xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ศึกชิงเก้าอี้แม่บ้าน ปชป.ฝุ่นตลบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กรณ์ จาติกวณิช
ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ศึกในพรรคประชาธิปัตย์ ดูเหมือนว่าจะยังคุกรุ่นไม่จบง่ายๆ เสียแล้ว หลังจากการประกาศลาออกของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคและนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการพรรค เป็นผลทำให้กรรมการบริหารพรรคทั้งหมด 19 คน ต้องพ้นตำแหน่งไปตามวาระด้วยเช่นกัน

ในช่วงที่พรรคประชาธิปัตย์อยู่ในภาวะสุญญากาศแบบนี้ ไม่แปลกหากจะเห็นบรรดากลุ่มก๊วนต่างๆ ออกมางัดข้อแสดงพลังกันยกใหญ่ ไม่เว้นแม้แต่แกนนำอาวุโสอย่าง นายพิเชษฐ์ พันธ์วิชาติกุล ที่ได้ออกมาทิ้งระเบิด วิพากษ์วิจารณ์ถึงความพ่ายแพ้เลือกตั้งของพรรคประชาธิปัตย์ว่า "พรรคประชาธิปัตย์พ่ายแพ้เพราะเป็นการเดินยุทธศาสตร์ในการคาดคะเนเสียงเลือกตั้งผิดพลาด ไม่ใช่คนมีอำนาจรับฟังเสียงของคนแค่ 6-7คน ขอให้ฟังคนอื่นในพรรคบ้าง จนคนข้างนอกเขาก็รู้ว่ามีแก๊ง ออฟ โฟร์ ออฟไฟว์ เพราะข้อบกพร่องต่างๆ คนในพรรคต่างรู้ปัญหาว่าอะไรถูกผิด แต่ไม่กล้าปริปากพูด"

ทั้งนี้ ปฏิเสธไม่ได้ว่า การออกมาทิ้งบอมบ์ของนายพิเชษฐ์ คือการส่งสัญญาณจากแกนนำพรรคกลุ่มทศวรรษใหม่ของนายบัญญัติ บรรทัดฐาน ซึ่งแน่นอนว่า กลุ่มบุคคลที่นายพิเชษฐ์ออกมาระบุชัดยิ่งกว่าชัดว่า หมายถึงนายอภิสิทธิ์และนายสุเทพ รวมไปถึงพลพรรคข้างกายที่ถูกกล่าวขานว่า แก๊งไอติม อย่างมิต้องสงสัย

เพราะความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในยุคที่พรรคประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาล ก็คือ ความเป็นไปของรัฐบาล อำนาจการตัดสินใจเรื่องต่างๆ หลายต่อหลายครั้ง ไม่มีการนำเข้าหารือในที่ประชุม จนผู้ใหญ่หลายคนไม่เห็นด้วยถึงขั้นให้สมาชิกเปิดอภิปรายย่อยในที่ประชุมพรรคอยู่บ่อยครั้ง ทำให้บรรดาผู้อาวุโสในพรรคถูกมองข้ามหัวไป และทุกสิ่งทุกอย่างจะถูกทิ้งน้ำหนักไปที่นายอภิสิทธิ์และนายสุเทพ รวมไปถึงบรรดาคนข้างกายของอภิสิทธิ์ อาทิเช่น นายกอรปศักดิ์ สภาวสุ นายศิริโชค โสภา นายกรณ์ จาติกวนิช นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย

สิ่งต่างๆ เหล่านี้ทำให้มองเห็นความขัดแย้งลึกๆ ภายในประชาธิปัตย์ซึ่งเก็บงำกันมานาน และเมื่อถึงเวลา ทุกอย่างมันจึงทะลักล้นออกมาในช่วงที่พรรคประชาธิปัตย์ถึงวาระที่จะต้องเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่อีกครั้ง

กล่าวสำหรับนายอภิสิทธิ์ หนึ่งในจำเลยที่ถูกตีตราว่าเป็นผู้ทำให้พรรคประชาธิปัตย์พ่ายแพ้เลือกตั้งแก่พรรคเพื่อไทย ก็ยังถือว่าไม่ได้ถูกคนในพรรคโจมตีหนักหนาอะไรด้วยซ้ำ แต่ในทางกลับกันคนในพรรคประชาธิปัตย์ยังมองว่าการที่พรรคสามารถกวาดที่ส.ส.ใน กรุงเทพมหานครได้เป็นเพราะได้กระแสคนเลือกนายอภิสิทธิ์ เป็นส่วนสำคัญ อีกทั้งสัญญาณผู้ใหญ่ในพรรคหรือก๊วนต่างๆ ก็ไม่ได้มีการสกัดกั้นการกลับมารับตำแหน่งของนายอภิสิทธิ์เลยแม้แต่น้อย

ดังนั้น สำหรับตำแหน่งหัวหน้าพรรคคงไม่มีปัญหาว่านายอภิสิทธิ์น่าจะกลับมารับอีกครั้งแน่นอน เพราะยามนี้ยังมองไม่เห็นใครจะขึ้นมานำทัพพรรคได้ แต่สิ่งที่ทำให้พรรคประชาธิปัตย์เกิดสภาพฝุ่นตลบอยู่ขณะนี้ก็คือ การประกาศไม่รับตำแหน่งเลขาธิการพรรคอีกครั้งของนายสุเทพ

ด้วยบารมีและชื่อชั้นระดับเซียนของนายสุเทพที่ทำให้ประชาธิปัตย์กลับมาเป็นแกนนำตั้งรัฐบาลในรอบ 8 ปี แน่นอน การควานหาเลขาธิการพรรคคนใหม่จึงเป็นเรื่องยากอย่างยิ่งในยามตกต่ำ ที่จะต้องหาบุคคลที่จะมาทำหน้าที่บริการจัดการ ระดมทุน และการประสานสิบทิศ มาเป็นตัวตายตัวแทนของนายสุเทพ รวมไปถึงหน้าที่สำคัญของการเปลี่ยนผ่านครั้งนี้ไม่ว่าจะเป็นการสร้างพรรคให้กลับมาแข็งแกร่งขึ้น การฟื้นความเชื่อมั่นของคนในพรรคให้กลับมา เรียกได้ว่าเป็นงานหินเช่นกัน

สำหรับตัวเต็งเลขาธิการพรรค ปชป.หลายคนเชื่อว่าสายใต้ยังแรงอยู่ ซึ่งตอนนี้คนส่วนใหญ่ในพรรค ปชป.ต่างมองว่า คราวนี้คนที่จะเป็นเลขาธิการพรรค จะเปลี่ยนจากสุราษฎร์ธานี มาเป็นที่นครศรีธรรมราชก็ได้ เพราะนักการเมืองหลายคนในเมืองคอนถือว่าชื่อชั้นนั่งเก้าอี้เลขาธิการพรรคได้สบาย

สำหรับรายชื่อแคนดิเดต ที่มาแรงก็มีหลายคน อาทิ นายวิทยา แก้วภราดัย แกนนำส.ส.ภาคใต้ จังหวัดนครศรีธรรมราช ถือว่าเป็นสายตรงของนายสุเทพ ซึ่งที่ผ่านมาได้รับความไว้วางใจให้ดำรงตำแหน่งระดับสูงอย่างฝ่ายบริหารก็เป็นถึงรัฐมนตรีว่าการสาธารณสุข ส่วนผลงานในสภาก็เป็นถึงประธานวิปรัฐบาลมาแล้ว เนื่องมาทำงานเข้าขาได้อย่างดีกับนายสุเทพ

หรือจะเป็น นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส.นครศรีธรรมราชอีกเช่นกัน ซึ่งที่ผ่านมาก็ได้รับความไว้วางใจจากนายสุเทพให้รับหน้าที่รัฐมนตรีว่าการศึกษาธิการ รวมทั้งสามารถสร้างบารมีภายในพรรคขึ้นมาเรื่อยๆ แต่ก็ยังมีภาพลักษณ์ไม่โดดเด่นเมื่อถูกนำไปยืนคู่กับนายอภิสิทธิ์ รวมไปถึงคนในพรรคบางส่วนยังไม่ให้การยอมรับเท่าที่ควร

ส่วนอีกชื่อหนึ่งที่ส.ส.ภาคใต้ในพรรคคอยหนุน ก็เป็น นายชำนิ ศักดิเศรษฐ์ เนื่องจากเห็นว่ามีบทบาทในพรรคอย่างต่อเนื่อง ซึ่งระยะหลังก็ได้รับความไว้ใจให้ทำงานกับนายอภิสิทธิ์มาตลอด ที่จำได้ก็มีตอนครั้งที่ไปร่วมเจรจากับแกนนำเสื้อแดงในช่วงการชุมนุมใหญ่เสื้อแดงเมื่อปี 2553 แต่ก็มีข้อด้อยตรงที่ว่าเก่าเกินไปสำหรับการเมืองยุคคนหนุ่มสาว และที่สำคัญที่สุดติดปัญหาตรงที่อาจไม่ได้รับการสนับสนุนจากนายสุเทพ เพราะถูกมองว่าเป็นสายของนายบัญญัติ อีกคนหนึ่ง

ข้ามฝากมาสาย กทม.กันบ้าง หนึ่งชื่อที่ถูกกล่าวถึงอยู่เสมอตั้งแต่ช่วงแรก หนีไม่พ้น นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน แกนนำภาคกทม. เคยผ่านงานบริหารองค์กรเอกชน หน่วยงานรัฐ โดยเฉพาะกรุงเทพมหานคร อีกทั้งยังได้เสียงตอบรับจากคนในพรรคเป็นอย่างดีในเรื่องการนำทัพประชาธิปัตย์ กวาดส.ส.ได้อย่างเป็นกอบเป็นกำ ทำเอาโพล หลายสำนักหน้าแหกไปตามๆกัน แต่จุดด้อยคือการมีชนักเรื่องคดีรถดับเพลิงที่กำลังจะขึ้นสู่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาฯ อยู่

สายกทม.อีกคนก็เป็น นายกรณ์ จาติกวนิช อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ชื่อชั้นถือว่านอนมา เพราะมีแต้มต่อทั้งเรื่องทุน ภาพลักษณ์ที่ขายได้ทั้งในประเทศและนอกประเทศ ผ่านการบริหารตำแหน่งสำคัญๆหลายองค์กร หน่วยงานสำคัญทางเศรษฐกิจ จนทำให้ชื่อของนายกรณ์โดดเด่นขึ้นมาทุกครั้งที่มีการว่างเว้นตำแหน่งสำคัญของพรรค แต่ก็ติดปัญหาอยู่ที่นายกรณ์ยังมีบุคลิกห่างไกลจากนายสุเทพ ในเรื่องความใจถึง

ขณะที่ คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช สะใภ้ธนาคารกรุงเทพส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ลำดับที่ 7 ก็ถูกเสนอชื่อมาเช่นกัน ที่ผ่านมาผลงานในส่วนร่วมในความสำเร็จการเลือกตั้งที่ทำให้ ปชป.เป็นแชมป์กรุงเทพฯ สองสมัยทั้งปี 50 และ 54 รวมถึงการกวาดที่นั่งส่วนใหญ่ได้ในสนาม ส.ก.-ส.ข.ที่ผ่านมาของ ปชป. ส่วนเรื่องทุนเป็นที่หายห่วงแน่นอน เพราะเป็นที่ทราบกันดีในพรรคประชาธิปัตย์ แต่ก็ยังติดที่เสียงท้วงติงเกรงไม่อาจทนแรงเสียดทานการเมืองไม่ไหว ล่าสุดนายเทพไท เสนพงศ์ ส.ส.สายภาคใต้ก็ออกมาเบรกในเรื่องอาจติดขัดในเรื่องของอายุ

ข้ามฝากไปทางฝาก ส.ส.สายภาคเหนือกันบ้าง ก็ปรากฏชื่อของนายชัยวุฒิ บรรณวัฒน์ แกนนำส.ส.ภาคเหนือตอนล่าง ก็ยังเป็นหนึ่งในสายสุเทพเช่นกัน จุดแข็งโดนเด่นในเรื่องทุน เป็นผู้ดูแลเรื่องทุน ให้กับส.ส.กลุ่มภาคเหนือตอนล่างมาโดยตลอด ได้รับความไว้ใจให้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม แต่ก็ติดที่ว่าคนในพรรคส่วนใหญ่ยังไม่ได้ให้ความยอมรับ อีกทั้งยังมีแผลติดตัวเพราะประเมินสถานการณ์การเลือกตั้งในภาคเหนือชนิดที่ว่าสอบตกแบบไม่มีข้อแก้ตัว

อย่างไรก็ตาม รายชื่อที่กล่าวมาก็ถือว่าแต่ละคนมีจุดแข็งและจุดอ่อน แตกต่างกันไป โดยไม่ถือว่ามีใครครบเครื่องเท่านายสุเทพ เพราะตำแหน่งเลขาธิการพรรคถือว่าบทบาทไม่น้อยกว่าตำแหน่งหัวหน้าพรรคเลยด้วยซ้ำ ไม่ว่าจะเป็นการเตรียมไพร่พล กระสุนเงินทุน ต่อสู้ในศึกเลือกตั้งครั้งต่อไป และอีกไม่นานนับจากนี้กลุ่มซากการเมือง 111 คน ก็จะพ้นบ่วงออกมาอีก จึงเป็นงานหนักขึ้นเป็นเงาตามตัว

แต่ไม่ว่าเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์คนใหม่จะเป็นใคร สุดท้ายแล้วก็ไม่พ้นต้องรับคำสั่งและอยู่ใต้เงานายสุเทพที่จะต้องมีส่วนสำคัญอยู่ในการเลือกแม่บ้านคนใหม่อย่างแน่นอน
ชินวรณ์ บุณยเกียรติ
วิทยา แก้วภราดัย
อภิรักษ์ โกษะโยธิน
ชำนิ ศํกดิเศรษฐ์
คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช
กำลังโหลดความคิดเห็น