั้งหลาย ที่หวังลึกๆว่าจะเบียดแย่ง ส.ส.ภาคกลางได้เพิ่มมากขึ้น หรือยืดให้ได้ร้อยละ 80 บวกภาคใต้และกรุงเทพฯ ก็จะได้เก้าอี้ ส.ส.สูสีกับเพื่อไทย ขึ้นมาบ้าง
อีกมุมหนึ่งก็คือปฏิเสธไม่ได้อีกว่าพรรคประชาธิปัตย์ จากโดยรวมแล้วยังมีภาพความเป็นพรรคสะตออยู่มาก ซึ่งไม่ว่าจะกี่ครั้งกี่ครา ก็สามารถกวาดคะแนนในส่วนของเสียง ส.ส.ภาคใต้ ได้เป็นกอบเป็นกำเหมือนเดิม แถมตัวของนายอภิสิทธิ์ ก็ยังมีภาพลักษณ์ที่ขายได้ได้เฉพาะในคนชั้นกลาง ไม่สามารถนำไปขายให้กับคนกลุ่มรากหญ้าได้
ฉะนั้น สไตล์การเมืองแบบลูกทุ่งของเฉลิมชัย จึงอาจจะเป็นทางเลือกสำคัญในการอุดช่องโหว่ลบภาพความไม่ติดดินของอภิสิทธิ์ลงได้บ้าง โดยเฉพาะกับการทำพื้นที่ของเฉลิมชัย ที่วางรากฐานไว้เป็นต้นแบบอย่าง "ประจวบโมเดล" ซึ่งหลายพื้นที่ต้องการจะนำไปใช้
ที่สำคัญการชูชื่อของเฉลิมชัย ขึ้นมาน่าจะลบภาพความเป็นพรรคสะตอ ลงไปได้ไม่น้อยเช่นกัน ที่สำคัญที่สุดก็คือการขยายฐานสนับสนุนไปสู่ภาคต่างๆ ที่ยังเป็นจุดอ่อน เริ่มตั้งแต่ภาคกลาง ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งเป็นภาคที่มี ส.ส.มากที่สุด และเป็นจุดอ่อนที่สุดของพรรคประชาธิปัตย์ ทำให้แพ้เลือกตั้งยับเยินไม่ว่าก็ครั้งต่อกี่ครั้ง
ถึงกระนั้นแล้ว แค่พื้นที่ภาคกลางยังอาจไม่เพียงพอหากยังต้องการจะชนะการเลือกตั้ง เมื่อพื้นที่ภาคอีสานและภาคเหนือ ยังมีสัดส่วนใหญ่ที่สุดในภาพรวม อาจกล่าวได้ว่าหินยิ่งกว่าหินที่หากพรรคประชาธิปัตย์จะหวังพลิกกระแสของคนภาคเหนือและภาคอีสาน ที่คนยังยึดติดในภาพของทักษิณอย่างไม่เสื่อมคลาย ก็คงจะยากเกินไปในระยะเวลาอันสั้น
แต่มาถึงขณะนี้ก็คงจะไม่มีทางไหนดีไปกว่าการรุกคืบในภาคกลางที่ยังคงมีความหวังอยู่บ้าง ถ้าเป็นไปตามที่บรรดาผู้อาวุโสในพรรคประชาธิปัตย์วางไว้ โดยหวังผลความเป็นไปได้คือฐานเสียงคนภาคกลางที่มีลักษณะพิเศษคล้ายคนกรุงเทพฯ ที่ผู้อาวุโสในพรรค มองว่าไวต่อกระแสการเมืองที่เปลี่ยนแปลง ไม่ว่าบวกหรือลบอย่างฉับพลัน ยิ่งเมื่อดูจากผลการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาตระกูลเก่าแก่ทางการเมืองที่มีชื่อเสียงทางการเมือง นับวันจะหดหายไปเรื่อยๆ เพราะเห็นได้ชัดว่าคนยังเลือกกระแสพรรคมากกว่ากระแสคนจึงเป็นความหวังที่มีอยู่ของพรรคประชาธิปัตย์ในยามนี้อยู่ดี
สุดท้ายแล้วถึงแม้หลายฝ่ายจะมองปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในการแย่งชิงนำกันภายในพรรคประชาธิปัตย์ จะส่งผลให้เกิดความแตกร้าวหนัก แต่อย่างไรเสียก็น่าจะจบลงในอีกไม่นานจากนี้ เพราะที่สำคัญเชื่อว่าพรรคประชาธิปัตย์ย่อมจะทราบดีว่าปัญหาที่แท้จริงของพรรคที่ทำให้ประสบความภายแพ้ในการเลือกตั้งทุกครั้งคราคือสิ่งใด และจากนี้ก็คงต้องจับตาดูการเปลี่ยนแปลงครั้งใหม่อีกครั้งของพรรคประชาธิปัตย์ ว่าจะไปในทิศทางใด เชื่อว่าพรรคเก่าแก่อย่างพรรคประชาธิปัตย์คงไม่อยากกอดคอกันเป็นฝ่ายค้านตลอดกาล